ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การกันดารอาหารครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์—ตำนานแห่งความตายและการอพยพ

การกันดารอาหารครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์—ตำนานแห่งความตายและการอพยพ

การ​กันดาร​อาหาร​ครั้ง​ใหญ่​ใน​ไอร์แลนด์—ตำนาน​แห่ง​ความ​ตาย​และ​การ​อพยพ

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​ไอร์แลนด์

ใกล้​กับ​ภูเขา​โครแพทริก * ซึ่ง​เป็น​ภูเขา “บริสุทธิ์” ของ​ไอร์แลนด์ มี​เรือ​ประหลาด​ที่​สุด​ลำ​หนึ่ง​ตั้ง​อยู่. เรือ​ลำ​นี้​ดู​เหมือน​เรือใบ​ลำ​เล็ก​แห่ง​ศตวรรษ​ที่ 19 ซึ่ง​หัน​หัว​เรือ​ไป​ทิศ​ตะวัน​ตก คือ​ทาง​มหาสมุทร​แอตแลนติก. แต่​เรือ​ลำ​นี้​จะ​ไม่​มี​วัน​ได้​ออก​ทะเล. มัน​ถูก​ยึด​เข้า​กับ​ฐาน​คอนกรีต​อย่าง​แน่น​หนา. เรือ​นี้​มี​โครง​กระดูก​มนุษย์​จำลอง​ที่​สะดุด​ตา​ห้อย​ระโยง​ระยาง​ท่ามกลาง​เสา​กระโดง​เรือ.

เรือ​ลำ​นี้​เป็น​ประติมากรรม​โลหะ​ขนาด​ใหญ่​ซึ่ง​ได้​เปิด​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ใน​ปี 1997 เพื่อ​ระลึก​ถึง​โศกนาฏกรรม​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ครั้ง​หนึ่ง​ใน​ประวัติศาสตร์​ของ​ไอร์แลนด์ นั่น​คือ​การ​กันดาร​อาหาร​ครั้ง​ใหญ่. โครง​กระดูก​และ​เรือ​เป็น​สัญลักษณ์​แห่ง​ความ​ตาย​และ​การ​อพยพ​ออก​จาก​ประเทศ​ของ​คน​เป็น​จำนวน​มาก​ซึ่ง​เป็น​ลักษณะ​เด่น​ของ​ช่วง​เวลา​อัน​น่า​เศร้า​สลด​ระหว่าง​ปี 1845-1850.

แน่นอน ไอร์แลนด์​ไม่​ใช่​ประเทศ​เดียว​ที่​ประสบ​การ​กันดาร​อาหาร. หลาย​ประเทศ​ก็​เคย​ประสบ​เช่น​เดียว​กัน. แต่​ใน​หลาย​แง่ การ​กันดาร​อาหาร​ครั้ง​ใหญ่​ใน​ไอร์แลนด์​เป็น​เรื่อง​ที่​น่า​เศร้า​ยิ่ง​นัก. ใน​ปี 1845 ไอร์แลนด์​มี​ประชากร​ประมาณ​แปด​ล้าน​คน. พอ​ถึง​ปี 1850 อาจ​มี​ผู้​เสีย​ชีวิต​ถึง​หนึ่ง​ล้าน​ห้า​แสน​คน​เนื่อง​จาก​การ​กันดาร​อาหาร! อีก​หนึ่ง​ล้าน​คน​ได้​อพยพ​ออก​นอก​ประเทศ​เพื่อ​แสวง​หา​ชีวิต​ที่​ดี​กว่า ส่วน​ใหญ่​ไป​บริเตน​หรือ​ไม่​ก็​สหรัฐ. นั่น​เป็น​การ​กันดาร​อาหาร​ครั้ง​ใหญ่​ไหม? แน่นอน​ที่​สุด.

