ชาวอังกฤษรุ่นแรก ๆ ที่ตั้งรกรากในอเมริกา—พวกเขาเป็นใคร?
ชาวอังกฤษรุ่นแรก ๆ ที่ตั้งรกรากในอเมริกา—พวกเขาเป็นใคร?
บนชายฝั่งอเมริกาเหนือที่เมืองพลีมัท มลรัฐแมสซาชูเซตส์ มีหินแกรนิตใหญ่ก้อนหนึ่งซึ่งสลักตัวเลข 1620 ไว้บนหิน. เป็นที่เชื่อถือกันอย่างกว้างขวางว่าหินก้อนนี้ ซึ่งมีชื่อว่าพลีมัท ร็อก อยู่ใกล้กับจุดที่ชาวยุโรปกลุ่มหนึ่งเคยขึ้นบกที่ชายหาดนี้เมื่อเกือบ 400 ปีมาแล้ว. ชาวยุโรปกลุ่มดังกล่าวคือพวกพิลกริม ซึ่งเป็นชาวอังกฤษรุ่นแรก ๆ ที่ตั้งรกรากในอเมริกา.
หลายคนเคยได้ยินเรื่องเล่าที่ว่า พวกพิลกริมเชิญเพื่อนชาวอเมริกันพื้นเมืองมารับประทานอาหารมื้อใหญ่ด้วยกัน. แต่พวกพิลกริมเป็นใคร และเหตุใดพวกเขาจึงมาที่อเมริกาเหนือ? เพื่อจะได้คำตอบ ให้เราย้อนกลับไปในสมัยของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ.
ความวุ่นวายทางศาสนาในอังกฤษ
ประมาณเกือบ 100 ปีก่อนที่พวกพิลกริมจะแล่นเรือไปอเมริกา อังกฤษเป็นดินแดนแห่งนิกายโรมันคาทอลิกและกษัตริย์เฮนรีที่ 8 ก็ได้รับการแต่งตั้งจากโปปให้เป็นผู้พิทักษ์ศาสนา. แต่ความแตกแยกเริ่มเกิดขึ้นเมื่อโปปเคลเมนต์ที่ 7 ไม่ยอมให้พระองค์หย่าขาดจากคัธรีนแห่งอารากอน มเหสีคนแรกในจำนวนหกคนของพระองค์.
ช่วงที่กษัตริย์เฮนรีกำลังคิดว่าจะจัดการกับปัญหาครอบครัวอย่างไร คริสตจักรโรมันคาทอลิกส่วนใหญ่ในยุโรปกำลังเกิดความสับสนวุ่นวายเพราะการปฏิรูปโปรเตสแตนต์. เนื่องจากไม่ต้องการสูญเสียตำแหน่งอันทรงเกียรติที่คริสตจักรมอบให้ ทีแรกกษัตริย์เฮนรีไม่ยอมให้พวกนักปฏิรูปเข้ามาในประเทศอังกฤษ. แต่แล้วพระองค์ก็เปลี่ยนพระทัย. เนื่องจากคริสตจักรคาทอลิกไม่ยอมให้พระองค์หย่า ดังนั้น กษัตริย์เฮนรีจึงตัดสินพระทัยยุบคริสตจักรคาทอลิก. ในปี 1534 พระองค์ตัดอำนาจของโปปที่มีเหนือชาวคาทอลิกในอังกฤษ และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นประมุขของคริสตจักรแห่งอังกฤษ. ในไม่ช้า พระองค์ก็ปิดอารามต่าง ๆ ของคาทอลิกและขายทรัพย์สินที่ดินมากมายของอารามเหล่านั้น. เมื่อกษัตริย์เฮนรีสิ้นพระชนม์ในปี 1547 อังกฤษก็กลายเป็นประเทศที่นับถือศาสนาโปรเตสแตนต์.
