คริสตจักรแห่งอังกฤษ—เรือนซึ่งแตกแยก
คริสตจักรแห่งอังกฤษ—เรือนซึ่งแตกแยก
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในบริเตนใหญ่
การประชุมแลมเบทครั้งที่ 13 ของคริสตจักรแห่งอังกฤษถูกจัดขึ้นที่เมืองแคนเทอร์เบอรีในปี 1998 ใกล้กับมหาวิหารอายุ 900 ปีของคริสตจักรนี้. บิชอปวิลเลียม อี. สวิง ให้ความเห็นที่หนักแน่นต่อที่ประชุมดังนี้: “ศาสนาต้องเลิกเป็นตัวปัญหาแล้วเริ่มแก้ปัญหา. สันติสุขท่ามกลางนานาชาติจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีสันติสุขท่ามกลางศาสนา.”
การแตกแยกซึ่งมีอยู่ท่ามกลางศาสนาต่าง ๆ เห็นได้เด่นชัดมาก เช่นเดียวกับความแตกแยกท่ามกลางฆราวาสและนักเทศน์นักบวชที่อยู่ในศาสนาเดียวกัน. บิชอปคนหนึ่งไม่ยอมเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ สิบปีตั้งแต่ปี 1948 เนื่องจากมีบิชอปที่เป็นสตรีอยู่ ณ การประชุมนี้ด้วย. บิชอปบางคนที่เข้าร่วมการประชุมก็ไม่ยอมพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลกับสตรีเหล่านี้.
ขณะที่ประเด็นเรื่องการแต่งตั้งสตรีเป็นนักเทศน์เป็นหัวเรื่องสำคัญในการประชุมปี 1988 การรักร่วมเพศเป็นประเด็นหลักของการโต้เถียงกันในปี 1998. ในที่สุด เหล่าบิชอปก็ลงมติว่าการรักร่วมเพศ “ขัดกับพระคัมภีร์.” อะไรกระตุ้นให้มีการตัดสินเช่นนั้น?
ปัจจัยหนึ่งอาจเป็นเพราะคริสตจักรแองกลิกันอยากจะกระชับสายสัมพันธ์กับคริสตจักรโรมันคาทอลิก. และพวกเขาตระหนักว่าคริสตจักรทั้งสองไม่อาจติดต่อสัมพันธ์กันได้ถ้าพวกเขายังคง “เห็นชอบให้พวกรักร่วมเพศเป็นนักเทศน์.” ปัจจัยที่แฝงอยู่อีกปัจจัยหนึ่งสำหรับการตัดสินเช่นนั้นอาจเป็นเพราะกลัวศาสนาอิสลาม. บิชอปจากแอฟริกากล่าวว่า การลงมติยอมให้พวกรักร่วมเพศเป็นบาทหลวงได้นั้นเท่ากับเป็น “การฆ่าตัวตายด้านการเผยแพร่ศาสนา” ในรัฐอิสลาม.
เกี่ยวกับประเด็นที่ทำให้แตกแยกอีกประเด็นหนึ่งในการประชุมครั้งนี้ หนังสือพิมพ์เดอะ ซันเดย์ เทเลกราฟ รายงานว่า “ในส่วนต่าง ๆ ของแอฟริกา คำถามสำคัญเรื่องการเผยแพร่ศาสนาคือการมีภรรยาหลายคน.” บิชอปคนหนึ่งแสดงให้เห็นสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกซึ่งคริสตจักรแองกลิกันในแอฟริกากำลังเผชิญอยู่โดยให้ข้อสังเกตว่า “ถ้ามีใครสักคนบริจาคเงินจำนวนมากให้คริสตจักรแต่มีภรรยาหลายคน พวกเขาจะทำอย่างไร?” โดยกล่าวถึงผลที่คาดล่วงหน้าได้จากการถกกันในเรื่องนี้ หนังสือพิมพ์เดอะ ไทมส์ แห่งกรุงลอนดอนรายงานว่า “บิชอปแห่งแองกลิกันจะไม่ว่าอะไรในเรื่องการมีภรรยาหลายคน.”
นับเป็นครั้งแรกที่บิชอปแห่งแองกลิกันถกกันเรื่องความสัมพันธ์กับศาสนาอิสลาม. บิชอปแห่งคาดูนา ไนจีเรีย รายงานว่า “มีความเกลียดชังที่ฝังลึกระหว่างคริสเตียนกับมุสลิมในไนจีเรีย” และอ้างว่ามีมากกว่า 10,000 คนได้เสียชีวิตเนื่องจากความขัดแย้งทางศาสนาในประเทศของเขา. กล่าวกันว่า เว้นแต่จะมีการเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลามเท่านั้นจึงจะสามารถยับยั้งไม่ให้เกิดสงครามศาสนาที่แอฟริกา.
มีอะไรรออยู่ข้างหน้าสำหรับสมาชิกคริสตจักรแองกลิกันทั่วโลก ซึ่งตามคำกล่าวอ้างที่ยังถกเถียงกันอยู่ มีจำนวนถึง 70 ล้านคน? * สถานการณ์ไม่มีทีท่าว่าจะดีเลย เพราะดังที่หนังสือพิมพ์เดอะ ไทมส์ รายงาน “การประชุมนี้ทำให้ผู้สังเกตการณ์และผู้เกี่ยวข้องหลายคนประหลาดใจเพราะบางครั้งมันดูเหมือนการประชุมพรรคการเมืองมากกว่ากลุ่มคริสเตียนที่กำลังร่วมกันอธิษฐาน.”
ไม่น่าแปลกใจที่หนังสือพิมพ์เดอะ ซันเดย์ ไทมส์ ลงท้ายว่า ‘ความเป็นอริและความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกันเป็นลักษณะเด่นของการประชุมนี้.’
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 9 หนังสือพิมพ์เดอะ ไทมส์ กล่าวว่า ตัวเลข 70 ล้านคนนี้ “ฟังดูน่าประทับใจ” แต่ “สิ่งที่แทบไม่ได้กล่าวถึงเลยก็คือ ในจำนวนนี้ 26 ล้านคนเป็นสมาชิกคริสตจักรแห่งอังกฤษ. เวลานี้มีแทบไม่ถึงหนึ่งล้านคนไปโบสถ์ที่นี่ [ในบริเตน] ส่วนที่เหลือเป็นเพียงชาวแองกลิกันแต่ในนาม.”
[ภาพหน้า 24]
มหาวิหารแคนเทอร์เบอรี อายุ 900 ปี