ฉันจะหาเพื่อนร่วมห้องที่ดีได้อย่างไร?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
ฉันจะหาเพื่อนร่วมห้องที่ดีได้อย่างไร?
“ถ้าไม่มีเพื่อนร่วมห้อง ดิฉันคงไม่มีทางเป็นผู้เผยแพร่เต็มเวลาและจ่ายค่าเช่าบ้านค่าน้ำค่าไฟได้.”—ลินน์. *
เมื่อหนุ่มสาวย้ายออกจากบ้าน บ่อยครั้งพวกเขาตกตะลึงเมื่อรู้ว่าการอยู่ใน ‘โลกแห่งความจริง’ นั้นมีค่าใช้จ่ายเท่าไร. สำหรับหลายคนแล้ว วิธีที่จะรับมือกับค่าครองชีพที่สูงลิ่วได้ก็คือการหารค่าใช้จ่ายกับเพื่อนร่วมห้องคนหนึ่งหรือมากกว่านั้น.
แต่ดังที่บทความก่อนในชุดนี้ได้ชี้แจง การอยู่ร่วมห้องกับใครสักคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนเลย อาจเป็นเรื่องท้าทายจริง ๆ. * นี่เป็นเรื่องจริงแม้แต่กับคริสเตียนหนุ่มสาวที่อยู่ร่วมห้องกันเพื่อจะเป็นผู้เผยแพร่เต็มเวลา. ไม่ว่าสภาพการณ์ของคุณจะเป็นเช่นไร ถ้าคุณกำลังคิดจะอยู่ร่วมห้องกับใครสักคนก็นับว่ามีเหตุผลที่จะใช้ “สติปัญญาที่ใช้ได้จริง” ในการเลือกคนคนนั้น. *—สุภาษิต 3:21, ล.ม.
อันตรายของการคบหาสมาคมที่ไม่ดี
หนุ่มสาวที่เป็นผู้ใหญ่แล้วหลายคนหาคนที่จะมาเป็นเพื่อนร่วมห้องด้วยการดูที่ป้ายปิดประกาศ, โฆษณาย่อยในหนังสือพิมพ์, และในอินเทอร์เน็ต. แต่สำหรับหนุ่มสาวคริสเตียน แหล่งดังกล่าวเป็นอันตรายจริง ๆ. แหล่งข้อมูลดังกล่าวคงจะชักนำคุณให้ไปพบกับคนที่มีความเชื่อ, หลักศีลธรรม, หรือมาตรฐานต่างกันกับคุณ. การต้องการจะอยู่เฉพาะกับคนที่มีความเชื่ออย่างเดียวกันนับว่าเป็นคนใจแคบหรือเป็นคนต่อต้านสังคมไหม? ไม่เลย นั่นเป็นแนวทางที่สุขุม. คัมภีร์ไบเบิลเองเตือนว่า “การคบหาสมาคมที่ไม่ดีย่อมทำให้นิสัยดีเสียไป.”—1 โกรินโธ 15:33, ล.ม.
ลองพิจารณาหญิงสาวคนหนึ่งชื่อลี. เธอยังไม่ได้เป็นคริสเตียนที่รับบัพติสมาเมื่อตอนที่เธอเริ่มเข้าไปอยู่ในหอพักมหาวิทยาลัย. เธอเล่าว่า “มันเป็นสภาพแวดล้อมที่อันตราย. เด็กสาวบางคนกลับเข้าห้องแล้วพบว่าเพื่อนร่วมห้องของเธอกำลังมีเพศสัมพันธ์.” ไม่นาน การอยู่ที่หอพักนั้นก็ก่อผลเสียต่อสภาพฝ่ายวิญญาณของลี. เธอยอมรับว่า “ดิฉันขาดการประชุมคริสเตียนเป็นส่วนใหญ่.” ไม่แปลกที่ความประพฤติของเธอแย่ลงเรื่อย ๆ. “วันหนึ่ง ดิฉันถึงกับใช้คำหยาบ และเด็กสาวคนหนึ่งก็พูดว่า ‘พระยะโฮวาพอพระทัยไหมนั่น?’” น่าอับอายเพียงไร! แต่น่าดีใจที่ลีออกมาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีนั้นและเริ่มก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณอีกครั้ง. แต่ประสบการณ์ของเธอแสดงว่าเป็นเรื่องอันตรายที่จะอยู่ร่วมกับคนซึ่งไม่นับถือมาตรฐานของคุณ.