ในสมัยของกษัตริย์เอดเวิร์ดที่ 6 โอรสของกษัตริย์เฮนรี อังกฤษยังคงตัดขาดจากโรม. หลังจากกษัตริย์เอดเวิร์ดสิ้นพระชนม์ในปี 1553 พระนางแมรี ราชธิดาของกษัตริย์เฮนรีกับพระนางคัธรีนแห่งอารากอน ซึ่งนับถือนิกายโรมันคาทอลิกก็ได้ขึ้นครองบัลลังก์ และพยายามทำให้อังกฤษกลับมาอยู่ใต้อำนาจของโปปอีก. พระนางเนรเทศชาวโปรเตสแตนต์จำนวนมากและเผาประชาชนบนหลักมากกว่า 300 คน ทำ
ให้พระนางได้รับสมญานามว่า แมรีผู้กระหายเลือด. แต่พระนางก็ไม่สามารถหยุดยั้งกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงได้. พระนางแมรีสิ้นพระชนม์ในปี 1558 และผู้ขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากพระนางคือ เอลิซาเบทที่ 1 พระขนิษฐาต่างมารดา ราชินีองค์นี้ทำให้แน่ใจว่าโปปจะไม่มีทางกลับมามีอิทธิพลเหนือศาสนาในอังกฤษอีกต่อไป.อย่างไรก็ตาม ชาวโปรเตสแตนต์บางคนรู้สึกว่า เพียงแค่แยกตัวจากคริสตจักรแห่งโรมเท่านั้นยังไม่พอ ร่องรอยทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับคริสตจักรโรมันคาทอลิกจะต้องถูกกำจัดให้หมด. พวกเขาต้องการให้รูปแบบการนมัสการในคริสตจักรบริสุทธิ์ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงถูกเรียกว่าพิวริทัน (Puritans). พวกพิวริทันบางคนไม่ต้องการให้มีบิชอปและรู้สึกว่าแต่ละกลุ่มควรปกครองตนเองโดยแยกตัวจากคริสตจักรแห่งอังกฤษ พวกเขาถูกเรียกว่า ผู้ที่แยกตัวอยู่ต่างหาก (Seperatists).
ในสมัยราชินีเอลิซาเบท พวกพิวริทันที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์คริสตจักรเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น. ราชินีเกิดความไม่พอพระทัยชุดที่นักเทศน์นักบวชบางคนใส่ในเวลาที่ประกอบพิธี และในปี 1564 พระนางมีรับสั่งให้อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีกำหนดมาตรฐานรูปแบบเสื้อผ้าของนักบวช. เมื่อพวกพิวริทันเล็งเห็นว่าพวกเขาอาจต้องกลับไปใส่ชุดแบบเดียวกับบาทหลวงของคาทอลิก พวกเขาจึงปฏิเสธ. เกิดความขัดแย้งมากขึ้นเกี่ยวกับระบบการลำดับชั้นของบิชอปและอาร์ชบิชอปแบบเดิม. เอลิซาเบทให้มีตำแหน่งบิชอปอยู่ต่อไปและเรียกร้องให้พวกเขาสาบานว่าจะจงรักภักดีและยกให้พระนางเป็นประมุขแห่งคริสตจักร.
จากผู้ที่แยกตัวอยู่ต่างหากกลายเป็นพิลกริม
กษัตริย์เจมส์ที่ 1 ครองบัลลังก์ต่อจากเอลิซาเบทในปี 1603 และพระองค์กดดันพวกที่แยกตัวอยู่ต่างหากอย่างหนักให้ยอมรับอำนาจของพระองค์. ในปี 1608 พวกที่แยกตัวอยู่ต่างหากในเมืองสครูบีหนีไปยังฮอลแลนด์เพราะได้ยินว่าประเทศนั้นให้เสรีภาพ. แต่ต่อมา เนื่องจากชาวฮอลแลนด์ยอมให้มีศาสนาอื่นและยอมทนกับความเสื่อมทรามทางศีลธรรม ผู้ที่แยกตัวอยู่ต่างหากกลุ่มนี้จึงรู้สึกลำบากใจยิ่งกว่าตอนที่อยู่ในอังกฤษ. พวกเขาตัดสินใจออกจากยุโรปและเริ่มต้นชีวิตใหม่ในอเมริกาเหนือ. ความตั้งใจของพวกเขาที่จะเดินทางไกลจากบ้านเกิดเมืองนอนเพราะเห็นแก่ความเชื่อทำให้พวกเขาถูกขนานนามว่าพิลกริม (นักเดินทาง).
พวกพิลกริม ซึ่งรวมถึงพวกที่แยกตัวอยู่ต่างหากหลายคน ได้รับอนุญาตให้ตั้งรกรากที่เวอร์จิเนียซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และเริ่มออกเดินทางไปอเมริกาเหนือในเดือนกันยายนปี 1620 โดยเรือชื่อว่าเมย์ฟลาวเวอร์. ผู้ใหญ่และเด็กประมาณ 100 คนใช้เวลาล่องเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือในช่วงฤดูมรสุมประมาณ 2 เดือนก่อนที่จะมาถึงแหลมคอด ซึ่งอยู่ห่างจากมลรัฐเวอร์จิเนียไปทางเหนือประมาณ 800 กิโลเมตร. ที่แหลมคอดนั้นเอง พวกเขาได้เขียนข้อตกลงเมย์ฟลาวเวอร์ ซึ่งเป็นเอกสารที่แถลงว่าพวกเขาปรารถนาจะตั้งชุมชนและยอมอยู่ภายใต้กฎหมายของชุมชนนั้น. ในวันที่ 21 ธันวาคม 1620 พวกเขาได้ลงหลักปักฐานบริเวณใกล้กับเมืองพลีมัทในปัจจุบัน.
