ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ทำไมทะเลจึงเค็ม?

ทำไมทะเลจึงเค็ม?

ทำไม​ทะเล​จึง​เค็ม?

ถ้า​นำ​เกลือ​ทั้ง​หมด​ใน​มหาสมุทร​ขึ้น​มา​เกลี่ย​ให้​เสมอ​กัน​บน​พื้น​ดิน ก็​จะ​มี​ชั้น​เกลือ​หนา​กว่า 150 เมตร หรือ​เท่า​กับ​ตึก​สูง​ประมาณ 45 ชั้น! เกลือ​ทั้ง​หมด​นี้​มา​จาก​ไหน โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​เมื่อ​คำนึง​ถึง​น้ำ​จืด​ปริมาณ​มหาศาล​จาก​แม่น้ำ​ลำธาร​ไหล​ลง​สู่​มหาสมุทร? นัก​วิทยาศาสตร์​ได้​ค้น​พบ​ว่า​เกลือ​มา​จาก​หลาย​แหล่ง.

แหล่ง​หนึ่ง​คือ​พื้น​ดิน​ใต้​ฝ่า​เท้า​ของ​เรา​นี้​เอง. ขณะ​ที่​น้ำ​ฝน​ซึม​ลง​ไป​ใน​ดิน​และ​หิน น้ำ​ฝน​จะ​ชะ​แร่​ธาตุ​ปริมาณ​เล็ก​น้อย​มา​ด้วย รวม​ทั้ง​เกลือ​และ​สาร​ประกอบ​ทาง​เคมี​ของ​เกลือ แล้ว​นำ​แร่​ธาตุ​เหล่า​นั้น​ออก​สู่​ทะเล​โดย​ทาง​แม่น้ำ​ลำธาร​ต่าง ๆ (1). แน่นอน เกลือ​ใน​น้ำ​จืด​นั้น​เจือ​จาง​มาก​จน​เรา​ไม่​อาจ​รู้​รส​ได้.

อีก​แหล่ง​หนึ่ง​คือ​แร่​ธาตุ​ที่​ก่อ​ตัว​เป็น​เกลือ​ใน​เปลือก​โลก​ใต้​มหาสมุทร. น้ำ​จะ​ซึม​เข้า​ไป​ใน​พื้น​ทะเล​ผ่าน​ทาง​รอย​แยก, ถูก​ความ​ร้อน​จัด, แล้ว​พุ่ง​กลับ​ออก​มา​สู่​พื้น​ทะเล​พร้อม​กับ​แร่​ธาตุ​ที่​ละลาย​ปน​อยู่​ใน​น้ำ. ปล่อง​น้ำ​ร้อน ซึ่ง​บาง​แห่ง​กลาย​เป็น​น้ำ​พุ​ร้อน​ใต้​ทะเล​ลึก พ่น​น้ำ​ที่​มี​สาร​เคมี​ละลาย​อยู่​ขึ้น​มา​สู่​ทะเล (2).

มี​กระบวนการ​ย้อน​กลับ​ซึ่ง​ให้​ผล​คล้าย​กัน นั่น​คือ​ภูเขา​ไฟ​ใต้​ทะเล​จะ​พ่น​หิน​ร้อน​ปริมาณ​มหาศาล​ออก​สู่​มหาสมุทร แล้ว​หิน​เหล่า​นั้น​ก็​จะ​ปล่อย​สาร​เคมี​ออก​มา​ใน​น้ำ (3). แหล่ง​แร่​ธาตุ​อีก​แหล่ง​หนึ่ง​คือ​ลม ซึ่ง​พัด​พา​อนุภาค​ของ​แร่​ธาตุ​จาก​ผืน​แผ่นดิน​ลง​สู่​ทะเล (4). กระบวนการ​ทั้ง​หมด​นี้​ทำ​ให้​น้ำ​ทะเล​มี​แร่​ธาตุ​เกือบ​ทุก​ชนิด​เท่า​ที่​รู้​จัก​กัน. แต่​ส่วน​ประกอบ​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ของ​น้ำ​ทะเล​คือ​โซเดียม​คลอไรด์ หรือ​เกลือ​แกง​ธรรมดา​นี่​เอง. ธาตุ​นี้​มี​อยู่​ถึง 85 เปอร์เซ็นต์​ของ​เกลือ​ที่​ละลาย​อยู่​และ​เป็น​สาเหตุ​หลัก​ที่​ทำ​ให้​น้ำ​ทะเล​มี​รส​เค็ม.

