อะไรกระตุ้นให้เกิดยุคแห่งความเดือดดาล?
อะไรกระตุ้นให้เกิดยุคแห่งความเดือดดาล?
ชายคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตขณะนั่งอยู่ในบาร์ที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก. เพราะเหตุใด? คนที่ยิงเขารู้สึกรำคาญที่ชายคนนี้เปิดเครื่องเล่นเทปเสียงดัง. คนขับรถคนหนึ่งถูกตีด้วยไม้ฮอกกี้จนเสียชีวิตที่สี่แยกในกรุงเคปทาวน์ แอฟริกาใต้. คนที่ทำร้ายเขาดูเหมือนโมโหที่เขากะพริบไฟสูงใส่. คู่รักเก่าของพยาบาลชาวอังกฤษคนหนึ่งซึ่งอยู่ในออสเตรเลียพังประตูบ้านเธอเข้าไปด้วยความโกรธ; เขาราดน้ำมันใส่เธอแล้วจุดไฟ ตั้งใจปล่อยให้เธอตาย.
รายงานข่าวเรื่องความเดือดดาล เช่น ความเดือดดาลบนท้องถนน, ความเดือดดาลในบ้าน, ความเดือดดาลบนเครื่องบิน เป็นการรายงานเกินจริงไหม? หรือเป็นเหมือนรอยร้าวบนผนังตึก คือเป็นสัญญาณที่เตือนให้รู้ว่ามีปัญหาร้ายแรงอยู่? ข้อเท็จจริงบ่งชี้ถึงอย่างหลัง.
รายงานซึ่งออกเมื่อไม่นานมานี้โดยมูลนิธิสมาคมรถยนต์อเมริกัน (เอเอเอ) เพื่อความปลอดภัยในการจราจร กล่าวว่า บนท้องถนน “รายงานเหตุการณ์รุนแรงเกี่ยวกับการจราจรเพิ่มขึ้นเกือบ 7 เปอร์เซ็นต์ต่อปีตั้งแต่ปี 1990.”
ภายในบ้าน ความเดือดดาลก็มีแพร่หลายขึ้น. ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย บอกว่ากรณีความรุนแรงภายในบ้านที่ลงรายงานไว้มีเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ในปี 1998. ผู้หญิงทุกหนึ่งในสี่คนของประเทศนั้นซึ่งแต่งงานแล้วหรืออยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนถูกคู่ของตนทำร้าย.
บนฟ้าก็มีเรื่องคล้าย ๆ กัน. การคุกคามจากผู้โดยสารบนเครื่องบินที่โกรธเกรี้ยวและทำร้ายคนอื่น เช่น พนักงาน, ผู้โดยสารคนอื่น, และแม้กระทั่งนักบิน ทำให้สายการบินใหญ่ ๆ บางแห่งต้องจัดให้ลูกเรือมีสายรัดพิเศษ ซึ่งออกแบบสำหรับมัดผู้ที่แสดงความเกรี้ยวกราดรุนแรงไว้กับที่นั่ง.
ทำไมคนที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนได้จึงดูเหมือนมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ? อะไรกระตุ้นให้คนเหล่านี้ระเบิดอารมณ์ออกมา? เป็นไปได้จริง ๆ ไหมที่จะควบคุมความรู้สึกเหล่านี้?
ทำไมความเดือดดาลจึงเพิ่มขึ้น?
ความเดือดดาลคือความรู้สึกหรือการแสดงความโกรธอย่างรุนแรง. การแสดงความเดือดดาลเป็นผลจากการปล่อยให้ตัวเองสะสมความโกรธมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งระเบิดออกมาอย่างรุนแรง. เดวิด เค. วิลลิส ประธานมูลนิธิ เอเอเอ เพื่อความปลอดภัยในการจราจร กล่าวว่า “การโต้เถียงกันบนท้องถนนซึ่งทำให้เกิดความรุนแรงแทบไม่ได้เกิดขึ้นจากชนวนเหตุเพียงครั้งเดียว. แต่ดูเหมือนเกิดจากเจตคติส่วนตัวและความเครียดที่สะสมอยู่ในชีวิตของคนที่ขับขี่ยวดยาน.”
สิ่งที่ยิ่งทำให้เครียดมากขึ้นไปอีกคือเราถูกคาดหมายให้รับข้อมูลปริมาณมหาศาลทุกวัน. ปกหลังของหนังสือข้อมูลล้น (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งแต่งโดย เดวิด เลวิส ให้ความเห็นว่า “คนทำงานหลายคนในสมัยนี้ถูกข้อมูลปริมาณมหาศาลโถมทับ . . . พวกเขาเครียดจัด, ประมาท, ทำอะไรไม่ถูกเนื่องจากการรับข้อมูลมากเกินไป.” เมื่ออ้างถึงตัวอย่างของการมีข้อมูลมากเกินไป หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งกล่าวว่า “หนังสือพิมพ์ในวันธรรมดามีข้อมูลมากกว่าที่ผู้คนทั่วไปในศตวรรษที่ 17 ได้รับตลอดชีวิตของเขา.”
