ฉันจะเลิกทำร้ายตัวเองได้อย่างไร?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
ฉันจะเลิกทำร้ายตัวเองได้อย่างไร?
“ความปวดร้าวของฉันหนักเกินจะควบคุมได้. แล้วฉันก็พบสิ่งที่สามารถควบคุมได้ สิ่งนั้นคือความเจ็บปวดทางกาย.”—เจนนิเฟอร์, อายุ 20 ปี. *
“ยามใดฉันรู้สึกวุ่นวายใจ ฉันจะกรีดเนื้อตัวเอง. มันเป็นวิธีร้องไห้ของฉัน. แล้วหลังจากนั้นก็จะรู้สึกสบายใจ.”—เจสสิกา, อายุ 17 ปี.
“ตอนนี้ผ่านมาสองสัปดาห์ที่ฉันไม่ได้กรีดเนื้อตัวเองอย่างที่เคยทำ. นับว่านานทีเดียวสำหรับฉัน. ฉันคิดว่าคงไม่มีวันที่ฉันจะเลิกได้จริง ๆ หรอก.”—เจมี, อายุ 16 ปี.
เจนนิเฟอร์, เจสสิกา, และเจมีต่างคนไม่รู้จักกัน แต่พวกเธอมีหลายอย่างที่คล้ายกัน. ทั้งสามคนมีความรู้สึกปวดร้าว. และสามคนนี้นำเอาวิธีเดียวกันมาใช้รับมือกับความสิ้นหวังของตัวเอง. เจนนิเฟอร์, เจสสิกา, และเจมีพบวิธีบรรเทาชั่วคราวด้วยการทำร้ายตัวเอง. *
แม้ว่าอาจจะดูเป็นเรื่องแปลก แต่การทำร้ายตัวเอง ซึ่งรวมถึงการกรีดเนื้อตัวเองก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาจนน่าประหลาดใจในหมู่วัยรุ่นและผู้ที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่. หนังสือพิมพ์แนชันแนล โพสต์ของแคนาดาให้ข้อสังเกตว่าพฤติกรรมแบบนี้ “ทำให้พ่อแม่รู้สึกตื่นตระหนก ยากที่ผู้ให้คำปรึกษาหรืออาจารย์แนะแนวที่โรงเรียนจะเข้าใจได้ และเป็นการท้าทายความสามารถของแพทย์.” หนังสือนั้นกล่าวอีกด้วยว่า การทำร้ายตัวเอง “อาจกลายเป็นสิ่งเสพติดชนิดร้ายแรงที่สุดอย่างหนึ่งที่รู้จักกันในวงการแพทย์.” คุณหรือคนใกล้ชิดบางคนตกเป็นทาสนิสัยนี้ไหม? หากเป็นเช่นนั้น คุณสามารถจะทำอะไรได้?
ประการแรก พยายามมองหาสาเหตุว่าทำไมคุณคิดอยากทำร้ายตัวเอง. จำไว้ว่า การกรีดเลือดกรีดเนื้อตัวเองไม่ได้เป็นเพียงอาการทางประสาท. โดยปกติแล้ว นั่นเป็นวิธีจัดการกับความเครียดบางอย่าง. คนที่ทำร้ายตัวเองใช้ความเจ็บปวดทางกายบรรเทาทุกข์ทางใจ. ดังนั้น จงถามตัวเองว่า ‘ฉันทำให้ตัวเองบาดเจ็บเพื่อวัตถุประสงค์อะไร? ฉันกำลังคิดเรื่องอะไรอยู่ตอนที่ฉันรู้สึกอยากกรีดเนื้อตัวเอง?’ มีสถานการณ์ใด ๆ ในชีวิตที่ทำให้คุณทุกข์ใจไหม บางทีอาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวหรือเพื่อน ๆ ของคุณ?
แน่นอน การตรวจสอบตัวเองเช่นนั้นต้องอาศัยความกล้า. แต่จะได้รับประโยชน์มากมาย. บ่อยครั้ง นี่คือขั้นแรกที่จะหยุดยั้งนิสัยชอบทำร้ายตัวเองได้. อย่างไรก็ดี สิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำไม่ได้มีแค่การเปิดเผยต้นตอของนิสัยดังกล่าว.
ประโยชน์ของการปรับทุกข์
หากคุณยอมจำนนต่อการทำร้ายตัวเอง คุณจะได้รับประโยชน์หากคุณเล่าความรู้สึกที่รบกวนใจให้เพื่อนที่คุณไว้วางใจและมีความเข้าใจอย่างผู้ใหญ่ได้รับรู้. สุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ความหนักใจทำให้คนท้อใจลง; แต่คำปรานีทำให้คนเบิกบานใจ.” (สุภาษิต 12:25) การปรับทุกข์กับคนอื่นอาจทำให้คุณมีโอกาสรับฟังคำปลอบประโลม ซึ่งเป็นถ้อยคำที่คุณต้องการ.—สุภาษิต 25:11.