อะไร​ทำ​ให้​ระดับ​ความ​เค็ม​คงที่?

เกลือ​สะสม​อยู่​ใน​ทะเล​เนื่อง​จาก​น้ำ​ที่​ระเหย​ขึ้น​ไป​จาก​มหาสมุทร​นั้น​เป็น​น้ำ​ที่​เกือบ​บริสุทธิ์. ส่วน​แร่​ธาตุ​ต่าง ๆ ก็​คง​ตก​ค้าง​อยู่​ใน​ทะเล. ใน​เวลา​เดียว​กัน ก็​ยัง​มี​แร่​ธาตุ​ต่าง ๆ เข้า​สู่​มหาสมุทร​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ; แต่​ระดับ​ความ​เค็ม​ก็​ไม่​เปลี่ยน​แปลง คือ​มี​เกลือ​ละลาย​อยู่​ประมาณ 35 ส่วน​ต่อ​น้ำ​ทะเล​หนึ่ง​พัน​ส่วน. ดัง​นั้น จึง​ดู​เหมือน​ว่า​เกลือ​และ​แร่​ธาตุ​อื่น ๆ ถูก​นำ​เข้า​มา​และ​เอา​ออก​ไป​ใน​อัตรา​เท่า ๆ กัน. ทั้ง​นี้​ทำ​ให้​เกิด​คำ​ถาม​ที่​ว่า เกลือ​ถูก​นำ​ออก​ไป​ทาง​ไหน?

องค์​ประกอบ​ที่​เป็น​เกลือ​หลาย​ชนิด​ถูก​ดูด​ซึม​เข้า​สู่​ร่าง​กาย​ของ​สิ่ง​มี​ชีวิต. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง ตัว​ปะการัง, สัตว์​จำพวก​หอย, และ​สัตว์​จำพวก​กุ้ง​และ​ปู กิน​แคลเซียม ซึ่ง​เป็น​องค์​ประกอบ​ที่​เป็น​เกลือ​ชนิด​หนึ่ง เพื่อ​นำ​ไป​ใช้​สร้าง​เปลือก​และ​โครง. สาหร่าย​ขนาด​จิ๋ว​ซึ่ง​เรียก​ว่า​ไดอะตอม​ก็​สกัด​ซิลิกา​จาก​น้ำ​ทะเล. แบคทีเรีย​และ​สิ่ง​มี​ชีวิต​อื่น ๆ ก็​กิน​สาร​อินทรีย์​ที่​ละลาย​อยู่. เมื่อ​สิ่ง​มี​ชีวิต​เหล่า​นี้​ตาย​หรือ​ถูก​สิ่ง​มี​ชีวิต​ชนิด​อื่น​กิน​เข้า​ไป เกลือ​และ​แร่​ธาตุ​ต่าง ๆ ใน​ร่าง​กาย​ของ​มัน​จะ​จม​ลง​สู่​พื้น​ทะเล​กลาย​เป็น​สิ่ง​ที่​ตาย​แล้ว​หรือ​มูล​ใน​ที่​สุด (5).

เกลือ​หลาย​ชนิด​ซึ่ง​ไม่​ได้​ถูก​ขจัด​ออก​ไป​ด้วย​กรรมวิธี​ทาง​ชีวเคมี​ก็​จะ​ถูก​ขจัด​ออก​ไป​ด้วย​วิธี​อื่น. ตัว​อย่าง​เช่น ดิน​และ​วัสดุ​จาก​แผ่นดิน​ที่​ลอย​มา​กับ​แม่น้ำ, น้ำ​ไหล​บ่า​จาก​พื้น​ดิน, และ​เถ้า​ถ่าน​จาก​ภูเขา​ไฟ​อาจ​ยึด​เกลือ​บาง​ชนิด​ไว้​แล้ว​นำ​ลง​สู่​พื้น​ทะเล. เกลือ​บาง​ชนิด​ยัง​ยึด​กับ​หิน​ด้วย. ด้วย​เหตุ​นี้ โดย​กรรมวิธี​หลาย​อย่าง ใน​ที่​สุด​เกลือ​ส่วน​ใหญ่​ก็​กลาย​มา​เป็น​ส่วน​ประกอบ​ของ​พื้น​ทะเล (6.

