การคุ้มครองจากตำรวจ—ความหวังและความหวาดกลัว
การคุ้มครองจากตำรวจ—ความหวังและความหวาดกลัว
เมื่อต้นศตวรรษที่ 19 หลายคนในประเทศอังกฤษคัดค้านข้อเสนอที่จะให้มีกองกำลังตำรวจในเครื่องแบบ. พวกเขากลัวว่ากองกำลังติดอาวุธภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลางอาจคุกคามเสรีภาพของพวกเขา. บางคนกลัวว่าในที่สุดพวกเขาอาจจะมีระบบตำรวจลับคล้ายกับของฝรั่งเศสในสมัยโชแซฟ ฟูเช. อย่างไรก็ดี พวกเขาจำต้องถามตัวเองว่า ‘เราจะทำอย่างไรถ้าไม่มีตำรวจ?’
เวลานั้นกรุงลอนดอนเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดและมั่งคั่งที่สุดในโลก; อาชญากรรมมีเพิ่มขึ้นและเป็นภัยคุกคามทางธุรกิจ. ไม่ว่าจะเป็นคนยามอาสาสมัครในตอนกลางคืนหรือนักจับขโมยมืออาชีพที่เรียกว่า พวกโบว์ สตรีต รันเนอร์ ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากเอกชน ก็ไม่สามารถปกป้องผู้คนและทรัพย์สินของพวกเขาได้. ไคลฟ์ เอ็มสลีย์ เขียนในหนังสือตำรวจอังกฤษ: ประวัติทางการเมืองและสังคม (ภาษาอังกฤษ) ว่า “ตอนนั้นผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นว่าอาชญากรรมและความวุ่นวายเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในสังคมที่เจริญแล้ว.” ดังนั้น ชาวลอนดอนหวังว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยและตัดสินใจว่าจะต้องมีตำรวจมืออาชีพภายใต้การกำกับดูแลของเซอร์โรเบิร์ต พีล. ในเดือนกันยายน 1829 ตำรวจในเครื่องแบบแห่งสำนักงานตำรวจนครบาลก็เริ่มออกลาดตระเวนท้องที่ของตน.
ตั้งแต่ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของตำรวจเริ่มมีขึ้น ประเด็นเรื่องตำรวจทำให้เกิดทั้งความหวังและความกลัว คือหวังว่าตำรวจจะให้ความปลอดภัยและกลัวว่าพวกเขาอาจใช้อำนาจอย่างผิด ๆ.
จุดเริ่มต้นของตำรวจอเมริกัน
ในสหรัฐ นครนิวยอร์กเป็นเมืองแรกที่มีตำรวจมืออาชีพ. เมื่อเมืองนี้มีความมั่งคั่งมากขึ้น อาชญากรรมก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย. พอถึงทศวรรษ 1830 ทุกครอบครัวก็สามารถอ่านเรื่องราวอันน่ากลัวเกี่ยวกับอาชญากรรมซึ่งมีการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ราคาถูกที่ออกใหม่. เสียงเรียกร้องของประชาชนมีมากขึ้น และนครนิวยอร์กก็มีกองตำรวจของตัวเองในปี 1845. ตั้งแต่นั้นมาชาวนิวยอร์กและชาวลอนดอนต่างก็รู้สึกทึ่งในตำรวจของอีกฝ่ายหนึ่ง.
คนอเมริกันก็กลัวกองกำลังติดอาวุธภายใต้การควบคุมของรัฐบาลเหมือน ๆ กับที่คนอังกฤษกลัว. แต่ทั้งสองประเทศแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน. คนอังกฤษเลือกที่จะมีตำรวจที่ดูเป็นสุภาพบุรุษสวมหมวกทรงสูงในเครื่องแบบสีน้ำเงินเข้ม. ตำรวจเหล่านี้มีเพียงกระบองสั้น ๆ ที่เหน็บซ่อนไว้. ตราบจนทุกวันนี้ตำรวจชาวอังกฤษก็ยังไม่ได้พกปืนยกเว้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน. อย่างไรก็ตาม ดังที่รายงานฉบับหนึ่งกล่าวไว้ “ผู้คนคิดกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจเลี่ยงได้ . . . ที่ตำรวจอังกฤษจะต้องติดอาวุธเต็มอัตราในที่สุด.”
