ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ภาษาสัตว์ป่า—ความลับในการสื่อความของสัตว์

ภาษาสัตว์ป่า—ความลับในการสื่อความของสัตว์

ภาษา​สัตว์​ป่า—ความ​ลับ​ใน​การ​สื่อ​ความ​ของ​สัตว์

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​เคนยา

ไม่​มี​ข้อ​สงสัย ของ​ประทาน​อัน​ล้ำ​ค่า​ที่​สุด​อย่าง​หนึ่ง​ซึ่ง​มนุษยชาติ​ได้​รับ​คือ​ความ​สามารถ​ใน​การ​สื่อ​ความ. ด้วย​ความ​สามารถ​นี้ เรา​ส่ง​ข้อมูล​สำคัญ​ถึง​กัน​ทั้ง​ทาง​วาจา​และ​วิธี​อื่น ๆ ที่​ไม่​ออก​เสียง เช่น การ​ใช้​ท่า​ทาง. ที่​จริง เสรีภาพ​ใน​การ​พูด​ของ​คน​เรา​เป็น​ประเด็น​ที่​ถก​กัน​อย่าง​กว้างขวาง​ทั่ว​โลก. ด้วย​เหตุ​นั้น บาง​คน​จึง​ทึกทัก​เอา​ว่า​การ​สื่อ​ความ​มี​อยู่​ใน​หมู่​มนุษย์​เท่า​นั้น.

ทว่า ผล​จาก​การ​วิจัย​แสดง​ว่า​สัตว์​แลก​เปลี่ยน​ข้อมูล​กัน​ด้วย​วิธี​อัน​ซับซ้อน​จน​คน​เรา​งงงวย​อยู่​บ่อย​ครั้ง. ที่​จริง พวก​มัน​ไม่​ได้ “พูด” เป็น​คำ แต่​ด้วย​การ​ส่ง​สัญญาณ​ที่​เห็น​ได้​เช่น การ​กระดิก​หาง, การ​กระตุก​ของ​หู, หรือ​การ​ตี​ปีก​พับ ๆ. การ​สื่อ​ความ​ใน​รูป​แบบ​อื่น ๆ อาจ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ใช้​เสียง เช่น เสียง​เห่า, เสียง​คำราม, เสียง​แยก​เขี้ยว​คำราม, หรือ​เสียง​เพลง​ของ​นก. มนุษย์​เรา​เข้าใจ “ภาษา” บาง​อย่าง​ของ​สัตว์​ได้​ไม่​ยาก แต่​ภาษา​บาง​อย่าง​ต้อง​อาศัย​การ​ศึกษา​ทาง​วิทยาศาสตร์​มาก​ที​เดียว​จึง​จะ​เข้าใจ.

นัก​ล่า!

ตอน​นั้น​เป็น​ช่วง​กลาง​เดือน​กรกฎาคม. ใน​อุทยาน​แห่ง​ชาติ​เซเรงเกติ​อัน​กว้าง​ใหญ่​ไพศาล​ใน​ประเทศ​แทนซาเนีย ฝูง​นู (วิลเดอบีสต์) นับ​พัน​นับ​หมื่น​ตัว​กำลัง​บ่าย​หน้า​ขึ้น​เหนือ​ไป​ยัง​เขต​อนุรักษ์​สัตว์​ป่า​มาไซ มารา ใน​เคนยา เพื่อ​แสวง​หา​ทุ่ง​หญ้า​ที่​เขียว​สด​กว่า. ใน​การ​อพยพ​ประจำ​ปี​อย่าง​นี้ เสียง​กีบ​เท้า​ตะกุย​ดิน​จะ​ดัง​ก้อง​ไป​ทั่ว​ที่​ราบ​แห่ง​นี้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม มี​อันตราย​ซุ่ม​ซ่อน​อยู่​ตาม​ทาง. เส้น​ทาง​สาย​นี้​มี​สัตว์​ล่า​เหยื่อ​ซุ่ม​อยู่​ตลอด​ทาง เช่น สิงโต, เสือ​ชีตาห์, ไฮยีนา, และ​เสือ​ดาว. นอก​จาก​นั้น ฝูง​นู​พวก​นี้​ยัง​ต้อง​เสี่ยง​ชีวิต​ข้าม​แม่น้ำ​มารา​ที่​ชุกชุม​ไป​ด้วย​จระเข้. พวก​นู​ทำ​อย่าง​ไร​เพื่อ​เอา​ตัว​รอด​จาก​พวก​นัก​ล่า?