นัก​วิชาการ​หลาย​คน​เชื่อ​ว่า​กระบวนการ​ทาง​ธรณี​ฟิสิกส์​ทำ​ให้​วัฏจักร​นี้​สมบูรณ์ แม้​ว่า​จะ​ต้อง​ใช้​เวลา​นาน​มาก​ก็​ตาม. เปลือก​โลก​ประกอบ​ด้วย​แผ่น​ขนาด​ยักษ์​หลาย​แผ่น. แผ่น​เปลือก​โลก​บาง​แผ่น​บรรจบ​กัน​ที่​เขต​มุด​ตัว คือ​ที่​ที่​เปลือก​โลก​แผ่น​หนึ่ง​มุด​ตัว​ลง​ใต้​เปลือก​โลก​อีก​แผ่น​หนึ่ง​และ​จม​ลง​สู่​เปลือก​โลก​ชั้น​ใน​ที่​ร้อน​จัด. ตาม​ปกติ แผ่น​เปลือก​โลก​ส่วน​พื้น​มหาสมุทร​ซึ่ง​หนัก​กว่า​จะ​มุด​ตัว​จม​ลง​ใต้​แผ่น​เปลือก​โลก​ส่วน​พื้น​ทวีป​ซึ่ง​เบา​กว่า ใน​ขณะ​เดียว​กัน​ก็​จะ​นำ​เกลือ​ที่​ตก​ตะกอน​อยู่​ลง​ไป​ด้วย​ประหนึ่ง​สายพาน​ลำเลียง​ขนาด​ยักษ์. โดย​วิธี​นี้ เปลือก​โลก​ส่วน​ใหญ่​ก็​ค่อย ๆ ผ่าน​การ​หมุน​เวียน​นำ​มา​ใช้​ใหม่ (7). แผ่นดิน​ไหว, ภูเขา​ไฟ, และ​เขต​รอย​แยก​เป็น​สิ่ง​ที่​บ่ง​ชี้​ถึง​กระบวนการ​นี้. *

รักษา​ความ​เค็ม​ได้​อย่าง​น่า​ทึ่ง

ระดับ​ความ​เค็ม​ของ​มหาสมุทร​แตกต่าง​กัน​ไป​ใน​แต่​ละ​ที่ และ​บาง​ครั้ง​ก็​ยัง​ต่าง​กัน​ใน​แต่​ละ​ฤดู​กาล. ผืน​น้ำ​ที่​ไม่​ถูก​แผ่นดิน​ล้อม​รอบ​ซึ่ง​เค็ม​ที่​สุด​คือ​อ่าว​เปอร์เซีย​และ​ทะเล​แดง ซึ่ง​มี​อัตรา​การ​ระเหย​สูง​มาก. มหาสมุทร​ที่​อยู่​ใน​บริเวณ​ที่​ได้​รับ​น้ำ​จืด​จาก​แม่น้ำ​สาย​ใหญ่ ๆ หรือ​ได้​รับ​น้ำ​ฝน​ปริมาณ​มาก ๆ ก็​มี​ความ​เค็ม​น้อย​กว่า​ค่า​เฉลี่ย. เช่น​เดียว​กับ​น้ำ​ทะเล​ที่​อยู่​ใกล้​กับ​น้ำ​แข็ง​ขั้ว​โลก​ที่​กำลัง​ละลาย ซึ่ง​น้ำ​แข็ง​เหล่า​นั้น​ก็​เป็น​น้ำ​จืด​ที่​แข็งตัว. ใน​ทาง​กลับ​กัน ใน​ช่วง​ที่​น้ำ​ก่อ​ตัว​เป็น​น้ำ​แข็ง น้ำ​ทะเล​ที่​อยู่​ใกล้ ๆ แถบ​นั้น​ก็​มี​ความ​เค็ม​สูง​ขึ้น. แต่​โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว ความ​เค็ม​ของ​น้ำ​ใน​มหาสมุทร​มี​ระดับ​คงที่​มาก.

