“อัจฉริยบุคคลที่โลกลืม” ของบริเตน
“อัจฉริยบุคคลที่โลกลืม” ของบริเตน
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในบริเตน
คนสมัยเดียวกับโรเบิร์ต ฮุก เรียกเขาว่า “บุรุษผู้มีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา” และตอนนี้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นเลโอนาร์โด ดา วินชี แห่งอังกฤษ. * ฮุกเกิดในปี 1635 และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลการค้นคว้าทดลองของราชสมาคมแห่งลอนดอนในปี 1662 และได้เป็นเลขาธิการของราชสมาคมในปี 1677. เขาเสียชีวิตในปี 1703. อย่างไรก็ดี แม้เขาจะมีชื่อเสียงในวงการวิทยาศาสตร์ แต่ร่างของเขาก็ถูกฝังในหลุมที่ไม่มีใครรู้จักที่ไหนสักแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน.
ไม่กี่ปีมานี้ นักวิทยาศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ได้พยายามอย่างหนักที่จะฟื้นฟูชื่อเสียงของ “อัจฉริยบุคคลที่โลกลืม” คนนี้ ซึ่งเป็นฉายาที่นักเขียนชีวประวัติชื่อสตีเฟน อินวูด ตั้งให้ฮุก. ในปี 2003 เพื่อเป็นการรำลึกถึงวาระครบรอบ 300 ปีตั้งแต่ที่ฮุกเสียชีวิต หอดูดาวหลวงแห่งกรีนิชในกรุงลอนดอนได้จัดนิทรรศการเพื่อแสดงผลงานและการค้นพบที่น่าทึ่งบางอย่างของเขา. โรเบิร์ต ฮุก คือใคร และทำไมเขาจึงเกือบจะถูกลืมเป็นเวลานานเพียงนี้?
มรดกของฮุก
ฮุกเป็นนักปราชญ์และนักประดิษฐ์ที่หลักแหลม. สิ่งประดิษฐ์ของเขามีหลายอย่าง เช่น ข้อต่อยูนิเวอร์ซัลหรือข้อต่ออ่อน ซึ่งใช้ในรถยนต์สมัยปัจจุบัน; กลีบช่องรับแสง ซึ่งใช้ควบคุมขนาดรูรับแสงของกล้องถ่ายรูป; และสปริงที่ควบคุมเฟืองนาฬิกา. เขาคิดค้นกฎของฮุก ซึ่งเป็นสมการที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่ออธิบายเกี่ยวกับความยืดหยุ่นของสปริง. นอกจากนั้น เขายังคิดค้นปั๊มลมสำหรับโรเบิร์ต บอยล์ นักฟิสิกส์และนักเคมีที่มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ.
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประการหนึ่งของฮุกก็คือ การ
ออกแบบกล้องจุลทรรศน์ที่ใช้เลนส์สองชิ้น ซึ่งภายหลังได้ถูกนำไปสร้างโดยคริสโตเฟอร์ คอก นักประดิษฐ์อุปกรณ์ผู้มีชื่อเสียงแห่งกรุงลอนดอน. ต่อมา ฮุกคิดคำว่า “เซลล์” ขึ้นเพื่อใช้เรียกโพรงคล้ายรังผึ้งในจุกไม้ก๊อก ซึ่งเขามองเห็นผ่านกล้องของเขา. ต่อมา “เซลล์” ก็กลายเป็นคำที่ใช้เรียกองค์ประกอบพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต.หนังสือไมโครกราเฟีย (ภาพเขียนเล็ก ๆ) ของฮุกได้รับการจัดพิมพ์ในปี 1665 ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงตั้งแต่อายุยังไม่มาก. หนังสือเล่มนี้มีภาพแมลงที่ฮุกวาดขึ้นเองอย่างสวยงามและตรงกับความเป็นจริง ซึ่งเป็นภาพที่เขามองเห็นผ่านกล้องจุลทรรศน์ของเขา. ภาพวาดที่โด่งดังที่สุดของเขาคือภาพตัวหมัด. ภาพพิมพ์ลายแกะขนาด 12 นิ้วคูณ 18 นิ้วนี้แสดงให้เห็นกรงเล็บ, กระดูกสันหลัง, และแผ่นเกราะของตัวหมัด. ข้อที่ว่าเจ้าหมัดตัวเล็ก ๆ นี้มักจะอาศัยอยู่บนตัวคนทำให้ผู้อ่านที่เป็นคนมีฐานะในสมัยนั้นตกใจมาก. ว่ากันว่าพวกสุภาพสตรีถึงกับเป็นลมเมื่อเห็นภาพนั้น!