อะไร​ทำ​ให้​เกิด​การ​กันดาร​อาหาร​ครั้ง​ใหญ่​เช่น​นั้น? มี​การ​ให้​ความ​ช่วยเหลือ​อะไร​บ้าง​แก่​ผู้​ประสบ​ภัย? เรา​เรียน​รู้​อะไร​ได้​บ้าง​จาก​ความ​หายนะ​ครั้ง​นี้? เพื่อ​จะ​เข้าใจ​คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​ดัง​กล่าว ตอน​แรก​ขอ​ให้​เรา​พิจารณา​คร่าว ๆ ว่า วิถี​ชีวิต​ของ​ชาว​ไอริช​ก่อน​เกิด​การ​กันดาร​อาหาร​เป็น​เช่น​ไร.

ก่อน​การ​กันดาร​อาหาร​ครั้ง​ใหญ่

พอ​ถึง​ตอน​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 19 บริเตน​ได้​ขยาย​การ​ปกครอง​ออก​ไป​ใน​หลาย​ภูมิภาค​ของ​โลก. นั่น​รวม​ถึง​ไอร์แลนด์​ด้วย. ที่​ดิน​ส่วน​ใหญ่​ใน​ไอร์แลนด์​เป็น​ของ​คน​อังกฤษ ซึ่ง​หลาย​คน​อาศัย​อยู่​ใน​ประเทศ​อังกฤษ. เจ้าของ​ที่​ดิน​เหล่า​นี้​ซึ่ง​ไม่​ได้​อาศัย​อยู่​ใน​ที่​ดิน​ของ​ตัว​เอง​ได้​ขูดรีด​ค่า​เช่า​จาก​ผู้​เช่า​ชาว​ไอริช​และ​จ่าย​ค่า​แรง​ให้​พวก​เขา​ต่ำ.

ชาว​ไร่​ชาว​นา​ราย​ย่อย​นับ​พัน​อยู่​ด้วย​ความ​ยาก​จน​ข้นแค้น. เมื่อ​ไม่​สามารถ​ซื้อ​เนื้อ​สัตว์​หรือ​อาหาร​ชนิด​อื่น ๆ ได้ ผู้​คน​จึง​ปลูก​พืช​ที่​มี​ราคา​ถูก​ที่​สุด, ปลูก​ง่าย​ที่​สุด, และ​ให้​ผล​ผลิต​มาก​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​หา​ได้​ภาย​ใต้​สภาพ​แวด​ล้อม​เช่น​นี้ นั่น​คือ​มันฝรั่ง.

ความ​สำคัญ​ของ​มันฝรั่ง

มี​การ​นำ​มันฝรั่ง​เข้า​มา​ใน​ไอร์แลนด์​เป็น​ครั้ง​แรก​ราว ๆ ปี 1590. การ​ปลูก​มันฝรั่ง​ประสบ​ความ​สำเร็จ​มาก​เพราะ​ภูมิ​อากาศ​ที่​ชื้น​และ​อบอุ่น​ของ​ไอร์แลนด์​เหมาะ​กับ​การ​เจริญ​เติบโต​ของ​มันฝรั่ง และ​มันฝรั่ง​ก็​ขึ้น​ได้​แม้​แต่​ใน​ดิน​ที่​มี​คุณภาพ​ต่ำ​มาก. มี​การ​ใช้​มันฝรั่ง​เป็น​อาหาร​ของ​ทั้ง​คน​และ​สัตว์. พอ​ถึง​ตอน​กลาง​ศตวรรษ​ที่ 19 เกือบ​หนึ่ง​ใน​สาม​ของ​พื้น​ที่​เพาะ​ปลูก​ทั้ง​หมด​ใช้​สำหรับ​การ​ปลูก​มันฝรั่ง. เกือบ​สอง​ใน​สาม​ของ​มันฝรั่ง​เหล่า​นั้น​เป็น​อาหาร​ของ​มนุษย์. โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว ผู้​ชาย​ชาว​ไอริช​กิน​มันฝรั่ง​ทุก​วัน และ​แทบ​ไม่​กิน​อย่าง​อื่น​เลย!

เนื่อง​จาก​ผู้​คน​จำนวน​มาก​พึ่ง​มันฝรั่ง​เป็น​อาหาร​เพียง​อย่าง​เดียว สภาพการณ์​เช่น​นี้​กระตุ้น​ให้​เกิด​ความ​หายนะ. จะ​เกิด​อะไร​ขึ้น​ถ้า​การ​เพาะ​ปลูก​ไม่​เกิด​ผล.

