อะไรคือของเหลวที่มีค่ามากที่สุด?
อะไรคือของเหลวที่มีค่ามากที่สุด?
“เลือดมีความสำคัญต่อสุขภาพเหมือนอย่างที่น้ำมันมี ความสำคัญต่อการขนส่ง.”—อาร์เธอร์ แค็บเลิน ผู้อำนวยการศูนย์ชีวจริยศาสตร์มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย.
น้ำมัน เป็นของเหลวที่มีค่ามากที่สุดไหม? ในสมัยที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอยู่บ่อย ๆ เช่นนี้ หลายคนอาจคิดอย่างนั้น. แต่ตามจริงแล้ว พวกเราแต่ละคนมีของเหลวที่มีค่ากว่าน้ำมันมากนักอยู่กันคนละหลายลิตร. ขอลองคิดดู: ขณะที่แต่ละปีมีการสูบน้ำมันหลายพันล้านบาร์เรลจากใต้ผืนโลกเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ในเรื่องเชื้อเพลิง ก็มีการเจาะเอาเลือดจากมนุษย์ราว ๆ 90 ล้านถุงด้วยความหวังว่าจะนำไปใช้รักษาผู้ป่วย. * ตัวเลขที่น่าตกตะลึงนี้เป็นปริมาตรเลือดที่ได้จากผู้บริจาคประมาณ 8,000,000 คน.
กระนั้น เช่นเดียวกับน้ำมัน ดูเหมือนเลือดกำลังขาดแคลน. วงการแพทย์ทั่วโลกต่างก็เตือนเรื่องการขาดแคลนเลือด. (ดูกรอบ “อับจนหนทาง.”) อะไรที่ทำให้เลือดมีค่ามากขนาดนั้น?
อวัยวะที่ทำหน้าที่เฉพาะ
เนื่องจากความสลับซับซ้อนอย่างน่าทึ่งของเลือด เลือดจึงมักถูกเปรียบว่าเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกาย. นพ. บรูซ เลเนส บอกกับตื่นเถิด! ว่า “เลือดเป็นอวัยวะหนึ่งในหลาย ๆ อวัยวะของร่างกายซึ่งน่าอัศจรรย์และมีความพิเศษเฉพาะตัว.” ไม่มีใดเหมือนจริง ๆ! ตำราเล่มหนึ่งกล่าวถึงเลือดว่าเป็น “อวัยวะเดียวในร่างกายที่เป็นของเหลว.” ตำราเล่มเดียวกันนั้นกล่าวว่า เลือดเป็น “ระบบขนส่งที่มีชีวิต.” นั่นหมายความว่าอย่างไร?
นักวิทยาศาสตร์ชื่อ เอ็น. ลี แอนเดอร์สัน กล่าวว่า “ระบบไหลเวียนโลหิตคล้ายกับลำคลองในเมืองเวนิซ.” เขากล่าวต่อไปว่า “ระบบไหลเวียนนี้ขนส่งของดีทุกอย่าง อีกทั้งของเสียอีกจำนวนมาก.” ขณะที่เลือดเดินทางเป็นระยะทางหนึ่งแสนกิโลเมตรในระบบไหลเวียนโลหิตของเรานั้น เลือดจะเดินทางผ่านเนื้อเยื่อต่าง ๆ แทบทุกส่วนในร่างกายเรา รวมถึง ตับ, ไต, ปอด, และหัวใจ ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเลือดและมีเลือดมาหล่อเลี้ยงจำนวนมาก.