เพื่อ​ทำ​ให้​ศัตรู​สับสน พวก​นู​จะ​วิ่ง​อย่าง​เร็ว​ระยะ​สั้น ๆ แล้ว​หัน​กลับ​มา​เผชิญ​หน้า​กับ​ศัตรู และ​ส่าย​หัว​ไป​มา​อยู่​ตลอด​เวลา. มัน​จะ​ดีด​แข้ง​ขา​กระโดด​ขึ้น​ลง​อย่าง​พิสดาร ดู ๆ แล้ว​ออก​จะ​เป็น​การ​แสดง​ที่​แปลก​ประหลาด​น่า​หัวเราะ. แม้​แต่​นัก​ล่า​ที่​ใจ​แข็ง​ก็​ยัง​ต้อง​ชะงัก​ด้วย​ความ​งุนงง​เมื่อ​ได้​เห็น​การ​เต้น​ที่​แปลก​ประหลาด​อย่าง​นี้. หาก​นัก​ล่า​ยัง​ปรี่​เข้า​มา​อีก พวก​นู​ก็​จะ​แสดง​ซ้ำ​อีก​รอบ​หนึ่ง. ผู้​บุกรุก​จะ​รู้สึก​สับสน​จน​อาจ​เลิก​คิด​จะ​ไล่​ล่า​หลัง​จาก​ที่​ได้​เห็น​การ​เต้น​โชว์​อย่าง​นั้น. การ​เต้น​ที่​พิสดาร​อย่าง​นั้น​ทำ​ให้​พวก​นู​ถูก​เรียก​เป็น​ตัว​ตลก​แห่ง​ท้อง​ทุ่ง.

อิมพาลา สัตว์​คล้าย ๆ กับ​นู​แต่​ตัว​เล็ก​กว่า ขึ้น​ชื่อ​ใน​เรื่อง​การ​กระโดด​ได้​สูง​มาก. สำหรับ​หลาย​คน​แล้ว การ​กระโดด​สูง​ของ​พวก​มัน​อาจ​หมาย​ถึง​ความ​สง่า​งาม​และ​ความ​เร็ว. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​ยาม​คับขัน แอนทีโลป​ชนิด​นี้​จะ​ใช้​เทคนิค​การ​กระโดด​สูง​ของ​มัน​เพื่อ​ทำ​ให้​สัตว์​นัก​ล่า​จับ​ขา​มัน​ได้​ยาก. การ​กระโดด​ของ​พวก​มัน ซึ่ง​อาจ​ไกล​ถึง 9 เมตร เป็น​การ​ส่ง​สาร​บอก​ผู้​โจมตี​อย่าง​ชัดเจน​ว่า “เก่ง​จริง​ก็​ตาม​มา​ซิ.” มี​สัตว์​นัก​ล่า​ไม่​กี่​ตัว​ที่​อยาก​ทำ​อย่าง​นั้น​เพียง​เพื่อ​จะ​จับ​เจ้า​อิมพาลา​ผู้​ไม่​ยินยอม!

