ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

อันตรายของสิ่งชวนตาชวนใจ

อันตรายของสิ่งชวนตาชวนใจ

อันตราย​ของ​สิ่ง​ชวน​ตา​ชวน​ใจ

ไม่​มี​ข้อ​สงสัย​ว่า การ​สวม​ใส่​เสื้อ​ผ้า​ตาม​แฟชั่น​จะ​ช่วย​ให้​คุณ​ดู​ดี​ขึ้น​และ​มี​ความ​มั่น​ใจ​ใน​ตัว​เอง​มาก​ขึ้น. เสื้อ​ผ้า​ที่​เหมาะ​กับ​คุณ​จะ​ช่วย​อำพราง​ลักษณะ​ด้อย​และ​แม้​กระทั่ง​เสริม​ลักษณะ​ที่​น่า​ดึงดูด​ใจ​ของ​คุณ​ได้. เสื้อ​ผ้า​ยัง​มี​ผล​ต่อ​วิธี​ที่​คน​อื่น​มอง​คุณ​ด้วย.

แต่​วงการ​แฟชั่น​ก็​มี​อันตราย​ซึ่ง​ไม่​อาจ​มอง​ข้าม​ได้. ผู้​จับจ่าย​ซื้อ​ของ​อาจ​ติด​อยู่​ใน​วัง​วน​ของ​การ​ซื้อ​เสื้อ​ผ้า​ใหม่ ๆ ไม่​รู้​จบ. ถ้า​จะ​ว่า​ไป อุตสาหกรรม​เสื้อ​ผ้า​ก็​ผลิต​สินค้า​รุ่น​ใหม่ ๆ ออก​มา​เรื่อย ๆ. นี่​ไม่​ใช่​เรื่อง​บังเอิญ เพราะ​อุตสาหกรรม​เสื้อ​ผ้า​จะ​ทำ​เงิน​ได้​มาก​ขึ้น​หาก​เสื้อ​ผ้า​ล้า​สมัย​เร็ว. ดัง​ที่​นัก​ออก​แบบ​ชื่อ กาเบรียล ชาเนล กล่าว​ว่า “แฟชั่น​ถูก​ออก​แบบ​มา​เพื่อ​ให้​ล้า​สมัย.” ด้วย​เหตุ​นี้ ผู้​บริโภค​ที่​ไม่​ระวัง​ตัว​อาจ​รู้สึก​ว่า​ต้อง​ซื้อ​เสื้อ​ผ้า​ใหม่ ๆ เพียง​เพื่อ​ให้​ทัน​สมัย​อยู่​เสมอ.

นอก​จาก​นั้น ยัง​มี​อันตราย​ของ​การ​ยอม​แพ้​ต่อ​แรง​กดดัน​ที่​แฝง​เร้น​ของ​การ​โฆษณา. บริษัท​ด้าน​แฟชั่น​ใช้​เงิน​หลาย​ล้าน​ดอลลาร์​ใน​การ​สนับสนุน​สินค้า​ของ​ตน โดย​มัก​แสดง​ภาพ​ที่​ทำ​ให้​คิด​ว่า​ผู้​สวม​ใส่​เสื้อ​ผ้า​ยี่ห้อ​นั้น​จะ​ได้​ใช้​ชีวิต​แบบ​สบาย ๆ. การ​โฆษณา​นี้​อาจ​มี​พลัง​มาก. ครู​คน​หนึ่ง​ใน​สเปน​กล่าว​ว่า “ไม่​มี​อะไร​ทำ​ให้​วัยรุ่น​เป็น​ทุกข์​มาก​ไป​กว่า​การ​ไม่​มี​รอง​เท้า​ยี่ห้อ ‘ดัง ๆ.’”

