สาเหตุที่ฝังรากลึกผลกระทบที่กว้างไกล
สาเหตุที่ฝังรากลึกผลกระทบที่กว้างไกล
“ผมหิวและพวกคุณก็ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องความหิวของผม. ผมไม่มีบ้านอยู่และพวกคุณก็ทำรายงานเรื่องความทุกข์ของผม. ผมป่วยและพวกคุณก็จัดสัมมนาเรื่องสภาพการณ์ของผู้ยากไร้. คุณซักไซ้เรื่องความทุกข์ยากของผมทุกแง่ทุกมุม แต่กระนั้นผมก็ยังหิว, ไม่มีบ้านอยู่, และเจ็บป่วย.”—ไม่ทราบชื่อผู้เขียน.
แม้ว่าหน่วยงานต่าง ๆ ของโลกได้พยายามหลายต่อหลายครั้งเพื่อหยุดยั้งภาวะทุโภชนาการ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จตามที่หวังไว้. ตัวอย่างเช่น ในปี 1996 การประชุมสุดยอดว่าด้วยเรื่องอาหารโลกขององค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ได้ตั้งเป้าหมายจะทำให้ประชากรโลกที่เป็นโรคขาดสารอาหารมีจำนวนลดลงครึ่งหนึ่ง คือประมาณ 400 ล้านคน ก่อนถึงปี 2015. *
น่าชมเชยที่มีความก้าวหน้าบางอย่าง. แต่น่าเสียดาย รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ขององค์การอาหารและเกษตรกรรมเรื่อง สถานะความไม่มั่นคงของอาหารในโลกปี 2001 ยอมรับ
ว่า “เห็นได้ชัดว่า การลดลงของจำนวนผู้เป็นโรคขาดสารอาหารในโลกได้ชะลอตัวลงแล้ว.” ดังนั้น เป้าหมายของการประชุมสุดยอดครั้งนั้นจึงยังดูเหมือนไกลเกินเอื้อม. ที่จริง รายงานฉบับนั้นยอมรับว่า “จำนวนผู้เป็นโรคขาดสารอาหารได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่.”ทำไมศัตรูตัวนี้จึงเอาชนะได้ยากเหลือเกิน? เพื่อจะได้คำตอบ ก่อนอื่นเราอาจต้องให้คำจำกัดความเกี่ยวกับภาวะทุโภชนาการ แล้วจึงพิจารณาผลกระทบที่กว้างไกลและสาเหตุที่ฝังรากลึก.
ภาวะทุโภชนาการเกิดจากอะไร?
ภาวะทุโภชนาการเกิดจากการที่เซลล์ในร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และมักเกิดจากปัจจัยสองอย่างประกอบกันคือ (1) การได้รับโปรตีน, แคลอรี, วิตามิน, และแร่ธาตุไม่เพียงพอ และ (2) การติดเชื้อบ่อย ๆ.
ความเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น ท้องร่วง, โรคหัด, มาลาเรีย, และโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจทำให้ร่างกายต้องทำงานหนักและสูญเสียสารอาหาร. โรคเหล่านี้ทำให้ไม่อยากอาหารและกินน้อยลง จึงมีส่วนทำให้เกิดภาวะทุโภชนาการ. ในอีกด้านหนึ่ง เด็กที่ขาดสารอาหารก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น. ดังนั้น นี่จึงเป็นวัฏจักรซึ่งทำให้อัตราการเสียชีวิตเนื่องจากภาวะขาดโปรตีนและแคลอรีเพิ่มทวีขึ้น.
ทำไมเด็ก ๆ จึงมีความเสี่ยงต่อภาวะทุโภชนาการมากกว่า? เด็กอยู่ในช่วงที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งทำให้ความต้องการแคลอรีและโปรตีนมีเพิ่มขึ้น. ด้วยเหตุผลคล้ายกัน หญิงมีครรภ์และหญิงที่ให้นมลูกก็มีความเสี่ยงต่อภาวะทุโภชนาการด้วย.
