ฉันจะทำให้การอ่านคัมภีร์ไบเบิลน่าเพลิดเพลินยิ่งขึ้นได้อย่างไร?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
ฉันจะทำให้การอ่านคัมภีร์ไบเบิลน่าเพลิดเพลินยิ่งขึ้นได้อย่างไร?
“บางครั้งยากจะเข้าใจคัมภีร์ไบเบิล และสิ่งนี้ทำให้ท้อแท้ใจ.”—อันนาลีซา วัย 17 ปี.
“ฉันรู้สึกว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือที่น่าเบื่อ.”—คิมเบอร์ลี วัย 22 ปี.
หลายคนไม่ชอบการอ่าน. ดังนั้น การอ่านหนังสือเล่มใหญ่อย่างคัมภีร์ไบเบิลอาจดูเหมือนเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส แม้แต่นักอ่านตัวยงก็เถอะ. แทมมีอายุ 17 ปี บอกว่า “สำหรับดิฉัน คัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือเล่มหนาเตอะ มีหลายคำซึ่งเข้าใจยาก. การอ่านคัมภีร์ไบเบิลต้องใช้สมาธิและความเพียรพยายามจริง ๆ.”
นอกจากนั้น การบ้าน, งานบ้าน, และการพักผ่อนหย่อนใจอาจผลาญเวลาและพลังของคุณไปมากทีเดียว. ทั้งนี้ก็เช่นกัน อาจทำให้ยากแก่การอ่านคัมภีร์ไบเบิลที่ยังความเพลิดเพลิน. อะลีเซีย พยานพระยะโฮวาคนหนึ่งยังต้องจัดเวลาสำหรับการเตรียมตัวและการเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนและแบ่งปันความเชื่อของเธอให้แก่คนอื่น ๆ. เธอยอมรับว่า “การอ่านคัมภีร์ไบเบิลอาจจะยาก เพราะดูเหมือนมีงานให้ทำมากมายไม่มีจบสิ้น.”
กระนั้น อะลีเซีย, แทมมี, และหนุ่มสาวอีกหลายคนสามารถเอาชนะอุปสรรคนั้นได้. เวลานี้พวกเขาอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำและรู้สึกเพลิดเพลินกับการอ่าน. คุณจะทำได้เช่นกัน! ขอพิจารณาสามสิ่งซึ่งคุณสามารถทำได้เพื่อให้การอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นที่น่าเพลิดเพลินยิ่งขึ้น.
จัดเวลาไว้อ่านคัมภีร์ไบเบิล
เคลลีวัย 18 ปี พูดว่า “ฉันคิดว่าที่หนุ่มสาวพูดถึงการอ่านคัมภีร์ไบเบิลว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อนั้นเป็นเพราะเขายังไม่ได้อ่านมากพอ.” ก็เหมือนกับที่คุณชอบกีฬาหรือเกมที่เล่นบ่อย ๆ คุณจะชอบอ่านคัมภีร์ไบเบิลก็ต่อเมื่อคุณอ่านเป็นประจำ.
แต่จะว่าอย่างไรถ้าคุณไม่ค่อยว่าง? อัครสาวกเปาโลแนะนำว่า “จงระวังอย่างเข้มงวดเพื่อวิธีที่ท่านทั้งหลายดำเนินนั้นจะไม่เหมือนคนไร้ปัญญา แต่เหมือนคนมีปัญญา ใช้ประโยชน์เต็มที่จากเวลาอันเหมาะสำหรับตน เพราะสมัยนี้ชั่วช้า.” (เอเฟโซ 5:15, 16, ล.ม.) คุณจะ “ใช้ประโยชน์เต็มที่จากเวลา” ได้โดยใช้เวลากับกิจกรรมที่ไม่สำคัญให้น้อยลง เช่น การดูโทรทัศน์เป็นต้น. คำที่เปาโลใช้สำหรับ “เวลา” อาจหมายถึงเวลาที่กำหนดไว้สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะอย่าง. คุณอาจกำหนดเวลาตอนไหนได้บ้างเพื่อจะอ่านคัมภีร์ไบเบิล?
