ฉันจะรับมือได้อย่างไรเมื่อเกิดโศกนาฏกรรม?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
ฉันจะรับมือได้อย่างไรเมื่อเกิดโศกนาฏกรรม?
“ทำไมผู้ก่อการร้ายต้องสังหารแม่ผมด้วย?”—เคลวิน. *
“[ก่อนวันที่ 11 กันยายน] ผมเคยชอบอุโมงค์ใต้ดิน. แต่ตอนนี้ผมนึกภาพว่าตัวเองกำลังจะตายในอุโมงค์เนื่องจากถูกระเบิดถล่มย่อยยับ.”—ปีเตอร์.
แม่ของเคลวินเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ตอนที่ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์กถูกโจมตี. ปีเตอร์ไม่ได้ประสบกับการสูญเสียที่ร้ายกาจอย่างเดียวกัน แต่เขาก็ยังได้รับผลกระทบอย่างมากจากเหตุการณ์ครั้งนั้น.
รายงานข่าวฉบับหนึ่งแจ้งว่า “เด็กหลายพันคนในนครนิวยอร์กกำลังพยายามต่อสู้กับปัญหาทางจิตอันเป็นผลจาก [การโจมตีใน] วันที่ 11 กันยายน ซึ่งหลายรายจะมีปัญหายืดเยื้อกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่.” เป็นที่น่าตกใจ สัญลักษณ์ที่บ่งถึงความบอบช้ำทางอารมณ์ “มีดาษดื่นในหมู่เด็กที่ไม่ได้อยู่ใกล้กับสถานที่เกิดเหตุ (กราวด์ซีโร) พอ ๆ กันกับเด็กเหล่านั้นซึ่งเห็นการโจมตีด้วยตัวเอง.” *
อาจกล่าวได้ว่า ปัญหาสุขภาพจิตแบบนี้เป็นผลจากโศกนาฏกรรมอื่น ๆ อาทิ การตายเพราะระเบิดพลีชีพในอิสราเอล และการกราดยิงโดยไม่มีเป้าหมาย. เกี่ยวกับการยิงแบบนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบจากความบอบช้ำพูดดังนี้: “ถึงแม้ [เด็ก] อยู่ห่างไกลจากพื้นที่ที่มีการยิงกันถึง 3,200 กิโลเมตร เหตุการณ์เหล่านี้ก็ยังทำให้พวกเขาวิตกกังวลได้.”
อะไรเป็นสาเหตุ? เมื่อเกิดเหตุร้ายที่ยังความหายนะ พวกหนุ่มสาวต่างก็ได้เห็นภาพทางสื่อต่าง ๆ อย่างท่วมท้น. ภาพการทิ้งระเบิดที่น่าตื่นตระหนกโดยพวกก่อการร้าย, การยิงกันในโรงเรียน, และการรายงานข่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกเรื่องภัยธรรมชาติทำให้เป็นเรื่องยากที่หนุ่มสาวหลายคนจะลบภาพเหล่านั้นออกไปจากความคิดของตน. ไม่น่าแปลกใจที่การสำรวจคราวหนึ่งซึ่งทำเพื่อคณะกรรมการการศึกษาแห่งนครนิวยอร์กได้เปิดเผยดังนี้: “หกเดือนหลังจากอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถล่ม 76 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนจำนวน 8,266 คนในโรงเรียนรัฐบาลยังคงนึกถึงการโจมตีของผู้ก่อการร้ายอยู่เนือง ๆ.”
2 ติโมเธียว 3:1-5) คุณจะรับมือกับโศกนาฏกรรมได้อย่างไร? *
พวกเรามีชีวิตอยู่ในยุคที่คัมภีร์ไบเบิลเรียกว่า “กลียุค.” (ทำไมเรื่องร้าย ๆ จึงเกิดขึ้น?
วิธีหนึ่งที่จะจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกซึ่งดูเหมือนจะโถมทับคุณก็คือ การกระตุ้น “ความสามารถในการคิดอย่างแจ่มชัด.” (2 เปโตร 3:1, ล.ม.) จงพยายามมองดูเรื่องราวต่าง ๆ อย่างมีเหตุผลจากมุมมองของพระเจ้า. ตัวอย่างเช่น คุณอาจต้องเตือนตัวเองว่า เรื่องเศร้าสลดหลายอย่างเป็นเพียงผลที่เกิดจาก “วาระและเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดล่วงหน้า.” (ท่านผู้ประกาศ 9:11, ล.ม.) พระเยซูคริสต์ทรงยกตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อพระองค์ตรัสถึงหอรบซีโลอามที่ได้ถล่มลงมา. สิบแปดคนเสียชีวิตเพราะพิบัติภัยในท้องถิ่นครั้งนั้น. อย่างไรก็ดี พระเยซูทรงอธิบายชัดเจนว่าผู้ประสบเหตุร้ายนั้นไม่ได้ถูกพระเจ้าลงโทษ. พวกเขาตายเพราะบังเอิญอยู่ผิดที่ผิดเวลา. (ลูกา 13:1-5) การใคร่ครวญข้อเท็จจริงเช่นนี้จะช่วยคุณให้มองความหายนะนั้นตามความเป็นจริง.