สิ่งที่เราใส่เข้าไปทางปากก็อาจกระตุ้นให้เกิดโทสะด้วย.
การศึกษาวิจัยใหญ่ ๆ สองรายแสดงว่า ความเป็นอริกันซึ่งมีเพิ่มขึ้นนั้นเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่, การดื่มแอลกอฮอล์, และการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์. รูปแบบชีวิตที่มีอยู่ทั่วไปนี้ยิ่งทำให้มีความเครียดและความข้องขัดใจเพิ่มขึ้น ซึ่งปะทุออกมาในรูปของคำหยาบคาย, ความใจร้อน, และการไม่อดกลั้น.มารยาทไม่ดีกับภาพยนตร์
เมื่อให้ความเห็นเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างความหยาบคายกับอาชญากรรม ดร. แอดัม เกรย์คาร์ ผู้อำนวยการสถาบันอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย (เอไอซี) กล่าวว่า “การกลับมาเพ่งเล็งที่ความนับถือและความสุภาพอาจเป็นก้าวสำคัญที่สุดก้าวหนึ่งในการลดอาชญากรรมที่ไม่รุนแรง.” สถาบันแห่งนี้สนับสนุนให้แสดงความอดทน, อดกลั้น, และบังคับตัวไม่พูดคำหยาบ. สถาบันแห่งนี้กล่าวว่า การไม่ได้ทำดังว่านั้นอาจทำให้ความประพฤติเกะกะระรานกลายเป็นอาชญากรรมได้. น่าแปลก การหย่อนใจแบบหนึ่งที่หลายคนเลือกเพื่อผ่อนคลายความข้องขัดใจและความตึงเครียดนั้นจริง ๆ แล้วยิ่งกระตุ้นให้เกิดความไม่อดกลั้นและความเดือดดาล. โดยวิธีใด?
รายงานจากเอไอซีกล่าวว่า “เด็กและผู้ใหญ่พากันไปที่โรงภาพยนตร์เพื่อดูภาพความตายและการทำลายล้าง. ตลาดวิดีโอภาพยนตร์รุนแรงนั้นใหญ่และทำกำไรมาก. ‘ของเล่นเกี่ยวกับสงคราม’ ยังคงเป็นที่ชื่นชอบของเด็กหลายคนแม้ว่าไม่ใช่บิดามารดาทุกคนจะชอบ. หลายคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ชอบดูรายการโทรทัศน์ที่มีความรุนแรง และโทรทัศน์ก็มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดค่านิยมทางวัฒนธรรม.” สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับความเดือดดาลที่ปะทุขึ้นบนท้องถนนและในบ้านอย่างไร? รายงานฉบับนั้นให้เหตุผลว่า “ยิ่งสังคมยอมให้กับความรุนแรงมากเท่าใด ค่านิยมของแต่ละบุคคลในสังคมก็จะยิ่งพัฒนาไปในแนวทางนั้นมากขึ้นเท่านั้น.”
หลายคนในปัจจุบันจะแย้งว่า การระเบิดอารมณ์ออกมาเป็นเพียงการตอบสนองตามธรรมชาติต่อความเครียด เป็นปฏิกิริยาที่เลี่ยงไม่ได้ในสังคมของเราที่มีความกดดันสูงและก้าวร้าว. ถ้าอย่างนั้น แนวคิดซึ่งคนส่วนใหญ่นิยมกันที่ว่า “เมื่อโกรธ ก็จงระบายออกมา” เป็นคำแนะนำที่ดีจริง ๆ ไหม?
ควรควบคุมความเดือดดาลไหม?
เช่นเดียวกับภูเขาไฟที่กำลังระเบิดทำความเสียหายอย่างหนักแก่คนที่อาศัยอยู่รอบ ๆ นั้น คนที่แสดงความโกรธออกมาอย่างรุนแรงก็ทำความเสียหายแก่คนที่อยู่รอบข้างเขา. เขายังทำร้ายตัวเองอย่างหนักด้วย. ในทางใด? วารสารสมาคมการแพทย์อเมริกัน (เจมา) กล่าวว่า “การแสดงความโกรธยิ่งทำให้เกิดความก้าวร้าวมากขึ้น.” ตามงานวิจัย ผู้ชายที่ระเบิดอารมณ์ “มีโอกาสจะเสียชีวิตก่อนอายุ 50 ปีมากกว่าคนที่ควบคุมอารมณ์ไว้.”
สมาคมหัวใจแห่งอเมริกากล่าวในทำนองเดียวกันว่า “ผู้ชายที่เคยระเบิดอารมณ์มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเส้นเลือดสมองมากกว่าคนที่ควบคุมอารมณ์ไว้ถึงสองเท่า.” คำเตือนนี้ใช้ได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิง.