หลายคนอ่านคัมภีร์ไบเบิลตอนเช้าหลังจากพิจารณาข้อคัมภีร์ประจำวันและข้อคิดเห็นจากหนังสือการพิจารณาพระคัมภีร์ทุกวัน. * บางคนเลือกเอาเวลาตอนกลางคืนก่อนเข้านอน. จงเลือกเวลาที่คุณเห็นว่าเหมาะกับตัวเองและปรับตารางเวลาตามความจำเป็น. อะลีเซียให้ข้อสังเกตว่า “จริง ๆ แล้ว การยืดหยุ่นเป็นเคล็ดลับที่ทำให้ดิฉันสามารถรักษาตารางเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการอ่าน.”
บทเพลงสรรเสริญ 119:97; 1 เปโตร 2:2.
หนุ่มสาวคริสเตียนบางคนจัดเวลาอ่านคัมภีร์ไบเบิลไว้วันละ 10 ถึง 15 นาทีทุกวัน. เมื่อทำเช่นนี้ เขาจะสามารถอ่านคัมภีร์ไบเบิลจบทั้งเล่มได้ภายในหนึ่งหรือสองปี! แม้ดูเหมือนว่าคุณไม่อาจทำอย่างนั้นได้ แต่คุณควรตั้งเป้าอ่านส่วนหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลทุก ๆ วัน. โดยการยึดมั่นอย่างจริงจังกับเวลาที่คุณกำหนดไว้เพื่ออ่านคัมภีร์ไบเบิล ความรักที่คุณมีต่อพระคำของพระเจ้าจะเติบโตขึ้น.—อธิษฐานขอสติปัญญา
เป็นที่ยอมรับว่า แม้แต่คนที่อ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำก็ยังเห็นว่าบางตอนในพระคำของพระเจ้านั้นเข้าใจได้ยาก. พระยะโฮวา พระเจ้าผู้ประพันธ์คัมภีร์ไบเบิลทรงประสงค์ให้คุณเข้าใจพระคำของพระองค์. พระธรรมกิจการกล่าวถึงนักเดินทางชาวเอธิโอเปียซึ่งไม่อาจเข้าใจได้เต็มที่เกี่ยวกับคำพยากรณ์ในยะซายาบท 53. ชายผู้นี้เต็มใจขอการช่วยเหลือ และทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาได้ส่งฟิลิปผู้เผยแพร่ศาสนาไปอธิบายคำพยากรณ์ข้อนั้นแก่เขา.—กิจการ 8:26-39.
เช่นนั้นแล้ว การอ่านคัมภีร์ไบเบิลอย่างได้ผลไม่ได้เริ่มที่การอ่าน แต่ต้องเริ่มด้วยการอธิษฐาน. ก่อนเปิดคัมภีร์ไบเบิล บางคนถือเป็นกิจปฏิบัติที่จะอธิษฐานขอพระยะโฮวาประทานสติปัญญาเพื่อจะเข้าใจและจดจำบทเรียนขณะที่อ่าน. (2 ติโมเธียว 2:7; ยาโกโบ 1:5) พระวิญญาณของพระเจ้าสามารถดลใจคุณให้ระลึกข้อคัมภีร์ซึ่งจะช่วยตอบคำถามต่าง ๆ หรือรับมือกับการทดลองได้อย่างมีผลสำเร็จ.
คริสเตียนหนุ่มคนหนึ่งจำได้ว่า “ตอนที่ผมอายุ 12 ขวบ พ่อได้ทอดทิ้งครอบครัวของเรา. คืนหนึ่งขณะอยู่บนเตียง ผมอธิษฐานอ้อนวอนขอพระยะโฮวานำพ่อกลับมาหาพวกเรา. แล้วผมหยิบคัมภีร์ไบเบิลขึ้นมาและอ่านบทเพลงสรรเสริญ 10:14 (ฉบับแปลใหม่) ซึ่งกล่าวในทำนองนี้: ‘คนไร้ที่พึ่ง, คนกำพร้าพ่อ, มอบตัวไว้กับพระองค์ [พระยะโฮวา], พระองค์ทรงเป็นผู้ช่วยของเขา.’ ผมหยุดอ่านชั่วครู่หนึ่ง. ผมรู้สึกว่าพระยะโฮวากำลังตรัสให้ผมรู้ว่าพระองค์คือผู้สงเคราะห์; เป็นบิดาของผม. ผมจะหาใครที่ดีกว่าพระบิดาองค์นี้ได้หรือ?”