อย่างไรก็ตาม ในสหรัฐความกลัวที่ว่ารัฐบาลอาจใช้อำนาจอย่างผิด ๆ ได้นำไปสู่การมีมติเห็นชอบบทแก้ไข
เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐมาตราสอง ซึ่งรับประกัน “สิทธิของประชาชนในการครอบครองและพกพาอาวุธ.” ผลคือ ตำรวจก็ต้องการพกปืน. ต่อมา การใช้ปืนของตำรวจทำให้เกิดการยิงกันบนถนนซึ่งกลายเป็นลักษณะเด่นของตำรวจอเมริกันและพวกโจรผู้ร้าย อย่างน้อยก็ในภาพลักษณ์ของคนทั่วไป. อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวอเมริกันมีทัศนะดังกล่าวเกี่ยวกับการพกปืนคือกองกำลังตำรวจกลุ่มแรกของสหรัฐเกิดขึ้นในสังคมที่ต่างไปจากลอนดอนมาก. นิวยอร์กกลายเป็นเมืองที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายเนื่องจากมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว. การหลั่งไหลของคนเข้าเมืองหลายแสนคนซึ่งส่วนใหญ่มาจากยุโรปบวกกับชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาที่เข้ามาหลังจากที่สงครามกลางเมืองในสหรัฐเริ่มขึ้นระหว่างปี 1861-1865 ได้นำไปสู่ความรุนแรงทางชาติพันธุ์. ตำรวจรู้สึกว่าพวกเขาจำต้องใช้มาตรการที่แข็งกร้าวมากกว่า.ดังนั้น ตำรวจจึงมักถูกมองว่าเป็นอันตรายแต่ว่าจำเป็น. ผู้คนพร้อมจะอดทนกับสิ่งที่เกินเลยเป็นครั้งคราวโดยหวังว่าจะบรรลุเป้าหมายในเรื่องความเป็นระเบียบและความปลอดภัยในระดับหนึ่ง. แต่ในบางส่วนของโลก กองกำลังตำรวจอีกชนิดหนึ่งกำลังเกิดขึ้น.
ตำรวจที่น่าหวาดกลัว
ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เมื่อกองกำลังตำรวจยุคใหม่เริ่มมีขึ้น มนุษยชาติส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิต่าง ๆ แห่งยุโรป. โดยทั่วไปแล้ว ตำรวจชาวยุโรปถูกตั้งขึ้นเพื่อปกป้องชนชั้นปกครองแทนที่จะปกป้องประชาชน. แม้แต่คนอังกฤษ ซึ่งไม่ชอบความคิดที่จะให้ตำรวจพกอาวุธแบบทหารในประเทศของตนเอง ก็ดูเหมือนแทบไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะใช้กองทหารสารวัตรเพื่อควบคุมอาณานิคมต่าง ๆ ให้อยู่ใต้อำนาจ. ร็อบ มอว์บี กล่าวในหนังสือของเขาชื่อการดำเนินงานของตำรวจตลอดทั่วโลก (ภาษาอังกฤษ) ว่า “เหตุการณ์ที่แสดงถึงความโหดร้ายของตำรวจ, การคอร์รัปชัน, ความรุนแรง, การฆาตกรรมและการใช้อำนาจอย่างผิด ๆ มีอยู่เกือบทุกทศวรรษในประวัติศาสตร์ตำรวจยุคอาณานิคม.” หลังจากชี้ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจแห่งจักรวรรดิต่าง ๆ มีประโยชน์บางอย่างด้วย หนังสือเล่มเดียวกันนั้นเสริมว่า การปฏิบัติหน้าที่เหล่านั้นทำให้ “ทั่วโลกรู้สึกว่าตำรวจเป็นกองกำลังของรัฐบาลและไม่ได้เป็นการให้บริการแก่ประชาชน.”