ครั้ง​แรก​ที่​การ​เพาะ​ปลูก​ไม่​เกิด​ผล

ก่อน​หน้า​นี้​การ​เพาะ​ปลูก​มันฝรั่ง​เคย​ไม่​เกิด​ผล​มา​บ้าง​แล้ว. มาตรการ​บรรเทา​ทุกข์​ระยะ​สั้น​แก้​ปัญหา​ได้​สำเร็จ และ​เมื่อ​ผล​ผลิต​ใน​ปี​ถัด​ไป​มี​มาก ความ​ลำบาก​ก็​ไม่​รุนแรง​เท่า​ไร. ดัง​นั้น เมื่อ​การ​ปลูก​มันฝรั่ง​ล้มเหลว​ใน​ปี 1845 พวก​เจ้าหน้าที่​ก็​ไม่​เห็น​ว่า​มี​เหตุ​ผล​อะไร​ที่​จะ​ต้อง​เป็น​ห่วง.

แต่​คราว​นี้​สถานการณ์​เลว​ร้าย​กว่า​เดิม​มาก. ปัจจุบัน​เรา​ทราบ​ว่า​โรค​เชื้อ​รา​ที่​ชื่อ phytophthora infestans ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​อีก​อย่าง​ว่า​โรค​ใบ​ไหม้ เป็น​สาเหตุ​ของ​ความ​ล้มเหลว​ใน​การ​ปลูก​มันฝรั่ง​เมื่อ​ปี 1845. เชื้อ​รา​นี้​ที่​มา​กับ​อากาศ​แพร่​กระจาย​อย่าง​รวด​เร็ว​จาก​ไร่​หนึ่ง​ไป​ยัง​ไร่​อื่น ๆ. มันฝรั่ง​ที่​ติด​เชื้อ​เน่า​ตาย​ไป​ใน​ดิน และ​กล่าว​กัน​ว่า​มันฝรั่ง​ที่​เก็บ​ไว้​ใน​โรง​นา​ก็ “ละลาย​หาย​ไป.” เนื่อง​จาก​มี​การ​ปลูก​มันฝรั่ง​เพียง​พันธุ์​เดียว พืช​ผล​ของ​ทั้ง​ประเทศ​จึง​เป็น​โรค​นี้. และ​เนื่อง​จาก​หัว​มันฝรั่ง​ที่​จะ​นำ​ไป​ปลูก​ใน​ปี​ถัด​ไป​ได้​มา​จาก​พืช​ผล​ที่​เก็บ​ใน​ปี​นั้น เชื้อ​รา​นี้​จึง​ยัง​ความ​หายนะ​ต่อ​พืช​ผล​ใน​อนาคต​ด้วย.

ครั้ง​ที่​สอง​ที่​การ​เพาะ​ปลูก​ไม่​เกิด​ผล

หัว​มันฝรั่ง​คุณภาพ​ต่ำ​ซึ่ง​อาจ​เก็บ​รักษา​ไว้​ได้​ถูก​นำ​ไป​ปลูก​ใน​ปี​ถัด​ไป นั่น​คือ​ปี 1846 แต่​โรค​ใบ​ไหม้​ก็​ทำลาย​พืช​ผล​ของ​ปี​ที่​สอง​นั้น​ด้วย. เนื่อง​จาก​ไม่​มี​อะไร​เหลือ​ให้​เก็บ​เกี่ยว​ได้ คน​งาน​ใน​ไร่​หลาย​คน​จึง​ตก​งาน. เจ้าของ​ไร่​ไม่​สามารถ​จ่าย​ค่า​แรง​ให้​พวก​เขา​ได้.

รัฐบาล​ตั้ง​หน่วย​งาน​บรรเทา​ทุกข์​ขึ้น​หลาย​หน่วย และ​ว่า​จ้าง​คน​ที่​น่า​สงสาร​เหล่า​นี้​หลาย​คน เพื่อ​พวก​เขา​จะ​หา​เลี้ยง​ครอบครัว​ได้ โดย​ส่วน​ใหญ่​จ้าง​ไป​สร้าง​ถนน.

