ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เกาะที่ปรากฏขึ้นมาแล้วก็หายไป

เกาะที่ปรากฏขึ้นมาแล้วก็หายไป

เกาะ​ที่​ปรากฏ​ขึ้น​มา​แล้ว​ก็​หาย​ไป

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​อิตาลี

วัน​ที่ 28 มิถุนายน 1831 เกิด​แผ่นดิน​ไหว​อย่าง​รุนแรง​จน​ทำ​ให้​ชายฝั่ง​ตะวัน​ตก​ของ​เกาะ​ซิซิลี​ใน​ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน​สั่น​สะเทือน. ใน​ทะเล กะลาสี​เรือ​คน​หนึ่ง​รู้สึก​ตกใจ​มาก​และ​คิด​ว่า​เรือ​ของ​เขา​ชน​เข้า​กับ​สันดอน​ทราย.

หลัง​จาก​นั้น​อีก​หลาย​วัน น้ำ​ทะเล​ที่​อยู่​ทาง​ชายฝั่ง​เกาะ​ซิซิลี​ปั่นป่วน​เหมือน​น้ำ​เดือด. ปลา​ตาย​ลอย​ขึ้น​มา​บน​ผิว​น้ำ. อากาศ​เหม็น​ตลบ​อบ​อวล​ไป​ด้วย​กลิ่น​กำมะถัน. หิน​พัมมิซ​จำนวน​มาก​ถูก​ซัด​ขึ้น​มา​เกย​ฝั่ง.

วัน​ที่ 10 กรกฎาคม ขณะ​ที่​โจวานนี คอร์ราโอ กัปตัน​เรือ​เทเรซินา แห่ง​เมือง​เนเปิลส์ กำลัง​แล่น​เรือ​อยู่​ใน​ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน เขา​ได้​เห็น​ภาพ​ที่​เขา​แทบ​ไม่​อยาก​เชื่อ นั่น​คือ​ภาพ​น้ำ​กับ​ควัน​พลุ่ง​ขึ้น​เป็น​ลำ​ขนาด​มหึมา​สูง​ถึง 20 เมตร​เหนือ​ระดับ​น้ำ​ทะเล. นอก​จาก​นี้​ยัง​ได้​ยิน “เสียง​ดัง​สนั่น​เหมือน​ฟ้า​ผ่า” ด้วย.

กษัตริย์​เฟอร์ดินันด์​ที่ 2 แห่ง​ซิซิลี​สอง​อาณาจักร​มี​คำ​สั่ง​ให้​นำ​เรือ​รบ​เอตนา ออก​ไป​สำรวจ​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น. ข่าว​เกี่ยว​กับ​เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​นี้​ยัง​แพร่​ไป​ถึง​เกาะ​มอลตา ซึ่ง​ใน​เวลา​นั้น​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​บริเตน. เพื่อ​จะ​ไม่​น้อย​หน้า เซอร์​เฮนรี ฮอทแฮม รอง​ผู้​บัญชา​การ​ทหาร​เรือ​แห่ง​บริเตน​ที่​อยู่​ใน​เกาะ​นั้น​ก็​ได้​ส่ง​เรือ​ออก​ไป “เพื่อ​ระบุ​ตำแหน่ง​ที่​แน่นอน​ใน​แผนที่​ทาง​ทะเล และ​เพื่อ​เฝ้า​สังเกต​ดู​ลักษณะ​อื่น ๆ ของ​ปรากฏการณ์​นั้น​เพิ่ม​เติม.”

นั่น​เป็น​จุด​เริ่ม​ต้น​ของ​ความ​ขัด​แย้ง​ที่​ยืดเยื้อ​มา​จน​กระทั่ง​ปัจจุบัน.