คุณควรหันเข้าหาใครล่ะ? คงจะดีหากเลือกคนที่มีอายุมากกว่าซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมีสติปัญญา, ความอาวุโส, และความเห็นอกเห็นใจ. คริสเตียนได้รับประโยชน์จากพวกผู้ปกครองในประชาคม ผู้เป็น “เหมือนที่หลบซ่อนให้พ้นลมและที่กำบังจากพายุฝน เหมือนสายธารในประเทศที่แล้งน้ำ เหมือนร่มเงาแห่งหินผาใหญ่ในแดนกันดาร.”—ยะซายา 32:2, ล.ม.
จริงอยู่ ความคิดในเรื่องที่จะเผยความลับแก่ใครบางคนอาจดูน่าตกใจ. บางทีคุณอาจจะรู้สึกเช่นเดียวกับซารา. เธอยอมรับว่า “ทีแรก ฉันรู้สึกว่ายากที่จะไว้ใจใครสักคน. ฉันคิดว่าพอคนอื่นรู้—คือรู้จักตัวจริงของฉัน—พวกเขาคงจะถอยหนีด้วยความรู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์.” อย่างไรก็ดี โดยการปรับทุกข์นี้เอง ซาราจึงได้มาเข้าใจความจริงของคัมภีร์ไบเบิลในพระธรรมสุภาษิต 18:24 ที่กล่าวว่า “มิตรสหายที่สนิทยิ่งกว่าพี่น้องก็มี.” เธอพูดว่า “พี่น้องคริสเตียนผู้มีวุฒิภาวะที่ฉันปรับทุกข์ด้วยนั้นไม่เคยตำหนิเรื่องที่ฉันชอบทำร้ายตัวเอง. แทนที่เขาจะตำหนิ พวกเขากลับช่วยให้คำแนะนำที่ใช้การได้แก่ฉัน. พวกเขาได้หาเหตุผลกับฉันโดยใช้ข้อคัมภีร์ต่าง ๆ, ให้ความมั่นใจแก่ฉันด้วยความอดทนในยามที่ฉันรู้สึกห่อเหี่ยว, และรู้สึกไร้ค่าเป็นที่สุด.”
คุณลองพูดเรื่องที่คุณชอบทำร้ายตัวเองกับใครบางคนดูสิ. ถ้าคุณไม่กล้าพูดกับเขาโดยตรง ก็ลองเขียนจดหมายหรือคุยทางโทรศัพท์ก็ได้. การปรับทุกข์อาจเป็นขั้นตอนที่ดีซึ่งจะช่วยให้คุณฟื้นตัวได้. เจนนิเฟอร์บอกว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือการรู้ว่ามีคนห่วงใยฉันจริง ๆ มีคนที่ฉันสามารถพูดคุยได้ในยามที่รู้สึกสิ้นหวัง.” *
ความสำคัญของการอธิษฐาน
ดอนนาอยู่ในสภาพที่หาทางออกไม่ได้. ใจหนึ่งเธอก็รู้สึกว่าจำเป็นต้องรับการช่วยเหลือจากพระเจ้า. อีกใจหนึ่งเธอคิดว่าพระองค์คงไม่พอพระทัยจะให้ความช่วยเหลือ จนกว่าเธอจะเลิกกรีดเลือดกรีดเนื้อตัวเอง. แต่อะไรได้ช่วยดอนนา? ปัจจัยหนึ่งได้แก่การคิดรำพึงถึงข้อคัมภีร์ที่ 1 โครนิกา 29:17 (ล.ม.) ซึ่งเรียกพระยะโฮวา “เป็นผู้ตรวจดูหัวใจ.” ดอนนาพูดดังนี้: “พระยะโฮวาทรงทราบว่าในหัวใจของฉัน จริง ๆ แล้ว ฉันต้องการเลิกทำร้ายตัวเอง. ครั้นฉันเริ่มอธิษฐานทูลขอความช่วยเหลือจากพระองค์ ช่างเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ทีเดียว. ฉันค่อย ๆ เข้มแข็งขึ้น.”
ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเคยประสบความยากลำบากหลายครั้งได้เขียนว่า “จงปล่อยภาระของท่านไว้กับพระยะโฮวา และพระองค์เองจะทรงค้ำจุนท่าน.” (บทเพลงสรรเสริญ 55:22, ล.ม.) ถูกแล้ว พระยะโฮวาทรงทราบความทุกข์ยากของคุณ. ยิ่งกว่านั้น “พระองค์ทรงใฝ่พระทัยในท่าน.” (1 เปโตร 5:7, ล.ม.) ถ้าหัวใจคุณตำหนิตัวเอง จงระลึกว่าพระเจ้าทรงเป็น “ใหญ่กว่าหัวใจเราและทรงทราบทุกสิ่ง.” ใช่แล้ว พระองค์ทรงเข้าใจสาเหตุที่คุณทำร้ายตัวเองและทำไม คุณรู้สึกว่ายากที่จะเลิก. (1 โยฮัน 3:19, 20, ล.ม.) ถ้าคุณเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยการอธิษฐานและบากบั่นเพื่อเอาชนะนิสัยนี้ พระองค์ ‘จะช่วยคุณ.’—ยะซายา 41:10.
แต่ถ้าคุณหวนกลับไปทำอย่างเดิมอีกล่ะ? นี่จะหมายความว่าคุณประสบความล้มเหลวไหม? ไม่เลย! สุภาษิต 24:16 (ล.ม.) กล่าวดังนี้: “คนชอบธรรมอาจล้มถึงเจ็ดครั้ง และเขาจะลุกขึ้นเป็นแน่.” เมื่อคิดใคร่ครวญข้อคัมภีร์นี้ ดอนนาพูดว่า “ฉันล้มมาแล้วเกินเจ็ดครั้ง แต่ฉันไม่หมดหวัง.” ดอนนาเห็นว่าความเพียรพยายามเป็นสิ่งจำเป็น. คาเรนก็เป็นเช่นเดียวกัน. เธอกล่าวว่า “ฉันเรียนรู้ที่จะมองว่าการหวนกลับไปทำอย่างเดิมอีกเป็นการสะดุดล้มชั่วคราว ไม่ใช่ความล้มเหลว และจะต้องเริ่มต้นใหม่อีกกี่ครั้งก็สุดแล้วแต่ความจำเป็น.”
เมื่อจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น
พระเยซูทรงตระหนักว่า “คนเจ็บต้องการหมอ.” (มาระโก 2:17) ในหลายกรณี นับว่าจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติทางด้านร่างกายหรือทางจิตใจซึ่งเป็นสาเหตุพื้นฐานของการทำร้ายตัวเองหรือไม่ แล้วจึงให้การบำบัดรักษา. * เจนนิเฟอร์เลือกที่จะรับเอาการช่วยเหลือดังกล่าว ควบคู่กับการสนับสนุนที่เธอได้รับจากคริสเตียนผู้ดูแลที่เปี่ยมด้วยความรัก. เธอพูดว่า “ผู้ปกครองในประชาคมไม่ใช่หมอ แต่พวกเขาได้ให้ความช่วยเหลือมากเหลือเกิน. ถึงแม้ความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเองจะเกิดขึ้นบางครั้ง แต่ฉันก็สามารถข่มห้ามความรู้สึกนั้นได้ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา, จากประชาคม, และทักษะในการรับมือกับความรู้สึกดังกล่าวที่ฉันได้เรียนรู้.” *
ขอให้คุณมั่นใจว่าคุณสามารถเรียนรู้วิธีรับมือกับปัญหาอย่างที่มีประสิทธิผลมากกว่า แทนที่จะใช้วิธีทำร้ายตัวเอง. จงอธิษฐานอย่างที่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้ทูลขอ ที่ว่า “ขอทรงตั้งย่างเท้าของข้าพเจ้าไว้ให้ดำเนินตามพระดำรัสของพระองค์; และขออย่าให้การอสัตย์อธรรมประการใด ๆ [“สิ่งใด ๆ อันทำให้เกิดความเจ็บปวด,” ล.ม.] ครอบงำข้าพเจ้าไว้เลย.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:133) แน่นอน คุณจะมีความสุขใจและมีความนับถือตัวเองเมื่อคุณสามารถควบคุมนิสัยนี้ได้ แล้วมันจะไม่มีทางกลับมาครอบงำคุณอีกต่อไป.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 บางชื่อในบทความเป็นนามสมมุติ.
^ วรรค 6 เพื่อจะได้ข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเอง เป็นต้นว่า—สิ่งนี้หมายรวมถึงอะไรและอะไรเป็นต้นเหตุ—โปรดดูบทความ “หนุ่มสาวถามว่า . . . ทำไมฉันทำร้ายตัวเอง?” ในวารสารตื่นเถิด! ฉบับเดือนมกราคม 2006.
^ วรรค 14 คุณอาจฝึกเขียนระบายความรู้สึกของคุณออกมาเป็นถ้อยคำ. ผู้เขียนพระธรรมเพลงสรรเสริญในคัมภีร์ไบเบิลเป็นคนมีความรู้สึกแรงกล้า ท่านใช้ถ้อยคำแสดงอารมณ์ความรู้สึกในใจ ไม่ว่าความสำนึกผิด, ความโกรธ, ความคับข้องใจ, และความเสียใจ. เพื่อเป็นตัวอย่าง คุณอาจจะอยากทบทวนบทเพลงสรรเสริญบท 6, 13, 42, 55, และบท 69.