การหาเพื่อนร่วมห้องที่เหมาะสม
ดังนั้น คุณจะหาเพื่อนร่วมห้องได้ที่ไหน? จงเริ่มจากประชาคมของพยานพระยะโฮวาในท้องถิ่นของคุณเอง. ที่น่าสังเกตคือ บรรดาผู้เผยแพร่เต็มเวลามักจะได้พบกับ * บิดามารดา, ผู้ปกครองในประชาคมท้องถิ่น, ผู้ดูแลเดินทาง, และคนอื่น ๆ ก็อาจช่วยได้ด้วย; พวกเขาอาจรู้จักเยาวชนบางคนที่เหมาะจะเป็นเพื่อนร่วมห้อง.
หนุ่มสาวคนอื่น ๆ ที่ฝักใฝ่ทางฝ่ายวิญญาณ ณ โรงเรียนและการประชุมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นสำหรับผู้ประกาศเต็มเวลาโดยเฉพาะ.การพูดกับคนอื่นก็อาจเป็นวิธีที่ได้ผลดี. ยิ่งมีคนรู้ความจำเป็นของคุณมากเท่าไร คุณก็ยิ่งมีโอกาสได้เพื่อนร่วมห้องมากขึ้นเท่านั้น. (ท่านผู้ประกาศ 11:6) ที่สำคัญที่สุด จงขอพระยะโฮวาทรงช่วยในการหาเพื่อนร่วมห้อง และหวังพึ่งพระองค์เพื่อจะอวยพรความพยายามของคุณ.—1 โยฮัน 5:14, 15.
หาข้อมูลที่จำเป็น
เมื่อพบคนที่อาจจะมาเป็นเพื่อนร่วมห้องแล้ว คุณคงอยากย้ายไปอยู่กับคนนั้นเร็ว ๆ. แต่นับว่าสุขุมที่จะไต่ถามบางเรื่องก่อน. คนนั้น “มีชื่อเสียงดีในท่ามกลางพวกพี่น้อง” ในประชาคมของเขาไหม? (กิจการ 16:1, 2) บางทีคุณกับบิดามารดาอาจไปพูดกับคนที่มีคุณวุฒิทางฝ่ายวิญญาณซึ่งรู้จักคนนั้นโดยตรง. คุณอาจถามว่า ‘คนนี้มีชื่อเสียงเช่นไร? เขามีความมั่นคงทางอารมณ์และทางฝ่ายวิญญาณไหม? เขาออกประกาศกับคนอื่นและออกความเห็นในการประชุมไหม? เขามีชื่อเสียงว่ามีความประพฤติที่ซื่อตรงไหม?’
จงจำไว้ว่า “บุคคลที่ดำเนินกับคนมีปัญญาก็จะเป็นคนมีปัญญา.” (สุภาษิต 13:20, ล.ม.) เดวิดกล่าวว่า “เพื่อนร่วมห้องของผมเป็นคนที่ฝักใฝ่สิ่งฝ่ายวิญญาณมาก. นั่นช่วยผมให้ยึดมั่นอยู่กับสิ่งฝ่ายวิญญาณ.” เรอเน ซึ่งเคยมีเพื่อนร่วมห้องหลายคน กล่าวคล้าย ๆ กันว่า “เพื่อนร่วมห้องของดิฉันบางคนจะชวนอ่านคัมภีร์ไบเบิลด้วยกันวันละบททุกคืน. เนื่องจากพ่อแม่ของดิฉันไม่ได้เป็นพยานฯ เราจึงไม่เคยมีการศึกษาประจำครอบครัว. ดังนั้น การที่สามารถมี ‘การศึกษาประจำครอบครัว’ กับเพื่อนร่วมห้องจึงนับว่ายอดเยี่ยมมากสำหรับดิฉัน!” ถูกแล้ว การมีเพื่อนร่วมห้องซึ่งรักสิ่งฝ่ายวิญญาณเหมือนกับคุณจะเป็นพระพรมากทีเดียว.