คำแนะนำไหนถูกต้องจริง ๆ? ขอให้สังเกตความคล้ายคลึงกันระหว่างคำแนะนำของแหล่งอ้างอิงฝ่ายโลกกับคำแนะนำเรื่องมนุษยสัมพันธ์ในแหล่งอ้างอิงที่จำหน่ายอย่างแพร่หลายที่สุด นั่นคือคัมภีร์ไบเบิล.
ควบคุมความโกรธ—หลีกเลี่ยงความเดือดดาล
นายแพทย์เรดฟอร์ด บี. วิลเลียมส์ กล่าวในเจมา ว่า “คำแนะนำง่าย ๆ ที่ว่า ‘เมื่อโกรธ ก็จงระบายออกมา’ คงไม่ . . . ช่วยสักเท่าไร. สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการเรียนรู้วิธีวิเคราะห์ความโกรธของคุณและควบคุมมัน.” เขาแนะให้ถามตัวเองว่า “(1) เรื่องนี้สำคัญต่อฉันไหม? (2) ความคิดและความรู้สึกของฉันเหมาะสมตามสภาพที่เป็นจริงไหม? (3) เรื่องนี้ปรับเปลี่ยนได้ไหม เพื่อฉันจะไม่ต้องโกรธอย่างนี้?”
สุภาษิต 14:29; 29:11 “บุคคลผู้ไม่โกรธเร็วเป็นคนประกอบด้วยความเข้าใจดียิ่ง; แต่บุคคลผู้มีใจฉุนเฉียวส่งเสริมความโฉดเขลาให้ยิ่งขึ้น. คนโฉดมักคายความโกรธของเขาออกมาทั้งหมด; แต่ผู้มีปัญญาย่อมระงับความโกรธของเขาให้หายไป.”
เอเฟโซ 4:26 “โกรธเถิด, แต่อย่าให้เป็นการบาป อย่าให้ถึงตะวันตกท่านยังโกรธอยู่.”
แฟรงก์ โดโนแวนแนะนำไว้ในหนังสือการจัดการกับความโกรธ—ทางแก้ด้วยตัวเองสำหรับผู้ชาย (ภาษาอังกฤษ) ดังนี้: “การหนีจากความโกรธ—หรือถ้าจะพูดให้เจาะจงก็คือ การหนีจากเหตุการณ์และคนอื่นที่อยู่ในเหตุการณ์ซึ่งทำให้คุณโกรธ—เป็นวิธีที่สำคัญและช่วยได้มากเป็นพิเศษเมื่อกำลังโกรธจัด.”
สุภาษิต 17:14 (ล.ม.) “การเริ่มต้นวิวาทกันก็เหมือนปล่อยน้ำไหล; ฉะนั้นก่อนที่จะเกิดการทะเลาะกัน จงหลบไปเสีย.”
เบอร์ทรัม รอทส์ไชลด์ เขียนไว้ในวารสารเดอะ ฮิวแมนิสต์ ว่า “ความโกรธ . . . ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากตัวเราเอง. เหตุผลที่จะโกรธอยู่ในหัวของเรา. . . . เมื่อเทียบดูแล้ว มีน้อยครั้งที่ความโกรธทำให้บรรลุผลตามต้องการ แต่มีหลายครั้งที่มันทำให้เรื่องยิ่งเลวร้ายมากขึ้น. นับว่าดีกว่ามากที่จะไม่เกิดความโกรธแทนที่จะรู้สึกโกรธ.”
บทเพลงสรรเสริญ 37:8 “จงอดกลั้นความโกรธไว้, และระงับความโทโสเสีย: อย่าให้ใจเดือดร้อน, มีแต่จะเป็นเหตุให้ทำการชั่วเท่านั้น.”
สุภาษิต 15:1 “คำตอบอ่อนหวานกระทำให้ความโกรธผ่านพ้นไป; แต่คำขมเผ็ดร้อนกระทำให้โทโสพลุ่งขึ้น.”
สุภาษิต 29:22 “คนเจ้าโมโหทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน; และคนเจ้าโทโสก่อการผิดมาก.”
พยานพระยะโฮวาหลายล้านคนทั่วโลกเห็นด้วยกับคำแนะนำข้างต้น. เราขอเชิญคุณให้เข้าร่วมการประชุมของพวกพยานฯ ที่หอประชุมในละแวกบ้านคุณและตรวจดูด้วยตัวคุณเองว่าการดำเนินชีวิตตามคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลให้ผลดีจริง ๆ แม้ว่าเราอยู่ในยุคแห่งความเดือดดาล.
[ภาพหน้า 23]
เช่นเดียวกับภูเขาไฟที่กำลังระเบิด คนที่แสดงความโกรธอย่างไม่ควบคุมก็ทำให้เกิดความเสียหาย
[ภาพหน้า 24]
คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลใช้การได้จริง ๆ