วิธีที่แม่เอาชนะอุปสรรคได้
วิธีที่แม่เอาชนะอุปสรรคได้
อุปสรรคใหญ่ของแม่หลายคนในทุกวันนี้คือ การทำงานอาชีพเพื่อช่วยหาเงินมาจุนเจือครอบครัว. นอกจากนี้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม พวกเธอบางคนต้องเลี้ยงดูลูกโดยไม่มีใครช่วยอีกด้วย.
มาร์การิตาเป็นมารดาไร้คู่ในเม็กซิโกที่ต้องเลี้ยงลูกสองคนเพียงลำพัง. เธอกล่าวว่า “การสอนเรื่องศีลธรรมและสิ่งฝ่ายวิญญาณแก่พวกเขาเป็นเรื่องยาก. เมื่อก่อน ลูกชายวัยรุ่นของดิฉันกลับมาจากงานเลี้ยงด้วยสภาพที่ค่อนข้างเมา. ดิฉันเตือนเขาว่า ถ้าเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นอีก ดิฉันจะไม่ยอมให้เขาเข้าบ้าน. ดังนั้น เมื่อเขาทำอย่างนี้อีกครั้ง ดิฉันรู้สึกปวดร้าวใจมากและได้ล็อกประตูไม่ให้เขาเข้าบ้าน. ดิฉันดีใจที่เขาไม่ทำแบบนั้นอีกแล้ว.”
หลังจากนั้นไม่นานมาร์การิตาก็เริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งช่วยเธอให้ปลูกฝังค่านิยมทางศีลธรรมในตัวลูก ๆ. ตอนนี้ ทั้งสองคนเป็นผู้รับใช้เต็มเวลาของพยานพระยะโฮวา.
เมื่อสามีไปต่างประเทศ
สามีจำนวนมากในประเทศด้อยพัฒนามักย้ายไปประเทศที่ร่ำรวยกว่าเพื่อหางานทำ โดยทิ้งให้ภรรยาเลี้ยงดูลูก ๆ. ลักษมี แม่คนหนึ่งในเนปาล กล่าวว่า “สามีของดิฉันไปทำงานต่างประเทศได้เจ็ดปีแล้ว. ลูก ๆ เชื่อฟังพ่อของเขามากกว่าดิฉัน. ถ้าเขาอยู่ที่นี่ตลอดเพื่อทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัว การดูแลลูก ๆ คงจะง่ายกว่านี้.”
แม้เป็นเรื่องยาก แต่ลักษมีก็เอาชนะอุปสรรคได้. เนื่องจากเธอมีการศึกษาน้อย เธอจึงจัดแจงให้ครูสอนพิเศษมาสอนการบ้านให้ลูกคนโต. อย่างไรก็ตาม เธอสนใจเป็นพิเศษเรื่องการสอนสิ่งฝ่ายวิญญาณแก่ลูก ๆ โดยศึกษาพระคัมภีร์กับพวกเขาทุกสัปดาห์. เธอพิจารณาพระคัมภีร์
ประจำวันกับลูก ๆ และพาพวกเขาไปการประชุมคริสเตียนเป็นประจำ.แม่ที่มีการศึกษาน้อย
ในบางประเทศ อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งคือ ผู้หญิงที่ไม่รู้หนังสือมีอัตราค่อนข้างสูง. เอาเรเลีย คุณแม่ลูกหกซึ่งอยู่ในเม็กซิโก เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงข้อเสียเปรียบของแม่ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เธออธิบายว่า “แม่ของดิฉันพูดเสมอว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องรู้หนังสือ. ดังนั้น ดิฉันจึงอ่านหนังสือไม่ออกและสอนการบ้านลูก ๆ ไม่ได้. นั่นทำให้ดิฉันเสียใจมาก. แต่เนื่องจากไม่อยากให้ลูก ๆ ลำบากเหมือนดิฉัน ดิฉันจึงทำงานหนักเพื่อให้เขาได้เรียนหนังสือ.”
แม้จะมีการศึกษาน้อย แต่แม่ก็มีบทบาทสำคัญ. ถ้อยคำนี้เป็นความจริงที่ว่า “ถ้าให้การศึกษาแก่ผู้หญิง ก็เท่ากับคุณให้การศึกษาแก่ผู้ที่เป็นครูของผู้ชาย.” พิษณุ คุณแม่ลูกสามซึ่งอยู่ในเนปาล เคยเป็นคนไม่รู้หนังสือ แต่เนื่องจากเธอต้องการเรียนความจริงในคัมภีร์ไบเบิลและสอนเรื่องนี้แก่ลูก ๆ เธอจึงพยายามเรียนเพื่อจะอ่านเขียนให้ได้. เธอจะทำให้แน่ใจว่าลูก ๆ ทำการบ้านเสร็จเรียบร้อย และเธอจะไปที่โรงเรียนเป็นประจำเพื่อสอบถามเรื่องการเรียนของลูก ๆ.