นอกจากนี้ แนวคิดที่ชัดเจนจะป้องกันไม่ให้คุณกลายเป็นคน “บ่นต่อว่าพระยะโฮวา” และตำหนิพระองค์เนื่องด้วยเรื่องที่น่าเศร้าสลดต่าง ๆ. (สุภาษิต 19:3) แทนที่จะเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์โศก พระยะโฮวาทรงเป็น “พระเจ้าแห่งการชูใจทุกอย่าง.” (2 โกรินโธ 1:3, ล.ม.) เมื่อเกิดเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลด เราจำเป็นต้องเข้าใกล้พระองค์ ไม่ใช่ถอยห่างออกไปเพราะความโกรธเคือง. จงคิดรำพึงถ้อยคำในคัมภีร์ไบเบิลที่กล่าวในยาโกโบ 1:13 (ล.ม.) ที่ว่า “เมื่อถูกทดลอง อย่าให้ผู้ใดว่า ‘พระเจ้าทดลองข้าพเจ้า.’ เพราะพระเจ้าจะถูกทดลองด้วยสิ่งที่ชั่วไม่ได้ หรือพระองค์เองก็ไม่ทดลองผู้ใดเลย.” *
อาจใช้โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อหลายพันปีมาแล้วในตะวันออกกลางเป็นตัวอย่างแสดงถึงเรื่องนี้. คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า คนเดียวที่รอดชีวิตจากมหันตภัยครั้งนั้นได้รายงานว่า “ไฟของพระเจ้าตกลงมาจากท้องฟ้า, เผาฝูงแกะและบ่าวไพร่ไหม้ตายหมด.” (โยบ 1:16) ช่างเป็นความหายนะอันร้ายกาจอะไรเช่นนั้น! และเห็นได้ชัดว่าชายที่ตื่นตระหนกนี้คิดว่าพระเจ้าเป็นต้นเหตุของเรื่องดังกล่าว. กระนั้น พระเจ้าไม่ใช่ต้นเหตุ. โยบ 1:7-12 เปิดเผยว่า พระเจ้าไม่ได้ส่งไฟลงมา แต่เป็นซาตานพญามาร—ปรปักษ์ของพระเจ้าต่างหาก!
นั่นเป็นสภาพการณ์ที่ไม่มีใดเหมือน กล่าวคือ พระยะโฮวาทรงอนุญาตซาตานเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้มันทดลองความซื่อสัตย์มั่นคงของโยบ. ดังนั้น อย่าเพิ่งสรุปว่าซาตานเป็นตัวการที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติ อย่างเช่น พายุและน้ำท่วม. * กระนั้นก็ดี คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “โลกทั้งสิ้นอยู่ในอำนาจตัวชั่วร้าย.” (1 โยฮัน 5:19, ล.ม.) ดังนั้น ซาตานอาจใช้ตัวแทนที่เป็นมนุษย์ให้ก่อความหายนะและการทำลายล้างก็ได้.
อย่างไรก็ดี เราไม่จำเป็นต้องรู้สึกสิ้นหวัง. ขอพิจารณาอีกกรณีหนึ่งซึ่งบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลที่ 1 ซามูเอล 22:12-23. จากที่นั่น เราได้ทราบเรื่องการสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมที่เกิดขึ้นกับปุโรหิตที่ซื่อสัตย์ รวมทั้งครอบครัวของเขา. ไม่ต้องสงสัย ซาตานมีส่วนในการปลุกเร้ากษัตริย์ซาอูลที่ชั่วร้ายให้กระทำการอันทารุณเช่นนี้. อย่างไรก็ตาม ดาวิดผู้ซื่อสัตย์ ซึ่งเป็นกษัตริย์ในเวลาต่อมา ได้ประพันธ์เพลงสรรเสริญบท 52 ซึ่งแสดงถึงความมั่นใจที่ว่า พระเจ้าจะทรงทำลายล้างคนชั่วที่ต้องรับผิดชอบต่อความหายนะนั้น.—บทเพลงสรรเสริญ 52:5.