คุณจะทำเป็นนิสัยได้ไหมที่จะอธิษฐานทุกครั้งเมื่อนั่งลงอ่านคัมภีร์ไบเบิล? เอเดรียนเสนอแนะดังนี้: “จงอธิษฐานทั้งก่อนและหลังจากอ่านเพื่อจะเป็นการติดต่อสนทนากับพระยะโฮวาจริง ๆ.” การอธิษฐานสุดหัวใจย่อมช่วยคุณยึดมั่นอย่างจริงจังกับตารางการอ่านคัมภีร์ไบเบิลและจะกระชับสัมพันธภาพระหว่างคุณกับพระเจ้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น.—ยาโกโบ 4:8.
ทำให้การอ่านคัมภีร์ไบเบิลมีชีวิตชีวา
คิมเบอร์ลี ที่กล่าวถึงตอนต้น รู้สึกว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือที่น่าเบื่อ. จริงอยู่ คัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือเก่าแก่มาก เขียนมานานก่อนจะมีการคิดประดิษฐ์คอมพิวเตอร์, โทรทัศน์, หรือเครื่องบิน และบุคคลในคัมภีร์ไบเบิลได้ล้มหายตายจากไปหลายพันปีแล้ว. กระนั้นก็ดี อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “พระคำของพระเจ้ามีชีวิตและทรงพลัง.” (เฮ็บราย 4:12, ล.ม.) หนังสือโบราณขนาดนั้นจะก่อผลกระทบได้อย่างไร?
ในสมัยของเอษราอาลักษณ์ มีการเรียกชายหญิงหลายพันคน และ “คนทั้งปวงที่ฟังเข้าใจได้” ให้มาชุมนุมกันเพื่อฟังการอ่านพระบัญญัติของโมเซ ณ กรุงยะรูซาเลม. ตอนนั้น พระบัญญัติมีอายุกว่า 1,000 ปีแล้ว! ถึงกระนั้น เอษราและบรรดาผู้ช่วยของท่าน “ได้อ่านหนังสือบทพระบัญญัติของพระเจ้าด้วยเสียงอันดัง, แล้วอธิบายให้คนทั้งปวงรู้เนื้อความที่อ่านนั้น.” ครั้นคนเหล่านั้นได้อธิบายพระคัมภีร์และอ่านอย่างมีชีวิตชีวาเช่นนั้น ผลเป็นอย่างไร? “ฝูงคนทั้งปวงจึงพากันกินและดื่ม, กับแบ่งปันอาหารให้แก่คนขัดสน, และทำให้ใจเบิกบาน, เหตุว่าเขาได้เข้าใจถ้อยคำที่พวกนั้นอ่านอธิบายให้ฟัง.”—คุณจะ “รู้เนื้อความ” จากการอ่านคัมภีร์ไบเบิลได้อย่างไร? แคทีเห็นว่าการอ่านเป็นภารกิจที่ท้าทาย ดังนั้นเธออ่านออกเสียงเพื่อจะจดจ่ออยู่ที่เนื้อความนั้น. นิกกีพยายามนึกภาพตัวเองอยู่ในฉากของเรื่องนั้น ๆ. เธอพูดว่า “ดิฉันนึกภาพตัวเองว่าคงจะรู้สึกเช่นไรในสภาพการณ์แบบนั้น. ดิฉันชอบเรื่องราวของรูธและนาอะมีเป็นพิเศษ. ดิฉันจะอ่านอีกกี่ครั้งกี่หนก็ได้. เมื่อดิฉันย้ายไปอยู่ที่ใหม่อีกเมืองหนึ่ง ดิฉันซาบซึ้งกับคำปลอบประโลมใจจากเรื่องนี้เพราะดิฉันวาดมโนภาพว่ารูธรู้สึกอย่างไรเมื่อไปยังที่แปลกใหม่และไม่รู้จักใครเลย. ดิฉันได้เห็นวิธีที่เธอแสดงความไว้วางใจพระยะโฮวาและสิ่งนี้ช่วยดิฉันจริง ๆ ที่จะทำเช่นนั้นเหมือนกัน.”—ประวัตินางรูธบท 1-4.
