เราพึงใช้เสรีภาพในการเลือกอย่างไร?
ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
เราพึงใช้เสรีภาพในการเลือกอย่างไร?
พระเจ้าทรงโปรดให้อาดามฮาวามนุษย์คู่แรกมีความสามารถที่จะทำการเลือกด้วยตัวเอง. พระองค์ทรงมอบหน้าที่ให้อาดามดูแลสวนเอเดน. หน้าที่ของอาดามรวมถึงการตั้งชื่อให้สัตว์ทั้งปวง. (เยเนซิศ 2:15, 19) ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคืออาดามและฮาวาสามารถตัดสินใจว่าจะเชื่อฟังพระเจ้าหรือไม่.—เยเนซิศ 2:17, 18.
ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนได้ทำการตัดสินใจมากมายนับไม่ถ้วน หลายครั้งเป็นการตัดสินใจด้วยความสุขุมรอบคอบ, บางครั้งก็ตัดสินใจอย่างมุทะลุ, และบางครั้งเป็นการตัดสินใจที่ชั่วร้ายอย่างยิ่ง. บางครั้งการเลือกอย่างไม่ฉลาดของคนเรายังผลเป็นความหายนะ. กระนั้น พระเจ้าก็ไม่เคยเข้าแทรกแซงสิทธิในการเลือกของเรา. ในฐานะพระบิดาที่เปี่ยมด้วยความรัก พระเจ้าทรงช่วยเหลือเราโดยทางคัมภีร์ไบเบิลเพื่อเราจะตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุม. นอกจากนี้ พระองค์ยังเตือนเราถึงผลของการตัดสินใจที่ผิดพลาด. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าเราจะเกี่ยวเก็บสิ่งที่เราหว่าน.—ฆะลาเตีย 6:7.
การตัดสินใจเรื่องส่วนตัว
ในบางเรื่องพระเจ้าทรงเปิดเผยพระทัยประสงค์ของพระองค์อย่างชัดแจ้ง เพื่อให้การชี้แนะที่เฉพาะเจาะจงแก่เรา. แต่ส่วนใหญ่ คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้วางกฎเกณฑ์ควบคุมเรื่องส่วนตัวของเราไปเสียทุกอย่าง. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น คัมภีร์ไบเบิลให้การชี้แนะไว้กว้าง ๆ เพื่อคนเราจะเลือกได้ตามรสนิยมและความปรารถนาส่วนตัวของแต่ละคน. อาทิ ขอสังเกตสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับนันทนาการ.
พระคัมภีร์เรียกพระยะโฮวาว่า “พระเจ้าผู้มีความสุข.” (1 ติโมเธียว 1:11, ล.ม.) พระคำของพระองค์พูดถึง “วารหัวเราะ” และ “วารเต้นรำ.” (ท่านผู้ประกาศ 3:1, 4, ฉบับแปลใหม่) คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่ากษัตริย์ ดาวิดเล่นดนตรีเพื่อทำให้คนอื่นสำราญใจ. (1 ซามูเอล 16:16-18, 23) พระเยซูเสด็จไปร่วมงานฉลองสมรส และพระองค์ทรงกระทำสิ่งหนึ่งซึ่งพิเศษยิ่งสำหรับโอกาสนั้น นั่นคือการเปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่น.—โยฮัน 2:1-10.
อย่างไรก็ดี คัมภีร์ไบเบิลเตือนไว้อย่างเหมาะสมว่า “บุคคลที่ดำเนินกับคนมีปัญญาก็จะเป็นคนมีปัญญา แต่คนที่คบกับคนโฉดเขลาย่อมจะรับความเสียหาย.” (สุภาษิต 13:20, ล.ม.) “การพูดตลกโลนลามก” และการทำผิดศีลธรรมเป็นสิ่งที่พระเจ้าไม่พอพระทัยและก่อความเสียหายต่อสัมพันธภาพระหว่างเรากับพระเจ้า. (เอเฟโซ 5:3-5) เมื่อมีการใช้เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ในงานสังสรรค์อย่างไม่อั้นหรือขาดการควบคุม ปัญหาร้ายแรงอาจเกิดขึ้นได้. (สุภาษิต 23:29-35; ยะซายา 5:11, 12) อนึ่ง พระยะโฮวาพระเจ้าทรงเกลียดความรุนแรง.—บทเพลงสรรเสริญ 11:5; สุภาษิต 3:31.
ข้อคัมภีร์เหล่านี้ช่วยเราให้มีทัศนะต่อนันทนาการอย่างที่พระเจ้าทรงมี. เมื่อทำการตัดสินใจ คริสเตียนจะยึดคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักสำหรับการพิจารณาไตร่ตรอง. แน่นอน พวกเราทุกคนจะได้ดีหรือชั่วย่อมขึ้นอยู่กับการเลือกของตัวเอง.—ฆะลาเตีย 6:7-10.
