การเพ่งดูโลก
การเพ่งดูโลก
ช่วยชีวิตทารกแรกเกิด
แต่ละปีมีทารกสี่ล้านคนเสียชีวิตในช่วงหนึ่งเดือนหลังคลอด. วารสารบิลด์ แดร์ วิสเซนชาฟท์ ภาษาเยอรมันรายงานว่า การเสียชีวิตในระยะแรกเกิดนี้ “นับเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของการเสียชีวิตในเด็กอายุต่ำกว่าห้าปี.” จะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยชีวิตทารกแรกเกิด? วิธีการที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงซึ่งมีแนะไว้ในการศึกษาเรื่อง “สถานะทารกแรกเกิดของโลก” นั้นหมายรวมถึงสิ่งง่าย ๆ เช่น การทำให้ทารกอบอุ่นและการให้นมมารดาทันทีหลังจากคลอด ซึ่งช่วยให้ทารกมีภูมิคุ้มกันโรค. นอกจากนั้น การเสียชีวิตยังอาจป้องกันได้ด้วยการบำรุงรักษาสุขภาพของผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งหลายคนทำงานมากเกินไปและขาดสารอาหารและยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากการคลอดบุตรครั้งก่อน. “ในประเทศกำลังพัฒนา ที่ซึ่งมี 98 เปอร์เซ็นต์ของการเสียชีวิตในทารกแรกเกิด” ทั้งหมด อาจฝึกสอนชาวบ้านในการผดุงครรภ์ได้. การศึกษานั้นบอกว่า “งานหลักของพวกเขาคือการให้คำแนะนำแก่ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์, ดูแลให้มีสุขอนามัยที่ดี, และให้วัคซีน.”
ประภาคารกำลังน้อยลง
หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล โพสต์ กล่าวว่า “เช่นเดียวกับที่หลอดไฟเข้ามาแทนที่เทียน ประภาคารอัตโนมัติก็ได้เข้ามาแทนที่คนดูแลประภาคารที่เอาการเอางาน. ตอนนี้ดูเหมือนว่าแม้แต่ประภาคารอัตโนมัติก็กำลังจะหมดไปด้วย.” แม้ว่าประภาคารรุ่นใหม่ส่องลำแสงกำลังแรงที่สามารถมองเห็นได้จากทะเลในระยะ 32 กิโลเมตรและมีแตรหมอกอัตโนมัติเพื่อเตือนนักเดินเรือว่าใกล้ถึงฝั่งแล้ว แต่เทคโนโลยีดาวเทียมก็ทำให้นักเดินเรือสามารถรู้ตำแหน่งที่แน่นอนของตัวเองได้. ปัจจุบันมีการติดตั้งระบบกำหนดตำแหน่งบนโลกไว้บนเรือซึ่งทำหน้าที่เป็นดวงตาเมื่อลูกเรือไม่อาจมองเห็นสิ่งที่อยู่ข้างหน้าได้. ไมค์ คลีเมนส์ ผู้จัดการโครงการที่ทำงานกับหน่วยยามชายฝั่งแคนาดาในเมืองเซนต์จอห์น เกาะนิวฟันด์แลนด์ กล่าวว่า ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก “อาจจะทำให้ประภาคารกลายเป็นของฟุ่มเฟือย. ไม่มีอะไรจะเทียบกับ [ระบบนี้] ได้. คุณเดินเรือโดยอาศัยประภาคารไม่ได้.”