เมื่อพูดถึงการสอนเรื่องสิ่งฝ่ายวิญญาณและศีลธรรม ศิลัช ลูกชายของพิษณุอธิบายว่า “วิธีที่แม่พยายามสอนเราซึ่งเป็นวิธีที่ผมชอบมากที่สุดคือ ถ้าเราทำผิด แม่จะใช้ตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลว่ากล่าวแก้ไขเรา. วิธีการสอนแบบนี้ได้ผลและช่วยให้ผมยอมรับคำแนะนำนั้น.” พิษณุสอนลูกได้อย่างประสบผลสำเร็จ ทั้งสามคนเป็นชายหนุ่มที่เกรงกลัวพระเจ้า.
อันโตเนีย คุณแม่ลูกสองซึ่งอยู่ในเม็กซิโก กล่าวว่า “ดิฉันจบแค่ชั้นประถม. เราอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่ห่างไกล และโรงเรียนมัธยมที่ใกล้ที่สุดก็อยู่ไกลมาก. แต่ดิฉันอยากให้ลูกมีความรู้มากกว่าดิฉัน ดิฉันจึงให้เวลากับพวกเขาอย่างมาก. ดิฉันสอนเขาให้นับเลขและอ่านเขียนได้บ้าง. ลูกสาวของดิฉันสามารถสะกดชื่อตัวเองและเขียนพยัญชนะได้ทุกตัวก่อนที่จะเข้าโรงเรียน. ส่วนลูกชายของดิฉันก็อ่านหนังสือได้ก่อนที่จะเข้าโรงเรียนอนุบาล.”
เมื่อถามว่าเธอสอนเรื่องสิ่งฝ่ายวิญญาณและศีลธรรมแก่ลูก ๆ อย่างไร อันโตเนียอธิบายว่า “ดิฉันสอนเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลแก่พวกเขา. ก่อนที่ลูกสาวของดิฉันจะพูดได้ เขาสามารถทำท่าทางเพื่อเล่าเรื่องราวในพระคัมภีร์ได้. ลูกชายของดิฉันอ่านพระคัมภีร์ครั้งแรกบนเวทีที่การประชุมตอนเขาอายุสี่ขวบ.” แม่ที่มีการศึกษาน้อยหลายคนกำลังสอนลูก ๆ ได้อย่างประสบผลสำเร็จ.
การต่อต้านธรรมเนียมที่เป็นอันตราย
ธรรมเนียมอย่างหนึ่งของเผ่าทโซทซิลแห่งเม็กซิโกคือ การขายลูกสาวให้แต่งงานขณะที่มีอายุเพียง 12 หรือ 13 ปีเท่านั้น. บ่อยครั้ง เด็กสาวมักจะถูกขายให้ชายสูงอายุที่ต้องการมีภรรยาคนที่สองหรือสาม. ถ้าผู้ชายไม่พอใจเด็กสาวคนนั้น เขาสามารถส่งตัวเธอกลับและเอาเงินคืนได้. ตอนที่เปโตรนายังเด็ก เธอเจอกับธรรมเนียมนี้ด้วยตัวเอง. แม่ของเธอถูกขายให้เป็นภรรยาของชายคนหนึ่งและให้กำเนิดลูกชายแล้วก็หย่าร้างกัน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเมื่อแม่ของเปโตรนาอายุ 13 ปีเท่านั้น! ลูกคนแรกเสียชีวิต และต่อมา
แม่ของเปโตรนาก็ถูกขายอีกสองครั้ง. รวมแล้ว แม่ของเปโตรนามีลูกทั้งหมดแปดคน.เปโตรนาไม่อยากมีชีวิตแบบนั้น และเธออธิบายวิธีที่เธอทำว่า “เมื่อเรียนจบชั้นประถม ดิฉันบอกคุณแม่ว่าไม่อยากแต่งงาน แต่อยากเรียนต่อ. คุณแม่บอกว่า แม่คงจะช่วยอะไรดิฉันไม่ได้และบอกให้ดิฉันไปคุยกับคุณพ่อ.”