รัฐบาลที่ควบคุมอำนาจเด็ดขาดซึ่งกลัวการปฏิวัติมักใช้ตำรวจลับเพื่อสืบเรื่องราวของพลเมืองของตนเสมอ. ตำรวจเหล่านั้นเค้นข้อมูลออกมาโดยการทรมานและขจัดคนที่สงสัยว่าเป็นพวกบ่อนทำลายรัฐบาลโดยการลอบสังหารหรือการจับขังโดยไม่มีการพิจารณาคดี. พวกนาซีมีเกสตาโป, สหภาพโซเวียตมีเคจีบี, และเยอรมนีตะวันออกมีสตาซี. น่าตกตะลึงที่สตาซี จ้างเจ้าหน้าที่ 100,000 คนและพวกสายลับอาจถึงห้าแสนคนเพื่อคอยควบคุมประชากรประมาณ 16 ล้านคน. เจ้าหน้าที่คอยดักฟังโทรศัพท์ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมด. จอห์น เคอเลอร์ เขียนในหนังสือสตาซี ว่า “เจ้าหน้าที่สตาซีไม่รู้จักขอบเขตและไม่มีความละอาย. นักเทศน์นักบวชรวมทั้งผู้มีตำแหน่งสูงจำนวนมากทั้งในคริสตจักรโปรเตสแตนต์และคริสตจักรคาทอลิกล้วนถูกเกณฑ์ให้เป็นสายลับ. ห้องทำงานและห้องสารภาพบาปของพวกเขาเต็มไปด้วยเครื่องดักฟัง.”
อย่างไรก็ตาม ตำรวจที่น่าหวาดกลัวไม่ได้มีเฉพาะในอาณาเขตของรัฐบาลที่ควบคุมอำนาจเด็ดขาดเท่านั้น. ตำรวจในเมืองใหญ่ ๆ ในที่อื่นก็ถูกกล่าวหาว่าก่อให้เกิดความหวาดกลัวเมื่อพวกเขาบังคับใช้กฎหมายด้วยวิธีที่แข็งกร้าวเกินไป โดยเฉพาะเมื่อมุ่งเป้าไปที่ชนกลุ่มน้อย. เมื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับข่าวอื้อฉาวในนครลอสแอนเจลิส วารสารข่าวฉบับหนึ่งกล่าวว่า ข่าวอื้อฉาวนี้ “แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมนอกลู่นอกทางของตำรวจได้ไปถึงขั้นใหม่แห่งการละเลยกฎหมายและทำให้เกิดคำใหม่ขึ้น นั่นคือแก๊งตำรวจ.”
ดังนั้น เจ้าหน้าที่รัฐบาลจึงได้ตั้งคำถามว่า กรมตำรวจจะทำอะไรได้บ้างเพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ของตนเอง? ด้วยความพยายามที่จะเน้นบทบาทในการบริการชุมชน กองกำลังตำรวจหลายกลุ่มพยายามเน้นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชุมชน.
ความหวังในการดำเนินงานของตำรวจแบบชุมชน
การดูแลความสงบเรียบร้อยแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นเป็นที่สนใจของชาวต่างประเทศ. แต่เดิม ตำรวจชาวญี่ปุ่นทำงานในสถานีเล็ก ๆ ที่รับผิดชอบท้องที่หนึ่ง ๆ ซึ่งดำเนินงานโดยเจ้าหน้าที่ราว ๆ สิบคนซึ่งผลัดเวรกัน. แฟรงก์ ไลชแมน อาจารย์ชาวอังกฤษประจำภาควิชาอาชญาวิทยาซึ่งอาศัยในญี่ปุ่นมาเป็นเวลานาน กล่าวว่า “ขอบเขตการ
บริการอย่างเป็นมิตรของเหล่าเจ้าหน้าที่ในโคบัน นั้นเป็นที่รู้จักกันดี: พวกเขาให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ตามถนนสายต่าง ๆ ในญี่ปุ่นซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มีการตั้งชื่อ; ให้คนที่ติดฝนยืมร่มที่ไม่มีเจ้าของ; ช่วยพวกซารารีเมน ที่เมาเหล้าให้ขึ้นรถไฟเที่ยวสุดท้ายกลับบ้านได้; และให้คำแนะนำเรื่อง ‘ความทุกข์ร้อนของพลเมือง.’” ตำรวจในละแวกบ้านนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นมีชื่อเสียงจนเป็นที่อิจฉาในเรื่องที่ว่าประเทศนี้มีถนนที่สามารถเดินได้อย่างปลอดภัย.การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจลักษณะนี้จะได้ผลในที่อื่นไหม? บางคนที่ศึกษาด้านอาชญากรรมเริ่มมองเห็นบทเรียนในการทำอย่างนี้. ความก้าวหน้าด้านการสื่อสารสมัยใหม่มีแนวโน้มที่จะทำให้ตำรวจห่างเหินจากประชาชนที่ตนเองให้บริการ. ทุกวันนี้ในหลาย ๆ เมือง งานของตำรวจมักดูจะเกี่ยวข้องกับการจัดการกับเหตุฉุกเฉินเป็นส่วนใหญ่. บางครั้งดูเหมือนว่าการย้ำเตือนตั้งแต่แรกเริ่มเกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมนั้นสูญสิ้นไปแล้ว. เพื่อแก้ไขแนวโน้มเช่นนี้ การให้เพื่อนบ้านช่วยกันดูแลก็กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง.