ปัจจุบันนี้ก็คล้ายกัน คุณแน่ใจได้เลยว่าพระเจ้าจะไม่ทรงอดทนอดกลั้นตลอดไปต่อฆาตกรรมและความรุนแรงที่ซาตานดลใจให้กระทำ. เพราะคัมภีร์ไบเบิลสัญญาว่า อีกไม่นานพระเจ้าจะทรงใช้พระบุตรคือพระเยซูให้ “ทำลายการงานของพญามาร”! (1 โยฮัน 3:8, ล.ม.) ในที่สุด จะไม่เหลือร่องรอยความเสียหายใด ๆ ที่ซาตานก่อไว้. โดยการปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย พระเจ้าสามารถจะปลุกแม้แต่คนที่เสียชีวิตเพราะเหตุการณ์รุนแรงที่น่าเศร้าสลดหรือจากการก่อการร้ายด้วยซ้ำ.—กิจการ 24:15.
วิธีจัดการที่ใช้ได้ผล
ความหวังนี้ที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักจะช่วยให้คุณหลุดพ้นการจมปลักอยู่กับความกลัว. นอกจากนั้น ยังมีคำแนะนำบางอย่างที่ใช้ได้ผลซึ่งคุณอาจนำไปปฏิบัติได้. ยกตัวอย่าง โปรดสังเกตหลักการในคัมภีร์ไบเบิลที่สุภาษิต 12:25. เพียงแต่คุณเผยความรู้สึกให้ผู้อื่นรับรู้ คุณย่อมจะได้รับการหนุนใจด้วย “ถ้อยคำที่ดี.” การทำอย่างนี้จะช่วยคุณให้ตระหนักด้วยว่าไม่ได้มีแต่คุณคนเดียวที่ประสบเหตุร้าย. ดังนั้น ถ้าคุณรู้สึกเป็นทุกข์ จงลองเปิดใจระบายความรู้สึกให้คุณ พ่อคุณแม่ฟัง หรือไม่ก็พูดกับสมาชิกอาวุโสบางคนในประชาคมคริสเตียน. *
ข้อแนะอีกประการหนึ่งคือ อย่าดูภาพเหตุการณ์เศร้าสลดที่มีการแพร่ภาพซ้ำแล้วซ้ำอีกทางสื่อต่าง ๆ มากเกินไป. การทำเช่นนั้นยิ่งมีแต่จะทำให้คุณลบภาพอันน่าหดหู่ออกไปจากความคิดจิตใจได้ยากขึ้น.—บทเพลงสรรเสริญ 119:37.
คุณเป็นคริสเตียนใช่ไหม? ถ้าเช่นนั้นจงรักษากิจกรรมฝ่ายคริสเตียนให้เป็นกิจวัตรของคุณต่อ ๆ ไป. (ฟิลิปปอย 3:16) กิจกรรมดังกล่าวรวมถึงการประชุมร่วมกับเพื่อนคริสเตียนและการบอกเล่าความเชื่อของคุณแก่คนอื่น ๆ. (เฮ็บราย 10:23-25) นั่นจะช่วยป้องกันไม่ให้คุณจมปลักอยู่กับการคิดในแง่ลบ. การปลีกตัวอยู่ตามลำพังมีแต่จะก่อความเสียหายแก่คุณ—ทั้งทางอารมณ์และฝ่ายวิญญาณ.—สุภาษิต 18:1.
การอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำทุกวันอาจเป็นประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ตึงเครียด. มารดาของเด็กสาวที่ชื่อลอเรน กำลังจะตายเพราะโรคมะเร็ง. ขอให้สังเกตว่าลอเรนรับมือกับสถานการณ์ที่น่าเศร้าในครั้งนั้นอย่างไร: “หนูจำได้ว่าในช่วงที่ประสบการทดลองอย่างหนักนั้น หนูอ่านพระธรรมโยบหลายต่อหลายครั้ง. นอกจากนั้น พระธรรมบทเพลงสรรเสริญได้ให้การปลอบโยนมากเช่นกัน. ขณะที่หนูอ่านถ้อยคำชูใจจากพระคัมภีร์ หนูรู้สึกเหมือนกับว่าพระยะโฮวาทรงสวมกอดหนูอยู่.” มิเชลน้องสาวของเธอก็เช่นกันได้เล่าว่า: “ถ้าวันไหนหนูไม่ได้อ่านคัมภีร์ไบเบิล หนูจะรู้สึกได้ถึงผลกระทบ. หนูจะหวนกลับไปคิดในแง่ลบโดยอัตโนมัติ. การอ่านคัมภีร์ไบเบิลทำให้หนูได้รับการบำรุงเลี้ยงทางฝ่ายวิญญาณที่หนูจำเป็นต้องได้รับเพื่อจะผ่านแต่ละวันไปได้.”