แรง​ดึงดูด​ของ​ความ​คลั่ง​นิยม

คน​บาง​กลุ่ม​ใช้​รูป​แบบ​การ​แต่ง​กาย​แบบ​หนึ่ง​เพื่อ​แสดง​ว่า​เป็น​พวก​เดียว​กัน. เสื้อ​ผ้า​ที่​พวก​เขา​สวม​ใส่​อาจ​ส่อ​ถึง​การ​ไม่​แยแส​สังคม, รูป​แบบ​ชีวิต​ที่​ไม่​ขึ้น​กับ​ใคร, หรือ​แม้​แต่​คติ​นิยม​ความ​รุนแรง​หรือ​การ​เหยียด​ผิว. แม้​ว่า​แบบ​เสื้อ​ผ้า​เหล่า​นี้​บาง​แบบ​อาจ​ดู​ประหลาด​หรือ​น่า​ตกใจ แต่​ปกติ​แล้ว​คน​ส่วน​ใหญ่​ใน​กลุ่ม​ก็​จะ​แต่ง​กาย​คล้าย ๆ กัน. แม้​แต่​บาง​คน​ที่​ไม่​เห็น​ด้วย​กับ​คติ​นิยม​ของ​คน​ใน​กลุ่ม​ก็​อาจ​ชอบ​เสื้อ​ผ้า​แบบ​นั้น. คน​ที่​สวม​ใส่​เสื้อ​ผ้า​แนว​นี้​อาจ​ทำ​ให้​คน​อื่น​คิด​ว่า​เขา​เข้า​ร่วม​หรือ​สนับสนุน​ความ​เชื่อ​หลัก​ของ​กลุ่ม​นั้น.

ความ​คลั่ง​นิยม​มัก​จะ​เกิด​ขึ้น​แล้ว​ก็​เลิก​ไป บาง​ครั้ง​ภาย​ใน​เพียง​ไม่​กี่​เดือน. ความ​คลั่งไคล้​เหล่า​นี้​อาจ​เกิด​จาก​นัก​ดนตรี​ชื่อ​ดัง​หรือ​ผู้​นำ​ด้าน​แฟชั่น​คน​อื่น ๆ. กระนั้น แฟชั่น​บาง​อย่าง​ก็​คง​อยู่​ได้​นาน. ตัว​อย่าง​เช่น กางเกง​ยีนส์​สี​น้ำเงิน​ซึ่ง​เคย​เป็น​ที่​นิยม​ใน​หมู่​ผู้​ประท้วง​วัยรุ่น​ช่วง​ทศวรรษ​ปี 1950 และ 1960. แต่​ใน​ปัจจุบัน ผู้​คน​ทุก​วัย​ใส่​กางเกง​ยีนส์​ใน​หลาย​โอกาส.

การ​แสวง​หา​วิธี​ทำ​ให้​รูป​ร่าง​สมบูรณ์​แบบ

คน​ที่​จริงจัง​กับ​แฟชั่น​มาก ๆ อาจ​เป็น​ห่วง​เรื่อง​รูป​ร่าง​ของ​ตน​มาก​เกิน​ไป. พวก​นาง​แบบ​มัก​จะ​มี​รูป​ร่าง​ผอม​สูง และ​เรา​ก็​ได้​เห็น​ภาพ​คน​เหล่า​นี้​เป็น​ประจำ. * มี​การ​ใช้​รูป​ร่าง​ที่ “ไร้​ที่​ติ” ใน​โฆษณา​ทุก​อย่าง​ตั้ง​แต่​รถยนต์​ไป​จน​ถึง​ขนม​ขบ​เคี้ยว. ศูนย์​วิจัย​ประเด็น​ทาง​สังคม​ของ​บริเตน​กะ​ประมาณ​ว่า “เด็ก​สาว​ใน​ปัจจุบัน​เห็น​ภาพ​ผู้​หญิง​ที่​สวย​สะดุด​ตา​ใน​วัน​หนึ่ง​มาก​กว่า​ที่​คน​รุ่น​แม่​ของ​พวก​เธอ​ได้​เห็น​ตลอด​ช่วง​วัยรุ่น.”