หลังจากเปรียบเทียบภาพขยายของปลายเข็มอันเล็ก ๆ ที่มนุษย์ทำขึ้นกับสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ ฮุกเขียนว่า “กล้องจุลทรรศน์ช่วยให้เรามองเห็นตัวอย่างมากมายของสิ่งที่มีปลายแหลมคมยิ่งกว่าปลายเข็มหลายพันเท่า. เขาชี้ถึงเส้นผมหรือขน, ขนแข็ง, และกรงเล็บของแมลง รวมทั้งหนาม, ตะขอ, และขนของใบไม้. เขารู้สึกว่า “ผลงานของธรรมชาติ” เหล่านี้แสดงถึงฤทธานุภาพของผู้สร้าง. สารานุกรมบริแทนนิกา กล่าวว่า “เป็นครั้งแรกที่” กล้องจุลทรรศน์ได้เปิดเผย “โลกซึ่งสิ่งมีชีวิตแสดงให้เห็นความสลับซับซ้อนที่เกือบเป็นเรื่องเหลือเชื่อ.”
ฮุกเป็นคนแรกที่ส่องดูซากดึกดำบรรพ์ผ่านกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งทำให้เขาลงความเห็นว่าซากเหล่านั้นเป็นร่องรอยของสิ่งมีชีวิตที่ตายมานานแล้ว. ไมโครกราเฟีย มีข้อสังเกตทางวิทยาศาสตร์ที่น่าทึ่งอีกมากมาย. ที่จริง นักเขียนอนุทินชื่อแซมมูเอล เปปีส์ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยเดียวกับฮุก เรียกไมโครกราเฟีย ว่า “หนังสือที่ทำขึ้นอย่างฉลาดหลักแหลมที่สุดเท่าที่ข้าพเจ้าเคยอ่าน.” แอลลัน แชปแมน นักประวัติศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด พรรณนาหนังสือเล่มนี้ว่า “หนึ่งในหนังสือที่เป็นรากฐานของสังคมโลกสมัยใหม่.”
บูรณะกรุงลอนดอน
หลังจากเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในกรุงลอนดอนเมื่อปี 1666 ฮุกได้รับ
แต่งตั้งให้เป็นนักสำรวจ. เขาทำงานบูรณะกรุงลอนดอนร่วมกับเพื่อนของเขาคือคริสโตเฟอร์ เรน ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักสำรวจของกษัตริย์เช่นเดียวกัน. หนึ่งในงานออกแบบของฮุกคืออนุสาวรีย์สูง 62 เมตรของลอนดอน ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุไฟไหม้ครั้งนั้น. ฮุกตั้งใจจะใช้อนุสาวรีย์นี้ ซึ่งเป็นเสาหินตั้งเดี่ยวที่สูงที่สุดในโลก เพื่อทดสอบทฤษฎีของเขาเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วง.แม้ว่าเรนจะได้รับเกียรติในฐานะผู้สร้างหอดูดาวหลวงที่กรีนิช แต่ฮุกก็มีส่วนสำคัญในการออกแบบหอนี้. มอนทากิว เฮาส์ สถานที่ตั้งแห่งแรกของพิพิธภัณฑสถานอังกฤษก็เป็นหนึ่งในอีกหลายโครงการของฮุก.
ฮุกเป็นเลิศในฐานะนักดาราศาสตร์และเป็นคนแรก ๆ ที่สร้างกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงได้สำเร็จ ซึ่งเขาตั้งชื่อกล้องนั้นตามเจมส์ เกรกอรี นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ชาวสกอตแลนด์. ฮุกสังเกตว่าดาวพฤหัสบดีหมุนรอบตัวเอง และภาพดาวอังคารที่เขาร่างขึ้นก็ถูกใช้เพื่อคำนวณอัตราการหมุนรอบตัวเองของดาวนั้นในอีกสองศตวรรษต่อมา.
เหตุใดจึงถูกลืม?