เลือดลำเลียง “ของดี” หรือสิ่งที่เป็นประโยชน์หลายอย่างไปยังเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายของคุณ เช่น ออกซิเจน, สารอาหาร, และเซลล์ที่ทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรค แต่เลือดยังลำเลียง “ของเสีย” ออกไปด้วย เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นพิษ ซากเซลล์ที่เสียหายและหมดอายุขัย รวมถึงของเสียอื่น ๆ. บทบาทของเลือดในการขจัดของเสียนี้ช่วยอธิบายว่าทำไมการสัมผัสเลือดที่ออกจากร่างกายไปแล้วจึง
อาจเป็นอันตรายได้. และไม่มีใครรับประกันได้เลยว่า มีการตรวจพบ “ของเสีย” ทั้งหมดที่อยู่ในเลือดและสิ่งเหล่านั้นถูกขจัดออกไปหมดแล้วก่อนนำเลือดนั้นไปให้อีกคนหนึ่ง.ไม่มีข้อสงสัย เลือดทำหน้าที่ที่สำคัญยิ่งต่อชีวิต. นี่เป็นเหตุที่แพทย์มักจะให้เลือดแก่ผู้ป่วยที่เสียเลือด. แพทย์หลายคนคงจะกล่าวว่า การใช้เลือดในทางเวชกรรมเช่นนี้ทำให้เลือดเป็นสิ่งที่มีค่ามาก. อย่างไรก็ตาม หลายสิ่งกำลังเปลี่ยนไปในวงการแพทย์. อาจพูดได้ว่ากำลังเกิดการปฏิวัติเงียบ. แพทย์และศัลยแพทย์หลายคนไม่ได้ด่วนให้เลือดเหมือนอย่างแต่ก่อน. เพราะเหตุใด?
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 เลือดถุงหนึ่งมีปริมาณเท่ากับ 450 มิลลิลิตร (หรือ 1 ไพนท์) โดยประมาณ.
[กรอบ/ภาพหน้า 4]
อับจนหนทาง
ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ประเมินว่าตลอดทั่วโลกมีความต้องการเลือดเพิ่มขึ้น 200 ล้านถุงทุก ๆ ปี. ประชากรโลกร้อยละ 82 อาศัยในประเทศกำลังพัฒนา แต่เลือดบริจาคทั้งหมดที่มาจากประเทศเหล่านั้นมีไม่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์. โรงพยาบาลหลายแห่งในประเทศเหล่านี้ไม่มีเลือดสำหรับใช้ในการรักษา. หนังสือพิมพ์เดอะ เนชัน ของเคนยา รายงานว่า “ทุก ๆ วันเกือบครึ่งหนึ่งของการรักษาที่ต้องมีการถ่ายเลือดถูกยกเลิกหรือเลื่อนออกไปเพราะขาดแคลนเลือด.”
การขาดแคลนเลือดยังเป็นปัญหาที่พบทั่วไปในประเทศร่ำรวยด้วย. เมื่อประชากรอายุยืนขึ้นและเทคนิคการรักษาก้าวหน้าขึ้น การผ่าตัดก็เพิ่มจำนวนขึ้น. นอกจากนี้ ในปัจจุบัน ผู้บริจาคโลหิตจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ถูกปฏิเสธ เนื่องจากพวกเขาใช้ชีวิตแบบที่มีความเสี่ยงสูง หรือเคยเดินทางไปยังสถานที่ที่มีโอกาสสัมผัสโรคหรือปรสิต.
ความรู้สึกอับจนหนทางดูเหมือนเกิดขึ้นท่ามกลางศูนย์บริการโลหิต. บางครั้ง การรับบริจาคเลือดจึงมุ่งเป้าไปที่เด็ก ๆ ซึ่งเป็นแหล่งเลือดที่ปลอดภัย เพราะโดยทั่วไปแล้วพวกเขาจะมีรูปแบบชีวิตที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า. ยกตัวอย่าง ทุกวันนี้ 70 เปอร์เซ็นต์ของเลือดในซิมบับเวได้รับบริจาคจากเด็กนักเรียน. ศูนย์รับบริจาคโลหิตหลายแห่งกำลังขยายเวลาทำการ และบางประเทศถึงกับอนุญาตให้ศูนย์เหล่านั้นจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริจาคโลหิตเพื่อจูงใจผู้ที่เคยบริจาคให้กลับมาบริจาคอีก. การรณรงค์ครั้งหนึ่งในสาธารณรัฐเช็กได้เชิญชวนประชาชนให้มาดื่มเบียร์ดับกระหายเพื่อแลกกับการบริจาคเลือด! ไม่นานมานี้ ในเขตหนึ่งของอินเดีย เจ้าหน้าที่ได้ตระเวนไปตามบ้านเรือนต่าง ๆ เพื่อเสาะหาผู้ที่อาจยินดีบริจาคเลือดเพื่อจะได้เลือดมาเสริมปริมาณในคลังสำรองที่กำลังร่อยหรอลง.