ทานตะวัน—สวยงามและมีคุณค่า
ทานตะวัน—สวยงามและมีคุณค่า
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในสวิตเซอร์แลนด์
ถ้าวันไหนดวงตะวันส่องแสงสดใส เราก็มักจะรู้สึกร่าเริงแจ่มใสไปด้วย. ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้คนทั่วโลกรู้สึกชื่นบานยามได้เห็นดอกไม้ที่มีชื่อตามดวงตะวัน—ดอกทานตะวันนั่นเอง! แม้จะมีดอกทานตะวันที่เบ่งบานสดใสอยู่เพียงดอกเดียวในสวน อะไร ๆ ก็ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาก. และยิ่งถ้ามีดอกทานตะวันสีเหลืองสดบานสะพรั่งอยู่เต็มทุ่งกว้าง ทุกสิ่งทุกอย่างก็ยิ่งดูสดใสมากกว่านั้นสักเท่าใด!
แต่คุณรู้ไหมว่าเพราะเหตุใดดอกไม้ที่ดูมีชีวิตชีวานี้จึงเป็นที่นิยมชมชอบมากขนาดนั้น? ดอกทานตะวันหันตามดวงอาทิตย์จริง ๆ หรือ? และดอกไม้ชนิดนี้มีประโยชน์มากจริง ๆ หรือ?
เดินทางรอบโลก
ถิ่นกำเนิดเดิมของทานตะวันครอบคลุมบริเวณตั้งแต่อเมริกากลางจนถึงพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือภาคใต้ของแคนาดา. ชาวอินเดียนแดงปลูกทานตะวันในพื้นที่นี้. หลังจากนักสำรวจชาวสเปนนำทานตะวันข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปสู่ยุโรปในปีสากลศักราช 1510 ดอกไม้นี้ก็แพร่ไปทั่วยุโรปตะวันตกอย่างรวดเร็ว. ทีแรก คนสมัยนั้นใช้ต้นทานตะวันเป็นเพียงไม้ประดับตามสวนพฤกษศาสตร์และสวนในบ้าน. แต่พอราว ๆ กลางศตวรรษที่ 18 ผู้คนเริ่มเห็นว่าเมล็ดของมันเป็นอาหารรสเลิศ. คนสมัยนั้นยังใช้ใบและดอกของมันทำเป็นชาเพื่อรักษาไข้ด้วย.
ในปี 1716 ชาวอังกฤษคนหนึ่งได้รับใบอนุญาตเพื่อจะสกัดน้ำมันจากดอกทานตะวันเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมทอผ้าและฟอกหนัง. กระนั้น น้ำมันดอกทานตะวันก็แทบจะไม่เป็นที่รู้จักกันในยุโรปส่วนอื่น ๆ จนกระทั่งศตวรรษที่ 19. จริงอยู่ ปีเตอร์มหาราช ซาร์แห่งรัสเซีย ได้นำเมล็ดทานตะวันจากเนเธอร์แลนด์ไปยังรัสเซียในปี 1698. อย่างไรก็ตาม การผลิตดอกทานตะวันเพื่อการพาณิชย์ในรัสเซียก็ไม่ได้เริ่มขึ้นจนกระทั่งทศวรรษ 1830. ไม่กี่ปีต่อมา เขตโวโรเนชของรัสเซียก็ผลิตน้ำมันดอกทานตะวันได้ปีละหลายพันตัน. ไม่นานการปลูกทานตะวันก็แพร่เข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น บัลแกเรีย, ยูเครน, โรมาเนีย, ฮังการี, และดินแดนที่เคยเป็นยูโกสลาเวีย.
น่าแปลก พอถึงตอนปลายศตวรรษที่ 19 ก็มีการนำทานตะวันเข้าไปในอเมริกาเหนืออีกครั้งโดยผู้อพยพชาวรัสเซีย. ผู้ตั้งถิ่นฐานรุ่นแรก ๆ ในอเมริกาไม่ได้เพาะปลูกดอกทานตะวันอย่างที่ชาวอินเดียนแดงเคยทำ. ปัจจุบัน ทุ่งทานตะวันอันกว้างใหญ่มีอยู่ทั่วไปในหลายประเทศตลอดทั่วโลก.
หันตามตะวัน
ดอกทานตะวันหันตามดวงอาทิตย์จริง ๆ หรือ? ใช่แล้ว! ทั้งใบและดอกของมันจะหันไปหาแสงตะวัน. ต้นทานตะวันจะเก็บสารออกซินไว้ ซึ่งเป็นฮอร์โมนของพืชที่ควบคุมการเจริญเติบโต. สารออกซินจะมีมากในด้านที่ถูกบังจากแสงและทำให้ลำต้นงอกขึ้นไปในทิศทางด้านที่มีแสง. แต่พอดอกทานตะวันบานเต็มที่แล้ว มันก็ไม่หันไปหาแสงอาทิตย์อีกต่อไป แต่มักจะหันไปทางทิศตะวันออกอยู่อย่างนั้นตลอด.