พูดกันอย่างตรงไปตรงมา
ต่อจากนั้น ให้ไปพบกับคนนั้นและคุยกันถึงเรื่องต่าง ๆ. การคุยกันแบบนั้นอาจช่วยคุณให้รู้ว่าบุคลิกของพวกคุณเข้ากันได้ไหม. น่าสนใจ การศึกษาวิจัยครั้งหนึ่งซึ่งรายงานในวารสารรายงานวิจัยการสื่อความ (ภาษาอังกฤษ) เผยว่า เพื่อนร่วมห้องที่มีการสื่อความในลักษณะคล้าย ๆ กัน “กล่าวว่ามีความพึงพอใจและชื่นชอบเพื่อนร่วมห้องของตนมากที่สุด.” ดังนั้น ถ้าคุณเป็นคนเปิดเผย, ชอบคบหาสมาคม, ชอบพูดคุย คุณอาจมีปัญหาเมื่ออยู่กับคนที่ชอบเก็บตัว, เงียบขรึม, หรือชอบอยู่คนเดียว.
แม้ว่าคุณไม่ต้องการจะทำให้การพูดคุยกันเป็นเหมือนการสอบสวน แต่ก็อาจเป็นประโยชน์ที่จะพูดกับคนที่จะมาเป็นเพื่อนร่วมห้องของคุณเกี่ยวกับเป้าหมายและแผนการในปัจจุบันของเขา. เขากำลังพยายามทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณหรือบางทีเพียงแต่อยากจะหนีจากความกดดันที่บ้าน? ลินน์ชี้ถึงปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้: “ดิฉันเคยมีเพื่อนร่วมห้องที่กำลังมีแฟน และเพื่อนชายของเธอก็จะอยู่ที่ห้องตลอดเวลา จนถึงดึกดื่น.” ลินน์รู้สึกว่าการแสดงความรักใคร่ของพวกเขาเป็นแบบที่ไม่เหมาะสมและทำให้เธอไม่สบายใจ. กระนั้น บางครั้งอาจหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวได้ ถ้ามีการกำหนดกฎพื้นฐานล่วงหน้า. ตัวอย่างเช่น เรอเนกล่าวว่า “เรามีกฎว่าพวกหนุ่ม ๆ จะอยู่ดึกกว่าเวลาที่กำหนดไว้ไม่ได้.” คงจะดีด้วยถ้าทั้งสองคนที่อยู่ร่วมห้องกันตกลงกันว่าจะไม่อยู่กับเพศตรงข้ามสองต่อสองในห้องหรือในอพาร์ตเมนต์.
สิ่งที่น่าจะคุยกันด้วยอาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับงานอดิเรก, ความชอบส่วนตัว, และรสนิยมในเรื่องดนตรี เป็นต้น. มาร์กพูดว่า “ผมชอบอยู่กับคนที่ชอบอะไรเหมือน ๆ กับผม, คนที่มีบุคลิกคล้าย ๆ กัน, คนที่ชอบทำอะไรเหมือน ๆ กัน.” แน่นอน การมีรสนิยมต่างกันก็ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่ด้วยกันไม่ได้เสมอไป. ประเด็นที่แท้จริงคือ คุณทั้งสองเป็นคนยืดหยุ่นมากเพียงไร? คุณเต็มใจยอมรับความแตกต่างและยอมปรับเปลี่ยนเพื่ออีกคนหนึ่งไหม?
ลีแนะว่า “คุณควรถามด้วยว่าอีกฝ่ายหนึ่งคาดหมายอะไรจากการอยู่ร่วมกัน. บางคนหวังจะให้คุณเป็นเพื่อนสนิทและเป็นคู่หูของเขา. แต่ดิฉันไม่ได้ต้องการอย่างนั้น.” เดวิดพูดคล้าย ๆ กันว่า “ผมชอบเพื่อนร่วมห้องที่ทำอะไร ๆ ด้วยกันได้แต่ไม่ใช่คนที่คิดว่าจะต้องติดสอยห้อยตามผมไปตลอดแม้ในตอนที่ผมอยากทำอะไรกับคนอื่น.” ในทำนองเดียวกัน จงถามว่าคนนั้นสนใจจะเป็นเพื่อนกับคุณในงานประกาศหรือว่าเขามีแผนการอย่างอื่น เช่น การรับใช้ในประชาคมที่ใช้ภาษาต่างประเทศ.
สุดท้าย จงอย่ามองข้ามประเด็นต่าง ๆ เช่น การทำอาหาร (พวกคุณทำอาหารเป็นไหม?), การช่วยกันทำงานบ้าน, การใช้เครื่องใช้ส่วนตัว, พื้นที่ในตู้เสื้อผ้า, เครื่องเรือน, ที่เก็บของ, และสัตว์เลี้ยง. การพูดคุยกันให้เข้าใจจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการเข้าใจผิดและทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ. สุภาษิต 20:18 กล่าวว่า “เมื่อจะวางโครงการจงหารือกันก่อน.”
