ต้นตอของอคติ
ต้นตอของอคติ
อคติอาจมีสาเหตุหลายอย่าง. กระนั้น ปัจจัยสองอย่างที่ได้รับการยืนยันแล้วคือ (1) ความพยายามจะหาแพะรับบาป และ (2) ความไม่พอใจเนื่องจากประสบการณ์ในอดีตที่เคยได้รับความอยุติธรรม.
ดังที่กล่าวในบทความก่อน เมื่อเกิดภัยพิบัติ ผู้คนมักมองหาว่าจะโยนความผิดให้ใคร. เมื่อบุคคลที่มีตำแหน่งสำคัญกล่าวหาชนกลุ่มน้อยซ้ำแล้วซ้ำอีก ข้อกล่าวหานั้นก็กลายเป็นที่ยอมรับและทำให้เกิดอคติ. ตัวอย่างที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ คือ ระหว่างช่วงเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศแถบตะวันตก มักมีการกล่าวโทษคนงานต่างด้าวว่าทำให้เกิดการว่างงาน แม้ว่าตามปกติแล้วพวกเขาจะทำงานที่คนท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่ยอมทำ.
แต่ใช่ว่าอคติทุกอย่างจะเกิดจากการหาแพะรับบาป. อคติอาจมีรากฐานมาจากประวัติศาสตร์. รายงานชื่อยูเนสโกต้านการเหยียดเชื้อชาติ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ไม่ใช่การพูดเกินจริงที่จะบอกว่า การค้าทาสทำให้เกิดโครงสร้างของแนวคิดเรื่องการเหยียดเชื้อชาติและความเกลียดชังทางวัฒนธรรมต่อคนผิวดำ.” พวกค้าทาสพยายามหาเหตุผลว่าการที่ตนค้าทาสซึ่งเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วโดยอ้างว่าคนแอฟริกาต่ำต้อยกว่า. อคติที่ไม่มีเหตุผลนี้ ซึ่งภายหลังได้แผ่ขยายไปถึงผู้คนในประเทศที่เป็นอาณานิคมอื่น ๆ ด้วย ก็ยังมีอยู่จนถึงทุกวันนี้.
ตลอดทั่วโลก ประวัติแห่งการกดขี่และความอยุติธรรมคล้าย ๆ กันนี้ทำให้อคติยังคงมีอยู่เสมอมา. การเป็นศัตรูกันระหว่างชาวคาทอลิกกับชาวโปรเตสแตนต์ในไอร์แลนด์มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เมื่อผู้ปกครองชาวอังกฤษข่มเหงและเนรเทศชาวคาทอลิก. ความโหดเหี้ยมทารุณซึ่งทำโดยพวกที่เรียกกันว่าคริสเตียนระหว่างช่วงสงครามครูเสดยังคงปลุกเร้าความรู้สึกชิงชังท่ามกลางชาวมุสลิมที่อยู่ในตะวันออกกลาง. ความเป็นศัตรูกันระหว่างชาวเซิร์บกับชาวโครแอตในคาบสมุทรบอลข่านรุนแรงยิ่งขึ้นเนื่องจากการสังหารหมู่พลเรือนระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง. ดังที่ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็น ประวัติความเป็นศัตรูกันระหว่างชนสองกลุ่มอาจทำให้มีอคติมากขึ้น.
การเพาะบ่มความไม่รู้
เด็กเล็ก ๆ ไม่มีอคติภายในหัวใจ. ตรงกันข้าม นักวิจัยสังเกตว่าเด็กมักจะเต็มใจเล่นกับเด็กต่างเชื้อชาติ. อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุ 10 หรือ 11 ปี เด็กอาจไม่ยอมรับคนเผ่าอื่น, เชื้อชาติอื่น, หรือศาสนาอื่น. ในช่วงที่เด็กกำลังเติบโต เขาได้รับแนวความคิดหลายอย่างที่อาจติดตัวเขาไปตลอดชีวิต.
เขาได้รับแนวคิดเหล่านี้โดยวิธีใด? เด็กได้รับเจตคติในแง่ลบ ทั้งทางคำพูดและที่ไม่ได้แสดงออกมาเป็นคำพูด ทีแรกจากพ่อแม่ของเขาแล้วก็จากเพื่อนหรือครู. ต่อมา เขาอาจได้รับอิทธิพลมากขึ้นจากเพื่อนบ้าน, หนังสือพิมพ์, วิทยุ, หรือโทรทัศน์. แม้ว่าเขาคงจะรู้น้อยมากหรือไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับกลุ่มคนที่เขาไม่ชอบ แต่พอเขาเป็นผู้ใหญ่ เขาก็คิดว่าคนพวกนั้นต่ำต้อยกว่าและไม่น่าไว้ใจ. เขาอาจถึงกับจงเกลียดจงชังพวกนั้นด้วยซ้ำ.
