ผู้อาสาสมัครในภาคปฏิบัติ
ผู้อาสาสมัครในภาคปฏิบัติ
ทุกบ่ายวันศุกร์ ซีร์ลีย์ซึ่งเป็นครูวัยกลางคนในประเทศบราซิล จะเปลี่ยนห้องนั่งเล่นของเธอเป็นห้องเรียน. ราว ๆ บ่ายสองโมง อาเมเลียซึ่งเป็นนักเรียนคนหนึ่งจะมาถึง. เธอไม่เคยขาดเรียนแม้แต่ครั้งเดียวและอ่านหนังสือได้ดีกว่าเด็กในโรงเรียนมัธยมหลายคนแล้ว. อาเมเลียอายุ 82 ปี.
อาเมเลียกำลังเดินตามรอยผู้สูงอายุกว่า 60 คนซึ่งได้สำเร็จจากชั้นเรียนอ่านเขียนที่ซีร์ลีย์จัดขึ้นในบ้านเกิดของเธอ. ไม่นานมานี้ มีการลงข่าวเกี่ยวกับงานอาสาสมัครของซีร์ลีย์ในหนังสือพิมพ์ชูร์นัล ดู ซูดัสเต ของบราซิล. หลังจากให้ข้อสังเกตว่าเธอได้ “เอื้อประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตของหลายคนในชุมชน” บทความในหนังสือพิมพ์นั้นกล่าวว่าวิธีการที่ซีร์ลีย์สอนผู้สูงอายุมีประสิทธิภาพมากถึงขนาดที่ “หลังจากเข้าเรียนเพียง 120 ชั่วโมง เขาเหล่านั้นก็สามารถเขียนจดหมาย, อ่านหนังสือพิมพ์, และคิดเลขรวมทั้งทำงานประจำวันต่าง ๆ ได้.” บทความนั้นเสริมว่าตำราที่ซีร์ลีย์ใช้คือหนังสือเล่มเล็กที่ชื่อเรียนวิธีอ่านและเขียน จัดทำโดยพยานพระยะโฮวา. *
จากความอายสู่การอยู่อย่างมีเกียรติ
ดอนา ลูเซีย วัย 68 ปีซึ่งเป็นนักเรียนอีกคนหนึ่งของซีร์ลีย์เล่าว่า ก่อนที่เธอจะเรียนอ่านเขียน เธออายที่จะคุยกับคนอื่น. แม้แต่การซื้อของก็เคยเป็นเรื่องยาก. เธอพูดด้วยรอยยิ้มว่า “ตอนนี้ฉันเขียนจดหมายถึงญาติ ๆ ในเมืองอื่น และจัดการเรื่องเงินด้วยตัวเอง. ไม่มีใครทอนเงินให้ฉันขาดอีกต่อไป.” มาเรียซึ่งมีอายุ 68 ปีเช่นกันเล่าว่า เธอเคยรู้สึกอายที่ต้องประทับรอยหัวแม่มือในการรับเช็คเงินบำนาญ. เธอกล่าวว่า
“ตอนนั้นฉันรู้สึกเหมือนเป็นคนทุพพลภาพ.” แต่เนื่องจากชั้นเรียนอ่านเขียนนั้น ตอนนี้มาเรียเขียนลายเซ็นของเธอเองด้วยความยินดี.คำชมจากนักเรียนและผู้ที่เรียนจบแล้วทำให้โครงการที่ไม่คิดค่าของซีร์ลีย์เป็นที่นิยมมากถึงขนาดที่ห้องรับแขกของเธอเริ่มมีนักเรียนแน่นเกินไป. อีกไม่นาน ชั้นเรียนนี้จะย้ายไปยังที่ที่กว้างขวางกว่านี้.
โครงการที่ได้รับรางวัล
ซีร์ลีย์เป็นพยานพระยะโฮวา. คุณอาจคุ้นเคยกับงานให้การศึกษาซึ่งเป็นงานอาสาสมัครที่พยานพระยะโฮวาทำ. อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของซีร์ลีย์ไม่ได้เป็น
กรณีเดียวเท่านั้น. ชั้นเรียนสอนอ่านเขียนซึ่งจัดขึ้นในหอประชุมราชอาณาจักรนับร้อย ๆ แห่งทั่วประเทศบราซิลได้ช่วยผู้คนมากกว่า 22,000 คนในประเทศนั้นให้อ่านออกเขียนได้.โครงการคล้าย ๆ กันของพยานพระยะโฮวาได้ประสบความสำเร็จในส่วนอื่น ๆ ของโลก. ตัวอย่างเช่น ที่ประเทศบุรุนดีในแอฟริกา สำนักงานการศึกษาผู้ใหญ่แห่งชาติ (หน่วยงานหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ) พอใจกับผลของโครงการสอนอ่านเขียนของพวกพยานฯ มากถึงขนาดที่ให้รางวัลแก่ครูสี่คนของโครงการนี้ที่ “ทุ่มเทในการสอนคนอื่นให้อ่านหนังสือได้.” เจ้าหน้าที่รัฐบาลรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษในเรื่องที่ว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เรียนอ่านเขียนเป็นผู้หญิงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักไม่อยากเข้าร่วมโครงการประเภทนี้.