การให้เพื่อนบ้านช่วยกันดูแล
ดูอี ตำรวจนายหนึ่ง พูดถึงงานของเขาในเวลส์ว่า “โครงการนี้ได้ผลจริง ๆ; มันทำให้อาชญากรรมลดลงได้. การให้เพื่อนบ้านช่วยกันดูแลหมายถึงการให้ผู้คนคอยสอดส่องดูแลความปลอดภัยของกันและกัน. เราจัดการประชุมเพื่อให้คนในละแวกเดียวกันรู้จักกัน, ถามชื่อและหมายเลขโทรศัพท์กัน, และฟังเกี่ยวกับวิธีป้องกันอาชญากรรม. ผมชอบโครงการนี้เพราะมันสร้างความรู้สึกแบบชุมชนในละแวกบ้านขึ้นมาอีกครั้ง. บ่อยครั้ง ผู้คนไม่รู้จักเพื่อนบ้านของตัวเองด้วยซ้ำ. โครงการนี้ประสบความสำเร็จเพราะมันทำให้ผู้คนมีการระแวดระวังมากขึ้น.” โครงการนี้ยังปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจกับประชาชนให้ดีขึ้นด้วย.
การริเริ่มอีกอย่างหนึ่งคือการสนับสนุนให้ตำรวจแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้เสียหายมากขึ้น. ยาน ฟาน เดก ผู้เชี่ยวชาญชาวดัตช์ที่มีชื่อเสียงในด้านการวิจัยเกี่ยวกับผู้เสียหาย เขียนว่า “ต้องมีการสอนเจ้าหน้าที่ตำรวจให้รู้ว่าวิธีที่เขาพูดและปฏิบัติกับผู้เสียหายนั้นสำคัญพอ ๆ กับวิธีที่แพทย์พูดและปฏิบัติกับคนไข้.” ในหลายแห่ง ตำรวจยังไม่ถือว่าความรุนแรงและการข่มขืนในครอบครัวเป็นอาชญากรรมจริง ๆ. แต่ร็อบ มอว์บี กล่าวว่า “วิธีที่ตำรวจจัดการกับความรุนแรงและการข่มขืนในครอบครัวนั้นดีขึ้นอย่างมากในช่วงปีหลัง ๆ นี้. อย่างไรก็ตาม ยังสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อีกมาก.” การใช้อำนาจตำรวจอย่างผิด ๆ ก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่ตำรวจเกือบทุกแห่งจะปรับปรุงแก้ไขได้.
ความกลัวเรื่องการคอร์รัปชันในวงการตำรวจ
บางครั้งการรู้สึกว่าได้รับการปกป้องจากตำรวจดูเหมือนเป็นการพาซื่อ โดยเฉพาะเมื่อข่าวเกี่ยวกับการคอร์รัปชันของตำรวจแพร่สะพัดไปทั่ว. รายงานข่าวเช่นนี้มีอยู่ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ตำรวจ. เมื่อพูดถึงปี 1855 หนังสือเอ็นวายพีดี—เมืองและตำรวจในเมือง (ภาษา
อังกฤษ) พรรณนาถึง “ความรู้สึกของชาวนิวยอร์กหลายคนที่ว่าผู้ร้ายกับตำรวจนั้นแยกกันไม่ค่อยออก.” หนังสือโฉมหน้าของลาตินอเมริกา (ภาษาอังกฤษ) ที่แต่งโดยดังแคน กรีน รายงานว่า “เชื่อกันว่า [ตำรวจ] ที่นั่นล้วนแต่มีการคอร์รัปชัน, ไร้ประสิทธิภาพ, และเป็นผู้ย่ำยีสิทธิมนุษยชน.” หัวหน้าฝ่ายบุคลากรซึ่งมีตำรวจในสังกัด 14,000 นายในประเทศแถบลาตินอเมริกาแห่งหนึ่งกล่าวว่า “คุณจะคาดหมายอะไรจากนายตำรวจที่ได้เงินเดือนเพียง [4,400 บาท]? ถ้ามีคนเสนอให้สินบนเขา เขาจะทำอย่างไร?”ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชันนั้นใหญ่เพียงไร? คำตอบขึ้นอยู่กับว่าคุณถามใคร. ตำรวจในอเมริกาเหนือคนหนึ่งซึ่งออกลาดตระเวนในเมืองที่มีประชากร 100,000 คนมาหลายปีตอบว่า “แน่นอน มีตำรวจที่ไม่ซื่อสัตย์ แต่ตำรวจส่วนใหญ่เป็นคนจริงใจ. นี่เป็นสิ่งที่ผมประสบกับ
