แม่น้ำเทมส์—มรดกอันล้ำค่าของอังกฤษ
แม่น้ำเทมส์—มรดกอันล้ำค่าของอังกฤษ
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในบริเตน
แม่น้ำเทมส์มีต้นกำเนิดมาจากลำธารสี่สายในเทือกเขาค็อตส์โวลด์อันงดงามทางภาคกลางตอนใต้ของอังกฤษ. แม่น้ำสายนี้ไหลคดเคี้ยวไปทางทิศตะวันออกเป็นระยะทาง 350 กิโลเมตร และมีแม่น้ำสายอื่นไหลมาบรรจบ จนกระทั่งออกสู่ทะเลเหนือผ่านทางปากแม่น้ำซึ่งมีความกว้างประมาณ 29 กิโลเมตร. แม่น้ำสั้น ๆ สายนี้มีบทบาทอย่างไรในประวัติศาสตร์อังกฤษ? เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง.
จูเลียส ซีซาร์ นำกองทัพโรมันบุกเข้ามาในอังกฤษเป็นครั้งแรกประมาณปี 55 ก่อนสากลศักราช. เมื่อกลับมาอีกครั้งในปีถัดไป การเดินทัพของท่านก็ถูกขัดขวางจากแม่น้ำที่ท่านขนานนามว่า ทาเมซิส หรือเทมส์. ต้องรออีก 90 ปีต่อมา จักรพรรดิโรมันนาม เคลาดิอุส จึงเข้ามาพิชิตดินแดนนี้ได้.
ในสมัยนั้น ตลอดสองฝั่งของแม่น้ำเทมส์เป็นที่ลุ่มชื้นแฉะ แต่ในเวลาต่อมา กองทัพโรมันได้สร้างสะพานไม้ ณ จุดที่ไกลที่สุดซึ่งน้ำทะเลสามารถไปถึงได้ในช่วงที่น้ำขึ้น หรือประมาณ 50 กิโลเมตรจากปากแม่น้ำ. ที่นั่น บนฝั่งแม่น้ำทางทิศเหนือ พวกโรมันได้สร้างเมืองท่าแห่งหนึ่งซึ่งพวกเขาเรียกว่า ลอนดีนยุม. *
ตลอดระยะเวลาสี่ร้อยปีหลังจากนั้น พวกโรมันได้ขยายการค้ากับดินแดนอื่น ๆ ในยุโรป และได้นำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยจากเมดิเตอร์เรเนียนมาที่ลอนดอน แม้กระทั่งไม้จากเลบานอนก็ถูกนำเข้ามาด้วย. นอกจากนั้น พวกโรมันยังใช้แม่น้ำเทมส์เพื่อขนส่งสินค้าจากบริเวณที่ลึกเข้าไปในใจกลางประเทศมาที่ลอนดอน จนกระทั่งนครแห่งนี้พร้อมกับเครือข่ายถนนหนทางที่แผ่ขยายออกไป ได้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญในเวลาไม่นานนัก.
อิทธิพลของวิลเลียมผู้พิชิต
หลังจากจักรวรรดิโรมันล่มสลายและกองทหารโรมันออกจากบริเตนในปี ส.ศ. 410 ลอนดอนก็ถูกทิ้งร้างและการค้าขายตามริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ก็ซบเซาลงไปเอง. กษัตริย์เชื้อสายแองโกลแซกซันหลายองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ที่คิงส์ตัน ซึ่งเป็นชุมชนแห่งหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ ห่างจากลอนดอนไปทางตะวันตก 19 กิโลเมตร ณ จุดที่สามารถลุยข้ามแม่น้ำได้ไม่ยากนัก จนมาถึงศตวรรษที่ 11 เมื่อวิลเลียมผู้พิชิตจากแคว้นนอร์มังดีเข้ามาโจมตี. หลังจาก
ปราบดาภิเษกที่เวสต์มินสเตอร์ในปี 1066 วิลเลียมได้สร้างหอคอยแห่งลอนดอนขึ้นภายในกำแพงเมืองที่พวกโรมันได้สร้างไว้ เพื่อควบคุมและขยายชุมชนการค้าที่นั่น รวมทั้งควบคุมการเดินทางเข้าออกจากท่าเรือด้วย. การค้าเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง และประชากรในกรุงลอนดอนก็เพิ่มขึ้นเป็นราว ๆ 30,000 คน.วิลเลียมผู้พิชิตยังได้สร้างป้อมบนเนินหินปูนซึ่งอยู่ทางตะวันตกของลอนดอนประมาณ 35 กิโลเมตร ในที่ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าวินด์เซอร์. ป้อมแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นแทนวังของกษัตริย์ชาวแซกซันหลังเดิม และสามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่งดงามตระการตาของแม่น้ำเทมส์จากป้อมนี้. ปราสาทวินด์เซอร์ผ่านการต่อเติมและดัดแปลงหลายต่อหลายครั้ง และยังคงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคนไปเยี่ยมชมมากที่สุดแห่งหนึ่งในบริเตน.