บาง​คน​สามารถ​หา​งาน​ทำ​ได้​ที่​สถาน​สงเคราะห์​เท่า​นั้น. หน่วย​งาน​เหล่า​นี้​ว่า​จ้าง​คน​ที่​สิ้น​เนื้อ​ประดา​ตัว. คน​งาน​ได้​รับ​อาหาร​และ​ที่​พัก​เป็น​ค่า​ตอบ​แทน​สำหรับ​งาน​ที่​พวก​เขา​ทำ. งาน​ที่​ทำ​ก็​หนัก​มาก. บ่อย​ครั้ง​อาหาร​ก็​เน่า​เสีย และ​ที่​พัก​ก็​เป็น​แบบ​ง่าย ๆ. คน​งาน​บาง​คน​เสีย​ชีวิต.

มาตรการ​เหล่า​นี้​ช่วย​บรรเทา​ความ​ลำบาก​ได้​บ้าง. แต่​สถานการณ์​แย่​ลง​อีก. ฤดู​หนาว​ปี 1846/1847 เป็น​ช่วง​ที่​หนาว​จัด และ​ทำ​ให้​งาน​ภาย​นอก​ส่วน​ใหญ่​ลด​น้อย​ลง​ไป. หน่วย​งาน​ต่าง ๆ ของ​รัฐบาล​จึง​แจก​จ่าย​อาหาร​ให้​ฟรี. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เมื่อ​ผ่าน​ไป​ได้​สอง​ปี เงิน​ทุน​ของ​รัฐบาล​สำหรับ​งาน​บรรเทา​ทุกข์​ก็​เริ่ม​หมด​ไป และ​ความ​ช่วยเหลือ​ที่​จัด​หา​มา​ให้​ก็​ไม่​เพียง​พอ​เลย​สำหรับ​ผู้​คน​ที่​ร่าง​กาย​อ่อนแอ​ซึ่ง​มี​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ. จาก​นั้น​ความ​หายนะ​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ก็​โถม​กระหน่ำ​ไอร์แลนด์.

เจ้าของ​ที่​ดิน​ที่​อยู่​นอก​ประเทศ ซึ่ง​หลาย​คน​ก็​มี​หนี้สิน​จำนวน​มาก​อยู่​แล้ว ยัง​คง​เรียก​ร้อง​ค่า​เช่า​ต่อ​ไป. ผู้​เช่า​หลาย​คน​ไม่​สามารถ​จ่าย​ค่า​เช่า และ​ผล​ก็​คือ หลาย​พัน​คน​ถูก​ไล่​ออก​จาก​ที่​ดิน​ของ​ตน. ผู้​เช่า​บาง​คน​ได้​แต่​ทิ้ง​ที่​ดิน​และ​เข้า​ไป​ใน​เมือง​ใหญ่​โดย​หวัง​ว่า​ชีวิต​จะ​ดี​ขึ้น. แต่​ใน​เมื่อ​ไม่​มี​อาหาร, ไม่​มี​เงิน, และ​ไม่​มี​บ้าน พวก​เขา​จะ​ไป​ที่​ไหน? การ​อพยพ​จึง​เป็น​ทาง​เลือก​เดียว​ที่​เหลือ​อยู่​สำหรับ​ผู้​คน​จำนวน​มาก​ขึ้น.

พร้อม​ใจ​กัน​อพยพ

การ​อพยพ​ออก​นอก​ประเทศ​ไม่​ใช่​เรื่อง​ใหม่. ตั้ง​แต่​ตอน​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 18 มี​ผู้​อพยพ​จำนวน​ไม่​มาก​ที่​ย้าย​จาก​ไอร์แลนด์​ไป​ยัง​บริเตน​และ​อเมริกา​อยู่​เรื่อย ๆ. แต่​ภาย​หลัง​ฤดู​หนาว​ปี 1845 จำนวน​ไม่​มาก​นั้น​กลาย​เป็น​จำนวน​มหาศาล! พอ​ถึง​ปี 1850 มี 26 เปอร์เซ็นต์​ของ​ผู้​อาศัย​อยู่​ใน​นคร​นิวยอร์ก​เป็น​ชาว​ไอร์แลนด์ และ​มี​พลเมือง​ที่​เป็น​ชาว​ไอริช​โดย​กำเนิด​ใน​เมือง​นั้น​มาก​กว่า​ใน​กรุง​ดับลิน เมือง​หลวง​ของ​ไอร์แลนด์​เสีย​อีก.