เพื่อคัมภีร์ไบเบิลจะ ‘ก่อผลกระทบ’ การคิดรำพึงเป็นสิ่งจำเป็น. ทุกครั้งที่คุณอ่าน จงใช้เวลาไตร่ตรองข้อคัมภีร์ต่าง ๆ ที่คุณอ่านและพิจารณาว่าจะใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้มานั้นอย่างไร. คุณอาจต้องการใช้คู่มือการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลซึ่งจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวาเพื่อการอ่านของคุณจะมีความหมายยิ่งขึ้น. *
จงบากบั่น!
การยึดกับตารางการอ่านคัมภีร์ไบเบิลอย่างจริงจังไม่ใช่เรื่องง่าย. แม้แต่ตารางการอ่านคัมภีร์ไบเบิลที่จัดไว้ดีเยี่ยมก็อาจต้องปรับเปลี่ยนเป็นครั้งคราว. คุณจะบากบั่นให้บรรลุเป้าหมายในการอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำทุกวันได้อย่างไร?
เพื่อน ๆ และคนในครอบครัวช่วยคุณได้. แอมเบอร์ เด็กสาววัย 15 ปีพูดว่า “หนูอยู่ห้องเดียวกันกับน้องสาว. บางคืนหนูเหนื่อยมากจนอยากจะนอนหลับ แต่น้องสาวเตือนหนูให้นึกถึงการอ่าน. ผลก็คือหนูไม่ลืมอีกเลย!” ถ้าคุณพบข้อคัมภีร์หรือตอนหนึ่งตอนใดที่น่าสนใจโดยเฉพาะ จงนำเรื่องนั้นขึ้นมาคุยกับคนอื่น. การทำเช่นนี้จะช่วยเพิ่มความหยั่งรู้ค่าที่คุณมีต่อพระคำของพระเจ้า และอาจกระตุ้นให้เขาสนใจอยากอ่านคัมภีร์ไบเบิลด้วยซ้ำ. (โรม 1:11, 12) ถ้าคุณละเลยไม่ได้อ่านคัมภีร์ไบเบิลสักวันหนึ่งหรือหลายวัน ก็อย่าเพ่อท้อถอย! หยิบขึ้นมาอ่านต่อจากที่ค้างไว้ และตั้งใจแน่วแน่จะยึดมั่นกับตารางเวลาของคุณให้มากกว่าที่ผ่านมา.
อย่าลืมนึกถึงผลประโยชน์มากมายที่ได้จากการอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน. โดยการรับฟังพระยะโฮวาผ่านทางพระคำของพระองค์ คุณจะมีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับพระองค์. คุณจะเข้าใจความคิดและความรู้สึกของพระองค์. (สุภาษิต 2:1-5) ความจริงอันล้ำค่าเหล่านี้จากพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะเป็นเครื่องปกป้องคุ้มครอง. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้ถามว่า “คนหนุ่มทำไฉนจึงจะได้ชำระทางประพฤติของตนให้บริสุทธิ์? ให้ระวังในทางประพฤติตามพระดำรัสของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:9) ฉะนั้น จงเริ่มและทำให้การอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นกิจวัตร. คุณจะพบว่าการทำเช่นนั้นน่าเพลิดเพลินยิ่งกว่าที่คุณเคยคิด!
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 11 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
^ วรรค 22 วารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 ตุลาคม 2000 หน้า 16-17 ให้คำแนะนำหลายข้อที่ใช้ได้ผล เพื่อช่วยคุณเจาะลึกเข้าไปในคัมภีร์ไบเบิล.
[ภาพหน้า 24]
การอธิษฐานและการค้นคว้าจะช่วยให้คุณอ่านคัมภีร์ไบเบิลได้ดีขึ้น และช่วยให้คุณเข้าใจความหมายของพระคัมภีร์
[ภาพหน้า 25]
การนึกภาพตัวเองอยู่ในฉากของเรื่องนั้นจะทำให้พระคัมภีร์มีชีวิตชีวาขึ้นมา