เกาะ​ปรากฏ​ขึ้น

วัน​ที่ 19 กรกฎาคม 1831 เกาะ​ใหม่​เกาะ​หนึ่ง​ซึ่ง​เกิด​จาก​การ​ระเบิด​ของ​ภูเขา​ไฟ​ใต้​น้ำ ก็​ปรากฏ​ให้​เห็น​ใน​เขต​แดน​ระหว่าง​เกาะ​ซิซิลี​และ​ชายฝั่ง​ของ​แอฟริกา. เมื่อ​ชาลส์ สวินเบิร์น ผู้​บัญชา​การ​เรือ​แรพิด ของ​บริเตน​กำลัง​แล่น​เรือ​ไป​สุด​ชายฝั่ง​ตะวัน​ตก​ของ​เกาะ​ซิซิลี เขา​เห็น​ควัน​หรือ​ไอ​น้ำ​สี​ขาว​มาก​พลุ่ง​ขึ้น​เป็น​ลำ​ผิด​ปกติ. สวินเบิร์น​มุ่ง​ตรง​ไป​ที่​นั่น. ขณะ​ใกล้​จะ​ค่ำ​แล้ว แสง​สว่าง​เจิดจ้า​ระคน​กับ​ควัน​ไฟ​ก็​ยัง​คง​เห็น​ได้​ชัดเจน​แม้​จะ​มี​เพียง​แสง​จันทร์​เท่า​นั้น. ตรง​กลาง​กลุ่ม​ควัน​ที่​พลุ่ง​ขึ้น​เป็น​ลำ​นั้น​มี​ไฟ​ปะทุ​ขึ้น​อย่าง​น่า​กลัว. รุ่ง​เช้า​เมื่อ​ควัน​จาง​ไป​บ้าง​แล้ว เขา​จึง​เห็น “เนิน​ขนาด​เล็ก​สี​ทึม ๆ ซึ่ง​สูง​เหนือ​ระดับ​น้ำ​ทะเล​เพียง​ไม่​กี่​ฟุต.”

ภาย​ใน​ระยะ​เวลา​ไม่​ถึง​หนึ่ง​เดือน เกาะ​นี้​ก็​โผล่​ขึ้น​สูง​กว่า​ระดับ​น้ำ​ทะเล​ประมาณ 65 เมตร​และ​มี​ระยะ​ทาง​โดย​รอบ​ประมาณ 3.5 กิโลเมตร. หนังสือ​พิมพ์​มอลตา กัฟเวิร์นเมนต์ กาเซตต์ รายงาน​ว่า “เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​ที่​เหตุ​การณ์​ครั้ง​นี้​จะ​ทำ​ให้​ชาว​เกาะ​รู้สึก​ตื่นเต้น​อย่าง​มาก และ​หลาย​คน​ได้​เดิน​ทาง​ไป​ดู​ปรากฏการณ์​นั้น​แล้ว.” หนึ่ง​ใน​คน​เหล่า​นั้น​คือ ศาสตราจารย์​เฟรดริก ฮอฟฟ์มันน์ นัก​ธรณี​วิทยา​ชาว​ปรัสเซีย​ซึ่ง​กำลัง​ทำ​การ​วิจัย​อยู่​ใน​เกาะ​ซิซิลี. ฮอฟฟ์มันน์​เข้า​ไป​ใกล้​เกาะ​โดย​อยู่​ห่าง​แค่ 1 กิโลเมตร​เท่า​นั้น​และ​สามารถ​มอง​เห็น​เกาะ​นั้น “ได้​อย่าง​ชัดเจน​ที่​สุด.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม เนื่อง​จาก​กลัว​ว่า​อาจ​มี​อันตราย ฮอฟฟ์มันน์​จึง​ปฏิเสธ​ที่​จะ​ขึ้น​ไป​บน​เกาะ​นั้น.

มี​รายงาน​ว่า วัน​ที่ 2 สิงหาคม กัปตัน​ฮัมฟรีย์ เซนเฮาส์​ที่​ใจ​กล้า​กว่า​ได้​ขึ้น​ไป​บน​เกาะ​นั้น​และ​ปัก​ธง​ยูเนียน​แจ็ก​ของ​บริเตน​ที่​นั่น. เขา​ตั้ง​ชื่อ​เกาะ​นี้​ว่า​เกาะ​เกรแฮม เพื่อ​ให้​เกียรติ​แก่​เซอร์​เจมส์ เกรแฮม ซึ่ง​เป็น​ท่าน​ลอร์ด​คน​แรก​แห่ง​กองทัพ​เรือ.

