การให้ความช่วยเหลืออยู่ทุกแห่ง
การให้ความช่วยเหลืออยู่ทุกแห่ง
แบกซ์เตอร์ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนชั้นมัธยมวัย 15 ปี มีวิธีที่น่าสนใจในการใช้เวลาตอนบ่ายวันเสาร์. เขาไปเยี่ยมผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งในบ้านพักคนชรา เล่นดนตรีและนำผู้สูงอายุเหล่านั้นร้องเพลง. ครูของแบกซ์เตอร์กล่าวว่า “เขาสร้างเสียงหัวเราะ, ความสนุกสนานและความยินดีในชีวิตให้กับผู้สูงอายุเหล่านั้น.” ลูซีลล์วัย 78 ปีก็ช่วยเหลือคนอื่นในลักษณะคล้ายกัน. เธอแจกอาหารให้คนจนและไปเยี่ยมผู้ป่วยไร้ญาติในโรงพยาบาล. เพื่อนคนหนึ่งพูดถึงลูซีลล์ว่า “ถ้าที่ไหนต้องการความช่วยเหลือและเธอสามารถช่วยได้ เธอจะไปช่วย.”
นิยามหลักการของงานอาสาสมัคร
ผู้คนหลายล้านทั่วโลกมีน้ำใจแบบนี้ คือ ‘ไปช่วยเมื่อมีความต้องการ.’ พวกเขาช่วยทำงานในสถานที่ก่อสร้างและสำนักงาน, โรงงาน, สถานพยาบาล, สถานดูแลผู้ป่วย, ค่ายผู้ลี้ภัย, ศูนย์ช่วยเหลือคนจรจัด, สถานีดับเพลิง, ศูนย์ช่วยเหลือฉุกเฉิน, สถานสงเคราะห์สัตว์ และอื่น ๆ อีก. พวกเขาอยู่แทบทุกหนทุกแห่ง! พวกเขาใช้ทักษะในการทำงานทุกประเภท ตั้งแต่การช่วยกันสร้างบ้านไปจนถึงการหาทุน และตั้งแต่การเลี้ยงเด็กทารกที่ถูกทอดทิ้งไปจนถึงการปลอบโยนผู้ป่วยระยะสุดท้าย. พวกเขาคือผู้อาสาสมัคร—คนที่ช่วยผู้ต้องการความช่วยเหลือ.
กล่าวกันว่า งานอาสาสมัครคือ “แนวคิดอันสูงส่งในภาคปฏิบัติ.” งานอาสาสมัครเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น การยึดมั่นต่อหลักการ, น้ำใจเสียสละ, การไม่หวังผลตอบแทน, และการเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่น. สองคนที่ทำงานอาสาสมัครมาเป็นเวลานานกล่าวว่า “การทำงานอาสาสมัครเป็นการให้ตัวเราเอง: เวลา, มือและเท้า, ความคิด, ความสามารถในการช่วยผู้อื่น, ทักษะการแก้ปัญหา, รวมทั้งความรู้ในวิชาชีพของเรา.” น่าสนใจ การให้ในลักษณะนี้เป็นประโยชน์กับผู้อาสาสมัครเองด้วย.—ดูกรอบ “ผู้อาสาสมัครก็ได้รับประโยชน์ด้วย.”
จำนวนเพิ่มขึ้น—ความต้องการเพิ่มขึ้น
ในสหรัฐ มีประมาณ 100 ล้านคนช่วยงานอาสาสมัคร และจำนวนก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ. แคทลีน เบห์เรนส์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารขององค์กรอาสาสมัครนิวยอร์ก แคส์ บอกตื่นเถิด! เมื่อไม่นานมานี้ว่า “องค์กรของเราเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในอัตราที่เร็วมาก. เฉพาะปีที่แล้ว เรามีผู้อาสาสมัครหน้าใหม่มากกว่า 5,000 คนซึ่งเข้ามาร่วมกับโครงการของเรา.” กลุ่มผู้อาสาสมัครในยุโรปก็มีการเติบโตคล้าย ๆ กัน. ตัวอย่างเช่น ในฝรั่งเศส จำนวนผู้อาสาสมัครเพิ่มขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์ทุกปีในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา. อย่างไรก็ตาม ความต้องการผู้อาสาสมัครก็ไม่ได้ลดลง. ตรงกันข้าม องค์กรอาสาสมัครของสหประชาชาติ (หน่วยงานหนึ่งในสหประชาชาติ) กล่าวว่า เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ทั่วโลกแล้ว “ในปัจจุบันความต้องการผู้อาสาสมัครมีเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน.” ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งหนึ่งกล่าวว่า “ผู้อาสาสมัครมีความสำคัญต่อการดำเนินงานของเราอย่างยิ่ง.”