ได้​เวลา​กิน

ใน​ป่า สัตว์​ล่า​เหยื่อ​หลาย​ชนิด​ต้อง​พัฒนา​ความ​ชำนาญ​ใน​การ​ล่า​เพื่อ​จะ​เป็น​นัก​ล่า​ที่​ดี. พวก​ลูก​น้อย​ต้อง​คอย​สังเกต​ให้​ดี​เมื่อ​พ่อ​แม่​พา​มัน​ไป​ด้วย​เพื่อ​สาธิต​การ​ล่า​ให้​ดู. ใน​เขต​สงวน​พันธุ์​สัตว์​ป่า​แห่ง​หนึ่ง​ใน​แอฟริกา มี​ผู้​พบ​ว่า​แม่​เสือ​ชีตาห์​ตัว​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​ชื่อ​ว่า ซาบา กำลัง​สอน​บทเรียน​สำคัญ​แก่​ลูก ๆ ใน​เรื่อง​การ​อยู่​รอด. หลัง​จาก​ที่​สะกด​รอย​ตาม​กา​เซลล์​ทอมสัน​ซึ่ง​และ​เล็ม​หญ้า​อยู่​นาน​กว่า​ชั่วโมง นาง​เสือ​ก็​กระโจน​พรวด​เดียว​ถึง​ตัว ตะปบ​กา​เซลล์​ผู้​เคราะห์​ร้าย​ตัว​นี้​ไว้​จน​อยู่​หมัด​และ​ขย้ำ​คอ—แต่​ไม่​ฆ่า. ครู่​ต่อ​มา เจ้า​ซาบา​ก็​ปล่อย​กา​เซลล์​ที่​ยัง​มึน​งง​ไว้​ต่อ​หน้า​ลูก ๆ ของ​มัน ซึ่ง​ต่าง​ก็​รู้สึก​แปลก​และ​ยัง​กล้า ๆ กลัว ๆ ที่​จะ​กระโจน​เข้า​ขย้ำ​เหยื่อ. ชีตาห์​น้อย​เหล่า​นี้​เข้าใจ​ว่า​ทำไม​แม่​จึง​นำ​สัตว์​เป็น ๆ มา​ให้​พวก​มัน. แม่​เสือ​ต้องการ​ให้​ลูก ๆ เรียน​รู้​วิธี​ฆ่า​กาเซลล์. ทุก​ครั้ง​ที่​เหยื่อ​ตัว​นี้​พยายาม​จะ​ลุก​ขึ้น​วิ่ง พวก​ลูก​เสือ​ที่​ตื่นเต้น​กัน​ยก​ใหญ่​ก็​จะ​จัด​การ​มัน​จน​ล้ม​ลง​อีก. เมื่อ​หมด​แรง กา​เซลล์​ก็​เลิก​คิด​จะ​ต่อ​สู้​เอา​ชีวิต​รอด. เจ้า​ซาบา​คอย​ดู​อยู่​ห่าง ๆ และ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​มัน​พอ​ใจ​ฝีมือ​ของ​ลูก ๆ.

สัตว์​บาง​ชนิด​เชี่ยวชาญ​เป็น​พิเศษ​ใน​การ​ทำ​เสียง​ให้​ดัง​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​ทำ​ได้​ขณะ​ไล่​ล่า​เหยื่อ​เป็น​อาหาร. ไฮยีนา​ลาย​จุด​ทั้ง​โขยง​จะ​คำราม​อยู่​ใน​ลำคอ, พ่น​ลม​ออก​จมูก, และ​ทำ​เสียง​หัวเราะ​คิก ๆ คัก ๆ ขณะ​วิ่ง​ไล่​ตาม​เหยื่อ. พอ​ฆ่า​เหยื่อ​แล้ว พวก​มัน​ก็​จะ​เชิญ​พรรค​พวก​ให้​มา​ร่วม​งาน​เลี้ยง​ด้วย “เสียง​หัวเราะ” อัน​เป็น​เอกลักษณ์​เฉพาะ​ตัว​ของ​ไฮยีนา​ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ไฮยีนา​ไม่​หา​อาหาร​ด้วย​การ​ล่า​เหยื่อ​เอง​เสมอ​ไป. พวก​มัน​นับ​เป็น​โจร​ปล้น​อาหาร​ที่​ร้ายกาจ​ที่​สุด​ใน​ป่า ซึ่ง​ใช้​ทุก​วิธี​รังควาน​สัตว์​นัก​ล่า​อื่น ๆ เพื่อ​แย่ง​เหยื่อ​ที่​ล่า​ได้. เป็น​ที่​รู้​กัน​ว่า ไฮยีนา​สามารถ​ขู่​สิงโต​ให้​ทิ้ง​อาหาร​ของ​มัน! พวก​มัน​ทำ​อย่าง​นี้​ได้​อย่าง​ไร? ด้วย​ความ​ที่​เป็น​สัตว์​นิสัย​เอะอะ​เจี๊ยวจ๊าว พวก​มัน​จะ​ช่วย​กัน​ทำ​เสียง​คลุ้มคลั่ง​วุ่นวาย​เพื่อ​รบกวน​สิงโต​ที่​กำลัง​กิน​เหยื่อ. หาก​สิงโต​ไม่​สนใจ​เสียง​นั้น พวก​ไฮยีนา​ก็​จะ​ทำ​เสียง​คลุ้มคลั่ง​หนัก​กว่า​เดิม​และ​อาจ​หาญ​ยิ่ง​ขึ้น. เมื่อ​ถูก​รบกวน​ความ​สงบ​สุข​อย่าง​นี้ สิงโต​ก็​มัก​จะ​ทิ้ง​ซาก​สัตว์​นั้น​ไว้​และ​เดิน​หนี​ไป​จาก​บริเวณ​นั้น.