การพูดคุยของทารก
หนังสือพิมพ์เดอะ ไทมส์ แห่งกรุงลอนดอนรายงานว่า “เช่นเดียวกับเด็กทารกซึ่งพ่อแม่มีการได้ยินปกติจะเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้เมื่ออายุราว ๆ เจ็ดเดือน . . . เด็กที่โตขึ้นในครอบครัวคนหูหนวกจะเริ่มอ้อแอ้แบบเงียบ ๆ โดยใช้มือเลียนแบบวิธีหลักที่พ่อแม่ใช้ในการสื่อสาร” แม้ว่าเด็กเหล่านั้นจะได้ยินเสียงก็ตาม. การวิจัยที่นำโดยศาสตราจารย์ลอรา เปติตโต แห่งมหาวิทยาลัยแมกกิลล์ นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา อธิบายว่า ทารกเกิดมาพร้อมกับความสามารถในการตอบสนองต่อจังหวะและรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นลักษณะเด่นของทุกภาษา รวมทั้งภาษามือ. เธอกล่าวว่า ทารกที่มีการได้ยินปกติ แต่มี “พ่อแม่เป็นคนหูหนวกซึ่งใช้ภาษามือ จะเคลื่อนไหวมือในลักษณะพิเศษด้วยจังหวะที่มีรูปแบบเฉพาะตัวซึ่งต่างจากการเคลื่อนไหวมือในลักษณะอื่น ๆ. . . . นั่นคือการอ้อแอ้ด้วยมือ.” เด็กที่เห็นพ่อแม่ใช้ภาษามือมีการเคลื่อนไหวมือสองแบบ แต่เด็กที่พ่อแม่ใช้ภาษาพูดมีการเคลื่อนไหวมือเพียงแบบเดียว. คณะนักวิจัยใช้ระบบตรวจหาตำแหน่งเพื่อบันทึกการเคลื่อนไหวของมือเด็กเมื่ออายุ 6, 10, และ 12 เดือน.
ม้วนหนังสือทะเลเดดซีได้รับการจัดพิมพ์
วารสารยู. เอส. นิวส์ แอนด์ เวิลด์ รีพอร์ต กล่าวว่า “กว่าครึ่งศตวรรษหลังจากที่มีการค้นพบม้วนหนังสือทะเลเดดซีในถ้ำแห่งทะเลทรายยูเดีย ตอนนี้ผู้คงแก่เรียนกำลังฉลองการจัดพิมพ์ส่วนสุดท้ายของข้อความทางศาสนาที่มีอายุ 2,000 ปี.” ศาสตราจารย์เอมานูเอล โทฟ หัวหน้าคณะผู้คงแก่เรียนซึ่งวิเคราะห์ม้วนหนังสือนี้ เป็นผู้แถลงเกี่ยวกับการจัดพิมพ์หนังสือ 37 เล่มชุดนี้. ผลงานชิ้นนี้สำเร็จได้เนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งการถ่ายภาพแบบดิจิตอลและการจัดการภาพแบบหลายสเปกตรัมซึ่งทำให้ผู้คงแก่เรียนสามารถถอดข้อความซึ่งจางหายไปแล้ว. ข้อความเหล่านี้ซึ่งแปลจากภาษาฮีบรู, อาระเมอิก, กรีก, และลาติน มีอายุตั้งแต่ปี 250 ก่อน ส.ศ. ถึงปี ส.ศ. 70.
รับมือกับความไม่แน่นอน
หนังสือพิมพ์โกลบ แอนด์ เมล์ แห่งแคนาดารายงานว่า การขายคัมภีร์ไบเบิลโดยสมาชิกสมาคมผู้ค้าหนังสือคริสเตียนแห่งแคนาดา ได้เพิ่มขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ผู้ก่อการร้ายโจมตีสหรัฐ. มาร์ลีน ล็อกลิน ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของสมาคมนั้นกล่าวว่า “ผู้คนพยายามแสวงหาคำตอบ. ความกลัวเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้. มีคำถามมากมายที่ยังไม่ได้รับคำตอบในความคิดจิตใจของผู้คน.” รายงานนี้เสริมว่าแม้แต่ในร้านหนังสือเล็ก ๆ ก็พบว่า “หนังสือใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับศาสนาซึ่งอาจช่วยผู้คนให้เข้าใจเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดนั้นมียอดขายเพิ่มขึ้น.” ตามคำกล่าวของอาจารย์ด้านเทววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโทรอนโต นี่เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป. อาจารย์ผู้นี้กล่าวว่า “ในช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนอยู่มาก ผู้คนเริ่มตั้งคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับศาสนา” และ “การหาคำตอบจากคัมภีร์ไบเบิลก็อาจช่วยได้.”
เอดส์—สาเหตุการตายอันดับหนึ่งของแอฟริกาใต้
หนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการศึกษาของสภาวิจัยการแพทย์แห่งแอฟริกาใต้ดังนี้: “เอดส์กลายเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตในแอฟริกาใต้ และหนุ่มสาวที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ได้รับผลกระทบมากที่สุด.” นักวิจัยประมาณว่า ในทศวรรษหน้า ผู้คนในแอฟริกาใต้ประมาณห้าถึงเจ็ดล้านคนจะเสียชีวิตจากโรคเอดส์. หญิงสาวในวัย 20 ปีมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้หญิงวัย 60 ปี. บทความนี้เสริมว่า แอฟริกาใต้ “มีประชากรที่ทราบกันว่าติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเอดส์ มากกว่าประเทศอื่นใด. เจ้าหน้าที่รัฐบาลกล่าวว่า ปัจจุบันเชื่อกันว่าชาวแอฟริกาใต้หนึ่งในเก้าคน และผู้ใหญ่ [อายุ 30-34 ปี] หนึ่งในสี่คนติดเชื้อเอชไอวี.”