แต่น่าแปลก แม้ว่าผู้อำนวยการ, ผู้จัดการ, และผู้ประสานงานหลายคนซึ่งทำงานร่วมกับผู้อาสาสมัครรู้สึกว่าบุคคลเหล่านั้น “มีค่าราวกับทองคำ” แต่งานของ
พวกเขากลับไม่ค่อยเป็นที่ทราบกัน. เพื่อริเริ่มให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ดังกล่าว สหประชาชาติจึงตัดสินใจกำหนดให้ปี 2001 เป็นเวลาที่จะหันมาสนใจผู้ทำงานอาสาสมัคร. กรอบ “ปีอาสาสมัครสากล” อธิบายเป้าหมายบางอย่างที่สหประชาชาติหวังจะบรรลุ.ขณะเดียวกัน มีการเปลี่ยนแปลงในวงการอาสาสมัครซึ่งทำให้เกิดข้อท้าทายทั้งสำหรับผู้อาสาสมัครและคนที่ดูแลงานของพวกเขา. ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีหลายคนทั่วโลกที่เต็มใจจะทำประโยชน์ให้คนอื่น. อะไรกระตุ้นให้พวกเขาทำเช่นนั้น? พวกเขาประสบความสำเร็จอะไรบ้าง? และพวกเขาอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตคุณอย่างไร?
[กรอบ/ภาพหน้า 4]
ผู้อาสาสมัครก็ได้รับประโยชน์ด้วย
ไมเคิลซึ่งเป็นผู้อาสาสมัครไม่เต็มเวลากล่าวว่า “การพยายามช่วยเหลือคนอื่นทำให้ได้รับบำเหน็จที่ล้ำค่ากว่า, มีความหมายมากกว่า, และน่ายินดียิ่งกว่าสิ่งที่ผมอาจได้รับจากการหมกมุ่นอยู่กับอาชีพทางธุรกิจของผมเพียงอย่างเดียวมากนัก.” ไมเคิลไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกเช่นนี้. ชารอน เคเพลลิง-อะลาคีจา ผู้ประสานงานฝ่ายบริหารหน่วยอาสาสมัครสหประชาชาติ กล่าวว่า “ตลอดทั่วโลก คนที่ . . . อาสาสมัครตระหนักดีว่าพวกเขาได้รับประโยชน์มากเพียงไรจากประสบการณ์นั้น.” ดร. ดักลาส เอ็ม. ลอว์สัน ผู้เชี่ยวชาญด้านงานอาสาสมัคร ยืนยันว่านักวิจัยได้ค้นพบว่า “บ่อยครั้งการทำงานอาสาสมัครเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง ก็ทำให้ท่าทางที่แสดงออกมาและสภาพจิตใจของคนนั้นดีมากถึงขนาดที่ความรู้สึกนี้ถูกเรียกว่า ‘ความปลาบปลื้มของผู้ช่วยเหลือ.’ ” และ “ความปลาบปลื้มของผู้ช่วยเหลือ” นี้ไม่ได้เลือนหายไปอย่างรวดเร็ว. นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ในสหรัฐได้ศึกษาคนกลุ่มหนึ่งเป็นเวลา 30 ปีและพบว่า “คนที่ทำงานอาสาสมัครมีความสุขและมีสุขภาพดีกว่าคนที่ไม่ได้ทำ.” น่าสนใจ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.”—กิจการ 20:35; สุภาษิต 11:25.
[กรอบ/ภาพหน้า 5]
ปีอาสาสมัครสากล
ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1997 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประกาศให้ปี 2001 เป็น “ปีอาสาสมัครสากล” (ไอวายวี 2001). ตามที่สหประชาชาติกล่าว มีเป้าหมายสี่ประการที่ต้องการบรรลุในปีนั้น.
การสร้างการยอมรับมากขึ้น มีการสนับสนุนรัฐบาลต่าง ๆ ให้ยอมรับความสำคัญของผู้อาสาสมัครโดยศึกษาและบันทึกเรื่องราวความสำเร็จของพวกเขารวมทั้งมอบรางวัลให้แก่งานอาสาสมัครที่โดดเด่น.
การเพิ่มการอำนวยความสะดวก มีการกระตุ้นประเทศต่าง ๆ ให้สนับสนุนงานอาสาสมัคร ตัวอย่างเช่น โดยยอมให้การทำงานอาสาสมัครเป็นทางเลือกแทนการเข้ารับการเกณฑ์ทหารหรือโดยให้การลดหย่อนภาษีบางอย่าง.
การสร้างเครือข่าย มีการเชิญสื่อต่าง ๆ ให้ช่วยเผยแพร่เรื่องราวที่ประสบความสำเร็จของงานอาสาสมัครมากขึ้น. ผลคือ จะมีการเลียนแบบโครงการเหล่านั้น “โดยไม่ต้องให้แต่ละชุมชนคิดกันเอง.”
การส่งเสริม มีการกระตุ้นองค์กรของผู้อาสาสมัครให้จัดนิทรรศการเพื่อให้บุคคลทั่วไปทราบว่าสังคมได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากงานอาสาสมัคร.
สหประชาชาติหวังว่าปีอาสาสมัครสากล 2001 จะยังผลให้มีความต้องการงานของผู้อาสาสมัครมากขึ้น, มีผู้เสนอจะช่วยงานอาสาสมัครมากขึ้น, และมีการให้ทุนและสถานที่สำหรับองค์กรอาสาสมัครมากขึ้นเพื่อรับมือกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของสังคม. รัฐบาลทั้งหมด 123 ประเทศได้ร่วมสนับสนุนเป้าหมายนี้ในมติของสหประชาชาติ.