ปี 1209 เป็นปีที่โครงการก่อสร้างสะพานหินข้ามแม่น้ำเทมส์ในกรุงลอนดอนที่ใช้เวลานานถึง 30 ปีเสร็จสิ้นลง. สะพานนี้เป็นสะพานแห่งแรก ๆ ในยุโรปที่ถูกสร้างขึ้นในลักษณะนี้. สะพานที่น่าทึ่งนี้มีร้านค้า, บ้านเรือน, และแม้กระทั่งโบสถ์สร้างอยู่บนตัวสะพาน พร้อมทั้งมีสะพานชักสองข้างและมีหอคอยตั้งอยู่ในตำบลเซาท์เวิร์กด้านใต้ของสะพาน เพื่อป้องกันการรุกราน.
พระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษ (1167-1216) ประทับตราในเอกสารแมกนาคาร์ตาที่โด่งดังในปี 1215 ที่ทุ่งรันนีมีด ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ใกล้กับเมืองวินด์เซอร์. โดยการทำอย่างนั้น กษัตริย์จำใจต้องรับรองไม่เพียงแค่เสรีภาพของพลเมืองอังกฤษเท่านั้น แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสรีภาพของนครลอนดอนและเสรีภาพในการค้าขายของท่าเรือและพ่อค้าในนครแห่งนี้ด้วย.
แม่น้ำเทมส์นำความมั่งคั่งมาให้
ในช่วงหลายศตวรรษหลังจากนั้น การค้าขายก็เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นในแม่น้ำเทมส์. ต่อมา การค้าขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ จนเกินขีดที่ท่าเรือในแม่น้ำนี้จะรองรับได้. สองร้อยปีที่แล้ว ท่าเรือในแม่น้ำเทมส์สามารถรองรับเรือได้เพียง 600 ลำ แต่บางครั้งอาจมีเรือถึง 1,775 ลำรอขนถ่ายสินค้า. เนื่องจากแออัดมากเช่นนี้ การลักเล็กขโมยน้อยจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่. พวกหัวขโมยจะตัดเชือกสมอของเรือในตอนกลางคืนเพื่อให้เรือลอยไป แล้วจึงขึ้นไปขโมยของ. เรือเล็กของพวกลักลอบขายของเถื่อนก็หากินโดยแล่นขึ้นล่องอยู่ใน
แม่น้ำเทมส์. เพื่อแก้ปัญหานี้ ลอนดอนได้ตั้งหน่วยตำรวจน้ำขึ้นเป็นแห่งแรกในโลก. ตำรวจหน่วยนี้ยังคงดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน.อย่างไรก็ตาม ต้องทำอะไรมากกว่านี้เพื่อแก้ปัญหาความแออัดของท่าเรือ. ด้วยเหตุนี้ ในศตวรรษที่ 19 รัฐสภาอังกฤษจึงเห็นชอบที่จะให้มีการก่อสร้างระบบอู่เรือปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยการขุดที่ลุ่มทั้งสองฝั่งของแม่น้ำ. อู่เซอร์รีย์คอมเมอร์เชียล, อู่ลอนดอน, และอู่เวสต์อินเดียและอีสต์อินเดีย เป็นอู่กลุ่มแรกที่ถูกสร้างจนแล้วเสร็จในตอนต้นศตวรรษที่ 19 ตามมาด้วยอู่รอยัลวิกตอเรียในปี 1855 และอู่รอยัลอัลเบิร์ตซึ่งอยู่ข้างกันในปี 1880.
