การทดสอบความเชื่อ
การทดสอบความเชื่อ
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในบริเตนใหญ่
ริชมอนด์เป็นเมืองที่งดงามในเขตนอร์ทยอร์กเชียร์ ประเทศอังกฤษ. ปราสาทริชมอนด์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นไม่นานหลังจากพวกนอร์แมนพิชิตได้ในปี 1066 ทำให้ทัศนียภาพอีกฟากหนึ่งของลุ่มแม่น้ำสเวลไปจนถึงอุทยานแห่งชาติยอร์กเชียร์เดลส์นั้นสวยงามสะดุดตา.
รายการสารคดีทางโทรทัศน์ชื่อเดอะ ริชมอนด์ ซิกซ์ทีน ได้เปิดเผยแง่มุมสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันของปราสาทหลังนี้ นั่นก็คือ ชะตากรรมของผู้ปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องด้วยสติรู้สึกผิดชอบ 16 คน ซึ่งถูกคุมขังที่นั่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง. เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา?
การเกณฑ์ทหาร
หลังจากการประกาศสงครามของบริเตนในปี 1914 ความรักชาติได้กระตุ้นผู้ชายประมาณ 2.5 ล้านคนให้เข้าร่วมในกองทัพ. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำนวนทหารที่บาดเจ็บล้มตายในกองทัพมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเนื่องจากตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า สงครามไม่ได้ยุติเร็วอย่างที่นักการเมืองได้สัญญาไว้ อลัน ลอยด์ นักประวัติศาสตร์ด้านสงครามให้ความเห็นว่า “แทนที่จะขอร้องผู้ชายให้เข้าร่วมในกองทัพ กลับใช้การบังคับขู่เข็ญ.” ดังนั้น ในเดือนมีนาคม 1916 ชายโสดจึงถูกเกณฑ์ให้เป็นทหารในกองทัพเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบริเตน.
มีการตั้งศาลยุติธรรมขึ้นสองพันแห่งเพื่อรับฟังคำอุทธรณ์ แต่คนเหล่านั้นที่ปฏิเสธการเป็นทหารโดยให้เหตุผลว่าขัดต่อสติรู้สึกผิดชอบ มีเพียงไม่กี่รายที่ได้รับการยกเว้นจากการเป็นทหารอย่างสิ้นเชิง. ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องด้วยสติรู้สึกผิดชอบถูกสั่งให้ไปประจำอยู่ในหน่วยกองหนุน ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนกองทัพ. คนที่ไม่ยอมร่วมในหน่วยกองหนุนยังคงถือว่าเป็นทหารเกณฑ์และต้องขึ้นศาลทหาร. พวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้ายและถูกจำคุก บ่อยครั้งต้องอยู่ในสภาพที่ทุกข์ทรมานแสนสาหัส.
นักโทษสิบหกคนในปราสาทริชมอนด์
ในหมู่นักโทษสิบหกคน มีห้าคนเป็นนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลนานาชาติ ซึ่งเป็นชื่อเรียกพยานพระยะโฮวาในสมัยนั้น. เฮอร์เบิร์ต ซีเนียร์ ซึ่งเป็นนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลตั้งแต่ปี 1905 ตอนที่อายุ 15 ปี ได้เขียนหลังจากนั้นประมาณ 50 ปีต่อมาว่า “เราถูกขังในห้องขังที่เป็นเหมือนคุกใต้ดิน. ห้องขังเหล่านี้คงไม่ได้ใช้มาหลายปี เพราะบนพื้นมีกองขยะสูงสองถึงสามนิ้ว.” ภาพและข้อเขียนของพวกนักโทษที่เขียนไว้บนผนังสีขาวในห้องขังซึ่งในปัจจุบันเลือนลางแล้วจนบางที่ก็อ่านไม่ออกได้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณชนเมื่อไม่นานมานี้. ภาพและข้อเขียนนี้ประกอบด้วยชื่อ, ข้อความ, และภาพวาดของคนที่เขารัก พร้อมกับถ้อยแถลงแห่งความเชื่อ.
นักโทษคนหนึ่งเขียนอย่างชัดเจนว่า “ข้าพเจ้ายอมตายเพราะยึดถือหลักการดีกว่าตายเพราะไม่มีหลักการ.” หลายข้อความมีการอ้างถึงพระเยซูคริสต์และคำสอนต่าง ๆ ของพระองค์ และยังมีภาพจำลองอันประณีตของสัญลักษณ์รูปกางเขนสอดมงกุฎ ซึ่งสมาคมนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลนานาชาติ (ไอบีเอสเอ) เคยใช้ในสมัยนั้น. เฮอร์เบิร์ต ซีเนียร์ เล่าว่า เขาวาด “แผนภูมิเกี่ยวกับยุคต่าง ๆ” บนผนังห้องขังจากคู่มือสำหรับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่ชื่อแผนการของพระเจ้าเกี่ยวกับยุคต่าง ๆ (ภาษาอังกฤษ) แต่ยังหาภาพนั้นไม่พบ. ภาพวาดนั้นอาจเลือนหายไปพร้อมกับข้อเขียนอื่น ๆ บน
ผนังในห้องขังส่วนใหญ่หรือในที่อื่น. อีกข้อความหนึ่งอ่านว่า ‘คลาเรนซ์ ฮอลล์ เมืองลีดส์ ไอ.บี.เอส.เอ. วันที่ 29 พฤษภาคม 1916. ถูกส่งไปฝรั่งเศส.’ไปฝรั่งเศส และกลับมา!