บ่อยครั้ง ปัญหาของเด็กเริ่มก่อนที่เขาจะเกิดมาด้วยซ้ำ. ถ้าแม่เป็นโรคขาดสารอาหารหรืออยู่ในภาวะทุโภชนาการก่อนและระหว่างการตั้งครรภ์ เด็กแรกเกิดก็จะมีน้ำหนักตัวน้อย. หลังจากนั้น การหย่านมก่อนเวลา, นิสัยการกินที่ไม่ดี, และการขาดสุขอนามัยก็อาจทำให้เกิดภาวะทุโภชนาการได้.
การขาดสารอาหารที่จำเป็นทำให้ร่างกายของเด็กหยุดเจริญเติบโตและไม่พัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น. เด็กจะร้องงอแงและป่วยบ่อย. ขณะที่อาการแย่ลง จะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นว่าเด็กมีน้ำหนักตัวลดลง, ดวงตาและกระหม่อม (จุดที่อ่อนนิ่มตรงกลางศีรษะ) เป็นเบ้าลึกลงไป, ผิวหนังและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ขาดความยืดหยุ่น, และความสามารถในการรักษาอุณหภูมิของร่างกายก็ลดน้อยลง.
โรคขาดสารอาหารอาจมีอาการแบบอื่นด้วย. อาการเหล่านี้ก็อาจทำให้เด็กเจริญเติบโตช้าเช่นกัน. ตัวอย่างเช่น การได้รับแร่ธาตุไม่เพียงพอสามารถส่งผลกระทบเช่นนั้นได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธาตุเหล็ก, ไอโอดีน, และสังกะสี รวมทั้งวิตามินต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิตามินเอ. องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) รายงานว่า การขาดวิตามินเอ ส่งผลกระทบต่อเด็กเล็กในโลกประมาณ 100 ล้านคนและทำให้ตาบอด. นอกจากนี้ การขาดวิตามินเอยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และทำให้ความสามารถในการต้านทานการติดเชื้อของเด็กลดลง.
ผลกระทบที่กว้างไกล
ภาวะทุโภชนาการทำความเสียหายแก่ร่างกายของคนเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งของเด็ก. อวัยวะและระบบทุกอย่างในร่างกายอาจได้รับผลกระทบ รวมทั้งหัวใจ, ไต, กระเพาะ, ลำไส้, ปอด, และสมอง.
การศึกษาวิจัยหลายรายแสดงให้เห็นว่า การที่เด็กเจริญเติบโตช้าเกี่ยวข้องกับการมีพัฒนาการทางด้านจิตใจที่บกพร่องและมีความสามารถทางการเรียนรู้และทางปัญญาที่ต่ำ. รายงานจากสหประชาชาติเรียกผลกระทบเหล่านี้ว่าผลกระทบระยะยาวของภาวะทุโภชนาการที่ก่อความเสียหายร้ายแรงที่สุด.
สำหรับเด็กที่รอดชีวิตจากภาวะทุโภชนาการ ผลเสียหายอาจมีไปถึงวัยผู้ใหญ่. นั่นคือสาเหตุที่องค์การยูนิเซฟกล่าวว่า “การลดลงทางเชาวน์ปัญญาของมนุษย์ในขอบเขตที่ใหญ่โตเช่นนี้—ด้วยสาเหตุที่ป้องกันได้เกือบทั้งหมด—นับเป็นการสูญเปล่า ถึงกับเป็นเรื่องผิดศีลธรรมด้วยซ้ำ.” ดังนั้น ผลกระทบระยะยาวของภาวะทุโภชนาการจึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างยิ่ง. การวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้เชื่อมโยงโรคขาดสารอาหารในวัยทารกเข้ากับแนวโน้มต่อการเป็นโรคเรื้อรังในวัยผู้ใหญ่ เช่น โรคหัวใจ, เบาหวาน, และความดันโลหิตสูง.
อย่างไรก็ตาม ภาวะทุโภชนาการขั้นรุนแรงไม่ใช่ปัญหาที่ก่อความเสียหายมากที่สุด ดังที่ยูนิเซฟยอมรับ “มากกว่าสามในสี่ของการเสียชีวิตทั้งหมดอันเนื่องมาจากภาวะทุโภชนาการไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาวะทุโภชนาการขั้นรุนแรง แต่เป็นขั้นเริ่มต้น และขั้นปานกลาง.” (เราทำให้เป็นตัวเอน.) เด็กที่ประสบกับภาวะทุโภชนาการขั้นเริ่มต้นหรือขั้นปานกลางอาจเผชิญปัญหาสุขภาพระยะยาว. ดังนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะตรวจดูอาการของโรคขาดสารอาหารในเด็กเพื่อจะให้การรักษาที่เหมาะสมได้.—ดูกรอบหน้า 7.