มาร์ก ไอ. และอิซัมบาร์ด เค. บรูเนล วิศวกรสองคนซึ่งเป็นพ่อลูกกัน ได้สร้างอุโมงค์ใต้น้ำแห่งแรกของโลกเพื่อเชื่อมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเทมส์เข้าด้วยกันในปี 1840. อุโมงค์แห่งนี้มีความยาว 459 เมตรและในปัจจุบันยังคงมีการใช้อุโมงค์นี้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายรถไฟใต้ดินของมหานครลอนดอน. ในปี 1894 สะพานเทาเวอร์ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสมัยใหม่ก็เสร็จสมบูรณ์. สะพานหกแห่งนี้สามารถยกและเปิดเป็นช่องได้กว้างถึง 76 เมตรเพื่อให้เรือขนาดใหญ่แล่นผ่านระหว่างหอคอยคู่ของสะพาน. และถ้าคุณปีนขึ้นบันไดเกือบ 300 ขั้น คุณก็จะขึ้นมาถึงทางเดินชั้นบนที่เชื่อมต่อกันเป็นทางยาวและมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามตระการตาของแม่น้ำสายนี้.
พอถึงศตวรรษที่ 20 ระบบอู่ของลอนดอนก็สามารถรองรับเรือกลไฟขนาดใหญ่ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่มาติดต่อค้าขายกับนครแห่งนี้. พอถึงตอนที่อู่แห่งสุดท้ายซึ่งถูกตั้งชื่อตามพระเจ้าจอร์จที่ 5 สร้างขึ้นในปี 1921 ลอนดอนก็มี “ระบบท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดและมั่งคั่งที่สุดในโลก.”
แม่น้ำที่มีพระราชวัง, กษัตริย์, และความหรูหรา
ระหว่างที่ลอนดอนกำลังพัฒนาอยู่นั้น ถนนหนทางในนครแห่งนี้ก็อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่และไม่ได้ลาดยาง และบ่อยครั้งจะสัญจรไปมาไม่ได้เลยในฤดูหนาว. ดังนั้น เส้นทางการคมนาคมที่เร็วที่สุดและสมเหตุผลที่สุดก็คือแม่น้ำเทมส์ ซึ่งตลอดเวลาหลายปี ได้กลายเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่คับคั่งมาก. เสียงร้อง “ออร์ส!” ที่คุ้นหูของคนเรือจ้างแห่งแม่น้ำเทมส์ดังขึ้น ขณะที่พวกเขายืนเบียดเสียดกันอยู่บนขั้นบันไดริมฝั่งแม่น้ำเพื่อร้องเรียกผู้โดยสารที่กำลังจะข้ามฝั่ง, ขึ้น, หรือล่องไปตามแม่น้ำหรือลำน้ำสาขาที่คดเคี้ยว เช่น แม่น้ำฟลีตและแม่น้ำวอลบรูก. แม่น้ำทั้งสองนี้ในปัจจุบันถูกถมมานานแล้วเพื่อทำเป็นถนนที่มีชื่อเดียวกัน.
ต่อมา ลอนดอนก็ดูเหมือนเวนิซเข้าไปทุกที โดยที่พระราชวังอันใหญ่โตหลายหลังมีขั้นบันไดลงไปถึงแม่น้ำ. การอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์กลายเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในหมู่สมาชิกของราชวงศ์ เช่นที่เห็นได้จากพระราชวังที่กรีนิช, ไวท์ฮอลล์, และเวสต์มินสเตอร์. ในทำนองเดียวกัน แฮมป์ตันคอร์ตก็เคยใช้เป็นที่ประทับของกษัตริย์และพระราชินีแห่งอังกฤษ ส่วนปราสาทวินด์เซอร์ที่อยู่เลยขึ้นไปทางต้นแม่น้ำ ก็ยังคงเป็นที่ประทับของกษัตริย์เช่นกัน.
ในปี 1717 จอร์จ ฟรีเดอริก ฮันเดล ได้แต่งบทเพลงชื่อ “ดนตรีแห่งสายน้ำ” เพื่อทำให้พระเจ้าจอร์จ ที่ 1 พอพระทัยในโอกาสเสด็จประพาสตามลำน้ำ. หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในเวลานั้นรายงานเหตุการณ์ว่า เรือพระที่นั่งของกษัตริย์มีขบวนเรือตามเสด็จ “จำนวนมากเสียจนกล่าวได้ว่าแม่น้ำทั้งสายมีแต่เรือเต็มไปหมด.” เรือลำที่ถัดจากเรือพระที่นั่งมีนักดนตรี 50 คน ซึ่งเล่นเพลงที่แต่งโดยฮันเดลสามรอบ ขณะที่ขบวนเสด็จนี้ขึ้นไปทางต้นแม่น้ำเป็นระยะทาง 8 กิโลเมตรจากเวสต์มินสเตอร์ถึงตำบลเชลซี.