ในปี 1687 ไอแซ็ก นิวตัน ตีพิมพ์หลักคณิตศาสตร์แห่งปรัชญาธรรมชาติ. ผลงานของนิวตันออกพิมพ์หลังจากไมโครกราเฟีย ของฮุก 22 ปี และได้อธิบายกฎแห่งการเคลื่อนที่ รวมทั้งกฎแห่งความโน้มถ่วง. แต่ดังที่แอลลัน แชปแมน ตั้งข้อสังเกต ฮุก “ได้พัฒนาองค์ประกอบหลายอย่างของทฤษฎีเรื่องความโน้มถ่วงก่อนนิวตัน.” การค้นคว้าของนิวตันเรื่องลักษณะของแสงก็ได้รับการกระตุ้นจากผลงานของฮุกด้วย.
น่าเศร้า การโต้เถียงทางด้านทัศนศาสตร์และความโน้มถ่วงทำให้คนทั้งสองผิดใจกัน. นิวตันถึงกับลบชื่อของฮุกออกจากข้ออ้างอิงในหนังสือหลักคณิตศาสตร์. แหล่งอ้างอิงแหล่งหนึ่งกล่าวว่า นิวตันยังได้พยายามลบเรื่องที่ฮุกมีบทบาทอะไรบ้างทางด้านวิทยาศาสตร์ออกจากบันทึกต่าง ๆ ด้วย. นอกจากนั้น อุปกรณ์ของฮุก ซึ่งหลายอย่างทำขึ้นด้วยมือ รวมทั้งงานเขียนของเขาจำนวนหนึ่ง และภาพวาดของฮุกที่เชื่อถือได้เพียงภาพเดียว ก็สูญหายไปไม่นานหลังจากนิวตันขึ้นมาเป็นนายกของราชสมาคม. ผลจากสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ก็คือ ชื่อเสียงของฮุกสูญหายไปเกือบสิ้นเชิงเป็นเวลากว่าสองร้อยปี.
น่าแปลก จดหมายที่นิวตันเขียนถึงฮุกลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1675 นั่นเองที่นิวตันเขียนถ้อยคำที่โด่งดังของเขาที่ว่า “ถ้าข้าพเจ้ามองเห็นได้ไกลขึ้น ก็เนื่องจากได้ยืนบนบ่าของผู้รอบรู้.” ในฐานะสถาปนิก, นักดาราศาสตร์, นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการทดลอง, นักประดิษฐ์, และนักสำรวจ โรเบิร์ต ฮุกเป็นผู้รอบรู้ในยุคของเขา.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 ดา วินชีเป็นจิตรกร, ประติมากร, วิศวกร, และนักประดิษฐ์ชาวอิตาลี ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 และช่วงต้นศตวรรษที่ 16.
[ภาพหน้า 26]
ภาพวาดลวดลายเกล็ดหิมะและน้ำค้างแข็งของฮุก
[ภาพหน้า 26]
แบบกล้องจุลทรรศน์ของฮุก
[ภาพหน้า 27]
ฮุกคิดคำว่า “เซลล์” ขึ้นมาเพื่อเรียกโพรงคล้ายรังผึ้งในจุกไม้ก๊อก
[ภาพหน้า 27]
หนังสือของฮุกชื่อ “ไมโครกราเฟีย” มีภาพที่เขาวาดขึ้นตามที่เห็นเมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์
[ภาพหน้า 27]
ตัวหมัดขนาดพอ ๆ กับของจริง
ว่ากันว่าเหล่าสุภาพสตรีถึงกับเป็นลมเมื่อเห็นภาพวาดตัวหมัดของฮุก
[ภาพหน้า 28]
มอนทากิว เฮาส์คือหนึ่งในแบบสถาปัตยกรรมหลายแบบของฮุก
[ภาพหน้า 28]
ภาพวาดของฮุกที่แสดงถึงกฎแห่งความยืดหยุ่น
[ภาพหน้า 28]
อนุสาวรีย์หอรำลึกแห่งลอนดอนเป็นเสาหินตั้งเดี่ยวที่สูงที่สุดในโลก
[ภาพหน้า 28]
หอดูดาวหลวง
[ที่มาของภาพหน้า 26]
Spring, microscope, and snowflakes: Images courtesy of the Posner Memorial Collection, Carnegie Mellon University Libraries
[ที่มาของภาพหน้า 27]
Images courtesy of the Posner Memorial Collection, Carnegie Mellon University Libraries
[ที่มาของภาพหน้า 28]
Spring diagram: Image courtesy of the Posner Memorial Collection, Carnegie Mellon University Libraries; London’s Memorial Tower: Matt Bridger/DHD Multimedia Gallery; Royal Observatory: © National Maritime Museum, London