การ​ได้​เห็น​ภาพ​ลักษณะ​นี้​บ่อย ๆ อาจ​ก่อ​ผล​เสียหาย​ได้. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง การ​สำรวจ​ราย​หนึ่ง​ใน​สหรัฐ​ที่​วารสาร​นิวส์วีก ยก​มา​รายงาน พบ​ว่า 90 เปอร์เซ็นต์​ของ​วัยรุ่น​ผิว​ขาว​ไม่​พอ​ใจ​รูป​ร่าง​ของ​ตน. วัยรุ่น​เหล่า​นี้​บาง​คน​จะ​ทำ​แทบ​ทุก​อย่าง​เพื่อ​ให้​มี ‘รูป​ร่าง​ที่​งาม​เลิศ.’ แต่​ศูนย์​วิจัย​ประเด็น​ทาง​สังคม​อ้าง​ว่า จาก​จำนวน​ประชากร​หญิง​ทั้ง​หมด มี​ไม่​ถึง 5 เปอร์เซ็นต์​ที่​สามารถ​มี​รูป​ร่าง​และ​น้ำหนัก​ตัว​อย่าง​ที่​สื่อมวลชน​ได้​นำ​เสนอ. ถึง​กระนั้น การ​ชื่นชม​คน​ที่​มี​รูป​ร่าง​ผอม​มาก ๆ ก็​ทำ​ให้​หญิง​สาว​หลาย​ล้าน​คน​กลาย​เป็น​ทาส. สิ่ง​นี้​ทำ​ให้​บาง​คน​เกิด​ภาวะ​ความ​ผิด​ปกติ​ใน​การ​กิน​ที่​เรียก​ว่า อะโนเรกเซีย เนอร์โวซา ซึ่ง​รักษา​ได้​ยาก. * นีเอเบส อัลบาเรซ นาง​แบบ​ชาว​สเปน​ซึ่ง​เคย​เป็น​โรค​อะโนเรกเซีย ยอม​รับ​ว่า “แต่​ก่อน​ดิฉัน​กลัว​น้ำหนัก​เพิ่ม​มาก​กว่า​กลัว​ตาย​เสีย​อีก.”

จริง​อยู่ ความ​ผิด​ปกติ​ใน​การ​กิน อย่าง​เช่น อะโนเรกเซีย​และ​บูลิเมีย​อาจ​เกิด​จาก​สาเหตุ​อื่น ๆ ได้​ด้วย. กระนั้น แพทย์​หญิง​แอนน์ กีเยมอต และ​นาย​แพทย์​มิเชล ลักเซอเนร์ กล่าว​ว่า “การ​บูชา​ความ​ผอม​ก็​ต้อง​มี​ส่วน​รับผิดชอบ​ด้วย.”

เห็น​ได้​ชัด แฟชั่น​มี​ทั้ง​ข้อ​ดี​และ​ข้อ​เสีย. แฟชั่น​สนอง​ความ​ปรารถนา​พื้น​ฐาน​ของ​มนุษย์​ที่​จะ​ทำ​ให้​ตัว​เอง​ดู​ดี​และ​มี​เสื้อ​ผ้า​ใหม่ ๆ. แต่​การ​คลั่ง​แฟชั่น​อาจ​ทำ​ให้​เรา​สวม​ใส่​เสื้อ​ผ้า​ที่​ทำ​ให้​คน​อื่น​เข้าใจ​เรา​ผิด. และ​ถ้า​เรา​ให้​ความ​สำคัญ​กับ​การ​ปรากฏ​ตัว​มาก​เกิน​ไป เรา​อาจ​เชื่อ​อย่าง​ผิด ๆ ว่า​คุณค่า​ของ​เรา​ขึ้น​อยู่​กับ ‘ภาพ​ลักษณ์​ภาย​นอก’ แทน​ที่​จะ​เป็น​คุณค่า​ภาย​ใน. อัลบาเรซ​ที่​อ้าง​ถึง​ก่อน​หน้า​นี้​กล่าว​ว่า “เรา​ต้อง​เริ่ม​ให้​ความ​สำคัญ​กับ​ความ​สามารถ​และ​บุคคล​ที่​อยู่​ภาย​ใน​มาก​ขึ้น แทน​ที่​จะ​สนใจ​แค่​ภาพ​ลักษณ์​ภาย​นอก.” แต่​การ​เปลี่ยน​มาตรฐาน​ดัง​กล่าว​คง​ไม่​ได้​เกิด​ขึ้น​ใน​เร็ว ๆ นี้. ถ้า​อย่าง​นั้น เรา​จะ​มี​ทัศนะ​ที่​สมดุล​ใน​เรื่อง​แฟชั่น​ได้​อย่าง​ไร?