การ​เสาะ​หา​อาหาร​ของ​ผึ้ง​เป็น​พิธี​การ​อัน​สลับ​ซับซ้อน​อย่าง​หนึ่ง. การ​ศึกษา​วิจัย​ทาง​วิทยาศาสตร์​ที่​ซับซ้อน​เผย​ให้​ทราบ​ว่า โดย​การ​เต้น​รำ ผึ้ง​งาน​ตัว​หนึ่ง​บอก​ผึ้ง​ตัว​อื่น ๆ ใน​รัง​ให้​ทราบ​เกี่ยว​กับ​แหล่ง, ประเภท, และ​แม้​กระทั่ง​คุณภาพ​ของ​อาหาร​ที่​มัน​พบ. ผึ้ง​จะ​นำ​ตัว​อย่าง​อาหาร เช่น น้ำ​หวาน​หรือ​เกสร ติด​ตัว​มัน​กลับ​มา​ให้​ผึ้ง​ตัว​อื่น ๆ ใน​รัง​ดู. ด้วย​การ​เต้น​เป็น​รูป​เลข​แปด มัน​ไม่​เพียง​แต่​ชี้​ทาง​ให้​ผึ้ง​ตัว​อื่น​รู้​แหล่ง​อาหาร​เท่า​นั้น แต่​ยัง​สามารถ​ระบุ​ระยะ​ทาง​ด้วย. ระวัง​ตัว​ให้​ดี! ผึ้ง​ตัว​ที่​บิน​วน​เวียน​อยู่​รอบ​ตัว​คุณ​อาจ​กำลัง​เก็บ​รวบ​รวม​ข้อมูล​สำคัญ​บาง​อย่าง​เพื่อ​นำ​กลับ​ไป​ที่​รัง​ของ​มัน. อาจ​เป็น​ได้​ที่​มัน​สำคัญ​ผิด​ว่า​น้ำหอม​ที่​คุณ​ใช้​เป็น​อาหาร​มื้อ​ต่อ​ไป​ของ​มัน!

รักษา​การ​ติด​ต่อ

มี​ไม่​กี่​เสียง​ที่​น่า​ตื่น​ใจ​เท่า​กับ​เสียง​คำราม​ของ​สิงโต​ใน​ยาม​ราตรี​อัน​เงียบ​สงัด. มี​ผู้​เสนอ​เหตุ​ผล​หลาย​อย่าง​สำหรับ​การ​สื่อ​ความ​แบบ​นี้. เสียง​คำราม​อัน​ทรง​พลัง​ของ​สิงโต​ตัว​ผู้​เป็น​เสียง​เตือน​ทุก​ชีวิต​ว่า​มัน​อยู่​ใน​พื้น​ที่​นั้น; อย่า​เสี่ยง​บุกรุก​เข้า​มา​จะ​ดี​กว่า. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เนื่อง​จาก​มัน​เป็น​สัตว์​ใน​ตระกูล​แมว​ที่​ชอบ​อยู่​รวม​กัน​เป็น​กลุ่ม สิงโต​จะ​คำราม​เพื่อ​รักษา​การ​ติด​ต่อ​กับ​สมาชิก​ตัว​อื่น ๆ ใน​ฝูง​ด้วย. ตาม​ปกติ​แล้ว เสียง​คำราม​ด้วย​จุด​ประสงค์​นี้​จะ​นุ่ม​กว่า ไม่​กระโชก​โฮกฮาก​เท่า. ใน​คืน​หนึ่ง มี​คน​ได้​ยิน​เสียง​สิงโต​ตัว​หนึ่ง​คำราม​ทุก ๆ 15 นาที​จน​กระทั่ง​ญาติ​ของ​มัน​คำราม​ตอบ​จาก​ระยะ​ไกล. ทั้ง​สอง​ตัว “คุย” กัน​ต่อ​ไป​อีก 15 นาที​จน​กระทั่ง​มัน​พบ​กัน​ใน​ที่​สุด. ถึง​ตอน​นี้ เสียง​คำราม​จึง​ได้​สิ้น​สุด​ลง.

