ฉันจะเข้ากับเพื่อนร่วมห้องได้อย่างไร?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
ฉันจะเข้ากับเพื่อนร่วมห้องได้อย่างไร?
“ดิฉันอยากให้ครัวสะอาดเรียบร้อย. แต่เพื่อนร่วมห้องของดิฉันไม่สนใจถ้าจะมีจานวางระเกะระกะหรือถ้าพวกเธอจะทิ้งหม้อไว้บนเตา. นั่นไม่สำคัญสำหรับพวกเธอเลยสักนิด.”—ลินน์. *
เพื่อนร่วมห้อง. “พวกเขาอาจเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดหรือศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดก็ได้” นักเขียนชื่อเควิน สโกเลรี กล่าวไว้. คุณเองอาจไม่รู้สึกรุนแรงขนาดนั้น แต่จะปฏิเสธไม่ได้ว่า การอยู่ร่วมกับใครสักคนอาจเป็นเรื่องที่ยากจริง ๆ. * ตามที่วารสารยู. เอส. นิวส์ แอนด์ เวิลด์ รีพอร์ต กล่าว ความขัดแย้งระหว่างเพื่อนร่วมห้องเป็นเรื่องธรรมดามากท่ามกลางนักศึกษาในมหาวิทยาลัย จนทางสถาบันการศึกษาหลายแห่งต้องใช้ “ความพยายามอย่างยิ่ง” เพื่อจะช่วยคนที่เป็นเพื่อนร่วมห้องให้อยู่ร่วมกันได้ รวมถึง “โครงการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง” และการสัมมนา.
การอยู่ร่วมกันในอพาร์ตเมนต์ห้องหนึ่งอาจเป็นเรื่องยากแม้แต่สำหรับหนุ่มสาวคริสเตียนซึ่งออกจากบ้านเพื่อมุ่งติดตามงานเผยแพร่เต็มเวลา. นับว่าน่าดีใจที่โดยการใช้หลักการของคัมภีร์ไบเบิลและโดยการแสดง “สติปัญญาที่ใช้ได้จริง” บ่อยครั้งความขัดแย้งก็สามารถแก้ไขได้.—สุภาษิต 2:7, ล.ม.
ทำความรู้จักกัน
เมื่อความตื่นเต้นเรื่องการย้ายที่อยู่จางหายไป คุณอาจเริ่มคิดถึงสิ่งที่คุณคุ้นเคยที่บ้าน. (อาฤธโม 11:4, 5) อย่างไรก็ตาม การครุ่นคิดถึงอดีตมีแต่จะทำให้คุณปรับตัวได้ยากขึ้นเท่านั้น. ท่านผู้ประกาศ 7:10 แนะนำดังนี้: “อย่าว่า, อะไรหนอเป็นเหตุทำให้กาลก่อนดีกว่ากาลบัดนี้? เพราะสิ่งที่เจ้าไต่ถามถึงนั้นไม่เกินความรู้ของเจ้าดอก.” ถูกแล้ว คุณควรพยายามทำปัจจุบันให้ดีที่สุด.
เริ่มด้วยการพยายามทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมห้องให้มากขึ้น. จริงอยู่ เพื่อนร่วมห้องไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนที่สนิทที่สุด. ที่จริง เขาอาจไม่ใช่คนที่คุณรู้สึกชอบพอเป็นพิเศษ. แต่ถ้าคุณต้องอยู่กับคนนั้น ก็นับว่ามีเหตุผลมิใช่หรือที่พวกคุณจะพยายามทำให้มีสัมพันธภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้?
ฟิลิปปอย 2:4 (ล.ม.) บอกให้เราคอยดู “ด้วยความสนใจเป็นส่วนตัวไม่เพียงเรื่องของตนเองเท่านั้น แต่สนใจเป็นส่วนตัวในเรื่องของคนอื่น ๆ ด้วย.” โดยไม่ทำให้ฟังดูเหมือนเป็นการสอบสวน คุณจะถามถึงเรื่องภูมิหลังทางครอบครัวของเพื่อนร่วมห้อง, สิ่งที่เขาสนใจ, เป้าหมาย, และความชอบส่วนตัวของเขาได้ไหม? แล้วก็เล่าเรื่องของคุณเองให้เขาฟังด้วย. ยิ่งพวกคุณรู้จักกันมากเท่าไร คุณก็จะยิ่งเข้าใจกันมากขึ้นเท่านั้น.