สาเหตุที่ฝังรากลึก
ดังที่กล่าวข้างต้น สาเหตุโดยตรงของภาวะทุโภชนาการคือการขาดอาหาร. แต่ยังมีสาเหตุที่ลึกซึ้งกว่านั้นในทางสังคม, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, และสภาพแวดล้อม. สาเหตุใหญ่คือความยากจน ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา. อย่างไรก็ตาม นอกจากความยากจนจะเป็นสาเหตุแล้ว ความยากจนยังเป็นผลของภาวะทุโภชนาการด้วย เนื่องจากโรคขาดสารอาหารทำให้ความสามารถในการผลิตของผู้คนลดลง ด้วยเหตุนี้ความยากจนจึงยิ่งเพิ่มทวีขึ้น.
ปัจจัยอื่นก็มีส่วนด้วย. การขาดความรู้ ทำให้มีนิสัยการกินที่ไม่ดี. การติดเชื้อ ก็มีส่วนด้วย ดังที่เราพิจารณาไปแล้ว. นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุทางสังคมและวัฒนธรรม อย่างเช่น การแจกจ่ายอาหารไม่เท่าเทียมกัน และการมีอคติต่อผู้หญิง. ผู้หญิงมักได้กิน “เป็นคนสุดท้ายแถมยังน้อยที่สุด” นั่นคือ ได้กินหลังจากพวกผู้ชายและน้อยกว่าผู้ชาย. ผู้หญิงยังไม่ได้รับโอกาสในการศึกษาซึ่งจะช่วยให้พวกเธอเอาใจใส่ลูกได้ดีขึ้น.
นอกจากนั้น ปัจจัยทางสภาพแวดล้อม ก็ทำให้การผลิตอาหารลดลง. ปัจจัยเหล่านี้รวมถึงภัยธรรมชาติและสงคราม. ตามที่กล่าวในสถานะความไม่มั่นคงของอาหารในโลกปี 2001 เพียงแค่ในช่วงเดือนตุลาคม 1999 ถึงเดือนมิถุนายน 2001 มี 22 ประเทศประสบภัยแล้ง, 17 ประเทศประสบพายุเฮอร์ริเคนหรือน้ำท่วม, 14 ประเทศประสบสงครามกลางเมืองหรือความไม่สงบ, 3 ประเทศประสบความหนาวจัด, และอีก 2 ประเทศประสบแผ่นดินไหว.
การรักษาและการป้องกัน
จะรักษาเด็กที่ประสบภาวะทุโภชนาการได้อย่างไร? ถ้าเด็กเป็นโรคขาดสารอาหารอย่างรุนแรง การเข้ารักษาในโรงพยาบาลอาจเป็นการรักษาขั้นเริ่มต้นที่ดีที่สุด. ตามที่กล่าวในคู่มือแพทย์ซึ่งจัดพิมพ์โดยองค์การอนามัยโลก แพทย์จะประเมินอาการของเด็กและรักษาการติดเชื้อใด ๆ รวมทั้งภาวะขาดน้ำ. การให้อาหารจะเริ่มทีละเล็กทีละน้อย มักเริ่มด้วยการให้อาหารทางสายยาง. ระยะเริ่มแรกนี้อาจใช้เวลานานถึงหนึ่งสัปดาห์.
หลังจากนั้นก็จะเป็นขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพ. มีการให้เด็กเริ่มกินนมแม่อีกและสนับสนุนให้กินมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้. การกระตุ้นทางอารมณ์และทางร่างกายนับว่าสำคัญมากในช่วงนี้. การให้ความเอาใจใส่และความรักอาจส่งผลที่น่าทึ่งต่อพัฒนาการของเด็ก. นี่คือตอนที่ผู้เป็นแม่จะได้รับการสอนให้รู้วิธีเลี้ยงดูลูกด้วยอาหารที่เหมาะสมและถูกสุขอนามัย เพื่ออาการจะไม่กำเริบอีก. จากนั้น เด็กก็จะได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล. เป็นสิ่งสำคัญที่จะพาเด็กกลับไปโรงพยาบาลหรือคลินิกเพื่อตรวจดูอาการอย่างต่อเนื่องในภายหลัง.