ตัวเอง.” ในอีกด้านหนึ่ง เจ้าพนักงานสอบสวนอาชญากรรมซึ่งมีประสบการณ์ 26 ปีจากอีกประเทศหนึ่งตอบว่า “ผมเชื่อว่าการคอร์รัปชันมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง. ตำรวจที่ซื่อสัตย์หาได้ยากมาก. ถ้าตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านที่ถูกขโมยขึ้นและพบเงินสด เขาคงจะเอาเงินนั้นไป. ถ้าเขาตามของที่ถูกขโมยไปคืนมาได้ เขาจะเอาของส่วนหนึ่งไว้เป็นของตัวเอง.” ทำไมตำรวจบางคนจึงกลายเป็นคนทุจริต?บางคนเริ่มเป็นตำรวจโดยมีอุดมการณ์อันสูงส่ง แต่แล้วกลับพ่ายแพ้ต่ออิทธิพลของเพื่อนตำรวจที่ทุจริตและมาตรฐานอันเสื่อมทรามของโลกอาชญากรรมซึ่งพวกเขาต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว. หนังสือสิ่งที่ตำรวจทราบ (ภาษาอังกฤษ) ยกคำพูดของนายตรวจแห่งนครชิคาโกขึ้นมาว่า “สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว พวกเขาประสบพบเจอกับความชั่วร้าย. พวกเขาอยู่ท่ามกลางมัน. พวกเขาสัมผัสมัน . . . พวกเขาชิมรสชาติของมัน . . . พวกเขาดมกลิ่นมัน . . . พวกเขาได้ยินเสียงมัน . . . พวกเขาต้องจัดการกับมัน.” การสัมผัสกับความชั่วร้ายเลวทรามเช่นนั้นอาจส่งผลในทางลบได้ง่าย ๆ.
แม้ว่าตำรวจให้การบริการที่มีคุณค่ามาก แต่ก็ยังไม่ดีพร้อม. เราจะหวังสิ่งที่ดีกว่านี้ได้ไหม?
[กรอบ/ภาพหน้า 8, 9]
“ตำรวจอังกฤษดีอะไรอย่างนี้!”
ชาวอังกฤษเป็นหนึ่งในชาติแรก ๆ ที่สามารถมีกองกำลังตำรวจซึ่งถือเป็นความฟุ่มเฟือย. พวกเขาต้องการให้สังคมของตนเป็นระเบียบ เหมือนกับระบบรถม้าโดยสารที่มีประสิทธิภาพซึ่งวิ่งตรงเวลาอย่างยิ่ง. ในปี 1829 เซอร์โรเบิร์ต (บ๊อบบี้) พีล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้โน้มน้าวให้รัฐสภาอนุมัติการก่อตั้งกรมตำรวจแห่งมหานครลอนดอน โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สกอตแลนด์ยาร์ด. ตอนแรกตำรวจเหล่านี้ไม่เป็นที่ชื่นชอบเนื่องจากพวกเขากวาดล้างพวกขี้เมาและพวกที่เล่นการพนันบนท้องถนน แต่ต่อมา พวกเขาก็กลายเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนอย่างยิ่ง.
ในปี 1851 ลอนดอนได้เชิญผู้คนจากทั่วโลกด้วยความภาคภูมิใจให้มายังงานแสดงสินค้าครั้งยิ่งใหญ่และชื่นชมกับความสำเร็จทางอุตสาหกรรมของอังกฤษ. แขกรับเชิญต่างรู้สึกทึ่งในถนนหนทางที่เป็นระเบียบและไม่มีพวกขี้เหล้าเมายา, โสเภณี, และคนจรจัด. ตำรวจที่มีประสิทธิภาพชี้บอกทางให้ฝูงชน, หิ้วกระเป๋าให้พวกเขา, ช่วยคนข้ามถนน, และถึงกับอุ้มหญิงชราขึ้นรถแท็กซี่. ไม่น่าแปลกใจที่คนอังกฤษรวมทั้งชาวต่างประเทศที่มาเยือนได้ยินเสียงชมว่า “ตำรวจอังกฤษดีอะไรอย่างนี้!”
ดูเหมือนพวกเขามีประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรมจนหัวหน้าตำรวจแห่งเมืองเชสเตอร์วาดมโนภาพไว้ในปี 1873 ว่าอาชญากรจะถูกขจัดให้สิ้นซาก! ตำรวจยังเริ่มจัดรถพยาบาลและหน่วยดับเพลิงไว้บริการด้วย. พวกเขาจัดงานการกุศลเพื่อหารองเท้าและเสื้อผ้าให้คนยากจน. บางคนจัดชมรมเพื่อเด็กชาย, การท่องเที่ยว, และบ้านตากอากาศ.
แน่นอน ตำรวจใหม่ก็มีปัญหาทางวินัยที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันและความโหดร้ายด้วย. แต่ตำรวจส่วนใหญ่ภูมิใจที่ได้รักษาความสงบเรียบร้อยโดยใช้กำลังน้อยที่สุด. ในปี 1853 ตำรวจในวีแกน แลงคาเชียร์ ต้องเผชิญหน้ากับคนงานเหมืองแร่ที่นัดหยุดงานซึ่งก่อการจลาจล. นายสิบตำรวจที่กล้าหาญซึ่งควบคุมดูแลกำลังตำรวจเพียงสิบนายได้ปฏิเสธอย่างหนักแน่นที่จะใช้ปืนของเจ้าของเหมือง. ตัวอย่างที่แสดงถึงน้ำใจที่พัฒนาขึ้นคือจดหมายที่เฮกเตอร์ แมเคลาด์ ได้รับในปี 1886 เมื่อเขาเจริญรอยตามพ่อของเขาในการเป็นตำรวจ. ดังที่ยกมากล่าวในหนังสือตำรวจอังกฤษ (ภาษาอังกฤษ) จดหมายนั้นกล่าวว่า “เมื่อแสดงความเกรี้ยวกราด คุณก็สูญเสียการเห็นอกเห็นใจจากประชาชน . . . ผมถือเอาผลประโยชน์ของประชาชนมาก่อนเพราะคุณเป็นผู้รับใช้ชุมชน พวกคุณถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่ในตอนนี้ และเป็นหน้าที่ของคุณที่จะทำให้ประชาชนในชุมชนพอใจ รวมทั้งผู้บังคับบัญชาของคุณด้วย.”
เฮย์เดน ผู้ตรวจราชการแห่งกรมตำรวจในเขตมหานครซึ่งเกษียณอายุแล้วกล่าวว่า “เราถูกสอนมาตลอดให้อดกลั้นเพราะการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจจะประสบความสำเร็จได้ก็จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากชุมชน. กระบองไม้สั้น ๆ ของเราเป็นมาตรการขั้นสุดท้ายจริง ๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ไม่เคยใช้ตลอดช่วงเวลาที่เป็นตำรวจ.” นอกจากนี้สิ่งที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตำรวจอังกฤษคือละครชุดทางโทรทัศน์ที่โด่งดังเรื่องดิกซันแห่งด๊อกกรีน ซึ่งออกอากาศเป็นเวลา 21 ปี เป็นเรื่องราวของนายตำรวจที่ซื่อสัตย์ซึ่งรู้จักทุกคนในท้องที่ของเขา. ละครเรื่องนี้อาจช่วยหนุนกำลังใจให้ตำรวจทำตามภาพลักษณ์ดังกล่าว แต่ที่แน่ ๆ ละครเรื่องนี้กระตุ้นให้ชาวอังกฤษชื่นชอบตำรวจ.
เจตคติในบริเตนเปลี่ยนไปในช่วงทศวรรษปี 1960 และความภาคภูมิใจที่มีมาช้านานในชาติก็เปลี่ยนเป็นความเคลือบแคลงใจต่อพวกเจ้าหน้าที่. รายงานเรื่องการคอร์รัปชันและการเหยียดผิวทำลายชื่อเสียงของตำรวจในช่วงทศวรรษปี 1970 ทั้ง ๆ ที่พวกเขาพยายามจะทำให้ประชาชนสนับสนุนพวกเขาในโครงการให้เพื่อนบ้านช่วยกันดูแล. เมื่อไม่นานมานี้ หลังจากมีการกล่าวหากันหลายครั้งหลายหนเรื่องการเหยียดผิวและการปลอมแปลงหลักฐานเพื่อให้มีการพิพากษาลงโทษ ตำรวจก็ได้พยายามที่จะปรับปรุงตัวอย่างจริงจังต่อไป.