คุณพ่อบอกว่า “ฉันกำลังจะให้แกแต่งงาน. แกพูดภาษาสเปนได้. อ่านหนังสือก็ได้. แล้วแกจะเอาอะไรอีก? ถ้าแกอยากเรียนต่อก็ไปหาเงินเรียนเองก็แล้วกัน.”
เปโตรนาอธิบายว่า “ดิฉันจึงตัดสินใจทำงาน. ดิฉันปักผ้าเพื่อหาเงินเป็นค่าใช้จ่าย.” นั่นเป็นวิธีที่ทำให้เธอรอดพ้นจากการถูกขาย. หลังจากเปโตรนาโตขึ้น แม่ของเธอเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและทำให้กล้าสอนค่านิยมของคัมภีร์ไบเบิลแก่บรรดาน้องสาวของเปโตรนา. จากประสบการณ์ที่แม่ของเปโตรนาเจอด้วยตัวเอง เธอจึงสามารถสอนลูก ๆ ถึงผลอันน่าเศร้าของธรรมเนียมการขายลูกสาวให้แต่งงานตั้งแต่อายุน้อย ๆ.
ธรรมเนียมอีกอย่างหนึ่งสำหรับหลายครอบครัวคือ ในครอบครัวมีแต่พ่อเท่านั้นที่มีสิทธิ์ตีสอนลูกชาย. เปโตรนาอธิบายว่า “ผู้หญิงเผ่าทโซทซิลถูกสอนว่า พวกเธอมีฐานะต่ำต้อยกว่าผู้ชาย. ผู้ชายจึงกดขี่ผู้หญิงอย่างมาก. เด็กผู้ชายตัวเล็ก ๆ จะเลียนแบบพ่อและพูดกับแม่ว่า ‘แม่ไม่มีสิทธิ์มาสั่งผม. ถ้าพ่อไม่สั่ง ผมก็ไม่ทำ.’ ดังนั้น ผู้เป็นแม่จึงไม่สามารถสอนลูกชายได้. แต่ตอนนี้คุณแม่ของดิฉันศึกษาคัมภีร์ไบเบิลแล้ว แม่จึงประสบผลสำเร็จในการสอนน้องชายของดิฉัน. พวกเขาจำคำแนะนำที่เอเฟโซ 6:1, 2 ได้ขึ้นใจที่ว่า ‘ฝ่ายบุตรทั้งหลาย จงนบนอบเชื่อฟังบิดามารดาของตัว. . . . จงนับถือบิดามารดา ของตน.’”
แมรี แม่คนหนึ่งที่ไนจีเรีย ให้ความเห็นว่า “ที่ที่ดิฉันเติบโตขึ้นมามีธรรมเนียมว่าไม่ให้แม่สอนหรือตีลูกชาย. แต่ตัวอย่างของโลอีและยูนิเกที่อยู่ในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเป็นยายและแม่ของติโมเธียว ทำให้ดิฉันตั้งใจว่าจะไม่ยอมให้ธรรมเนียมท้องถิ่นมาขัดขวางการอบรมสั่งสอนลูกชายของดิฉัน.”—มีอีกธรรมเนียมหนึ่งซึ่งเป็นกิจปฏิบัติโดยทั่วไปในบางประเทศ นั่นคือสิ่งที่บางคนเรียกว่า “การทำสุหนัตในสตรีเพศ” ซึ่งปัจจุบันเรียกกันโดยทั่วไปว่า การทำให้อวัยวะเพศหญิงพิการ (เอฟจีเอ็ม). จะมีการตัดอวัยวะเพศของเด็กผู้หญิงออกบางส่วนหรือตัดออกเกือบทั้งหมด. มีการเปิดโปงธรรมเนียมนี้ให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้โดย วอริส ดีรี ซึ่งเป็นนางแบบที่มีชื่อเสียงและเป็นทูตพิเศษของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ. ตอนเป็นเด็ก เธอถูกแม่บังคับให้ทำสุหนัตเพื่อทำตามธรรมเนียมท้องถิ่นของชาวโซมาเลีย. ตามที่รายงานหนึ่งกล่าวไว้ ผู้หญิงและเด็กจำนวนแปดล้านถึงสิบล้านคนในตะวันออกกลางและแอฟริกาเสี่ยงต่อการถูกทำสุหนัต. แม้แต่ในสหรัฐ เด็กสาวประมาณ 10,000 คนก็เสี่ยงต่อเรื่องนี้.
