ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การควบคุมม้าและลิ้น

การควบคุมม้าและลิ้น

การ​ควบคุม​ม้า​และ​ลิ้น

กษัตริย์​ซะโลโม​ผู้​ชาญ​ฉลาด​แห่ง​อิสราเอล​โบราณ​ตรัส​ว่า “เขา​เตรียม​ม้า​นั้น​ไว้​สำหรับ​ทำ​ศึก​ได้.” (สุภาษิต 21:31) นาน​มา​แล้ว ทหาร​ม้า​มี​บทบาท​สำคัญ​ใน​การ​สู้​รบ​ที่​มี​ชัย. ตั้ง​แต่​โบราณ​กาล กองทัพ​ได้​ใช้​บังเหียน​เพื่อ​ควบคุม​อารมณ์​และ​พละกำลัง​ของ​ม้า.

พจนานุกรม​ฉบับ​ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 อธิบาย​ว่า บังเหียน​คือ “เครื่อง​บังคับ​ม้า​ให้​ไป​ใน​ทาง​ที่​ต้องการ ทำ​ด้วย​เหล็ก​หรือ​ไม้​ใส่​ผ่า​ปาก​ม้า ที่​ปลาย​มี​ห่วง 2 ข้าง​สำหรับ​ผูก​สาย​บังเหียน​โยง​ไว้​ให้​ผู้​ขี่​ถือ.” บังเหียน​ใน​สมัย​โบราณ​ไม่​ต่าง​จาก​สมัย​ปัจจุบัน​มาก​นัก และ​ปรากฏ​ว่า​บังเหียน​มี​ประโยชน์​มาก​ต่อ​การ​ฝึก​ม้า​ให้​เชื่อง​และ​การ​ขี่​ม้า.

กษัตริย์​ดาวิด พระ​ราชบิดา​ของ​ซะโลโม กล่าว​พาด​พิง​ถึง​ความ​สำคัญ​ของ​บังเหียน เมื่อ​ท่าน​เขียน​ว่า “ท่าน​ทั้ง​หลาย​อย่า​เป็น​เหมือน​ม้า, หรือ​ลา, ที่​หา​ปัญญา​มิ​ได้; ต้อง​คอย​ชัก​บังเหียน​และ​เอา​สาย​ผ่า​ปาก​ไว้.” (บทเพลง​สรรเสริญ 32:9) เมื่อ​ม้า​ถูก​ฝึก​จน​เชื่อง มัน​ก็​จะ​กลาย​เป็น​เพื่อน​ที่​ซื่อ​สัตย์​ได้. อะเล็กซานเดอร์​มหาราช​ชื่นชม​ม้า​ของ​ท่าน​ที่​ชื่อ​บูเซฟอาลุส​มาก​จน​ถึง​ขนาด​ที่​ท่าน​เอา​ชื่อ​ของ​มัน​มา​ตั้ง​เป็น​ชื่อ​เมือง​ใน​อินเดีย​เพื่อ​ให้​เกียรติ​แก่​ม้า​ตัว​นั้น.

แม้​ว่า​มนุษย์​ฝึก​ม้า​ให้​เชื่อง​ได้​สำเร็จ​มา​เป็น​เวลา​หลาย​พัน​ปี​แล้ว แต่​การ​ควบคุม​ความ​ไม่​สมบูรณ์​ของ​เรา​ที่​มี​มา​แต่​กำเนิด​นั้น​เป็น​อีก​เรื่อง​หนึ่ง. ยาโกโบ​สาวก​คริสเตียน​ให้​ความ​เห็น​ว่า “ถ้า​ผู้​ใด​มิ​ได้​พลั้ง​ผิด​ใน​วาจา, ผู้​นั้น​ก็​เป็น​ผู้​ใหญ่​แล้ว, อาจ​บังคับ​ทั้ง​ตัว​ไว้​ได้​ด้วย.” (ยาโกโบ 3:2) ที่​จริง มี​ใคร​บ้าง​ใน​พวก​เรา​ที่​จะ​พูด​ได้​ว่า​เขา​ไม่​เคย​พูด​เสียด​แทง, พูด​โดย​ไม่​ยั้ง​คิด, หรือ​พูด​ด้วย​ความ​โมโห?

ถ้า​เช่น​นั้น เหตุ​ใด​จึง​ต้อง​พยายาม​ควบคุม​ลิ้น​ที่​ดื้อ​รั้น​ของ​เรา ซึ่ง “ไม่​มี​ผู้​ใด​อาจ​ทำ​ให้​เชื่อง​ได้”? (ยาโกโบ 3:8) เหตุ​ผล​ก็​คือ ผู้​คน​เต็ม​ใจ​ทุ่มเท​เวลา​และ​ความ​พยายาม​ใน​การ​ฝึก​ม้า​ให้​เชื่อง เพราะ​พวก​เขา​รู้​ว่า​ม้า​ที่​ผ่าน​การ​ฝึก​แล้ว​จะ​เป็น​ประโยชน์. ใน​ทำนอง​เดียว​กัน ยิ่ง​เรา​ฝึก​หรือ​ควบคุม​ลิ้น​ของ​เรา​มาก​เท่า​ใด ก็​จะ​ยิ่ง​เป็น​ประโยชน์​มาก​เท่า​นั้น.

คำ​พูด​ที่​คำนึง​ถึง​ผู้​อื่น​สามารถ​ปลอบโยน​และ​หนุน​ใจ​เพื่อน, เพื่อน​ร่วม​งาน, และ​ญาติ ๆ ได้. (สุภาษิต 12:18) คำ​พูด​ดัง​กล่าว​จะ​ทำ​ให้​ชีวิต​น่า​ชื่นชม​ยินดี​มาก​ขึ้น​สำหรับ​คน​ที่​อยู่​รอบ​ข้าง​เรา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ลิ้น​ที่​ขาด​การ​เหนี่ยว​รั้ง​ทำ​ให้​เกิด​ปัญหา​ต่าง ๆ. คัมภีร์​ไบเบิล​เตือน​ว่า “คน​ที่​ระวัง . . . ลิ้น​ของ​ตน​ไว้​ก็​ป้องกัน​จิตต์​ของ​ตน​ให้​พ้น​จาก​ความ​ยุ่งยาก.” (สุภาษิต 21:23) ยิ่ง​เรา​ควบคุม​ลิ้น​ได้​มาก​เท่า​ไร เรา​ก็​ช่วย​ทั้ง​ตัว​เอง​และ​คน​ที่​ฟัง​เรา​ได้​มาก​เท่า​นั้น. *

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 7 น่า​สนใจ คัมภีร์​ไบเบิล​เตือน​คริสเตียน​ให้​ระลึก​ว่า คำ​พูด​ของ​พวก​เขา​ไม่​อาจ​แยก​จาก​การ​นมัสการ​ของ​พวก​เขา​ได้. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “ถ้า​คน​ใด​ใน​พวก​ท่าน​ถือ​ว่า​ตัว​เป็น​คน​ธรรม, และ​ไม่​ได้​เหนี่ยว​รั้ง​ลิ้น​ของ​ตน​ไว้, แต่​ได้​ล่อ​ลวง​ใจ​ของ​ตัว, ธรรม [“การ​นมัสการ,” ล.ม.] ของ​คน​นั้น​ก็​ไม่​มี​ประโยชน์.”—ยาโกโบ 1:26.

[ภาพ​หน้า 31]

อะเล็กซานเดอร์​มหาราช

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Alinari/Art Resource, NY