แม่น้ำที่ให้ความเพลิดเพลินและการพักผ่อนหย่อนใจ
สะพานเวสต์มินสเตอร์ถูกสร้างเสร็จในปี 1740 ซึ่งก่อนหน้านั้นวิธีเดียวที่จะข้ามแม่น้ำเทมส์ด้วยการเดินก็คือต้อง
ข้ามที่สะพานลอนดอน ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการปรับปรุงและในที่สุดก็สร้างขึ้นใหม่ในทศวรรษ 1820. ตอม่อที่รองรับส่วนโค้ง 19 ช่วงของสะพานแห่งเดิมได้ขวางเส้นทางน้ำอย่างมาก. ผลก็คือ ในระยะ 600 ปีที่มีสะพานนี้ แม่น้ำเทมส์ได้กลายเป็นน้ำแข็งอย่างน้อยแปดครั้ง. เมื่อเกิดเป็นเช่นนี้ ก็จะมีการจัด “เทศกาลน้ำแข็ง” ครั้งใหญ่บนแม่น้ำที่กลายเป็นน้ำแข็งนั้น ซึ่งมีการแข่งขันกีฬาหลายชนิด. มีการย่างวัว และจะเห็นบรรดาสมาชิกของราชวงศ์มารับประทานอาหารที่นั่น. หนังสือและของเล่นที่ติดป้ายว่า “ซื้อบนแม่น้ำเทมส์” ก็มีคนแย่งกันซื้ออย่างรวดเร็ว. มีการพิมพ์หนังสือพิมพ์และแม้แต่หนังสือคำอธิษฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยแท่นพิมพ์ที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำที่กลายเป็นน้ำแข็ง!ในยุคหลัง ๆ การแข่งเรือระหว่างมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ กลายเป็นงานประจำปีในฤดูใบไม้ผลิ. ฝูงชนเฝ้าดูอยู่สองฝั่งแม่น้ำเทมส์ระหว่างพัตนีย์กับมอร์ตเลกเพื่อส่งเสียงเชียร์เรือที่เข้าแข่งขันซึ่งมีแปดฝีพาย. เส้นทางการแข่งขันมีระยะทางเกือบ 7 กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลาการแข่งไม่ถึง 20 นาที. การแข่งขันครั้งแรกจัดขึ้นในปี 1829 ในช่วงลำน้ำตอนบนที่ใกล้กับเมืองเฮนลีย์. หลังจากมีการย้ายเส้นทางการแข่งเรือลงมาในแม่น้ำตอนล่าง เมืองเฮนลีย์ก็จัดการแข่งเรือหลวงขึ้นเอง ซึ่งเป็นงานแข่งเรือในลักษณะนี้ที่เก่าแก่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในยุโรป. งานแข่งเรือที่เมืองนี้ดึงดูดบรรดาฝีพายที่เก่งที่สุดของโลกมาแข่งขันกันในระยะทางประมาณ 1600 เมตร. งานแข่งเรือในฤดูร้อนนี้ได้กลายเป็นงานสังคมที่หรูหรางานหนึ่ง.
คู่มือนำเที่ยวบริเตนเล่มหนึ่งกล่าวว่าแม่น้ำเทมส์ “ให้ความเพลิดเพลินหลากหลายขณะที่ไหลผ่านเขตชนบทที่พบเห็นได้ทั่วไปในอังกฤษ เช่น เนินเขา, ป่าไม้, ทุ่งหญ้า, บ้านเรือนแบบชนบท, หมู่บ้านอันสวยงาม, และเมืองเล็ก ๆ. . . . ช่วงที่ยาวมากของแม่น้ำสายนี้ไม่มีถนนตัดเลียบ แต่มักจะมีทางแคบ ๆ สำหรับใช้ลากเรือ. ดังนั้น แม้ว่าคนที่เดินทางด้วยรถยนต์อาจจะได้ชื่นชมกับทัศนียภาพของแม่น้ำสายนี้ในเมือง แต่ความงดงามอันเงียบสงบของแม่น้ำเทมส์ก็จะเห็นได้จากเรือหรือโดยการเดินเท้าเท่านั้น.”