จงกำหนดแผนการที่แน่นอนที่จะทำอะไรด้วยกันเป็นครั้งคราว. ลีกล่าวว่า “บางครั้งดิฉันกับเพื่อนร่วมห้องจะออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือไม่ก็ไปชมหอศิลป์ด้วย
กัน.” สำหรับเพื่อนร่วมห้องที่เป็นคริสเตียนเหมือนกัน การทำกิจกรรมฝ่ายวิญญาณร่วมกัน เช่น การเตรียมการประชุมประจำประชาคมหรือทำงานเผยแพร่ เป็นวิธีที่ได้ผลยิ่งขึ้นในการหล่อหลอมความสัมพันธ์ฉันมิตรให้แน่นแฟ้น.เดวิดกล่าวว่า “ตอนที่เพื่อนร่วมห้องของผมให้คำบรรยายสาธารณะเรื่องคัมภีร์ไบเบิล ผมไปร่วมประชุมในประชาคมของเขาเพื่อให้กำลังใจ.” แม้ว่าเขากับเพื่อนร่วมห้องมีรสนิยมต่างกันในเรื่องต่าง ๆ เช่น กีฬาและดนตรี แต่ความรักที่ทั้งคู่มีต่อสิ่งฝ่ายวิญญาณทำให้เกิดความผูกพัน. เดวิดกล่าวว่า “เราคุยเรื่องสิ่งฝ่ายวิญญาณกันบ่อย ๆ. ที่จริง เราคุยกันได้เป็นชั่วโมง ๆ เกี่ยวกับสิ่งฝ่ายวิญญาณ.”
ข้อควรระวัง: อย่าสนิทกับเพื่อนร่วมห้องมากเกินไปจนทำให้คุณไม่ได้สร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น. ถ้าเพื่อนร่วมห้องของคุณรู้สึกว่าจะต้องชวนคุณทุกครั้งไม่ว่าเขาไปไหน เขาอาจจะเริ่มรู้สึกอึดอัด. คัมภีร์ไบเบิลแนะนำให้ “ตีแผ่ใจ” ในมิตรภาพของคุณ.—2 โกรินโธ 6:13.
ดำเนินชีวิตตามกฎทอง
แน่นอนว่า เมื่อคุณรู้จักกันมากขึ้น คุณก็จะเห็นความแตกต่างในเรื่องนิสัย, รสนิยม, และทัศนะของพวกคุณด้วย. ดังที่ชายหนุ่มชื่อมาร์กเตือนไว้ “คุณไม่ควรคาดหมายความสมบูรณ์.” การเป็นคนที่ยึดติดหรือคิดถึงแต่ตัวเองจะก่อให้เกิดความตึงเครียด. การคาดหมายให้เพื่อนร่วมห้องทำการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่เพื่อจะเข้ากับคุณได้ก็ก่อให้เกิดความตึงเครียดเช่นกัน.
เฟอร์นันโดได้เรียนรู้เรื่องดังกล่าวเกี่ยวกับการเป็นเพื่อนร่วมห้อง: “คุณต้องไม่เห็นแก่ตัวและไม่คิดถึงแต่ตัวเอง.” คำพูดของเขาสอดคล้องกับกฎทองอันเลื่องลือ ซึ่งบอกว่า “เหตุฉะนั้นสิ่งสารพัตรซึ่งท่านปรารถนาให้มนุษย์ทำแก่ท่าน, จงกระทำอย่างนั้นแก่เขาเหมือนกัน.” (มัดธาย 7:12) ยกตัวอย่าง ไม่นานเฟอร์นันโดก็พบว่าเขากับเพื่อนร่วมห้องขัดแย้งกันเรื่องอุณหภูมิในห้อง; เขาชอบอากาศอุ่น ๆ แต่เพื่อนร่วมห้องของเขาชอบอากาศเย็น. เขาแก้ปัญหาอย่างไร? เฟอร์นันโดกล่าวว่า “ผมก็นอนห่มผ้า.” ถูกแล้ว เป็นอย่างที่มาร์กกล่าวไว้ “จงเป็นคนยืดหยุ่น. คุณไม่จำเป็นต้องยอมทุกเรื่อง แต่คุณอาจต้องยอมบางเรื่อง.”
นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่คุณจะใช้กฎทองได้คือ จงเรียนรู้ที่จะยอมอดทนกับรสนิยมของเพื่อนร่วมห้อง. คุณบอกว่า คุณไม่ชอบเพลงที่เขาฟังหรือ? เขาก็คงจะรู้สึกแบบเดียวกันกับเพลงที่คุณฟัง. ดังนั้น ถ้ารสนิยมเรื่องดนตรีของเพื่อนร่วมห้องไม่ใช่เรื่องที่เสื่อมทรามทางศีลธรรม คุณอาจพยายามหัดฟังสิ่งที่คนอื่นชอบ. เฟอร์นันโดกล่าวว่า “ผมคงชอบมากกว่าถ้าเพื่อนร่วมห้องของผมจะฟังเพลงแบบอื่น. แต่ผมก็เริ่มชินแล้ว.” ในอีกด้านหนึ่ง คนเราอาจฟังดนตรีได้โดยใช้หูฟังเพื่อจะไม่รบกวนเพื่อนร่วมห้องซึ่งอาจกำลังศึกษาอยู่.
นอกจากนี้ การใช้กฎทองอาจป้องกันไม่ให้เกิดการโต้เถียงที่ไม่จำเป็นในเรื่องข้าวของส่วนตัว. ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีนิสัยชอบหยิบของในตู้เย็นโดยไม่ได้บอกกล่าว แต่แทบไม่เคยซื้อมาคืน ความข้องขัดใจก็อาจเกิดขึ้นได้. ในขณะเดียวกัน การโมโหหรือการจ้องมองอย่างไม่เป็นมิตรเมื่อเพื่อนร่วมห้องของคุณหยิบของบางอย่างที่คุณซื้อมาก็ไม่ส่งเสริมสายสัมพันธ์ที่ดีเช่นกัน. คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนให้เรา “เป็นคนใจกว้าง, พร้อมจะแบ่งปัน.” (1 ติโมเธียว 6:18, ล.ม.) ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณถูกเอาเปรียบ ก็อย่านิ่งเงียบ. จงพูดเรื่องความข้องขัดใจของคุณอย่างใจเย็น ๆ และกรุณา.
จงเคารพในทรัพย์สินส่วนตัวของกันและกัน. นับว่า เป็นการล่วงสิทธิ์ที่จะหยิบของไปโดยไม่ได้ขอสุภาษิต 11:2) จงคำนึงถึงเพื่อนร่วมห้องของคุณว่าเขาก็ต้องการความเป็นส่วนตัวเช่นกัน. จงแสดงมารยาทพื้นฐาน อย่างเช่น เคาะประตูก่อนเข้าไปในห้องของเขา. เมื่อคุณแสดงความนับถือ เพื่อนร่วมห้องของคุณก็คงจะทำแบบเดียวกัน. เดวิดกล่าวว่า “เราคนใดคนหนึ่งจะศึกษาที่บ้านก็ได้ไม่มีปัญหา. เราทั้งสองคนเคารพสิทธิ์นั้นอย่างเต็มที่และจะอยู่เงียบ ๆ. แต่บางครั้งผมจะไปศึกษาที่ห้องสมุดถ้าเพื่อนร่วมห้องของผมอยากทำอย่างอื่น.”
อนุญาต. (นอกจากนี้ การใช้กฎทองยังรวมไปถึงการเป็นคนไว้ใจได้ในเรื่องการจ่ายค่าเช่าส่วนของคุณอย่างตรงเวลาหรือทำงานบ้านในส่วนของคุณ.
การจัดการกับความขัดแย้ง
ย้อนไปในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ชายคริสเตียนที่ได้รับความนับถืออย่างสูงสองคนชื่อเปาโลและบาระนาบาเกิด “เถียงกันมาก.” (กิจการ 15:39) จะว่าอย่างไรถ้าเกิดเหตุการณ์คล้าย ๆ กันกับคุณสองคน? บางทีอาจมีความขัดแย้งกันด้านบุคลิกภาพหรือนิสัยส่วนตัวบางอย่างที่น่ารำคาญซึ่งทดสอบความอดทนของคุณจนถึงขีดสุด. ความขัดแย้งหรือการทะเลาะกันอย่างรุนแรงครั้งหนึ่งหมายความว่าคุณจะอยู่ร่วมห้องกันไม่ได้อีกต่อไปไหม? อาจไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น. เห็นได้ชัดว่า เปาโลกับบาระนาบาสามารถแก้ไขความขัดแย้งของพวกเขาได้. บางทีคุณอาจทำแบบเดียวกันก่อนจะรีบย้ายออกไป. ต่อไปนี้เป็นหลักการบางอย่างจากคัมภีร์ไบเบิลที่อาจช่วยได้.