มหาวิทยาลัย​คาทาเนีย​ใน​ซิซิลี​ได้​มอบหมาย​คาร์โล เจเมลลาโร ศาสตราจารย์​ด้าน​ประวัติศาสตร์​ธรรมชาติ​ให้​ไป​สำรวจ​เกาะ​นี้. เขา​ตั้ง​ชื่อ​เกาะ​นี้​ว่า​เฟอร์ดินันเดีย ตาม​ชื่อ​กษัตริย์​เฟอร์ดินันด์​ที่ 2. โดย​ไม่​สนใจ​ข่าว​เรื่อง​ธง​อังกฤษ​ที่​โบก​สะบัด​อยู่​บน​เกาะ​นั้น กษัตริย์​เฟอร์ดินันด์​ได้​ประกาศ​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ว่า​เกาะ​นี้​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ใน​อาณาจักร​ของ​ท่าน แม้​ว่า​เกาะ​นี้​อยู่​นอก​เขต​น่าน​น้ำ​ของ​ซิซิลี​ก็​ตาม.

พวก​สุด​ท้าย​ที่​สนใจ​เกาะ​นี้​คือ​ชาว​ฝรั่งเศส. นัก​ธรณี​วิทยา​ชื่อ​คอนสแตนต์ พรีวอสต์​ตั้ง​ชื่อ​เกาะ​นี้​ว่า​ชู​ลี​ยา (Julia) เนื่อง​จาก​เกาะ​นี้​ปรากฏ​ขึ้น​ใน​เดือน​กรกฎาคม. เขา​ได้​ปัก​ธง​ชาติ​ฝรั่งเศส​ไว้​บน​เกาะ​นี้​เช่น​กัน. เขา​เขียน​ว่า​จุด​ประสงค์​ที่​ทำ​เช่น​นี้​คือ “เพื่อ​ให้​ผู้​ที่​จะ​มา​ศึกษา​เกาะ​นี้​ใน​อนาคต​รู้​ว่า​ฝรั่งเศส​ไม่​เคย​พลาด​โอกาส​ที่​จะ​แสดง​ความ​สนใจ​ใน​เรื่อง​วิทยาศาสตร์.”

ความ​ขัด​แย้ง​เรื่อง​การ​เป็น​เจ้าของ​เกาะ​นี้​ลุก​ลาม​มาก​ยิ่ง​ขึ้น. ตาม​ที่​บทความ​หนึ่ง​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​ใน​นิตยสาร​ไทมส์ แห่ง​ลอนดอน​กล่าว​ไว้ บริเตน, อิตาลี, และ​ฝรั่งเศส “เกือบ​จะ​เริ่ม​ทำ​สงคราม​กัน” เพราะ​ผืน​ดิน​กระจิริด​แห่ง​นี้.

จุด​จบ​ของ​เกาะ

ความ​ขัด​แย้ง​เรื่อง​เกาะ ซึ่ง​มี​การ​เรียก​ชื่อ​ต่าง ๆ กัน​จน​ถึง​ทุก​วัน​นี้​อย่าง​เช่น ชู​ลี​ยา, เฟอร์ดินันเดีย, หรือ​เกรแฮม * ปรากฏ​ว่า​มี​อยู่​เพียง​ไม่​นาน. หลัง​จาก​ฮอฟฟ์มันน์​ไป​ที่​นั่น​ใน​เดือน​กันยายน เขา​เขียน​ว่า “เกาะ​นี้​กำลัง​จม​ลง​ทุก​วัน ๆ และ​ถ้า​ความ​เสียหาย​ที่​เรา​เห็น​กัน​ต่อ​หน้า​ต่อ​ตา​นี้​ยัง​ดำเนิน​ต่อ​ไป . . . พายุ​ที่​กำลัง​จะ​มา​ถึง​ใน​ฤดู​หนาว​จะ​ทำลาย [เกาะ​นี้] ภาย​ใน​เวลา​ไม่​กี่​เดือน.”