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 9 วารสาร​ไทม์ กล่าว​ว่า ปกติ​แล้ว​มี​การ​คาด​กัน​ว่า​นาง​แบบ​จะ​ต้อง “สูง​อย่าง​น้อย 174 เซนติเมตร, ผอม​จน​เหลือ​แต่​กระดูก, ริมฝีปาก​อิ่ม, โหนก​แก้ม​สูง, ตา​โต, ขา​ยาว, และ​จมูก​ตรง​ไม่​ใหญ่​เกิน​ไป.”

^ วรรค 10 สมาคม​อะโนเรกเซีย เนอร์โวซา​และ​ความ​ผิด​ปกติ​ที่​เกี่ยว​ข้อง​ด้วย​แห่ง​สหรัฐ​กะ​ประมาณ​ว่า ใน​สหรัฐ​แห่ง​เดียว​มี​แปด​ล้าน​คน​เป็น​โรค​อะโนเรกเซีย​และ​หลาย​คน​ถึง​ขั้น​เสีย​ชีวิต. ส่วน​ใหญ่​ใน​จำนวน​นี้ (86 เปอร์เซ็นต์) เริ่ม​มี​อาการ​ผิด​ปกติ​ใน​การ​กิน​ก่อน​อายุ 21 ปี.

[กรอบ​หน้า 8]

ใคร​จะ​ใส่​ชุด​อย่าง​นี้?

ทุก ๆ ฤดู​ใบ​ไม้​ร่วง​และ​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ ห้อง​เสื้อ​ใน​นิวยอร์ก, ปารีส, และ​มิลาน​จะ​จัด​แสดง​แฟชั่น​เสื้อ​ผ้า​ที่​ได้​รับ​การ​ออก​แบบ​มา​เป็น​พิเศษ​โดย​นัก​ออก​แบบ​ชื่อ​ดัง. นอก​จาก​จะ​แพง​มาก​แล้ว เสื้อ​ผ้า​เหล่า​นี้​หลาย​ชุด​ดู​เหมือน​ไม่​เหมาะ​จะ​นำ​ไป​ใส่​จริง ๆ หรือ​ใส่​ไม่​ได้​เลย. ฮวน ดูโยส นัก​ออก​แบบ​ชาว​สเปน​กล่าว​ว่า “แบบ​เสื้อ​ที่​เลิศ​หรู​อลังการ​ซึ่ง​คุณ​เห็น​ไม่​ได้​ถูก​ออก​แบบ​มา​เพื่อ​ให้​สวม​ใส่​ทั่ว​ไป. จุด​ประสงค์​ของ​งาน​แสดง​แฟชั่น​อาจ​เพื่อ​ต้องการ​ดึง​ความ​สนใจ​ไป​ที่​นัก​ออก​แบบ​หรือ​ยี่ห้อ​มาก​กว่า​จะ​ขาย​เสื้อ​ผ้า​ที่​นำ​มา​แสดง. ตัว​อย่าง​เช่น แบบ​เสื้อ​ผ้า​รุ่น​ใหม่​ซึ่ง​ทำ​ให้​สื่อ​วิพากษ์วิจารณ์​กัน​อย่าง​มาก​อาจ​ช่วย​ส่ง​เสริม​การ​ขาย​น้ำหอม​ของ​ยี่ห้อ​นั้น.”

[ภาพ​หน้า 7]

การ​ติด​ตาม​ความ​คลั่ง​นิยม​อาจ​ต้อง​เสีย​ค่า​ใช้​จ่าย​มาก

[ภาพ​หน้า 7]

การ​สวม​ใส่​เสื้อ​ผ้า​บาง​แบบ​อาจ​ทำ​ให้​คน​อื่น​มอง​ว่า​คุณ​เป็น​พวก​เดียว​กัน​กับ​คน​บาง​กลุ่ม

[ภาพ​หน้า 7]

บาง​คน​เกิด​ภาวะ​ความ​ผิด​ปกติ​ใน​การ​กิน​ที่​เรียก​ว่า อะโนเรกเซีย ซึ่ง​รักษา​ได้​ยาก