จำนวนทหารที่บาดเจ็บล้มตายในฝรั่งเศสและเบลเยียมมีเพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าตกใจ. ฮอเรโช เฮอร์เบิร์ต คิตเชนเนอร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และนายพลดักลาส ไฮก์ แห่งบริเตน ต้องการอย่างยิ่งที่จะมีกองทหารมากขึ้น ทั้งนี้รวมถึงชายที่สมรสแล้วซึ่งก็ถูกเกณฑ์ในเดือนพฤษภาคม 1916 ด้วยเช่นกัน. เพื่อกดดันพวกผู้ชายให้เข้าร่วมในการสู้รบ เจ้าหน้าที่ตัดสินใจลงโทษผู้ที่ปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องด้วยสติรู้สึกผิดชอบเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่คนอื่น ๆ. ดังนั้น โดยที่มีปืนจ่ออยู่ นักโทษสิบหกคนในปราสาทริชมอนด์ถูกคุมตัวไปขึ้นรถไฟอย่างผิดกฎหมาย พวกเขาถูกใส่กุญแจมือและถูกพาไปฝรั่งเศสอย่างลับ ๆ โดยใช้เส้นทางอ้อม. วารสารมรดก (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า ณ ชายหาดบูโลญ “พวกผู้ชายถูกมัดด้วยลวดหนามติดกับเสา แทบจะเรียกได้ว่าพวกเขาถูกตรึงกางเขน” และถูกบังคับให้ดูการประหารชีวิตทหารบริเตนที่หนีทัพโดยการยิงเป้า. มีการบอกพวกเขาว่า หากพวกเขาไม่เชื่อฟังคำสั่ง พวกเขาจะต้องประสบชะตากรรมอย่างเดียวกันนี้.
กลางเดือนมิถุนายน 1916 มีการให้นักโทษเหล่านี้เดินเรียงแถวมาต่อหน้าทหาร 3,000 นายเพื่อฟังคำตัดสินประหารชีวิต แต่ในตอนนั้นคิตเชนเนอร์เสียชีวิตแล้ว และนายกรัฐมนตรีแห่งบริเตนได้เข้าแทรกแซง. เจ้าหน้าที่ในลอนดอนได้รับไปรษณียบัตรฉบับหนึ่งซึ่งมีข้อความที่ใส่รหัสไว้ และได้มีการถอนคำสั่งทางทหาร. มีการสั่งให้นายพลไฮก์เปลี่ยนคำตัดสินประหารชีวิตทั้งหมดเป็นการทำงานเยี่ยงทาสในคุกสิบปี.
เมื่อกลับมาถึงบริเตน นักโทษบางคนจากจำนวน 16 คนถูกพาไปที่เหมืองหินแกรนิตในสกอตแลนด์เพื่อ “ทำงานสำคัญของชาติ” ภายใต้สภาพการณ์ที่น่าขยะแขยง ตามที่กล่าวไว้ในรายงานอย่างเป็นทางการฉบับหนึ่ง. คนอื่น ๆ รวมทั้งเฮอร์เบิร์ต ซีเนียร์ ถูกส่งกลับมาที่เรือนจำพลเรือน ไม่ใช่เรือนจำทหาร.
มรดกตกทอด
เนื่องจากผนังห้องขังมีสภาพทรุดโทรม นิทรรศการที่จัดแสดงอย่างละเอียด ณ ปราสาทริชมอนด์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความดูแลขององค์การอนุรักษ์มรดกแห่งอังกฤษ จึงมีจอสัมผัสระบบสามมิติไว้ให้ดูด้วย เพื่อผู้มาเยี่ยมชมจะสามารถพินิจดูทั้งห้องขังและภาพวาดตลอดจนข้อเขียนที่อยู่ตามผนังแบบใกล้ ๆ ได้โดยไม่ทำให้ภาพและข้อเขียนเหล่านั้นเสียหาย. มีการอธิบายให้กลุ่มนักเรียนเข้าใจว่า เพราะเหตุใดผู้ที่ปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องด้วยสติรู้สึกผิดชอบจึงพร้อมที่จะทนรับการลงโทษ, การจำคุก, และอาจถึงกับถูกประหารชีวิตเพื่อความเชื่อที่พวกเขายึดมั่นด้วยความจริงใจ.
นักโทษสิบหกคนในปราสาทริชมอนด์บรรลุผลสำเร็จในการ “ทำให้ประเด็นเรื่องการปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องด้วยสติรู้สึกผิดชอบกลายเป็นเรื่องที่สาธารณชนให้ความสนใจ รวมทั้งเริ่มเป็นที่ยอมรับและได้รับความนับถือเนื่องจากประเด็นดังกล่าว.” เรื่องนี้ทำให้พวกเจ้าหน้าที่เข้าใจมากขึ้นเมื่อดำเนินการกับคนเหล่านั้นที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องด้วยสติรู้สึกผิดชอบในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง.
ในปี 2002 มีการอุทิศสวนที่สวยงามแห่งหนึ่งในปราสาทริชมอนด์ให้เป็นอนุสรณ์แด่นักโทษสิบหกคนเนื่องจากความเชื่อมั่นทางด้านศีลธรรมของพวกเขา.
[ภาพหน้า 12, 13]
จากซ้ายไปขวา: หอบนปราสาทริชมอนด์ที่สร้างในศตวรรษที่ 12 มีห้องที่ใช้ขังนักโทษ
เฮอร์เบิร์ต ซีเนียร์ หนึ่งในนักโทษสิบหกคนในปราสาทริชมอนด์
ห้องขังห้องหนึ่งที่นักโทษสิบหกคนในปราสาทริชมอนด์เคยถูกขังไว้
ขอบฉากหลัง: ส่วนของข้อความที่เขียนบนผนังห้องขังเป็นเวลาหลายปี