อย่างไรก็ดี เห็นได้ชัดว่าการป้องกันนั้นเป็นแนวทางที่ดีที่สุด. นั่นคือเหตุผลที่หลายประเทศ รวมทั้งรัฐบาลและองค์กรเอกชนต่าง ๆ หลายแห่ง ได้จัดทำโครงการอาหารเสริมหรือโครงการเพิ่มคุณภาพอาหารสำหรับการบริโภคทั่วไป. นอกจากนี้ ชุมชนต่าง ๆ ก็มีส่วนช่วยป้องกันภาวะทุโภชนาการในหลายทาง เช่น โดยจัดให้มีโครงการการศึกษาด้านโภชนาการ, ป้องกันแหล่งน้ำดื่ม, สร้างห้องสุขา, รักษาสิ่งแวดล้อมให้สะอาด, สนับสนุนการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีน, และดูแลด้านการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก.
กระนั้น แต่ละคนอาจทำอะไรได้เพื่อป้องกันการเกิดภาวะทุโภชนาการ? กรอบในหน้า 8 มีคำแนะนำบางอย่างที่เป็นประโยชน์. พร้อมกับคำแนะนำเหล่านี้ นักโภชนาการด้านโรคเด็กชื่อ เคออร์คีนา ทูสซาอินต์ แนะนำให้แม่กลับไปพบกุมารแพทย์หรือคลินิกหลังจากคลอดบุตรได้เจ็ดวัน และเมื่อบุตรมีอายุหนึ่งเดือน และทุก ๆ เดือนหลังจากนั้น. นอกจากนี้ แม่ควรไปพบแพทย์ถ้าเด็กมีอาการขาดน้ำ, ท้องร่วงอย่างหนัก, หรือเป็นไข้.
แม้ว่าข้อแนะเหล่านี้ช่วยในเรื่องการปรับปรุงคุณภาพอาหารของเด็ก แต่ก็ต้องยอมรับว่าภาวะทุโภชนาการเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งใหญ่จนเกินความสามารถของมนุษย์ที่จะแก้ไขได้. สารานุกรมบริแทนนิกา (ภาษาอังกฤษ) ยอมรับว่า “ถึงอย่างไร การจัดหาอาหารให้เพียงพอและการให้การศึกษาด้านโภชนาการแก่ทุกคนก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญยิ่ง.” ดังนั้น มีความหวังไหมที่ “ภาวะฉุกเฉินที่ไม่ส่งเสียง” นี้จะยุติลง?
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการประชุมสุดยอดว่าด้วยเรื่องอาหารโลก ดูตื่นเถิด! ฉบับ 8 สิงหาคม 1997 หน้า 12-14.
[กรอบหน้า 7]
ลูกของคุณประสบภาวะทุโภชนาการไหม?
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพประเมินสุขภาพของเด็กในด้านโภชนาการอย่างไร? พวกเขาอาจวิเคราะห์สัญญาณและอาการแสดงต่าง ๆ, ถามเกี่ยวกับนิสัยในการกิน, และสั่งให้ทำการวิจัยในห้องทดลอง. อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่พวกเขาอาศัยการวัดที่แม่นยำ. พวกเขาวัดขนาดตัวเด็กและเทียบกับตัวเลขที่ใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐาน. การทำอย่างนี้ช่วยพวกเขาให้วิเคราะห์ได้ว่าเด็กประสบภาวะทุโภชนาการประเภทไหนและร้ายแรงเพียงไร.
การวัดค่าที่สำคัญที่สุดคือน้ำหนัก, ส่วนสูง, และขนาดรอบแขน. การเทียบน้ำหนักกับอายุจะเผยให้ทราบระดับความรุนแรงของโรคขาดสารอาหาร ซึ่งถ้ารุนแรงมาก เด็กก็จะซูบผอมจนแทบไม่มีกล้ามเนื้อเลย. ถือกันว่าอยู่ในขั้นรุนแรงถ้าเด็กมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์, อยู่ในขั้นปานกลางถ้าต่ำกว่ามาตรฐาน 25 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์, และอยู่ในขั้นเริ่มต้นถ้าต่ำกว่ามาตรฐาน 10 ถึง 25 เปอร์เซ็นต์. ถ้าอัตราส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับอายุอาจแสดงให้เห็นว่าเป็นโรคขาดสารอาหารเรื้อรัง คือเด็กคนนั้นจะแคระแกร็น.