“อย่างที่ถูกที่ควรและเป็นไปตามระเบียบ”
หลักการที่มีประโยชน์อีกข้อหนึ่งพบได้ในลูกา 14:28 ซึ่งกล่าวว่า “คิดราคาดูเสียก่อน.” ถูกแล้ว จงลองคิดดูว่าค่าครองชีพของคุณจะสูงสักเท่าไร. จะต้องเสียค่าเช่าเท่าไร? ค่าอาหาร? ค่าน้ำค่าไฟ? พวกคุณใช้โทรศัพท์ร่วมกันไหม? ถ้าอย่างนั้น คุณจะหารค่าโทรศัพท์อย่างไร? ลินน์กล่าวว่า “ดิฉันจะตรวจดูให้แน่ใจว่าคนนั้นสามารถออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ก่อนที่จะยอมให้เธอมาเป็นเพื่อนร่วมห้อง.” วารสารออนไลน์ชื่อเดอะ เนกซ์ สเตป ให้ข้อสังเกตอย่างถูกต้องว่า “เพื่อนร่วมห้องที่ไม่ช่วยออกค่าเช่าหรือค่าอาหาร . . . หรือทำให้บิลล์ค่าน้ำค่าไฟสูงขึ้นนั้นทำให้คุณเกิดความเครียดโดยไม่จำเป็น.”
เรอเนกล่าวว่า “บางครั้งปัญหาไม่ได้อยู่ที่เท่าไร แต่เมื่อไร!” เธออธิบายว่า “เราต้องจ่ายค่าเช่าในวันที่สามของเดือน. แต่บางครั้งเพื่อนร่วมห้องจะไปเที่ยวในวันสุดสัปดาห์ก่อนที่เธอจะจ่ายส่วนของเธอ และดิฉันต้องไปขอโทษเจ้าของบ้าน.” เห็นได้ชัดว่า เป็นการสุขุมที่จะทำทุกสิ่ง “อย่างที่ถูกที่ควรและเป็นไปตามระเบียบ” และไม่ปล่อยปละละเลยในเรื่องที่สำคัญ. (1 โกรินโธ 14:40, ล.ม.) บ่อยครั้ง เป็นการสุขุมที่จะตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร.
การเป็นคนสุขุมรอบคอบทำให้คุณมีโอกาสมากขึ้นที่จะพบเพื่อนร่วมห้องซึ่งจะเป็นพระพรสำหรับคุณและไม่ทำให้กลุ้มใจ. อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดปัญหาและความขัดแย้งทางบุคลิกล่ะ? บทความต่อไปในชุดนี้จะพิจารณาสภาพการณ์เหล่านั้น.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 บางชื่อเป็นนามสมมุติ.
^ วรรค 5 ดูบทความ “ทำไมเพื่อนร่วมห้องของฉันเป็นคนที่อยู่ด้วยยากเหลือเกิน?” ในฉบับ 8 พฤษภาคม 2002.
^ วรรค 5 เมื่อคำนึงถึงข้อที่ว่า หลายคนในทุกวันนี้อยู่ด้วยกันแบบผิดศีลธรรม เราจึงเน้นว่าบทความนี้กล่าวถึงเพื่อนร่วมห้องที่เป็นเพศเดียวกันซึ่งมาอยู่ด้วยกันเนื่องจากเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจและเพื่อความสะดวก.
^ วรรค 10 ผู้เผยแพร่เต็มเวลามีสิทธิพิเศษได้เข้าโรงเรียนไพโอเนียร์. นอกจากนั้น มีการจัดการประชุมกับผู้เผยแพร่เต็มเวลาพร้อม ๆ กับการประชุมหมวดประจำปี.
[ภาพหน้า 22]
การอยู่ร่วมห้องกับคนที่ไม่ยึดถือหลักศีลธรรมของคัมภีร์ไบเบิลนั้นมีอันตรายหลายอย่าง
[ภาพหน้า 22]
ก่อนที่จะตกลงอยู่กับใครสักคน ควรไปพบปะพูดคุยกันในเรื่องที่สำคัญ