กิจปฏิบัตินี้มีต้นตอมาจากความเชื่อเช่นไร? บางคนคิดว่าอวัยวะเพศหญิงเป็นสิ่งชั่วร้ายและทำให้เด็กผู้หญิงไม่สะอาด ดังนั้น จึงทำให้เธอไม่สามารถแต่งงานได้. นอกจากนี้ การตัดอวัยวะเพศถูกมองว่าเป็นการรับประกันความบริสุทธิ์และความซื่อสัตย์ของเด็ก. การที่แม่ไม่ยอมรักษาธรรมเนียมนี้ไว้อาจทำให้สามีของเธอและคนในชุมชนไม่พอใจมาก.
อย่างไรก็ตาม ยังมีแม่อีกหลายคนที่ตระหนักว่าไม่มีเหตุผลอันสมควร—ทั้งทางด้านศาสนา, การแพทย์, หรือสุขอนามัย—ที่จะสนับสนุนกิจปฏิบัติอันแสนเจ็บปวดนี้. หนังสือสารคดีไนจีเรียชื่อ ธรรมเนียมอันน่ารังเกียจที่สมควรถูกยกเลิก เปิดเผยว่าแม่หลายคนกล้าปฏิเสธที่จะให้ลูกสาวต้องผ่านกระบวนการอันเจ็บปวดเช่นนั้น.
จริงทีเดียว แม่ตลอดทั่วโลกปกป้องและสอนลูกอย่างประสบผลสำเร็จแม้จะมีอุปสรรคมากมาย. ดังนั้นแล้ว ความพยายามของพวกเธอได้รับการหยั่งรู้ค่าอย่างแท้จริงไหม?
[กรอบ/ภาพหน้า 5]
“การศึกษาวิจัยครั้งแล้วครั้งเล่าแสดงให้เห็นว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะประสบผลก็ต่อเมื่อผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในเรื่องนั้น. เมื่อผู้หญิงมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เราก็จะเห็นประโยชน์ทันที นั่นคือ ครอบครัวจะมีสุขภาพและอาหารการกินดีขึ้น; มีรายได้, เงินเก็บออม, และเงินที่จะนำกลับไปลงทุนเพิ่มขึ้น. และเรื่องนี้เป็นจริงไม่เพียงแต่กับครอบครัวเท่านั้น แต่เป็นจริงกับชุมชนด้วย และสุดท้ายก็กับประเทศชาติ.”—นายโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ 8 มีนาคม 2003.
[ที่มาของภาพ]
UN/DPI photo by Milton Grant
[กรอบ/ภาพหน้า 8]
แม่เสียสละเพื่อพวกเรา
ชูเลียโน ชายหนุ่มชาวบราซิลกล่าวว่า “ตอนผมอายุห้าขวบ แม่มีอาชีพที่มีอนาคตสดใส. อย่างไรก็ตาม เมื่อน้องสาวผมเกิด แม่ตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาดูแลพวกเรา. ที่ปรึกษาของบริษัทพยายามโน้มน้าวไม่ให้แม่ลาออก. เขาบอกว่า หลังจากลูก ๆ แต่งงานและออกจากบ้านไป ทุกสิ่งที่แม่ทำเพื่อลูก ๆ ก็จะสูญเปล่า เขาบอกว่าแม่กำลังลงทุนในสิ่งที่ไม่มีทางได้กำไร. แต่ผมบอกได้เลยว่าพวกเขาคิดผิด ผมจะไม่มีวันลืมความรักที่แม่แสดงต่อพวกเรา.”
[รูปภาพ]
แม่ของชูเลียโนกับลูก ๆ; ทางซ้าย: ชูเลียโนตอนอายุห้าขวบ
[ภาพหน้า 6]
พิษณุเรียนเพื่อจะอ่านเขียนให้ได้และจึงช่วยลูกชายให้ได้รับการศึกษาที่ดี
[ภาพหน้า 7]
ลูกชายตัวน้อย ๆ ของอันโตเนียอ่านคัมภีร์ไบเบิลที่การประชุมคริสเตียน
[ภาพหน้า 7]
เปโตรนาเป็นอาสาสมัครในสำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาในเม็กซิโก. คุณแม่ของเธอซึ่งเป็นพยานฯ ในที่สุดกำลังสอนน้อง ๆ ของเปโตรนา
[ภาพหน้า 8]
วอริส ดีรี โฆษกหญิงที่มีชื่อเสียงเรื่องการต่อต้านการทำให้อวัยวะเพศหญิงพิการ
[ที่มาของภาพ]
Photo by Sean Gallup/ Getty Images