ชื่อลาตินของทานตะวัน (Helianthus annuus) มาจากคำภาษากรีกซึ่งแปลว่า “ดวงอาทิตย์” กับ “ดอกไม้” และจากคำภาษาลาตินซึ่งแปลว่า “ประจำปี.” ตามปกติต้นทานตะวันจะสูงประมาณสองเมตร แต่มีบางชนิดที่มีขนาดใหญ่มากอาจสูงกว่านั้นถึงสองเท่า. มันมีก้านแข็งและมีใบหยาบ ๆ สีเขียว ส่วนบนยอดนั้นก็มีดอกกลมใหญ่ซึ่งมีกลีบดอกสีเหลืองสดล้อมรอบ. กลีบดอกเหล่านี้ล้อมส่วนที่อยู่ใจกลางเอาไว้ซึ่งมีสีคล้ำและประกอบด้วยดอกทรงกระบอกเล็ก ๆ. เมื่อแมลงมาผสมเกสรให้ ดอกเล็ก ๆ เหล่านี้ก็จะกลายเป็นเมล็ดที่กินได้. ส่วนที่อยู่ใจกลางดอกทานตะวันอาจมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 5 ถึง 50 เซนติเมตร และอาจมีเมล็ดตั้งแต่ 100 ถึง 8,000 เมล็ด.
พืชสกุลนี้มีหลายสิบชนิด และเวลานี้มีการผสมพันธุ์ใหม่ ๆ ตลอด. ตามปกติแล้ว มีเพียงสองชนิดที่ปลูกเพื่อการเกษตร. ชนิดหนึ่งคือเฮลิอันทุส อันนูส (Helianthus annuus) ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกเพื่อสกัดน้ำมันดอกทานตะวัน. อีกชนิดหนึ่งคือเฮลิอันทุส ทูเบอโรซุส (Helianthus tuberosus) หรือที่เรียกว่าทานตะวันหัว ซึ่งปลูกเพื่อเอาหัวที่คล้ายกับหัวมันฝรั่ง. มีการใช้หัวของพืชชนิดนี้เป็นอาหารสัตว์และใช้ผลิตน้ำตาลและแอลกอฮอล์.
คุณค่าทางเศรษฐกิจ
ทานตะวันในปัจจุบันส่วนใหญ่มีการเพาะปลูกเพื่อเอาเมล็ด ซึ่งสามารถนำไปผลิตน้ำมันคุณภาพเยี่ยม. มีการใช้น้ำมันดอกทานตะวันในการทำอาหาร, เป็นน้ำสลัด, และทำเนยเทียม. เมล็ดทานตะวันมีคุณค่าทางโภชนาการสูง คือมีโปรตีน 18 ถึง 22 เปอร์เซ็นต์และมีสารอาหารอื่น ๆ ด้วย.
หลายคนชอบกินเมล็ดดอกทานตะวันคั่วใส่เกลือเล็กน้อยเป็นของว่าง. มีการใช้แป้งที่ทำจากเมล็ดนี้ในการทำขนมอบ. นอกจากนั้น น้ำมันดอกทานตะวันยังเป็นส่วนผสมในน้ำยาสระผม, ขี้ผึ้งทาริมฝีปาก, ครีมทามือ, ครีมทาผิว, และผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอ่อน. น้ำมันนี้ยังใช้ในการผลิตน้ำมันเครื่องจักรอุตสาหกรรมด้วย. เมล็ดดอกทานตะวันยังใช้เป็นอาหารนกและอาหารของสัตว์เล็กอีกด้วย.
ทุ่งทานตะวันเป็นเหมือนกับอุทยานของผึ้ง—ทุ่งทานตะวันขนาดหกไร่อาจผลิตน้ำผึ้งได้ตั้งแต่ 25 ถึง 50 กิโลกรัม. เมื่อการเก็บดอกทานตะวันเสร็จสิ้นลงแล้ว ก้านที่ยังเหลืออยู่จะมีเซลลูโลสประมาณ 43 ถึง 48 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตกระดาษและผลิตภัณฑ์อย่างอื่น. ส่วนที่เหลือของต้นทานตะวันก็นำไปเป็นอาหารสัตว์หรือเป็นปุ๋ยได้.
แน่นอนทีเดียว ทานตะวันเป็นของประทานที่มีค่าต่อมนุษย์มากมายจริง ๆ. ความงามของดอกทานตะวันเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดผลงานทางศิลปะมากมาย เช่น ภาพวาดที่ชื่อ “ทานตะวัน” (“Sunflowers”) ของฟินเซนต์ ฟาน ก็อก. ไม่ว่าจะขึ้นที่ไหน ก็ดูเหมือนว่าดอกทานตะวันทำให้แสงตะวันสาดส่องเข้ามาในบ้านเรือนและในสวนของเรา. เราอาจนึกถึงดอกที่เบ่งบานสดใสและมีประโยชน์มากมายเมื่อเราอ่านถ้อยคำของผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญที่ว่า “ข้าแต่พระยะโฮวาพระเจ้าของข้าพเจ้า, พระองค์ทรงกระทำการอัศจรรย์มาก, พระดำริของพระองค์มีต่อพวกข้าพเจ้ามากมาย . . . การเหล่านั้นก็เหลือที่จะนับได้.”—บทเพลงสรรเสริญ 40:5.