ภาวะขาดโปรตีนและแคลอรีประเภทที่ร้ายแรงที่สุดคือมาราสมัส, ควาชิออร์กอร์, และแบบที่มีลักษณะทั้งสองอย่าง. มาราสมัส (แบบที่ค่อย ๆ ผอมลง) พบในเด็กทารกอายุระหว่าง 6 ถึง 18 เดือน. โรคนี้เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เมื่อร่างกายขาดแคลอรีและสารอาหารแบบเรื้อรัง รวมทั้งเป็นผลจากการกินนมไม่เพียงพอหรือใช้นมที่เจือจางมากแทนนมมารดา. ทารกจะมีน้ำหนักตัวลดลงมาก กล้ามเนื้อลีบจนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก และการเจริญเติบโตก็ช้ามาก. นอกจากนี้ เด็กคนนั้นจะมี “หน้าเหมือนคนแก่,” หงุดหงิด, และร้องไห้บ่อย ๆ.
คำว่า ควาชิออร์กอร์ มาจากคำภาษาแอฟริกาคำหนึ่งซึ่งหมายความว่า “เด็กที่ถูกขับไล่.” คำนี้หมายถึงเด็กที่ถูกน้องซึ่งเพิ่งเกิดแย่งที่ในอกของแม่. อาการเช่นนี้เกิดขึ้นหลังจากหย่านม และแม้ว่าโรคนี้รวมไปถึงการขาดแคลอรี แต่สาเหตุหลักเกิดจากการขาดโปรตีนอย่างรุนแรง. โรคนี้ทำให้ร่างกายกักเก็บน้ำไว้ จึงทำให้เด็กมีอาการบวมโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มือเท้าและท้อง. บางครั้งโรคนี้ทำให้ใบหน้าบวมด้วย จนดูคล้ายดวงจันทร์เต็มดวง. ผิวหนังฟกช้ำเป็นจ้ำ ๆ อีกทั้งสภาพและสีของเส้นผมก็เปลี่ยนไป. เด็กที่มีอาการเช่นว่านี้จะตับโต, เซื่องซึม, และดูเศร้า. เอริก ซึ่งกล่าวถึงก่อนหน้านี้เป็นโรคดังกล่าว เนื่องจากเขาได้กินนมแม่เพียงแค่เดือนแรก; จากนั้นแม่ก็ให้เขากินนมวัวที่เจือจางมาก. เมื่ออายุได้สามเดือน เขาได้กินซุปผักและน้ำผสมน้ำตาล และถูกฝากไว้ให้เพื่อนบ้านดูแล.
ภาวะขาดโปรตีนและแคลอรีประเภทที่สามมีอาการของทั้งมาราสมัสและควาชิออร์กอร์รวมกัน. อาการเหล่านี้ทั้งหมดอาจทำให้เสียชีวิตถ้าไม่ได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ.
[กรอบ/ภาพหน้า 8]
ปกป้องลูกของคุณจากภาวะทุโภชนาการ!
▪ นับว่าสำคัญมากที่จะปรับปรุงคุณภาพอาหารของแม่. หญิงมีครรภ์และหญิงที่ให้นมลูกต้องบริโภคแคลอรีและโปรตีนมากขึ้น. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โปรตีนจะช่วยในการผลิตนมแม่. ดังนั้น เมื่ออาหารมีน้อย จงให้ความสำคัญกับหญิงในวัยเจริญพันธุ์และเด็กเล็ก ๆ.
▪ ในเกือบทุกกรณี อาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกคือนมแม่. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงไม่กี่วันแรกหลังคลอด เนื่องจากนมแม่มีแอนติบอดีซึ่งป้องกันทารกจากการติดเชื้อ. ในช่วงสี่เดือนแรกหรือราว ๆ นั้น นมแม่มีสารอาหารที่จำเป็นสำหรับเด็กอย่างครบถ้วนเพื่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่เหมาะสม.