ในโมซัมบิก นักเรียน 4,000 คนเข้าเรียนในชั้นเรียนสอนอ่านเขียนของพยานฯ และนักเรียนกว่า 5,000 คนได้เรียนจนอ่านเขียนได้ตลอดระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมา. อดีตนักเรียนคนหนึ่งเขียนว่า “ผมอยากจะแสดงความหยั่งรู้ค่าจากใจจริง. เพราะความช่วยเหลือของโรงเรียนนี้ ผมจึงอ่านออกเขียนได้.”
การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ซึ่ง “ไม่ใช่ทำแค่พอเป็นพิธี”
งานบรรเทาทุกข์เป็นงานอาสาสมัครอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งพยานพระยะโฮวาทำ. เมื่อไม่นาน
มานี้มีผู้คนทำงานกันอย่างขันแข็งในโกดังแห่งหนึ่งใกล้กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส. ผู้อาสาสมัครประมาณ 400 คนได้ใช้เวลาช่วงสุดสัปดาห์เพื่อบรรจุอาหาร, เสื้อผ้า, และยารักษาโรคลงหีบห่อ. พอสิ้นสุดสัปดาห์นั้น ตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่เก้าตู้ซึ่งเต็มด้วยสิ่งของมูลค่าเกือบ 1 ล้านดอลลาร์ (สหรัฐ) ก็พร้อมจะถูกส่งไป. ไม่นานหลังจากนั้น สิ่งของเหล่านั้นก็ไปถึงประเทศที่ประสบภัยสงครามในแอฟริกากลาง ซึ่งผู้อาสาสมัครที่เป็นพยานฯ ในท้องถิ่นก็แจกจ่ายของเหล่านั้นออกไปอย่างรวดเร็ว. สิ่งของส่วนใหญ่ก็ได้รับบริจาคจากพยานฯ เช่นกัน.หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในประเทศคองโก (กรุงกินชาซา) ชมเชยงานช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมของพยานพระยะโฮวาว่า “ไม่ใช่ทำแค่พอเป็นพิธี.” เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ก็กล่าวสนับสนุนเช่นกัน. เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของ ยูเอ็นเอชซีอาร์ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกชื่นชมอย่างมากกับความเป็นระเบียบเรียบร้อยของงานบรรเทาทุกข์ซึ่งพวกพยานฯ ทำกันถึงขนาดที่เธอให้ผู้อาสาสมัครยืมใช้รถยนต์ของเธอ. คนในแถบนั้นก็ประทับใจด้วย. เมื่อผู้สังเกตการณ์เห็นว่าสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปถึงมือทุกคนที่ต้องการความช่วยเหลือรวดเร็วสักเพียงไร บางคนถามด้วยความประหลาดใจว่า “พวกคุณจัดการกันอย่างไรเพื่อจะสามารถไปถึงทุกคนได้?”
งานบรรเทาทุกข์ของพยานพระยะโฮวาและโครงการสอนอ่านเขียนของพวกเขาเป็นเพียงสองตัวอย่างของงานที่พยานฯ ได้ทำมาหลายสิบปีแล้วตลอดทั่วโลก. อย่างไรก็ตาม พวกพยานยังทำงานอาสาสมัครอีกรูปแบบหนึ่ง—งานที่ให้ผลประโยชน์ถาวรอย่างแท้จริง. บทความถัดไปจะพิจารณาเรื่องนี้.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 หนังสือเล่มเล็กเรียนวิธีอ่านและเขียน (มี 6 ภาษา ไม่มีในภาษาไทย) และหนังสือเล่มเล็กเล่มล่าสุดคือจงทุ่มเทตัวเองในการอ่านและการเขียน (มี 29 ภาษา ไม่มีในภาษาไทย) จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา. เพื่อจะได้เล่มหนึ่งฟรี กรุณาติดต่อหอประชุมในท้องถิ่นหรือผู้จัดพิมพ์วารสารนี้.
