เมื่อลูกน้อยร้องไห้ไม่หยุด
เมื่อลูกน้อยร้องไห้ไม่หยุด
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในแคนาดา
แพทย์ได้ยืนยันเกี่ยวกับสิ่งที่มารดานึกสงสัยอยู่แล้ว. ลูกน้อยของเธอเกิดอาการเสียดท้องที่เรียกว่าโคลิก (อาการปวดเฉียบที่เกิดขึ้นกับทารก). หนังสือพิมพ์โกลบ แอนด์ เมล์ ของแคนาดาบอกว่า อาการดังกล่าวมีผลกระทบต่อ “เด็กมากถึงหนึ่งในสี่คน.” กลุ่มอาการเสียดท้องนี้รวมถึงการร้องไห้เป็นเวลาสองสามชั่วโมงอย่างน้อยสัปดาห์ละสามวัน. มารดาที่วิตกกังวลอาจทำอะไรได้? กุมารแพทย์กล่าวไว้ว่า ในหลายกรณี บิดามารดาและเด็กอาจเพียงแต่ต้องรอให้อาการนั้นทุเลาเอง. แต่จะต้องรอนานแค่ไหน?
การศึกษาวิจัยครั้งใหม่ในแคนาดาซึ่งมีการสอบถามมารดาที่มีลูกร้องโยเยเพราะเสียดท้องเผยให้ทราบว่า กว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของทารกซึ่งมีอาการเสียดท้องนั้น มักจะมีอาการน้อยลงเมื่ออายุสามเดือน. อนึ่ง งานวิจัยซึ่งเริ่มทำโดยแพทย์หญิงแทมมี คลิฟฟอร์ด ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาโรคระบาดประจำโรงพยาบาลเด็กแห่งสถาบันวิจัยอีสเทิร์นออนแทรีโอ เปิดเผยว่า การร้องโยเยของเด็กที่มีอาการเสียดท้องไม่ได้ส่งผลกระทบถาวรต่อสุขภาพจิตของมารดา. แพทย์หญิงคลิฟฟอร์ดกล่าวว่า “พอหกเดือนหลังคลอด พวกเธอก็เหมือนมารดาที่ไม่มีลูกร้องโยเยเพราะเสียดท้อง. ประหนึ่งว่าเกิดภาวะความจำเสื่อมหลังจากการร้องไห้ของทารกยุติลง.”
หนังสือพิมพ์โกลบ กล่าวว่า งานวิจัยครั้งใหม่นี้ซึ่งจัดพิมพ์โดยแพทย์หญิงคลิฟฟอร์ดและคณะ “เพิ่มรายละเอียดที่สำคัญด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับอาการเสียดท้อง เพราะงานวิจัยครั้งนี้แสดงว่าทารกที่ร้องโยเยเพราะเสียดท้องมีสามประเภท คือทารกที่มีอาการเสียดท้องเป็นพัก ๆ ในช่วงอายุสามเดือนแรก; ทารกที่มีอาการเสียดท้องเป็นเวลาหลายเดือนโดยอาการไม่ทุเลาลง; และทารกกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งเกิดอาการเสียดท้องค่อนข้างช้า คือราว ๆ สองสามเดือนหลังคลอด.” ขณะนี้กำลังมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อติดตามดูพัฒนาการของเด็กที่มีอาการเสียดท้องขณะที่พวกเขาเติบโตขึ้น และนี่ก็คือกลุ่มสุดท้ายซึ่งมีความน่าสนใจเป็นพิเศษ.
เชื่อกันว่า การร้องไห้ไม่หยุดเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดอาการต่าง ๆ สืบเนื่องจากการเขย่าทารก. ดังที่โกลบ รายงาน “ในตัวมันเองแล้ว การร้องไห้จะไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก แต่การเขย่าทารกแรง ๆ แม้เพียงชั่วประเดี๋ยวเดียว ก็อาจก่อผลเสียหายทางประสาทอย่างถาวรและถึงกับเสียชีวิตได้.”
ในทางตรงกันข้าม การร้องไห้ของทารกอาจเป็นประโยชน์ แม้ทารกจะร้องไห้ไม่หยุดก็ตาม. โกลบ กล่าวว่า “งานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า อันที่จริง ทารกที่ร้องไห้มากย่อมได้รับการเอาใจใส่จากพี่เลี้ยงมากขึ้น, ได้รับการสัมผัสมากขึ้น, ได้รับรอยยิ้มมากขึ้น, ได้คุยมากขึ้น, รวมทั้งได้รับการอุ้มมากขึ้นด้วย.”