การ​ติด​ต่อ​กัน​เช่น​นั้น​ไม่​เพียง​แต่​ช่วย​เสริม​สร้าง​สัมพันธภาพ​ที่​ดี แต่​ยัง​ให้​การ​ปก​ป้อง​คุ้มครอง​จาก​สภาพ​อากาศ​ที่​เลว​ร้าย​ด้วย. แม่​ไก่​จะ​เปล่ง​เสียง​ออก​มา​หลาย​แบบ​เพื่อ​ส่ง​ข่าวสาร​ที่​แตกต่าง​กัน​ถึง​ลูก ๆ ของ​มัน. แต่​เสียง​ที่​เด่น​ชัด​ที่​สุด​คือ​เสียง​ระรัว​ต่ำ ๆ ยาว ๆ ที่​แม่​ไก่​ร้อง​ใน​ตอน​เย็น ซึ่ง​บอก​ให้​รู้​ว่า​แม่​ไก่​กลับ​มา​จับ​คอน​นอน​รัง​แล้ว. ลูก​ไก่​ที่​อยู่​กระจัด​กระจาย​ก็​จะ​เชื่อ​ฟัง​เสียง​เรียก​ของ​แม่​ไก่​และ​พา​กัน​กลับ​มา​ซุก​ตัว​นอน​ใต้​ปีก​แม่.—มัดธาย 23:37.

หา​คู่

คุณ​เคย​ละ​มือ​จาก​งาน​ที่​ทำ​อยู่​เพราะ​เสียง​เพลง​อัน​ไพเราะ​ของ​นก​บาง​ชนิด​ไหม? คุณ​ทึ่ง​ความ​สามารถ​ของ​มัน​ใน​การ​ร้อง​โน้ต​เพลง​เหล่า​นั้น​ไหม? แต่​คุณ​ทราบ​ไหม​ว่า​จริง ๆ แล้ว​มัน​ไม่​ได้​ตั้งใจ​จะ​สร้าง​ความ​บันเทิง​ใจ​ให้​คุณ? เพลง​ที่​มัน​ร้อง​เป็น​วิธี​ส่ง​ข่าวสาร​สำคัญ ๆ. แม้​ว่า​บาง​ครั้ง​การ​ร้อง​เพลง​เป็น​วิธี​ประกาศ​อาณา​เขต แต่​ก็​ยัง​ถูก​ใช้​เป็น​วิธี​หลัก​ใน​การ​ดึงดูด​ตัว​ที่​จะ​มา​เป็น​คู่​ของ​มัน​ด้วย. ตาม​ที่​กล่าว​ใน​หนังสือ​ความ​รู้​เล่ม​ใหม่ (ภาษา​อังกฤษ) “จำนวน​ครั้ง​ที่​นก​ร้อง​ลด​ลง​ถึง 90 เปอร์เซ็นต์” เมื่อ​ตัว​ผู้​และ​ตัว​เมีย​ได้​พบ​กัน​แล้ว.

แต่​บาง​ครั้ง เพียง​แค่​เพลง​ที่​ไพเราะ​ก็​ยัง​ไม่​เพียง​พอ​ที่​จะ​ชนะ​ใจ​สาว​เจ้า. นก​ตัว​เมีย​บาง​ชนิด​เรียก​ร้อง​ให้​จ่าย “สินสอด” ก่อน​จึง​จะ​ยอม​เป็น​คู่. ด้วย​เหตุ​นั้น นก​กระจาบ​ตัว​ผู้​จะ​ต้อง​แสดง​ความ​สามารถ​ใน​การ​สร้าง​รัง​ให้​ประจักษ์​ก่อน​จะ​สาน​สัมพันธ์​กัน​ต่อ​ไป. นก​ตัว​ผู้​ชนิด​อื่น​จะ​พิสูจน์​ความ​สามารถ​ใน​การ​หา​เลี้ยง​ครอบครัว​ด้วย​การ​หา​อาหาร​มา​ป้อน​ให้​ตัว​เมีย.