[ที่มาของภาพ]
Photograph above: http://www.constabulary.com
[กรอบ/ภาพหน้า 10]
ปาฏิหาริย์ในนิวยอร์กหรือ?
เมื่อตำรวจใช้ความพยายามเป็นพิเศษ ผลที่ได้อาจน่าทึ่งทีเดียว. นานมาแล้วที่นิวยอร์กถูกมองว่าเป็นเมืองที่อันตรายที่สุดเมืองหนึ่งของโลก และพอถึงปลายทศวรรษปี 1980 ก็ดูเหมือนว่ากองกำลังตำรวจที่ท้อแท้ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้. ความกดดันทางเศรษฐกิจทำให้เทศบาลจำต้องงดการขึ้นค่าแรงงานและลดกำลังตำรวจ. พ่อค้ายาเสพติดก็ย้ายเข้ามาในเมืองและทำให้ความรุนแรงอันน่ากลัวทวีขึ้น. ผู้อาศัยย่านใจกลางเมืองเข้านอนพร้อมกับได้ยินเสียงปืน. มีการจลาจลครั้งใหญ่ ๆ เกิดขึ้นในปี 1991 และตำรวจเองก็ทำการประท้วงอย่างเปิดเผยเพื่อแสดงความไม่พอใจ.
อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการตำรวจคนใหม่ใส่ใจที่จะหนุนกำลังใจเจ้าหน้าที่ของเขา โดยจัดการประชุมเป็นประจำกับพวกเขาเพื่อวิเคราะห์แผนการของแต่ละท้องที่. เจมส์ ลาร์ดเนอร์ และ โทมัส เรปเปตโต อธิบายในหนังสือเอ็นวายพีดี ดังนี้: “หัวหน้าหน่วยนักสืบหรือหัวหน้าหน่วยยาเสพติดเป็นคนที่ผู้บัญชาการประจำท้องที่อ่านข่าวพบในหนังสือพิมพ์แต่แทบไม่เคยพบตัว. ตอนนี้พวกเขาทั้งหมดนั่งคุยกันเป็นชั่วโมง.” ตัวเลขอาชญากรรมเริ่มลดลง. รายงานการฆาตกรรมค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จากเกือบ 2,000 รายในปี 1993 เหลือ 633 รายในปี 1998 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 35 ปี. ชาวนิวยอร์กเริ่มพูดกันถึงเรื่องปาฏิหาริย์. อาชญากรรมที่มีการแจ้งความในช่วงแปดปีหลังนี้ลดลงถึง 64 เปอร์เซ็นต์.
การปรับปรุงนี้สำเร็จได้อย่างไร? หนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ฉบับวันที่ 1 มกราคม 2002 ชี้ว่า ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของความสำเร็จนี้คือคอมป์สตัต ซึ่งเป็น “ระบบติดตามอาชญากรรมโดยการวิเคราะห์สถิติของแต่ละท้องที่ทุกสัปดาห์เพื่อตรวจจับและตอบสนองปัญหาทันทีที่มันปรากฏขึ้น.” อดีตอธิบดีกรมตำรวจเบอร์นาร์ด เคอริก กล่าวว่า “เราคอยสังเกตว่าอาชญากรรมเกิดขึ้นที่ไหน, ทำไมมันจึงเกิดขึ้น แล้วเราก็ย้ายกำลัง [ตำรวจ] และการช่วยเหลือไปที่นั่นเพื่อจะแน่ใจว่าท้องที่เหล่านั้นได้รับการเอาใจใส่มากขึ้น. นั่นแหละคือวิธีลดอาชญากรรม.”
[ภาพหน้า 7]
สถานีตำรวจของญี่ปุ่น
[ภาพหน้า 7]
ตำรวจจราจรในฮ่องกง
[ภาพหน้า 8, 9]
เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนในการแข่งขันฟุตบอลที่อังกฤษ
[ภาพหน้า 9]
หน้าที่ของตำรวจรวมไปถึงการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