ถ้าคุณประสบการสูญเสียโดยเฉพาะเรื่องการตายของคนที่คุณรัก การอ่านจุลสารเมื่อคนที่คุณรักเสียชีวิต * จะให้การปลอบโยนอย่างมาก. จงใช้เวลาอ่านและคิดรำพึงข้อคัมภีร์ทุกข้อที่อ้างถึง. อนึ่ง จงคิดใคร่ครวญความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายด้วย. ลอเรนพูดว่า “จริง ๆ แล้ว หนูจะหลับตาแลเห็นคุณแม่ตอนที่ท่านถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย. หนูจะสร้างมโนภาพได้ยินท่านพูดว่า ‘แม่กลับมาแล้ว. ลูกทำอาหารอะไรสำหรับมื้อเย็นนี้ล่ะ?’ นั่นทำให้หนูอดยิ้มไม่ได้.”
นอกจากนี้ การหมายพึ่งพระยะโฮวาด้วยการอธิษฐานจะช่วยเสริมกำลังที่จำเป็นเพื่อคุณจะอดทนได้กับเรื่องที่น่าเศร้าสลดที่สุด. ลอเรนเล่าว่า “หนูอยู่ในห้องตอนที่แม่สิ้นใจ. ทันใดนั้นเอง หนูอธิษฐานขอพระยะโฮวาโปรดประทานกำลังเพื่อจะอดทนและผ่านช่วงนั้นไปได้. หนูรู้สึกทันทีว่ามีสันติสุขแห่งพระเจ้า.” จงพูดอย่างเจาะจงในคำทูลอธิษฐานต่อพระยะโฮวา. ให้พระองค์ทราบโดยตรงว่าคุณรู้สึกเช่นไร. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกระตุ้นว่า “จงระบายความในใจของท่านต่อพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 62:8, ฉบับแปลใหม่.
ขณะที่เวลาล่วงเลยไป ความทุกข์ยากบนแผ่นดินโลกก็คงจะเพิ่มขึ้น. (2 ติโมเธียว 3:13) กระนั้น คัมภีร์ไบเบิลสัญญาดังนี้: “ด้วยคนที่กระทำชั่วจะต้องถูกตัดขาด . . . แต่คนทั้งหลายที่มีใจถ่อมลงจะได้แผ่นดินเป็นมฤดก, และเขาจะชื่นชมยินดีด้วยความสงบสุขอันบริบูรณ์.” (บทเพลงสรรเสริญ 37:9-11, 29) การยึดมั่นในความหวังนี้จะช่วยคุณรับมือได้อย่างประสบความสำเร็จเมื่อเกิดโศกนาฏกรรม.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 บางชื่อเป็นนามสมมุติ.
^ วรรค 6 ดังที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตกล่าว อาการเช่นนั้นอาจรวมถึงความรู้สึกตายด้านทางอารมณ์, ฝันร้าย, การปลีกตัวอยู่ตามลำพัง, เลิกกิจวัตรที่เคยทำ, และรู้สึกว่าตนกระทำผิดและมีอารมณ์โกรธ.
^ วรรค 9 ถึงแม้บทความนี้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับโศกนาฏกรรมในวงกว้าง ทว่า อาจนำคำแนะนำนี้มาใช้กับเรื่องเศร้าสลดที่เกิดขึ้นกับตัวเองก็ได้ อย่างเช่น การสูญเสียคนที่ตนรัก.
^ วรรค 12 เพื่อจะพิจารณาว่าทำไมพระเจ้าทรงยอมให้มีความชั่ว โปรดดูบท 7 ของหนังสือจงนมัสการพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
^ วรรค 14 ดู “คำถามจากผู้อ่าน” ในวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 พฤศจิกายน 1975.
^ วรรค 18 บางรายที่มีอารมณ์เศร้าหมองอย่างรุนแรงหรือเป็นโรคซึมเศร้า อาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์.
^ วรรค 22 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[ภาพหน้า 14]
คงจะดีหากคุณจำกัดการดูภาพความทุกข์ร้อนทางสื่อต่าง ๆ ให้น้อยลง