วิธี​ต่าง ๆ อัน​ซับซ้อน​ซึ่ง​สัตว์​ใช้​ใน​การ​สื่อ​ความ​ไม่​เพียง​แต่​สนอง​ความ​จำเป็น​ทาง​กาย​เท่า​นั้น แต่​ยัง​ทำ​ให้​เกิด​การ​ต่อ​สู้​กัน​น้อย​ลง​และ​ส่ง​เสริม​สันติ​สุข​ใน​ป่า. ใน​ขณะ​ที่​กำลัง​มี​การ​วิจัย​กัน​มาก​ขึ้น​เกี่ยว​กับ​การ​สื่อ​ความ​ของ​สัตว์ เรา​ยัง​ต้อง​รอ​เพื่อ​จะ​ได้​รับ​ความ​เข้าใจ​ครบ​ถ้วน​เกี่ยว​กับ​การ “สนทนา​ของ​สัตว์​ป่า.” แม้​ว่า​เรา​อาจ​ยัง​ไม่​เข้าใจ​อย่าง​เต็ม​ที่ แต่​ที่​แน่ ๆ คือ​การ​สื่อ​ความ​ของ​สัตว์​ป่า​นำ​คำ​สรรเสริญ​มา​สู่​พระ​ผู้​สร้าง​องค์​ยิ่ง​ใหญ่​ผู้​ทรง​ทำ​ให้​สัตว์​มี​ความ​สามารถ​ใน​การ​สื่อ​ความ นั่น​คือ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 18, 19]

“เสียง​แห่ง​ความ​เงียบ” ของ​ช้าง

บ่าย​วัน​หนึ่ง​อัน​ร้อน​ระอุ​ใน​อุทยาน​แห่ง​ชาติ​อัมโบเซลี​อัน​กว้าง​ใหญ่​ไพศาล​ใน​ประเทศ​เคนยา ดู​เหมือน​ช้าง​โขลง​ใหญ่​ที่​นั่น​ไม่​ได้​รู้สึก​เดือดร้อน​อะไร​จาก​การ​ที่​มี​คน​บุกรุก​ถิ่น​ที่​อยู่​ของ​พวก​มัน. ถึง​กระนั้น มวล​อากาศ​ก็​ยัง​อัด​แน่น​ไป​ด้วย “เสียง​พูด​คุย​ของ​ช้าง” ไล่​ตั้ง​แต่​เสียง​ความ​ถี่​ต่ำ​ไป​จน​ถึง​เสียง​ความ​ถี่​สูง​อย่าง​เสียง​แปร้น​แปร๋, เสียง​คำราม, เสียง​คำราม​ลึก ๆ, เสียง​สั้น ๆ คล้าย​เสียง​เห่า, และ​เสียง​พ่น​ลม​ออก​ปลาย​งวง​ดัง​แปร๊ด. เสียง​ร้อง​เรียก​บาง​เสียง​มี​ความ​ถี่​ต่ำ​กว่า​ระดับ​ที่​มนุษย์​สามารถ​ได้​ยิน แต่​ก็​มี​พลัง​มาก​จน​ช้าง​ที่​อยู่​ไกล​ออก​ไป​หลาย​กิโลเมตร​สามารถ​ได้​ยิน.

ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​พฤติกรรม​ของ​สัตว์​ยัง​งงงวย​ใน​เรื่อง​วิธี​การ​อัน​ซับซ้อน​ที่​ช้าง​ใช้​ส่ง​ข่าวสาร​สำคัญ ๆ. จอยซ์ พูล ได้​ใช้​เวลา​มาก​กว่า 20 ปี​แล้ว​ใน​การ​ศึกษา​แนว​คิด​เรื่อง​การ​สื่อ​ความ​ใน​หมู่​ช้าง​แอฟริกา. เธอ​ลง​ความ​เห็น​ว่า สัตว์​ขนาด​มหึมา​ชนิด​นี้ ซึ่ง​คน​ทั่ว​ไป​รู้​จัก​กัน​ดี​เพราะ​งา​อัน​น่า​ปรารถนา​ของ​มัน แสดง​ความ​รู้สึก​อย่าง​ที่​ไม่​ค่อย​ได้​พบ​เห็น​ใน​สัตว์​ทั้ง​หลาย. พูล​กล่าว​ว่า “เมื่อ​เฝ้า​ดู​พฤติกรรม​อัน​น่า​ทึ่ง​ของ​ช้าง​ขณะ​ที่​พวก​มัน​ทักทาย​สมาชิก​ครอบครัว​หรือ​สมาชิก​ใน​โขลง​ซึ่ง​ผูก​พัน​กัน​อย่าง​แน่นแฟ้น [หรือ​ตอน​ที่] มี​สมาชิก​ตัว​ใหม่​เกิด​มา . . . เรา​สามารถ​นึก​ภาพ​ได้​ไม่​ยาก​ว่า​พวก​มัน​มี​อารมณ์​ความ​รู้สึก​ที่​ลึกซึ้ง​อย่าง​ยิ่ง ซึ่ง​อาจ​พรรณนา​ได้​ดี​ที่​สุด​ด้วย​คำ​ต่าง ๆ อย่าง​เช่น ความ​ยินดี, ความ​สุข, ความ​รัก, ความ​รู้สึก​ถึง​มิตรภาพ, ความ​ร่าเริง, ความ​ตลก​ขบ​ขัน, ความ​สนุก​เพลิดเพลิน, ความ​เมตตา​การุณย์, ความ​ปลอด​โปร่ง​โล่ง​ใจ, และ​ความ​นับถือ.”

เมื่อ​กลับ​มา​อยู่​ด้วย​กัน​อีก​หลัง​จาก​แยก​กัน​มา​นาน การ​ทักทาย​ของ​พวก​มัน​จะ​กลาย​เป็น​เหตุ​การณ์​โกลาหล ขณะ​ที่​พวก​มัน​วิ่ง​เข้า​หา​กัน​พร้อม​กับ​ชู​หัว​ขึ้น​และ​โบก​หู​พับ​ไป​พับ​มา. บาง​ครั้ง ช้าง​ตัว​หนึ่ง​จะ​แหย่​งวง​ของ​มัน​เข้า​ไป​ใน​ปาก​ของ​อีก​ตัว​หนึ่ง​ด้วย​ซ้ำ. การ​ทักทาย​กัน​อย่าง​นี้​ดู​เหมือน​จะ​ทำ​ให้​ช้าง​รู้สึก​ยินดี​อย่าง​ดื่มด่ำ ราว​กับ​พวก​มัน​จะ​พูด​ว่า “โอ้​โฮ! ช่าง​วิเศษ​จริง ๆ ที่​ได้​เจอ​หน้า​เกลอ​อีก!” ความ​ผูก​พัน​เช่น​นี้​ช่วย​ฟื้น​ระบบ​การ​สนับสนุน​เกื้อกูล​กัน​ให้​เข้มแข็ง​ซึ่ง​สำคัญ​ต่อ​ความ​อยู่​รอด​ของ​พวก​มัน.

ดู​เหมือน​ว่า ช้าง​มี​อารมณ์​ขัน​ด้วย. พูล​พรรณนา​ว่า เธอ​ได้​เฝ้า​ดู​และ​เห็น​ช้าง​ทำ​ท่า​ที่​เธอ​เรียก​ว่า​เป็น​การ​ยิ้ม​ที่​มุม​ปาก แกว่ง​หัว​ใน​ลักษณะ​ที่​ชวน​ให้​คิด​ว่า​มัน​กำลัง​ขำ. ครั้ง​หนึ่ง เธอ​เอา​เกม​อย่าง​หนึ่ง​มา​เล่น​กับ​พวก​ช้าง และ​พวก​มัน​มี​พฤติกรรม​ที่​แปลก​และ​น่า​หัวเราะ​จริง ๆ ตลอด 15 นาที​นั้น. สอง​ปี​ต่อ​มา ช้าง​บาง​ตัว​ที่​เล่น​เกม​นั้น​ดู​เหมือน​จะ “ยิ้ม” ให้​เธอ​อีก ซึ่ง​ก็​อาจ​เป็น​ได้​ที่​มัน​จำ​ได้​ว่า​เธอ​เคย​เล่น​เกม​กับ​มัน. ไม่​เพียง​แต่​ช้าง​จะ​เล่น​สนุก​กัน​เท่า​นั้น แต่​มัน​ยัง​เลียน​เสียง​ด้วย. ใน​โครงการ​วิจัย​หนึ่ง พูล​ได้​ยิน​เสียง​ซึ่ง​ต่าง​ไป​จาก​เสียง​ร้อง​ปกติ​ของ​ช้าง. เมื่อ​วิเคราะห์​เสียง​นั้น​ก็​ดู​เหมือน​ว่า​ช้าง​พวก​นั้น​เลียน​เสียง​รถ​บรรทุก​ซึ่ง​วิ่ง​ผ่าน​ไป​ผ่าน​มา​แถว​นั้น. และ​ดู​เหมือน​ว่า​พวก​มัน​ทำ​เพราะ​นึก​สนุก! พวก​ช้าง​ดู​เหมือน​จะ​มอง​หา​อะไร​บาง​อย่าง​เพื่อ​จะ​มี​เรื่อง​สนุก​ตื่นเต้น​ทำ.