^ วรรค 20 บางครั้ง การทำร้ายตัวเองเป็นผลข้างเคียงของอาการอีกอย่างหนึ่ง เช่น อาการซึมเศร้า, อาการผิดปกติทางอารมณ์ [โรคไบโพลาร์], อาการย้ำคิดย้ำทำ, หรือความผิดปกติในการกิน. วารสารตื่นเถิด! ไม่ได้สนับสนุนการบำบัดรักษาอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ. คริสเตียนควรพิจารณาให้รอบคอบว่าการบำบัดรักษาแบบใดก็ตามที่พวกเขาเลือกนั้นต้องไม่ขัดต่อหลักการของคัมภีร์ไบเบิล.
^ วรรค 20 วารสารตื่นเถิด! ฉบับก่อน ๆ มีบทความเกี่ยวข้องกับเรื่องต่าง ๆ ที่มักจะแฝงเร้นอยู่เบื้องหลังการทำร้ายตัวเอง. ยกตัวอย่าง โปรดดูชุดบทความ “การเข้าใจความผิดปกติทางอารมณ์” (ฉบับ 8 มกราคม 2004), “การช่วยเหลือวัยรุ่นที่ซึมเศร้า” (ฉบับ 8 กันยายน 2001), และความผิดปกติในการกิน—อะไรอยู่เบื้องหลัง? (ฉบับ 22 มกราคม 1999, ภาษาอังกฤษ), รวมถึงบทความ “หนุ่มสาวถามว่า . . . บิดาหรือมารดาติดสุรา—ฉันจะรับมือได้อย่างไร?” (ฉบับ 8 สิงหาคม 1992).
เรื่องที่พึงคิด
▪ มีทางเลือกอะไรบ้างแทนที่จะกรีดเนื้อตัวเอง เมื่อคุณรู้สึกหมดหวัง?
▪ คุณสามารถระบายความในใจกับใครได้บ้าง ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องการทำร้ายตัวเอง?
[กรอบหน้า 20]
การช่วยเหลือคนที่ทำร้ายตัวเอง
คุณจะช่วยสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนที่มีปัญหาเรื่องการทำร้ายตัวเองได้โดยวิธีใด? เนื่องจากผู้ประสบปัญหานี้อาจอยู่ในสภาพที่ต้องการคนที่ไว้ใจเป็นอย่างมาก คุณจึงควรตั้งใจฟังสิ่งที่เขาพูด. จงพยายามเป็น “มิตรแท้ . . . ผู้ซึ่งเกิดมาเพื่อยามที่มีความทุกข์ยาก.” (สุภาษิต 17:17, ล.ม.) จริงอยู่ ความรู้สึกแรกของคุณอาจเป็นความตื่นตระหนก และขอร้องให้ผู้นั้นหยุดทำร้ายตัวเองทันที. แต่การทำเช่นนั้นยิ่งจะทำให้ผู้ทำร้ายตัวเองถอยห่างไปจากคุณ. นอกจากนั้น จำเป็นต้องทำมากกว่าแค่บอกให้เขาเลิกทำร้ายตัวเอง. จะต้องอาศัยความหยั่งเห็นเข้าใจในการช่วยผู้ทำร้ายตัวเองให้เรียนรู้วิธีใหม่เพื่อรับมือกับปัญหานั้นได้. (สุภาษิต 16:23) นั่นคงต้องอาศัยเวลาบ้าง. ดังนั้น จงอดทน. จง “ว่องไวในการฟัง ช้าในการพูด.”—ยาโกโบ 1:19.
หากคุณเป็นคนหนุ่มสาว อย่าทึกทักว่าลำพังคุณเองจะสามารถช่วยผู้ที่ทำร้ายตัวเองได้. จำไว้ว่า อาจมีปัญหาหรือความผิดปกติซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษา. นอกจากนี้ การทำร้ายตัวเองอาจเป็นการคุกคามชีวิต แม้คนที่ทำร้ายตัวเองไม่ได้มีเจตนาจะฆ่าตัวตาย. เช่นนั้นแล้ว นับว่าสุขุมรอบคอบที่จะเตือนผู้ที่ชอบกรีดเนื้อตัวเองให้นำเรื่องนี้ไปปรึกษาผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ มีความรักและห่วงใย.
[ภาพหน้า 19]
อย่าประมาณค่าการระบายความในใจแก่คนที่รักคุณและความสำคัญของการอธิษฐานต่ำเกินไป