ในทำนองเดียวกัน คริสเตียนได้รับการสนับสนุนให้ตัดสินใจอย่างสุขุมสอดคล้องกับหลักการของคัมภีร์ไบเบิลในเรื่องต่าง ๆ เป็นต้นว่า เรื่องเสื้อผ้า, การแต่งงาน, การเป็นบิดามารดา, และการดำเนินธุรกิจ. นี่รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้มีกล่าวเจาะจงในพระคัมภีร์ กระนั้น หลักการที่พบได้ในคัมภีร์ไบเบิลย่อมช่วยคริสเตียนตัดสินใจโดยอาศัยสติรู้สึกผิดชอบ. (โรม 2:14, 15) คริสเตียนควรใช้มาตรฐานต่อไปนี้เมื่อทำการตัดสินใจเป็นส่วนตัวในทุก ๆ เรื่อง: “ไม่ว่าท่านทั้งหลายจะกินหรือดื่มหรือทำสิ่งใดก็ตาม จงทำทุกสิ่งให้เป็นที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า.”—1 โกรินโธ 10:31, ล.ม.
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เราควรคำนึงถึงหลักการที่ว่า ‘เอาใจใส่ธุระของเราเอง.’ (1 เธซะโลนิเก 4:11, ล.ม.) คริสเตียนมักมีทางเลือกหลาย ๆ ทางที่ไม่ขัดกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. ดังนั้น ความพึงพอใจของคริสเตียนคนหนึ่งอาจต่างไปจากคนอื่น ๆ. พระเจ้าคงไม่พอพระทัยที่จะเห็นผู้รับใช้ของพระองค์ตัดสินกันและกัน. (ยาโกโบ 4:11, 12) คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำอย่างสุขุมดังนี้: “อย่าให้คนใดในพวกท่านทั้งหลายทนทุกข์ . . . เพราะเป็นคนยุ่งกับธุระของคนอื่น.”—1 เปโตร 4:15, ล.ม.
การตัดสินใจที่จะรับใช้พระเจ้า
คัมภีร์ไบเบิลเน้นถึงประโยชน์ของการเชื่อฟังพระเจ้า. กระนั้นก็ตาม พระเจ้าไม่ได้บังคับผู้คนให้นมัสการพระองค์. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์กลับเชิญชวนสิ่งทรงสร้างที่เป็นมนุษย์ให้มาเป็นผู้นมัสการพระองค์. อย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลแถลงว่า “มาเถิด, ให้เราทั้งหลายอ่อนน้อมกายลงนมัสการ; ให้คุกเข่าลงตรงพระยะโฮวาผู้ทรงสร้างพวกเรา.”—บทเพลงสรรเสริญ 95:6.
มีการเสนอคำเชิญดังกล่าวแก่ชาวอิสราเอลโบราณ. กว่า 3,500 ปีมาแล้ว อิสราเอลทั้งชาติยืนอยู่ข้างหน้าภูเขาไซนาย และพระเจ้าทรงแถลงแก่ไพร่พลหลายล้านคนเหล่านั้นให้รู้เกี่ยวกับระบบศาสนาแท้ซึ่งมีอยู่ในพระบัญญัติของโมเซ. ตอนนั้นพวกเขาต้องตัดสินใจว่าเขาจะรับใช้พระเจ้าหรือไม่? พวกเขาตอบรับอย่างไร? เขาตอบพร้อมเพรียงกันว่า “สิ่งสารพัดที่พระยะโฮวาได้ตรัสนั้น เราเต็มใจ จะทำและเชื่อฟัง.” (เอ็กโซโด 24:7, ล.ม.) การตัดสินใจนมัสการพระยะโฮวาเป็นการตัดสินใจของพวกเขาเอง.
สมัยศตวรรษแรก พระเยซูทรงริเริ่มการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. (มัดธาย 4:17; 24:14) พระองค์ไม่เคยบีบบังคับคนหนึ่งคนใดให้ร่วมในงานนี้. แต่พระองค์ทรงเชิญผู้อื่นด้วยพระทัยกรุณาว่า “จงตามเรามาเถิด.” (มาระโก 2:14; 10:21) หลายคนตอบรับคำเชิญและเริ่มประกาศด้วยกันกับพระองค์. (ลูกา 10:1-9) ต่อมา บางคนเลือกที่จะละทิ้งพระเยซู. ยูดาเลือกที่จะทรยศพระองค์. (โยฮัน 6:66; กิจการ 1:25) ต่อมา โดยการชี้นำของพวกอัครสาวก มีหลายคนเพิ่มเข้ามาเป็นสาวกด้วยความสมัครใจของเขาเอง ไม่ใช่ด้วยการบังคับ. คนเหล่านั้นมี “ความโน้มเอียงอย่างถูกต้อง” และ “ได้เข้ามาเป็นผู้เชื่อถือ.” (กิจการ 13:48, ล.ม.; 17:34) เวลานี้ คริสเตียนแท้ก็เชื่อฟังพระคำของพระเจ้าและปฏิบัติตามคำสอนของพระเยซูด้วยความเต็มใจเช่นกัน.
เห็นได้ชัดว่า พระเจ้าทรงประสงค์ให้เราใช้ความสามารถในการเลือก. นอกจากนั้น พระองค์ทรงจัดเตรียมคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งช่วยเราให้ทำการตัดสินใจอย่างฉลาด. (บทเพลงสรรเสริญ 25:12) เมื่อต้องทำการตัดสินใจด้วยตัวเอง คริสเตียนแต่ละคนควรคำนึงถึงหลักการที่พระเจ้าประทานอย่างรอบคอบ. โดยวิธีนี้เท่านั้นที่เราสามารถถวาย ‘การรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์พร้อมด้วยความสามารถในการหาเหตุผล’ แด่พระเจ้า.—โรม 12:1, ล.ม.