ตลอด​ช่วง​หก​ปี​แห่ง​การ​กันดาร​อาหาร เรือ​ห้า​พัน​ลำ​ฝ่า​อันตราย​เป็น​ระยะ​ทาง 5,000 กิโลเมตร​ข้าม​มหาสมุทร​แอตแลนติก. เรือ​หลาย​ลำ​เก่า​ทรุดโทรม. บาง​ลำ​เคย​เป็น​เรือ​ขน​ทาส​มา​ก่อน. เรือ​เหล่า​นั้น​ยัง​ถูก​ใช้​เพราะ​มี​เหตุ​ฉุกเฉิน​เท่า​นั้น. มี​การ​ปรับ​ปรุง​เพียง​เล็ก​น้อย​ใน​บริเวณ​ที่​พัก​อัน​คับแคบ. ไม่​มี​ระบบ​สุขาภิบาล และ​ผู้​โดยสาร​ต้อง​ประทัง​ชีวิต​ด้วย​อาหาร​เพียง​เล็ก​น้อย.

ผู้​โดยสาร​หลาย​พัน​คน ซึ่ง​อ่อนแอ​อยู่​แล้ว​จาก​การ​กันดาร​อาหาร ก็​เริ่ม​ป่วย. หลาย​คน​เสีย​ชีวิต​ขณะ​อยู่​กลาง​ทะเล. ใน​ปี 1847 เรือ​ที่​มุ่ง​หน้า​ไป​แคนาดา​หลาย​ลำ​ถูก​เรียก​ว่า​เรือ​หีบ​ศพ. ใน​จำนวน​ผู้​อพยพ​ประมาณ 100,000 คน​ที่​เดิน​ทาง​กับ​เรือ​เหล่า​นั้น มี​มาก​กว่า 16,000 คน​เสีย​ชีวิต​กลาง​ทะเล​หรือ​ไม่​นาน​หลัง​จาก​ขึ้น​ฝั่ง​แล้ว. จดหมาย​ที่​ส่ง​กลับ​มา​หา​มิตร​สหาย​และ​ญาติ​ใน​ไอร์แลนด์​บอก​เล่า​สภาพการณ์​ที่​อันตราย​เหล่า​นี้ แต่​ก็​ยัง​คง​มี​คน​อพยพ​ออก​เป็น​จำนวน​มาก.

เจ้าของ​ที่​ดิน​บาง​คน​ให้​ความ​ช่วยเหลือ​คน​ที่​เคย​เช่า​ที่​ของ​ตน. ตัว​อย่าง​เช่น เจ้าของ​ที่​ดิน​คน​หนึ่ง​ทำ​สัญญา​เช่า​เรือ​สาม​ลำ​และ​บริจาค​ให้​ผู้​เช่า​ของ​เขา​หลาย​พัน​คน. แต่​ผู้​อพยพ​ส่วน​ใหญ่​ต้อง​ดิ้นรน​หา​ค่า​โดยสาร​ของ​ตน​เอง. บ่อย​ครั้ง​มี​เพียง​หนึ่ง​หรือ​สอง​คน​จาก​ครอบครัว​ใหญ่​หนึ่ง​ครอบครัว​ที่​สามารถ​ซื้อ​ค่า​โดยสาร​ได้. ลอง​นึก​ภาพ​ความ​เศร้า​สลด​ที่​ท่า​เรือ​เมื่อ​สมาชิก​ครอบครัว​นับ​พัน​คน​ล่ำ​ลา​กัน ซึ่ง​คง​จะ​ไม่​ได้​พบ​หน้า​กัน​อีก​เลย.