▪ แม้ว่านมแม่ยังคงเป็นอาหารหลัก แต่ในช่วงเดือนที่สี่ถึงเดือนที่หก เด็กก็พร้อมจะกินอาหารอื่นได้แล้ว. ควรค่อย ๆ ให้ลูกเริ่มกินผลไม้และผักบด. ให้ทารกลองกินอาหารใหม่ทีละอย่าง. หลังจากนั้นสองสามวัน เมื่อเด็กคุ้นเคยกับอาหารชนิดนั้นแล้ว ก็ให้ลองกินอาหารอีกชนิดหนึ่ง. แน่นอน บ่อยครั้งจำต้องมีความอดทนและใช้ความพยายามหลายครั้งกว่าเด็กจะยอมรับอาหารใหม่. เมื่อเตรียมอาหารเหล่านี้ พึงจำไว้ว่าทุกอย่างต้องสะอาด, สะอาด, และสะอาดจริง ๆ! ควรล้างอาหารและภาชนะให้ดี!
▪ เมื่อเด็กมีอายุระหว่างในช่วงเดือนที่ห้าถึงเดือนที่เก้า โดยทั่วไปทารกจะเริ่มต้องการแคลอรีและโปรตีนมากกว่าที่มีในน้ำนม. ควรให้เขาเริ่มกินอาหารชนิดอื่นต่อไปเรื่อย ๆ. ตอนแรกอาจให้อาหารประเภทธัญพืชและอาหารทารกที่เป็นผัก แล้วจากนั้นก็ให้พวกเนื้อสัตว์และผลผลิตจากนม. ขณะที่อาหารในช่วงแรก ๆ นั้นต้องบดกับตะแกรง แต่สำหรับทารกอายุหกเดือนขึ้นไป เขาก็จะกินอาหารที่สับละเอียดได้แล้ว. การเติมเกลือหรือน้ำตาลนั้นไม่จำเป็นและไม่ควรทำ.
▪ หลังจากเดือนที่แปด นมแม่ก็ไม่ได้เป็นอาหารหลักสำหรับเด็กอีกต่อไป แต่เป็นอาหารเสริม. เด็กเริ่มกินอาหารที่ครอบครัวกิน. ควรล้างอาหารให้สะอาดเสมอ และควรสับให้ละเอียดเพื่อจะเคี้ยวง่ายขึ้น. อาหารที่ดีที่สุดรวมไปถึงผลไม้และผัก, ธัญพืชและพืชจำพวกถั่ว, เนื้อสัตว์และผลผลิตจากนม. * โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กต้องการอาหารที่อุดมด้วยวิตามินเอ ตัวอย่างเช่น นมแม่, ผักใบเขียวเข้ม, และผักผลไม้ที่มีสีส้มหรือสีเหลือง เช่น มะม่วง, แครอท, และมะละกอ. เด็กอายุต่ำกว่าสามขวบต้องกินวันละห้าหรือหกครั้ง.
▪ อาหารประเภทต่าง ๆ หลากหลายชนิดเท่าที่เป็นไปได้ประกอบกันหลาย ๆ แบบจะให้สารอาหารที่ป้องกันลูกน้อยของคุณ. แม่ควรใส่ใจในการให้ลูกกินอาหารที่มีคุณภาพ ไม่บังคับให้ลูกกินเมื่อเขาอิ่มแล้วหรือไม่ควรห้ามลูกเมื่อดูเหมือนว่าเขายังไม่อิ่ม.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 43 คุณจะได้ข้อมูลมากขึ้นในบทความ “อาหารที่มีคุณค่าที่คุณหาได้” ในตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 8 พฤษภาคม 2002.
[รูปภาพหน้า]
ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องกันว่า โดยทั่วไปแล้ว นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกแรกเกิด
[ที่มาของภาพ]
© Caroline Penn/Panos Pictures
[ภาพหน้า 7]
เด็ก ๆ กำลังกินข้าวสาลีอบแห้งกับผักที่โรงเรียนในภูฏาน
[ที่มาของภาพหน้า 7]
FAO photo/WFP Photo: F. Mattioli
[ภาพหน้า 9]
คุณอาจทำตามขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพอาหารของลูกคุณ
[ที่มาของภาพหน้า 9]
FAO photo