● “ไม่ทำประการใดในทางทุ่มเถียงกันหรืออวดดีไปเปล่า ๆ, แต่ให้ทุกคนมีใจถ่อมลงถือว่าคนอื่นดีกว่าตัว.”—ฟิลิปปอย 2:3.
● “ใจขมขื่น, และใจขัดเคือง, และใจโกรธ, และการทะเลาะเถียงกัน, และการพูดเสียดสีกัน, กับการคิดปองร้ายทุกอย่าง, จงให้อยู่ห่างจากท่านทั้งหลายเถิด และท่านทั้งหลายจงเมตตาซึ่งกันและกัน, มีใจเอ็นดูซึ่งกันและกัน, และอภัยโทษให้กันและกัน, เหมือนพระเจ้าได้ทรงโปรดอภัยโทษให้ท่านทั้งหลายในพระคริสต์.”—เอเฟโซ 4:31, 32.
● “ฉะนั้น หากเจ้ากำลังนำของถวายมายังแท่นบูชา และ ณ ที่นั่นเจ้าระลึกขึ้นได้ว่าพี่น้องของเจ้ามีเรื่องขัดเคืองต่อเจ้า จงละของถวายของเจ้าไว้หน้าแท่นบูชา แล้วไป; จงคืนดีกับพี่น้องของเจ้าก่อน, ครั้นแล้ว เมื่อเจ้ากลับมา จึงถวายของถวายของเจ้า.”—มัดธาย 5:23, 24, ล.ม.; เอเฟโซ 4:26.
ผลประโยชน์
หนุ่มสาว (และที่ไม่ใช่หนุ่มสาว) หลายคนที่เป็นคริสเตียนซึ่งมีเพื่อนร่วมห้องได้เรียนรู้ด้วยตัวเองถึงความเป็นจริงของถ้อยคำที่กษัตริย์ซะโลโมผู้ฉลาดสุขุมกล่าวไว้ที่ว่า “สองคนก็ดีกว่าคนเดียว.” (ท่านผู้ประกาศ 4:9) ที่จริง หลายคนประสบว่าการอยู่ร่วมห้องกับคนอื่นเป็นประโยชน์. มาร์กบอกว่า “ผมเรียนรู้วิธีที่จะเข้ากับคนอื่นได้ดีขึ้นและรู้วิธีที่จะปรับตัว.” เรอเนเสริมว่า “คุณเรียนรู้อะไรหลายอย่างเกี่ยวกับตัวคุณเอง. และในเวลาเดียวกัน เพื่อนร่วมห้องก็อาจเป็นแรงผลักดันจากคนรุ่นเดียวกันให้ทำสิ่งที่ดี.” ลินน์ยอมรับว่า “ดิฉันเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตัวเองอย่างมากตอนที่ย้ายไปอยู่กับเพื่อนร่วมห้อง. แต่ดิฉันได้เรียนรู้ที่จะไม่เข้มงวดเกินไป. ตอนนี้ดิฉันตระหนักว่าเพียงแค่ใครคนหนึ่งทำอะไรต่างไปจากวิธีของดิฉัน ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาผิด.”
จริงอยู่ การเข้ากันได้กับเพื่อนร่วมห้องต้องใช้ความพยายามและการเสียสละ. แต่ถ้าคุณบากบั่นและใช้หลักการของคัมภีร์ไบเบิล คุณจะทำได้มากกว่าแค่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ คุณอาจรู้สึกว่าการมีเพื่อนร่วมห้องเป็นเรื่องที่น่ายินดีเสียด้วยซ้ำ.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 บางชื่อเป็นนามสมมุติ.
^ วรรค 4 ดูบทความ “ทำไมเพื่อนร่วมห้องของฉันเป็นคนที่อยู่ด้วยยากเหลือเกิน?” ในวารสารของเราฉบับ 8 พฤษภาคม 2002.
[ภาพหน้า 25]
การเอาของที่ไม่ใช่ของคุณไปอาจก่อความตึงเครียดได้
[ภาพหน้า 26]
จงแสดงการคำนึงถึงซึ่งกันและกัน