[กรอบ/ภาพหน้า 6, 7]
ความเปลี่ยนแปลงในวงการอาสาสมัคร
ขณะที่จูลีเดินทางไปทั่วโลกเพื่อทำธุรกิจ เธอจัดเวลาเท่าที่พอจะทำได้เพื่อทำงานอาสาสมัครบางอย่าง—บางครั้งไม่กี่ชั่วโมงและบางครั้งก็วันหนึ่ง. ไม่นานมานี้ขณะอยู่ในอเมริกาใต้ เธอใช้เวลาตอนบ่ายวันหนึ่งช่วยในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าใกล้กับกรุงซานติอาโก ประเทศชิลี. เธอบอกว่าการเดินทางเปิด “ทางเลือกให้มากมาย” ในการทำงานอาสาสมัคร.
เช่นเดียวกับจูลี ผู้อาสาสมัครจำนวนมากขึ้นสละเวลาของตน แต่ก็เป็นช่วงที่สั้นลงกว่าแต่ก่อน. ซารา เมเลนเดซ ประธานกลุ่มวิจัยซึ่งวิเคราะห์สถิติเกี่ยวกับงานอาสาสมัคร กล่าวว่า “นี่เป็นแนวโน้มใหม่. ผู้คนทำงานอาสาสมัคร แต่พวกเขาทำในโครงการสั้น ๆ เป็นครั้งคราว.” ผลก็คือ ผู้ดูแลงานกำลังประสบปัญหาการขาดผู้อาสาสมัครและพวกเขามีความยุ่งยากในการหาบุคลากรสำหรับโครงการของตน.
“งานอาสาสมัครแบบปรับเปลี่ยนได้”
ผู้ดูแลงานบางคนรู้สึกว่าแนวโน้มใหม่นี้ คือการให้เวลาแก่งานอาสาสมัครน้อยลง เกิดจากเจตคติที่เปลี่ยนไปของผู้อาสาสมัคร. ซูซาน เอลลิส ที่ปรึกษาของกลุ่มผู้อาสาสมัคร กล่าวว่า “การอาสาสมัครแบบที่ว่า ‘ฉันจะอยู่ตราบเท่าที่คุณต้องการฉัน’ ไม่มีอีกแล้ว.” นักหนังสือพิมพ์ชื่อ ไอลีน แดสปิน เห็นพ้องด้วยว่า “ผู้คนไม่อยากผูกมัดตัวเอง.” หลังจากสัมภาษณ์ผู้อำนวยการกลุ่มผู้อาสาสมัครหลายคนเกี่ยวกับการขาดแคลนผู้อาสาสมัคร เธอลงความเห็นว่า “วงการอาสาสมัครกำลังประสบกับโรคกลัวการผูกมัดขั้นรุนแรง.”
อย่างไรก็ตาม แคทลีน เบห์เรนส์ ผู้อำนวยการแห่งนิวยอร์ก ซึ่งกล่าวถึงในบทความก่อนหน้านี้ รู้สึกว่าคนที่ทำงานอาสาสมัครในระยะเวลาสั้น ๆ นั้นไม่ใช่เพราะไม่ต้องการผูกมัดตัวเอง แต่เพราะไม่มีเวลา. คนที่ทำงานสัปดาห์ละกว่า 50 ชั่วโมงแถมต้องดูแลลูกหรือพ่อแม่ที่สูงอายุนั้นไม่สามารถทำงานอาสาสมัครเป็นประจำได้เลย. เธอกล่าวว่า “กระนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ที่มีธุระยุ่งเหล่านี้ยังทำงานบริการชุมชนอยู่แสดงว่าความสำนึกถึงพันธะของเขามีมากจริง ๆ.”
เบห์เรนส์กล่าวว่า สำหรับผู้อาสาสมัครที่มีเวลาน้อย “งานอาสาสมัครแบบปรับเปลี่ยนได้” เป็นทางแก้. ปัจจุบันนี้ผู้ดูแลงานอาสาสมัครหลายคนถึงกับจัดให้มีโครงการวันเดียว. “นี่ทำให้ผู้คนสามารถทำงานอาสาสมัครแบบที่มีความหมาย แต่มีความยืดหยุ่นแบบที่พวกเขาต้องการเพื่อจะทำได้ค่อนข้างเป็นประจำ.”
นอกจากนั้น คนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ กำลังทำงานอาสาสมัครจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านของตน โดยการป้อนข้อมูลและค้นคว้าเรื่องต่าง ๆ. หนังสือพิมพ์เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล ให้ข้อสังเกตว่า “งานอาสาสมัครแบบออนไลน์อาจเป็น ‘งานอาสาสมัครแบบปรับเปลี่ยนได้’ ที่แปลกที่สุด และบางคนมองว่ามีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จมากที่สุด.”