การเริ่มชีวิตใน “โลกใหม่”
ผู้ลี้ภัยเหล่านี้มายังอเมริกาเหนือโดยไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับฤดูหนาว. ภายในไม่กี่เดือน กลุ่มผู้อพยพครึ่งหนึ่งก็เสียชีวิต. แต่พอถึงฤดูใบไม้ผลิ สถานการณ์ก็คลี่คลายลง. ผู้รอดชีวิตสร้างบ้านแบบพออยู่ได้และเรียนรู้วิธีปลูกพืชผลท้องถิ่นจากชาวอเมริกันพื้นเมือง. พอถึงฤดูใบไม้ร่วงปี 1621 พวกพิลกริมมีฐานะมั่งคั่งขึ้นจนเป็นเหตุให้พวกเขาสามารถแบ่งเวลาไว้เพื่อขอบคุณพระเจ้าที่ทรงอวยพรพวกเขา. จากโอกาสนั้นก็พัฒนาไปเป็นวันหยุดเทศกาลที่รู้จักกันว่า วันขอบคุณพระเจ้า ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นวันหยุดที่มีการเฉลิมฉลองกันทั้งในสหรัฐและประเทศอื่น ๆ. มีผู้อพยพตามมาสมทบมากขึ้นจนทำให้เมืองพลีมัทมีประชากรมากกว่า 2,000 คนภายในเวลาไม่ถึง 15 ปี.
ในระหว่างนั้น ที่ประเทศอังกฤษ พวกพิวริทันบางคนตัดสินใจตามหา “แผ่นดินแห่งคำสัญญา” ของพวกเขาที่อยู่อีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก เหมือนกับพวกผู้ที่แยก
ตัวอยู่ต่างหากได้ทำ. ในปี 1630 มีคนกลุ่มหนึ่งเดินทางมาถึงเขตทางเหนือของเมืองพลีมัทและตั้งถิ่นฐานในอาณานิคมแมสซาชูเซตส์ เบย์. ในปี 1640 มีผู้อพยพชาวอังกฤษประมาณ 20,000 คนอาศัยอยู่ในนิวอิงแลนด์ (อเมริกาเหนือ). หลังจากอาณานิคมแมสซาชูเซตส์ เบย์ยึดครองอาณานิคมพลีมัทในปี 1691 พวกพิลกริมที่เคยแยกตัวอยู่ต่างหากเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป. บอสตันกลายเป็นศูนย์กลางการนมัสการของภูมิภาคนั้น เนื่องจากตอนนั้นพวกพิวริทันเป็นนิกายที่โดดเด่นกว่าศาสนาอื่นในนิวอิงแลนด์. พวกเขามีการนมัสการอย่างไร?การนมัสการของนิกายพิวริทัน
ทีแรก พวกพิวริทันใน “โลกใหม่” หรืออเมริกาตามที่ชาวยุโรปเรียกกันในสมัยนั้น ได้สร้างสถานที่ประชุมด้วยไม้และประชุมร่วมกันในเช้าวันอาทิตย์. ภายในของสถานที่ประชุมนี้ใช้การได้ทีเดียวในช่วงที่อากาศดี แต่การนมัสการในช่วงฤดูหนาวก็ถือเป็นเรื่องยากสำหรับพวกพิวริทัน แม้แต่สำหรับคนที่เคร่งครัดที่สุด. สถานที่ประชุมไม่มีอะไรสักอย่างที่ช่วยให้ความอบอุ่น และในไม่ช้าสมาชิกที่มาประชุมก็ตัวสั่นด้วยความหนาว. นักเทศน์มักจะสวมถุงมือเพื่อป้องกันไม่ให้มือที่ต้องใช้ออกท่าทางแข็งเพราะอากาศภายในห้องที่หนาวเหน็บ.