เมื่อมีการเดินทางและการค้าขายกันมากขึ้น การติดต่อระหว่างวัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่างกันก็เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ. กระนั้นก็ตาม คนที่มีอคติอย่างรุนแรงมักจะยึดติดกับความคิดเดิม ๆ. เขาอาจยืนกรานที่จะเหมาว่าคนเป็นพัน ๆ หรือกระทั่งเป็นล้าน ๆ มีลักษณะที่ไม่ดีบางอย่างเหมือนกันหมด. เมื่อมีประสบการณ์ที่ไม่ดีอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้จะเกี่ยวข้องกับคนเพียงคนเดียวในกลุ่มนั้น ก็ทำให้เขามีอคติเพิ่มมากขึ้น. ส่วนประสบการณ์ที่ดีกลับถูกมองข้ามโดยถือว่าเป็นข้อยกเว้น.
การหลุดพ้น
แม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่ตำหนิเรื่องการมีอคติโดยหลักการ แต่มีเพียงไม่กี่คนที่หลุดพ้นจากอิทธิพลของมันได้. ที่จริง หลายคนที่มีอคติอย่างมากกลับยืนยันว่าพวกเขาไม่มีอคติ. ส่วนบางคนก็กล่าวว่านี่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อคนที่มีอคติไม่ได้แสดงออกมา. กระนั้น การมีอคติเป็น เรื่องสำคัญ เพราะสิ่งนี้ทำร้ายและทำให้ผู้คนแตกแยกกัน. ถ้าอคติเกิดจากความไม่รู้ ความเกลียดชังก็มักเป็นผลมาจากอคติ. นักเขียนชาลส์ เคเลบ โคลตัน (1780?-1832) ชี้ว่า “เราเกลียดบางคนเพราะเราไม่รู้จักพวกเขา; และเราจะไม่พยายามรู้จักเขาเพราะเราเกลียดพวกเขา.” อย่างไรก็ตาม ถ้าอคติเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ ก็ย่อมถูกขจัดออกไปจากความคิดได้เช่นกัน. โดยวิธีใด?
[กรอบหน้า 7]
ศาสนา—พลังที่ทำให้มีการยอมรับกันหรือมีอคติ?
ในหนังสือของเขาชื่อลักษณะเด่นของอคติ กอร์ดอน ดับเบิลยู. ออลล์พอร์ต กล่าวว่า “โดยทั่วไป สมาชิกของคริสตจักรดูเหมือนมีอคติมากกว่า คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก.” เรื่องนี้ไม่แปลก เพราะศาสนามักเป็นต้นเหตุ ของการมีอคติแทนที่จะเป็นวิธีแก้. ตัวอย่างเช่น นักเทศน์นักบวชได้ปลุกเร้าให้เกลียดชังชาวยิวมาหลายศตวรรษแล้ว. ตามหนังสือประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์ (ภาษาอังกฤษ) ฮิตเลอร์เคยพูดไว้ว่า “เกี่ยวกับพวกยิว ข้าพเจ้าเพียงแต่ดำเนินตามนโยบายเดียวกับที่คริสตจักรคาทอลิกใช้มา 1,500 ปีแล้ว.”
ระหว่างการนองเลือดในคาบสมุทรบอลข่าน คำสอนของคริสตจักรออร์โทด็อกซ์และคริสตจักรคาทอลิกดูเหมือนไม่สามารถทำให้มีการยอมรับนับถือเพื่อนบ้านที่ถือศาสนาอื่น.
ในรวันดาก็เช่นกัน สมาชิกคริสตจักรฆ่าคนที่นับถือศาสนาเดียวกัน. หนังสือพิมพ์แนชันแนล คาทอลิก รีพอร์ตเตอร์ ชี้ว่า การต่อสู้ที่นั่นเกี่ยวข้องกับ “การฆ่าล้างชาติพันธุ์อย่างแท้จริง ซึ่งน่าเศร้าที่แม้แต่ชาวคาทอลิกก็มีส่วนร่วมด้วย.”
คริสตจักรคาทอลิกเองก็ยอมรับประวัติของคริสตจักรในเรื่องการไม่ยอมรับศาสนาอื่น. ในปี 2000 โปปจอห์นปอลที่ 2 ได้ขออภัยสำหรับ “การกระทำที่ออกนอกลู่นอกทางในอดีต” ในพิธีมิสซาที่กรุงโรม. ระหว่างพิธีนั้น มีการกล่าวอย่างเจาะจงถึงเรื่อง “การไม่ยอมรับศาสนาอื่นและความไม่ยุติธรรมที่มีต่อชาวยิว, ผู้หญิง, ชนพื้นเมือง, ผู้ที่อพยพเข้าเมือง, คนยากจนและเด็กที่ยังไม่เกิด.”
[ภาพหน้า 6]
บน: ค่ายอพยพ บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา วันที่ 20 ตุลาคม 1995
ผู้อพยพชาวเซิร์บแห่งบอสเนียสองคนกำลังคอยให้สงครามกลางเมืองยุติลง
[ที่มาของภาพ]
Photo by Scott Peterson/Liaison
[ภาพหน้า 7]
ถูกสอนให้เกลียดชัง
เด็กอาจได้รับเจตคติที่ไม่ดีจากพ่อแม่, โทรทัศน์, และที่อื่น ๆ