[กรอบ/ภาพหน้า 8]
การบรรเทาทุกข์ในโกเบ!
แผ่นดินไหวซึ่งเกิดขึ้นที่โกเบ เมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองของญี่ปุ่น ในเดือนมกราคม 1995 ได้ก่อความเสียหายอย่างใหญ่หลวง. ด้วยจำนวนผู้บาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตมากกว่า 5,000 คน แผ่นดินไหวครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1923. พยานพระยะโฮวาในญี่ปุ่นและทั่วโลกเริ่มจัดหาสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้ผู้ประสบภัยทันที. เมื่อมีการตั้งกองทุนบรรเทาทุกข์ขึ้น ก็มีผู้บริจาคมากกว่าหนึ่งล้านดอลลาร์ (สหรัฐ) ภายในวันทำการสามวัน. สิ่งของบรรเทาทุกข์ทุกชนิดหลั่งไหลมาที่เมืองโกเบ.
คริสเตียนผู้ปกครองคนหนึ่งซึ่งร่วมทำงานบรรเทาทุกข์พบว่าไม่นานนักหอประชุมของเขาก็มีสิ่งของมากจนเกินกว่าจะใช้หมด. จะทำอะไรกับของที่ใช้ไม่หมด? เขาเสนอให้บริจาคของบางอย่างแก่โรงพยาบาลใกล้เคียง. พวกพยานฯ ขนของขึ้นรถตู้คันหนึ่งแล้วขับฝ่าซากปรักหักพัง. การไปโรงพยาบาลซึ่งปกติใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีกลับต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง. ที่โรงพยาบาล พวกเขามอบของเหล่านั้นให้กับหัวหน้าแพทย์ ซึ่งมีผ้าห่ม, ที่นอน, ผ้าอ้อม, ผลไม้สด, และยาสามัญ. ด้วยความดีใจ แพทย์คนนั้นกล่าวว่าทางโรงพยาบาลยินดีรับสิ่งของทุกอย่างที่พยานฯ จะให้ได้. พวกเขาดีใจเป็นพิเศษที่ได้ผลไม้เพราะตอนนั้นอาหารสดมีไม่พอสำหรับคนไข้ทุกคน.
ขณะที่พยานฯ ขนของลงจากรถ แพทย์คนนั้นก็ยืนดูเงียบ ๆ ทั้ง ๆ ที่เขามีงานด่วนต้องทำ. แล้วเขาก็โค้งคำนับและขอบคุณพวกพยานฯ. ขณะที่พยานฯ ขับรถออกไป เขายังยืนอยู่ที่นั่นต่อเพื่อแสดงว่าเขารู้สึกขอบคุณสักเพียงไร. ผู้ปกครองที่ร่วมในงานนั้นสังเกตว่าภายหลังโรงพยาบาลแห่งนี้ได้ให้ความร่วมมือกับคนไข้ที่เป็นพยานพระยะโฮวาเป็นอย่างดี.
[กรอบ/ภาพหน้า 9]
งานอาสาสมัคร—งานที่มีประโยชน์
เมื่อผู้อาสาสมัครกลุ่มหนึ่งในเมืองคาเบซี ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในประเทศบุรุนดี ต้องการสร้างหอประชุมของพยานพระยะโฮวา เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นร้องขอเรื่องหนึ่งที่ฟังดูแปลก. เขาขอให้พยานฯ ซ่อมถนนที่ตัดผ่านที่ดินซึ่งมีการขออนุญาต. พยานฯ ยินดีซ่อมถนนที่เสียหายนั้น โดยทำงานทั้งหมดด้วยมือ. พวกผู้อาสาสมัครทำงานได้ดีมากจนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นแสดงความขอบคุณสำหรับงานหนักและความเต็มใจ. หลังจากนั้น ผู้อาสาสมัครก็สร้างหอประชุมของตน ดังรูปข้างบน. ตอนนี้พวกเขามีอาคารที่สวยงามซึ่งจะช่วยส่งเสริมการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นเวลาอีกหลายปีข้างหน้า. จริงทีเดียว งานอาสาสมัครในหลายรูปแบบอาจมีผลประโยชน์ที่กว้างไกลมาก.
[ภาพหน้า 6, 7]
ซีร์ลีย์ประสบความอิ่มใจพอใจในการสอนคนอื่นให้อ่านหนังสือได้
[ที่มาของภาพหน้า 6]
Nelson P. Duarte-Jornal do Sudoeste