ใน​เดือน​ธันวาคม​เกาะ​นี้​ได้​ทรุด​ตัว​และ​จม​ลง​กลาย​เป็น​หิน​โสโครก​ที่​เป็น​อันตราย​ซึ่ง​อยู่​ต่ำ​กว่า​ระดับ​น้ำ​ทะเล​เพียง​ไม่​กี่​ฟุต. จูเซปเป แมร์กัลลี นัก​วิทยา​ภูเขา​ไฟ​ชาว​อิตาลี​เขียน​ว่า “สิ่ง​ที่​เหลือ​อยู่​ของ​เกาะ​ชู​ลี​ยา​ก็​คือ​ชื่อ​มาก​มาย​ที่​นัก​เดิน​ทาง​จาก​ชาติ​ต่าง ๆ ตั้ง​ให้ ซึ่ง​พวก​เขา​มี​โอกาส​ดี​ที่​ได้​เห็น​ภาพ​อัน​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​ของ​เกาะ​ที่​ปรากฏ​ขึ้น​มา​แล้ว​ก็​หาย​ไป.”

โผล่​ขึ้น​มา​อีก​ครั้ง​หรือ?

เรื่อง​นี้​จบ​ลง​แล้ว​อย่าง​นั้น​ไหม? ไม่​เป็น​อย่าง​นั้น​แน่! บริเวณ​ที่​เกาะ​นั้น​เคย​โผล่​ขึ้น​มา ยัง​เป็น​พื้น​ที่​ที่​ภูเขา​ไฟ​ยัง​คง​คุ​กรุ่น​อยู่. ตาม​ที่​ซัลวาโทรี มัซซาเรลลา นัก​ประวัติศาสตร์​ชาว​ซิซิลี​กล่าว​ว่า ใน​ทุก​วัน​นี้ “ทำเล​ที่​ตั้ง​ของ​เกาะ​นี้​ยัง​คง​มี​ความ​สำคัญ​ทาง​ยุทธศาสตร์​เหมือน​ที่​เคย​เป็น​ใน​ศตวรรษ​ที่ 19.” นัก​ธรณี​วิทยา​บาง​คน​เชื่อ​ว่า​เกาะ​นี้​จะ​โผล่​ขึ้น​มา​อีก​ครั้ง. ความ​ตึงเครียด​ที่​ว่า​ใคร​น่า​จะ​เป็น​เจ้าของ​เกาะ​นี้​จะ​กลับ​มา​อีก.

เรื่อง​ราว​ของ​เกาะ​ที่​ปรากฏ​ขึ้น​มา​แล้ว​ก็​หาย​ไป​นี้​เป็น​เหตุ​การณ์​อัน​น่า​สลด​ใจ​อีก​เหตุ​การณ์​หนึ่ง​ใน​ประวัติศาสตร์​แห่ง​การ​ปกครอง​ของ​มนุษย์. ฟีลิปโป ดาร์ปา นัก​หนังสือ​พิมพ์​ชาว​อิตาลี​พรรณนา​ถึง​เรื่อง​นี้​อย่าง​เหมาะ​สม​เมื่อ​เขา​กล่าว​ว่า เรื่อง​ราว​นี้​เป็น​อีก “ตัว​อย่าง​หนึ่ง​ของ​ความ​โง่​เขลา​ใน​เรื่อง​อำนาจ.”

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 16 มี​การ​เสนอ​ชื่อ​อื่น ๆ อย่าง​น้อย​สี่​ชื่อ​ให้​เกาะ​นี้​คือ คอร์ราโอ, ฮอทแฮม, เนริตา, และ​ชากา.

[ภาพ​หน้า 26]

ภาพ​วาด​เกี่ยว​กับ​การ​ระเบิด​ใน​ปี 1831

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 26]

Copyright Peter Francis/The Open University