มี​การ​กล่าว​กัน​มาก​ใน​เรื่อง​ที่​ว่า ช้าง​ดู​เหมือน​จะ​แสดง​ความ​ทุกข์​โศก​เมื่อ​มี​เรื่อง​ร้าย​เกิด​ขึ้น​กับ​สมาชิก​ครอบครัว. ครั้ง​หนึ่ง พูล​สังเกต​ว่า​ช้าง​พัง​ตัว​หนึ่ง​ยืน​คร่อม​คุ้ม​กัน​ลูก​ของ​มัน​ที่​ตาย​ตอน​คลอด​นาน​ถึง​สาม​วัน และ​เธอ​พรรณนา​ไว้​ว่า “สี​หน้า” ของ​แม่​ช้าง​ตัว​นั้น​ดู ๆ จะ “คล้ายคลึง​กับ​สี​หน้า​ของ​คน​ที่​เป็น​ทุกข์​โศก​และ​หดหู่ กล่าว​คือ คอ​ตก, หู​ตก, มุม​ปาก​ห้อย.”

พวก​คน​ที่​ฆ่า​ช้าง​เพื่อ​เอา​งา​ไม่​เคย​คิด​ถึง ‘ความ​บอบช้ำ​ทาง​จิตใจ’ ที่​เกิด​กับ​ลูก​ช้าง​กำพร้า​ซึ่ง​รู้​เห็น​การ​ฆ่า​แม่​ของ​มัน. ลูก​ช้าง​เหล่า​นี้​พยายาม​เอา​ชนะ “ความ​โศก​เศร้า” ใน​ช่วง​สอง​สาม​วัน​แรก​ที่​โรง​เลี้ยง​สัตว์​กำพร้า. ผู้​ดู​แล​คน​หนึ่ง​รายงาน​ว่า​เขา​ได้​ยิน​ลูก​ช้าง​กำพร้า “กรีด​ร้อง” ใน​ตอน​เช้า. ผล​สะท้อน​นั้น​อาจ​เห็น​ได้​เป็น​เวลา​หลาย​ปี​หลัง​จาก​ที่​แม่​ช้าง​ถูก​ฆ่า​ตาย. พูล​เสนอ​ความ​เห็น​ว่า​ช้าง​สามารถ​สังเกต​ได้​ว่า​มนุษย์​เป็น​ตัวการ​ที่​ทำ​ให้​มัน​ทุกข์​ทรมาน. เรา​คอย​ท่า​ให้​ถึง​เวลา​ที่​คน​และ​สัตว์​จะ​อาศัย​อยู่​ด้วย​กัน​อย่าง​สงบ​สุข.—ยะซายา 11:6-9.

[ภาพ​หน้า 16, 17]

นก​เคป แกนเนต กำลัง​ทักทาย​กัน​อัน​เป็น​กิจวัตร​ของ​พวก​มัน

[ภาพ​หน้า 17]

นู​แสดง​การ​เต้น​ที่​พิสดาร​เพื่อ​ทำ​ให้​ศัตรู​งุนงง​สับสน

[ภาพ​หน้า 17]

“การ​หัวเราะ” อัน​เป็น​เอกลักษณ์​ของ​ไฮยีนา​ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Joe McDonald

[ภาพ​หน้า 18]

การ​เต้น​รำ​ของ​ผึ้ง​งาน