โรค​ระบาด​และ​การ​เพาะ​ปลูก​ไม่​เกิด​ผล​เป็น​ครั้ง​ที่​สาม

หลัง​จาก​การ​ปลูก​มันฝรั่ง​ล้มเหลว​ติด​ต่อ​กัน​สอง​ครั้ง​และ​การ​ไล่​ที่​ครั้ง​ใหญ่ ประชากร​ที่​ลด​จำนวน​ลง​อย่าง​มาก​ต้อง​ต่อ​สู้​กับ​ความ​หายนะ​อีก​อย่าง​หนึ่ง. โรค​ระบาด! ไข้​รากสาด​ใหญ่, โรค​บิด, โรค​ลักปิดลักเปิด​ทำ​ให้​มี​ผู้​เสีย​ชีวิต​อีก​มาก. ผู้​รอด​ชีวิต​หลาย​คน​คง​คิด​ว่า​สถานการณ์​คง​จะ​ไม่​เลว​ร้าย​ไป​กว่า​นี้​อีก​แล้ว แต่​พวก​เขา​คิด​ผิด.

ความ​สำเร็จ​ใน​การ​ปลูก​พืช​ผล​ใน​ปี 1847 กระตุ้น​ให้​เกษตรกร​ปลูก​มันฝรั่ง​เพิ่ม​ขึ้น​เป็น​สาม​เท่า​ใน​ปี 1848. จาก​นั้น​ความ​หายนะ​ก็​เกิด​ขึ้น! ฤดู​ร้อน​ปี​นั้น​มี​ฝน​ตก​มาก. โรค​ใบ​ไหม้​ระบาด​อีก​ครั้ง. พืช​ผล​เสียหาย​เป็น​ครั้ง​ที่​สาม​ใน​สี่​ฤดู. หน่วย​งาน​ของ​รัฐบาล​และ​หน่วย​งาน​การ​กุศล​ไม่​อาจ​ช่วยเหลือ​ได้​อีก​ต่อ​ไป. แม้​แต่​ตอน​นั้น สภาพการณ์​เลว​ร้าย​ที่​สุด​ยัง​ไม่​ยุติ​ลง. ใน​ปี 1849 อหิวาตกโรค​ก็​พร่า​ชีวิต​ผู้​คน​ไป​อีก 36,000 คน.

ผล​ที่​ตาม​มา

อย่าง​ไร​ก็​ตาม โรค​ระบาด​ครั้ง​นั้น​เป็น​จุด​เปลี่ยน. การ​ปลูก​มันฝรั่ง​ใน​ปี​ถัด​ไป​เกิด​ผล​ดี. สิ่ง​ต่าง ๆ ก็​ค่อย ๆ ดี​ขึ้น. รัฐบาล​ออก​กฎหมาย​ใหม่​ซึ่ง​ยก​เลิก​หนี้สิน​ทั้ง​หมด​ที่​เกิด​จาก​การ​กันดาร​อาหาร. ประชากร​เริ่ม​เพิ่ม​จำนวน​ขึ้น​อีก​ครั้ง. แม้​ว่า​โรค​ใบ​ไหม้​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​พืช​ผล​อยู่​บ้าง​ใน​ปี​ถัด ๆ ไป แต่​ก็​ไม่​เคย​มี​อะไร​ที่​จะ​เทียบ​ได้​กับ​สภาพการณ์​อัน​น่า​กลัว​ซึ่ง​ทำ​ให้​ประชากร​ใน​ไอร์แลนด์​ลด​ลง​มาก​กว่า​หนึ่ง​ใน​สี่​ระหว่าง​ช่วง​กันดาร​อาหาร​ที่​น่า​เศร้า​สลด​นี้.