ข้อเชื่อของพวกพิวริทันมีพื้นฐานมาจากคำสอนของจอห์น แคลวิน นักปฏิรูปโปรเตสแตนต์ชาวฝรั่งเศส. พวกเขาเชื่อเรื่องพระเจ้าลิขิต และเชื่อว่าพระเจ้ากำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วว่าใครจะรอดและใครจะถูกสาปแช่งให้อยู่ในไฟนรกชั่วนิรันดร์. ไม่ว่าจะทำเช่นไร ผู้คนไม่อาจเปลี่ยนฐานะของตนจำเพาะพระเจ้าได้. ผู้คนไม่มีโอกาสรู้เลยว่า หลังจากเสียชีวิตแล้ว เขาจะได้ไปอยู่อย่างมีความสุขในสวรรค์หรือถูกเผาอยู่ในนรกตลอดกาล.
ต่อมา ผู้เผยแพร่นิกายพิวริทันเริ่มประกาศให้ผู้คนกลับใจ. พวกเขาเตือนว่า แม้พระเจ้าทรงกรุณา แต่คนที่ไม่เชื่อฟังกฎหมายของพระองค์จะต้องตกนรก. ผู้เผยแพร่เหล่านั้นพยายามเน้นเรื่องไฟนรกเพื่อบีบผู้คนให้เชื่อฟังกฎข้อบังคับของพวกเขา. ในศตวรรษที่ 18 ผู้เผยแพร่นามโจนาทาน เอดเวิดส์ ได้เทศนาเรื่อง “คนบาปในพระหัตถ์ของพระเจ้าผู้โกรธกริ้ว.” ในคำเทศน์นั้น เขาพรรณนาความน่าสะพรึงกลัวของนรกจนทำให้นักเทศน์คนอื่น ๆ ต้องช่วยกันปลอบใจเหล่าสมาชิกผู้หวาดกลัวที่ฟังคำเทศน์วันนั้น.
ผู้เผยแพร่ที่มาจากนอกเขตแมสซาชูเซตส์ซึ่งมาเผยแพร่ที่นั่นต้องทำงานด้วยความเสี่ยงอย่างมาก. พวกเจ้าหน้าที่เนรเทศแมรี ไดเออร์ ผู้เผยแพร่ของพวกเควกเกอร์ ออกไปจากอาณานิคมสามครั้งแต่เธอก็กลับมาใหม่ทุกครั้งและเผยแพร่ความเชื่อของตนต่อไป. ในวันที่ 1 มิถุนายน 1660 เธอถูกนำตัวไปแขวนคอในบอสตัน. อีกคนหนึ่ง
คือ ฟิลิป แรตคลิฟฟ์ ซึ่งคงจะลืมไปแล้วว่าผู้นำพิวริทันจัดการกับผู้ต่อต้านอย่างไร. เนื่องจากเขาประกาศต่อต้านรัฐบาลและคริสตจักรแห่งเมืองเซเลม เขาจึงถูกเฆี่ยนและเสียค่าปรับ. เพื่อต้องการให้ฟิลิปหลาบจำ พวกพิวริทันตัดหูของเขาก่อนจะปล่อยตัว. ความโหดเหี้ยมของพวกพิวริทันเป็นเหตุให้ผู้คนย้ายออกจากแมสซาชูเซตส์และทำให้อาณานิคมอื่นขยายใหญ่ขึ้น.ความหยิ่งยโสก่อให้เกิดความรุนแรง
เนื่องจากถือว่าตนเป็นผู้ที่พระเจ้าทรง “เลือก” พวกพิวริทันหลายคนจึงมองว่าชนพื้นเมืองเป็นคนชั้นต่ำที่มาอาศัยในที่ดินโดยไม่มีสิทธิ. ความคิดเช่นนี้สร้างความขุ่นเคือง และชนพื้นเมืองบางคนเริ่มบุกเข้าโจมตี. ดังนั้น ผู้นำนิกายพิวริทันจึงปรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวันซะบาโต โดยอนุญาตให้ผู้ชายถือปืนไปโบสถ์. พอถึงปี 1675 สถานการณ์เริ่มเลวร้ายลงเรื่อย ๆ.
เมื่อเห็นว่าฝ่ายของตนกำลังสูญเสียเขตแดน เมทาโกเมต ที่รู้จักกันในนามกษัตริย์ฟิลิปแห่งอินเดียนแดงเผ่าแวมพานักเริ่มจู่โจมเขตที่อยู่ของพวกพิวริทัน, เผาบ้าน, และสังหารหมู่ผู้ตั้งถิ่นฐาน. พวกพิวริทันตอบโต้กลับ ส่งผลให้การสู้รบยืดเยื้อนานหลายเดือน. ในเดือนสิงหาคม 1676 พวกพิวริทันจับกษัตริย์ฟิลิปได้ที่โรดไอแลนด์. พวกเขาตัดศีรษะและแยกร่างของกษัตริย์ฟิลิปเป็นสี่ส่วน. สงครามของกษัตริย์ฟิลิปและชีวิตอิสระของชนพื้นเมืองในนิวอิงแลนด์จึงสิ้นสุดลง.