น้ำ​ทะเล​ยัง​มี​ค่า​พีเอช​ค่อนข้าง​คงที่​ด้วย ค่า​นี้​เป็น​มาตร​วัด​ความ​เป็น​กรด-ด่าง​ของ​สสาร โดย​ค่า​เป็น​กลาง​อยู่​ที่ 7. ค่า​พีเอช​ของ​น้ำ​ทะเล​อยู่​ที่ 7.4 ถึง 8.3 ซึ่ง​เป็น​ด่าง​เล็ก​น้อย. (เลือด​ของ​มนุษย์​มี​ค่า​พีเอช​ราว ๆ 7.4.) ถ้า​ค่า​พีเอช​สูง​กว่า​หรือ​ต่ำ​กว่า​ระดับ​นี้ มหาสมุทร​ก็​จะ​มี​ปัญหา​ร้ายแรง. ที่​จริง นี่​เป็น​สิ่ง​ที่​นัก​วิทยาศาสตร์​บาง​คน​กำลัง​หวั่น​เกรง​อยู่​ใน​ขณะ​นี้. ก๊าซ​คาร์บอนไดออกไซด์​ส่วน​ใหญ่​ที่​มนุษย์​ปล่อย​ออก​สู่​บรรยากาศ​ใน​ที่​สุด​จะ​ลง​ไป​ที่​มหาสมุทร แล้ว​มัน​จะ​ทำ​ปฏิกิริยา​กับ​น้ำ​จน​เกิด​เป็น​กรด​คาร์บอนิก. ดัง​นั้น สิ่ง​ที่​มนุษย์​ทำ​อยู่​อาจ​กำลัง​ทำ​ให้​มหาสมุทร​มี​สภาพ​เป็น​กรด​เพิ่ม​ขึ้น​ที​ละ​น้อย.

กลไก​หลาย​อย่าง​ที่​ทำ​ให้​สาร​เคมี​ของ​น้ำ​ทะเล​รักษา​ระดับ​เดิม​ไว้​ได้​ยัง​ไม่​เป็น​ที่​เข้าใจ​อย่าง​เต็ม​ที่. กระนั้น สิ่ง​ที่​เรา​ได้​เรียน​รู้​แสดง​ให้​เห็น​ถึง​สติ​ปัญญา​อัน​ล้ำ​เลิศ​ของ​พระ​ผู้​สร้าง​ผู้​ทรง​ใฝ่​พระทัย​สิ่ง​ทรง​สร้าง​ของ​พระองค์.—วิวรณ์ 11:18.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 10 ดู​บทความ “พื้น​ท้อง​มหาสมุทร​เผย​ความ​ลึกลับ” ใน​ตื่นเถิด! ฉบับ 8 ธันวาคม 2000.

[แผนภูมิ/ภาพ​หน้า 16, 17]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

ฝน

1 แร่​ธาตุ​ใน​หิน

2 ปล่อง​น้ำ​ร้อน

3 การ​ระเบิด​ของ

4 ลม

มหาสมุทร

พื้น​ทะเล

เปลือก​โลก

5 ไดอะตอม

6 เถ้า​ถ่าน​จาก​ภูเขา​ไฟ​ภูเขา​ไฟ​ใต้​สมุทร

เขต​มุด​ตัว

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Vent: © Science VU/Visuals Unlimited; eruption: REUTERS/Japan Coast Guard/Handout

Diatoms: Dr. Neil Sullivan, USC/NOAA Corps; volcano photo: Dept. of Interior, National Park Service

[กรอบ/แผนภูมิ​หน้า 18]

เกลือ​ใน​ทะเล

แม้​ว่า​นัก​วิทยาศาสตร์​ได้​ศึกษา​น้ำ​ทะเล​มา​กว่า​หนึ่ง​ศตวรรษ​แล้ว พวก​เขา​ก็​ยัง​มี​ความ​รู้​ไม่​ครบ​ถ้วน​เกี่ยว​กับ​องค์​ประกอบ​ทาง​เคมี​ของ​น้ำ​ทะเล. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พวก​เขา​สามารถ​แยก​องค์​ประกอบ​ที่​เป็น​เกลือ​และ​คำนวณ​สัดส่วน​ของ​สาร​เหล่า​นั้น​ได้. องค์​ประกอบ​เหล่า​นั้น​มี:

[แผนภูมิ]

คลอไรด์ 55%

โซเดียม 30.6

ซัลเฟต 7.7

แมกนีเซียม 3.7

แคลเซียม 1.2

โพแทสเซียม 1.1

ไบคาร์บอเนต 0.4

โบรไมด์ 0.2

และ​ธาตุ​อื่น ๆ อีก เช่น บอเรต, สตรอนเชียม, และ​ฟลูออไรด์.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 18]