ทุก​วัน​นี้ ทั่ว​ทั้ง​ไอร์แลนด์ กำแพง​หิน​ที่​หัก​พัง​และ​ซาก​ของ​บ้าน​หลาย​หลัง​เป็น​เครื่อง​เตือน​ใจ​ที่​น่า​หดหู่​ถึง​สมัย​แห่ง​ความ​ยาก​ลำบาก​ซึ่ง​ยัง​ผล​ให้​ชาว​ไอริช​พา​กัน​อพยพ​ย้าย​ถิ่น. ใน​สหรัฐ​เพียง​ประเทศ​เดียว มาก​กว่า 40 ล้าน​คน​อ้าง​ได้​ว่า​มี​เชื้อ​สาย​ชาว​ไอริช. ประธานาธิบดี​จอห์น เอฟ. เคนเนดี รวม​ทั้ง​เฮนรี ฟอร์ด ผู้​ประดิษฐ์​รถยนต์​ฟอร์ด มี​เชื้อ​สาย​โดย​ตรง​มา​จาก​ผู้​อพยพ​ซึ่ง​ลง​เรือ​มา​จาก​ไอร์แลนด์​ใน​ช่วง​กันดาร​อาหาร.

แน่นอน การ​เพาะ​ปลูก​มันฝรั่ง​ซึ่ง​ไม่​เกิด​ผล​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า​เป็น​ปัจจัย​สำคัญ​ที่​ทำ​ให้​เกิด​เรื่อง​ราว​อัน​น่า​เศร้า​สลด​แห่ง​ความ​ตาย​และ​การ​อพยพ​ออก​จาก​ประเทศ. ปัจจัย​ที่​สำคัญ​อีก​อย่าง​หนึ่ง​คือ​สิ่ง​ที่​ผู้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​สมัย​โบราณ​พรรณนา​ไว้​ว่า “มนุษย์​ใช้​อำนาจ​เหนือ​มนุษย์​อย่าง​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย​แก่​เขา.” (ท่าน​ผู้​ประกาศ 8:9, ล.ม.) น่า​ยินดี​ที่​เรา​ได้​รับ​การ​รับรอง​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ที่​ว่า พระ​ผู้​สร้าง​แผ่นดิน​โลก​และ​ผล​ผลิต​ทั้ง​สิ้น​บน​แผ่นดิน​โลก​จะ​ทรง​ก่อ​ตั้ง​โลก​ใหม่​ที่​เป็น​อุทยาน และ​นำ​มา​ซึ่ง​สันติ​สุข​และ​ความ​เจริญ​รุ่งเรือง​ถาวร​มา​สู่​ทุก​คน. (2 เปโตร 3:13) นอก​จาก​นั้น ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ใน​สมัย​โบราณ​บอก​ล่วง​หน้า​ไว้​ด้วย​ว่า “ธัญญาหาร​จะ​บริบูรณ์​บน​แผ่นดิน; ต้น​ไม้​บน​ยอด​เขา​จะ​มี​ผล​ดก.”—บทเพลง​สรรเสริญ 72:16, ล.ม.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 3 ดู​หอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 เมษายน 1995 หน้า 26-28.

[ภาพ​หน้า 14]

อนุสาวรีย์​การ​กันดาร​อาหาร​ครั้ง​ใหญ่

[ภาพ​หน้า 15]

การ​ค้น​หา​มันฝรั่ง ดัง​ที่​ลง​ภาพ​ไว้​ใน “อิลลัสเทรตเตด ลอนดอน นิวส์” ฉบับ 22 ธันวาคม 1849

[ภาพ​หน้า 16]

การ​แจก​จ่าย​เสื้อ​ผ้า​ให้​ครอบครัว​ที่​ยาก​จน

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

and page 15: From the newspaper The Illustrated London News, December 22, 1849

[ภาพ​หน้า 16, 17]

“เรือ​ผู้​อพยพ” (ภาพ​วาด​โดย​ชาลส์ เจ. สตานิแลนด์ ราว ๆ ปี 1880)

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Bradford Art Galleries and Museums, West Yorkshire, UK/Bridgeman Art Library

[ภาพ​หน้า 17]

ซาก​ของ​บ้าน​หลาย​หลัง​เป็น​เครื่อง​เตือน​ใจ​ที่​น่า​หดหู่​ถึง​สมัย​แห่ง​ความ​ยาก​ลำบาก​ที่​เกิด​จาก​ปี​แห่ง​การ​กันดาร​อาหาร

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 14]

Top sketch: Courtesy of the “Views of the Famine” Web site at http://vassun.vassar.edu/˜sttaylor/FAMINE