อยู่ในเมือง
หนังสือพิมพ์เดอะ ซันเดย์ ไทมส์ แห่งกรุงลอนดอนกล่าวว่า “ในปี 1900 เมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้แก่ลอนดอน, นิวยอร์ก, ปารีส, เบอร์ลินและชิคาโก.” แต่จากประมาณการณ์ครั้งใหม่ “พอถึงปี 2015 เมืองในซีกโลกตะวันตกจะถูกแซงหน้า. โตเกียว, บอมเบย์, ลากอส, ธากาในบังกลาเทศและเซาเปาลูในบราซิลจะเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด.” เมืองเหล่านี้กับอีก 25 เมืองจะมีประชากรเมืองละมากกว่า 20 ล้านคน. อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ไทมส์ กล่าวว่า “การกะประมาณแสดงว่าพอถึงปี 2015 ลอนดอนจะเสียตำแหน่งหนึ่งใน 30 เมืองที่มีประชากรมากที่สุดและจะเป็นเมืองอันดับต้น ๆ เพียงเมืองเดียวที่ประชากรลดลง.” การที่ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง. ดักลาส แมสซีย์ อาจารย์ในคณะสังคมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “คนจนจะอยู่กันอย่างแออัดมากขึ้นในย่านคนจนซึ่งมีลักษณะเด่นคือมีอัตราอาชญากรรม, ความรุนแรงและปัญหาสังคมสูง.” โตเกียวซึ่งมีประชากร 26 ล้านคนและคาดกันว่าจะพุ่งขึ้นถึง 30 ล้านคนในเร็ว ๆ นี้ สามารถรับมือได้เนื่องจากเมืองนี้มีการเติบโตช้าลงและมีสาธารณูปโภคและการบริการที่จำเป็น. ตามคำกล่าวของแมสซีย์ ตั้งแต่สมัยโรมันจนถึงสมัยวิกตอเรีย ประชากรของโลกอยู่ในเมืองไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ แต่เขาคาดว่าพอถึงปี 2015 ประชากร 53 เปอร์เซ็นต์จะอยู่ในเมือง.
เลิกสูบบุหรี่ให้เด็ดขาด!
ศาสตราจารย์โบ ลุนด์แบก แห่งสถาบันชีวิตการทำงานแห่งชาติในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เตือนว่า “ผู้สูบบุหรี่ทุกคนต้องพยายามเลิกสูบบุหรี่. ถ้าคุณเลิกได้แล้ว อย่าหวนกลับไปสูบอีกเด็ดขาด.” เพราะเหตุใด? เพราะคนที่เลิกสูบบุหรี่แล้วหวนกลับไปสูบอีกอาจประสบภาวะปอดเสื่อมสมรรถนะเร็วกว่าคนที่ไม่เคยเลิกสูบ. การศึกษาวิจัยเป็นเวลาสิบปีที่ทำกับชายหญิง 1,116 คนอายุระหว่าง 35 ถึง 68 ปีแสดงว่า คนที่สูบบุหรี่ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวประสบภาวะปอดเสื่อมสมรรถนะ 3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คนซึ่งเลิกสูบเป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้วกลับมาสูบอีกประสบภาวะดังกล่าว 5 เปอร์เซ็นต์. ศาสตราจารย์ลุนด์แบกเตือนว่า “การเสื่อมสมรรถนะของปอดเกิดขึ้นเร็วมากในช่วงสองสามปีแรกหลังจากเริ่มสูบอีก และการเสื่อมที่เกิดขึ้นนั้นก็ไม่อาจรักษาได้.” หนังสือพิมพ์เดอะ ไทมส์ แห่งกรุงลอนดอนรายงานว่า คนที่เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จในช่วงสิบปีของการศึกษาประสบภาวะปอดเสื่อมสมรรถนะเพียง 1 เปอร์เซ็นต์.