เค็ม​กว่า​มหาสมุทร

ทะเล​ภาย​ใน​บาง​แห่ง​เค็ม​กว่า​มหาสมุทร. ตัว​อย่าง​เด่น​คือ​ทะเล​เดดซี ซึ่ง​เป็น​น่าน​น้ำ​ที่​เค็ม​ที่​สุด​ใน​โลก. น้ำ​ที่​ไหล​ลง​ไป​ใน​ทะเล​เดดซี ซึ่ง​ถูก​เรียก​ว่า​ทะเล​เค็ม​ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล พัด​พา​เกลือ​ที่​ละลาย​อยู่​และ​แร่​ธาตุ​อื่น ๆ มา​ด้วย. (อาฤธโม 34:3, 12) เนื่อง​จาก​ชายฝั่ง​ของ​ทะเล​เดดซี​เป็น​แผ่นดิน​ที่​ต่ำ​ที่​สุด​ใน​โลก น้ำ​จึง​ออก​ได้​ทาง​เดียว​เท่า​นั้น คือ​การ​ระเหย ซึ่ง​อาจ​ทำ​ให้​ระดับ​น้ำ​ใน​ทะเล​แห่ง​นี้​ลด​ลง​ถึง​วัน​ละ​หนึ่ง​นิ้ว​ใน​ฤดู​ร้อน.

ผล​ก็​คือ ระดับ​ความ​เข้มข้น​ของ​เกลือ​ใน​น้ำ​ใกล้​ผิว​น้ำ​จึง​อยู่​ที่​ราว ๆ 30 เปอร์เซ็นต์ หรือ​สูง​กว่า​ของ​ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน​เกือบ​สิบ​เท่า. เนื่อง​จาก​น้ำ​จะ​มี​ความ​หนา​แน่น​มาก​ขึ้น​เมื่อ​มี​ความ​เค็ม​สูง คน​ที่​ลง​ไป​ว่าย​น้ำ​จึง​ลอย​ตัว​อยู่​ที่​ผิว​น้ำ​ได้​อย่าง​สบาย. ที่​จริง พวก​เขา​สามารถ​นอน​หงาย​และ​อ่าน​หนังสือ​พิมพ์​โดย​ไม่​ต้อง​มี​ชูชีพ​มา​ช่วย​ให้​ตัว​ลอย​เลย.

[กรอบ​หน้า 18]

เกลือ​ช่วย​ทำ​ให้​อากาศ​บริสุทธิ์

การ​วิจัย​ได้​แสดง​ว่า​อนุภาค​ที่​เป็น​มลพิษ​ใน​อากาศ​จะ​ทำ​ให้​เมฆ​ที่​ลอย​อยู่​เหนือ​พื้น​ดิน​ไม่​กลั่น​ตัว​เป็น​ฝน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เมฆ​ที่​มี​มลพิษ​ที่​ลอย​อยู่​เหนือ​มหาสมุทร​จะ​กลั่น​ตัว​เป็น​ฝน​ได้​ง่าย​กว่า. ความ​แตกต่าง​คือ​ละออง​ลอย​ของ​เกลือ​ทะเล ซึ่ง​เกิด​จาก​ละออง​น้ำ​ทะเล.

หยด​น้ำ​ซึ่ง​ก่อ​ตัว​จาก​อนุภาค​ที่​เป็น​มลพิษ​ใน​บรรยากาศ​มัก​จะ​มี​ขนาด​เล็ก​เกิน​ไป​จน​ไม่​อาจ​ตก​ลง​มา​เป็น​เม็ด​ฝน​ได้ ดัง​นั้น มัน​จึง​ยัง​คง​ลอย​อยู่​อย่าง​นั้น. ละออง​ลอย​ของ​เกลือ​ทะเล​จะ​ดึงดูด​หยด​น้ำ​เล็ก ๆ เหล่า​นี้​ให้​รวม​ตัว​กัน​เป็น​หยด​น้ำ​ที่​ใหญ่​ขึ้น. เป็น​ผล​ให้​มี​ฝน​ตก ซึ่ง​ก็​ช่วย​ให้​สภาพ​บรรยากาศ​บริสุทธิ์​ปราศจาก​มลพิษ.