คุณกำลังวางแผนจะไปเยือนอังกฤษไหม? ถ้าอย่างนั้น จงจัดเวลาให้เพียงพอเพื่อสำรวจแม่น้ำเทมส์และชื่นชมกับประวัติศาสตร์บางส่วนของแม่น้ำสายนี้. จากความงามแบบชนบทในช่วงต้นแม่น้ำจนถึงปากแม่น้ำที่มีการสัญจรพลุกพล่าน มีอะไรหลายอย่างให้ชม, ให้ทำ, และให้เรียนรู้มากเหลือเกิน! แม่น้ำเทมส์จะไม่ทำให้คุณผิดหวังเลย.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 5 แม้ว่าชื่อลอนดอนมาจากคำภาษาลาตินว่า ลอนดีนยุม แต่ทั้งสองคำนี้อาจมีรากศัพท์มาจากภาษาเคลติกคือ ลิน และดีน ซึ่งรวมกันหมายถึง “เมือง [หรือที่มั่น] บนฝั่งทะเลสาบ.”
[กรอบ/ภาพหน้า 27]
วรรณกรรมกับแม่น้ำเทมส์
เจโรม เค. เจโรม พรรณนาบรรยากาศอันผ่อนคลายของแม่น้ำเทมส์ในหนังสือผู้ชายสามคนในเรือลำหนึ่ง (ภาษาอังกฤษ). เป็นเรื่องของชายสามคนที่เป็นเพื่อนกันซึ่งพายเรือเที่ยวขึ้นไปตามแม่น้ำกับสุนัขตัวหนึ่ง จากคิงส์ตันอะพอนเทมส์จนถึงออกซฟอร์ด. หนังสือเล่มนี้ซึ่งเขียนในปี 1889 ได้รับการแปลเป็นหลายภาษา และเป็น “นิยายตลกคลาสสิก” ซึ่งยังเป็นที่นิยมกันอยู่.
สายลมที่พัดผ่านต้นวิลโลว์ (ภาษาอังกฤษ) เป็นนิยายชื่อดังอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งทั้งผู้ใหญ่และเด็กนิยมอ่านกัน. นิยายเรื่องนี้เขียนเสร็จในปี 1908 โดยเคนเนท เกรแฮม ซึ่งอยู่ที่เมืองพางเบิร์น ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์. นี่เป็นเรื่องในจินตนาการเกี่ยวกับสัตว์ที่อยู่ในแม่น้ำหรืออยู่ใกล้ ๆ ฝั่ง.
[กรอบ/ภาพหน้า 27]
กษัตริย์กับแม่น้ำเทมส์
พระเจ้าเจมส์ที่ 1 ซึ่งครองราชย์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 เคยเรียกร้องเงิน 20,000 ปอนด์จากนครลอนดอน. เมื่อนายกเทศมนตรีไม่ยอมจ่าย กษัตริย์จึงขู่ว่า “ข้าจะทำลายเจ้าและเมืองของเจ้าตลอดไป. ข้าจะย้ายศาลของข้า, ราชสำนักของข้า, และรัฐสภาของข้าไปที่เมืองวินเชสเตอร์หรือเมืองออกซฟอร์ด แล้วทำให้เวสต์มินสเตอร์ร้างไป; แล้วคิดดูสิว่าเจ้าจะเป็นอย่างไร!” นายกเทศมนตรีตอบว่า “มีสิ่งหนึ่งที่ปลอบใจเหล่าพ่อค้าของลอนดอนเสมอ นั่นคือฝ่าพระบาทไม่อาจจะย้ายแม่น้ำเทมส์ไปด้วยได้.”
[ที่มาของภาพ]
From the book Ridpath’s History of the World (Vol. VI)
[แผนที่หน้า 24]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
อังกฤษ
ลอนดอน
แม่น้ำเทมส์
[ที่มาของภาพ]
Map: Mountain High Maps® Copyright © 1997 Digital Wisdom, Inc.
[ภาพหน้า 24, 25]
หอนาฬิกาบิกเบน และรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ลอนดอน
[ภาพหน้า 25]
สะพานลอนดอนสร้างด้วยหิน ปี 1756
[ที่มาของภาพ]
From the book Old and New London: A Narrative of Its History, Its People, and Its Places (Vol. II)
[ภาพหน้า 26]
ภาพพิมพ์ลายแกะจากปี 1803 แสดงภาพแม่น้ำเทมส์และเรือหลายร้อยลำทอดสมออยู่ในท่า
[ที่มาของภาพ]
From the book Old and New London: A Narrative of Its History, Its People, and Its Places (Vol. III)
[ที่มาของภาพหน้า 26]
Corporation of London, London Metropolitan Archive
[ภาพหน้า 26, 27]
ภาพพิมพ์ลายแกะของเทศกาลน้ำแข็งปี 1683
[ที่มาของภาพ]
From the book Old and New London: A Narrative of Its History, Its People, and Its Places (Vol. III)