ช่วงศตวรรษที่ 18 พวกพิวริทันแสดงความร้อนรนแบบใหม่. นักเทศน์บางคนในแมสซาชูเซตส์วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายของอังกฤษอย่างหนักและปลุกระดมให้ผู้คนเรียกร้องเอกราช. เมื่อหารือเรื่องการปฏิวัติ พวกเขาจะเอาเรื่องการเมืองมาปนกับศาสนา.
พวกพิวริทันมักจะขยันขันแข็ง, กล้าหาญ, และอุทิศตนเพื่อศาสนา. ผู้คนยังคงใช้สำนวนอังกฤษที่ว่า “บุคลิกแบบพิวริทัน” และ “ซื่อสัตย์แบบพิวริทัน.” แต่ความจริงใจเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้คนเราพ้นจากหลักคำสอนแบบผิด ๆ. การผสมเรื่องการเมืองเข้ากับศาสนาเป็นสิ่งที่พระเยซูทรงหลีกเลี่ยง. (โยฮัน 6:15; 18:36) และความโหดเหี้ยมขัดแย้งกับความจริงสำคัญที่ว่า “ผู้ที่ไม่รักก็ไม่รู้จักพระเจ้า, เพราะว่าพระเจ้าทรงเป็นความรัก.”—1 โยฮัน 4:8.
ศาสนาของคุณสอนเรื่องไฟนรก, พระเจ้าลิขิต, หรือหลักคำสอนอื่น ๆ ที่ไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์ไหม? ผู้นำศาสนาของคุณเข้าไปพัวพันกับการรณรงค์เพื่อการเมืองไหม? การศึกษาคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้าอย่างจริงใจจะช่วยคุณพบ “แบบแห่งการนมัสการที่สะอาดและปราศจากมลทิน” ซึ่งบริสุทธิ์และเป็นที่ยอมรับจากพระเจ้าอย่างแท้จริง.—ยาโกโบ 1:27, ล.ม.
[กรอบ/ภาพหน้า 13]
พวกพิวริทันและไฟนรก
พวกพิวริทันสอนเรื่องไฟนรกซึ่งขัดแย้งกับพระคำของพระเจ้า. คัมภีร์ไบเบิลสอนว่า คนตายไม่รู้สึกตัว ไม่รับรู้ถึงความเจ็บปวดหรือความสุข. (ท่านผู้ประกาศ 9:5, 10) ยิ่งกว่านั้น การทรมานด้วยไฟไม่เคยมีอยู่ในความคิดของพระเจ้าเที่ยงแท้. (ยิระมะยา 19:5; 1 โยฮัน 4:8) พระองค์วิงวอนผู้คนให้เปลี่ยนวิถีชีวิตและทรงปฏิบัติต่อคนทำผิดที่ไม่กลับใจในวิธีที่เมตตากรุณา. (ยะเอศเคล 33:11) ตรงข้ามกับความจริงเหล่านี้ในพระคัมภีร์ นักเทศน์ของพิวริทันมักจะพรรณนาว่าพระเจ้าโหดร้ายและอาฆาตแค้น. นอกจากนั้น พวกเขายังส่งเสริมเจตคติที่ไร้ความเมตตา รวมถึงการใช้กำลังเพื่อกำจัดผู้ต่อต้าน.
[ภาพหน้า 10]
พวกพิลกริมขึ้นบกที่อเมริกาเหนือในปี 1620
[ที่มาของภาพ]
Harper’s Encyclopædia of United States History
[ภาพหน้า 12]
การฉลองวันขอบคุณพระเจ้าครั้งแรกในปี 1621
[ภาพหน้า 12]
สถานที่ประชุมของพวกพิวริทันในแมสซาชูเซตส์
[ภาพหน้า 12]
จอห์น แคลวิน
[ภาพหน้า 12]
โจนาทาน เอดเวิดส์
[ภาพหน้า 13]
คู่สามีภรรยาพิวริทันถือปืนขณะเดินไปโบสถ์
[ที่มาของภาพหน้า 11]
Library of Congress, Prints & Photographs Division
[ที่มาของภาพหน้า 12]
Top left: Snark/Art Resource, NY; top right: Harper’s Encyclopædia of United States History; John Calvin: Portrait in Paul Henry’s Life of Calvin, from the book The History of Protestantism (Vol. II); Jonathan Edwards: Dictionary of American Portraits/Dover
[ที่มาของภาพหน้า 13]
Photos: North Wind Picture Archives