หนุ่มสาวถามว่า...
ทำไมมีกฎมากเหลือเกิน?
“ผมหงุดหงิดจริงๆที่ต้องกลับบ้านตามเวลากำหนดของพ่อแม่! ผมไม่ชอบที่คนอื่นกลับบ้านดึกกว่าผมได้.”—แอลเลน.
“มันแย่จริงๆที่ต้องถูกตรวจดูว่าใช้โทรศัพท์มือถือพูดคุยกับใครบ้าง. หนูรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติเหมือนกับเป็นเด็กเล็กๆ!”—เอลิซาเบท.
คุณรู้สึกว่าที่บ้านมีกฎข้อห้ามมากเกินไปไหม? คุณเคยรู้สึกอยากแอบออกจากบ้านหรือโกหกพ่อแม่ว่าคุณไปทำอะไรมาไหม? ถ้าเคย คุณคงรู้สึกเหมือนกับวัยรุ่นคนหนึ่งซึ่งบอกว่าพ่อแม่ของเธอปกป้องลูกๆมากเกินไป และบอกว่า ‘พ่อแม่ต้องเปิดโอกาสให้หนูได้หายใจบ้างสิ!’
พ่อแม่หรือผู้ปกครองของคุณคงได้ตั้งกฎในบ้านบางอย่างซึ่งกำหนดให้ทำหรือห้ามทำอะไรไว้สำหรับคุณ. กฎเหล่านี้อาจรวมถึงข้อเรียกร้องเรื่องการบ้าน, งานในบ้าน, และเวลากลับบ้าน รวมทั้งข้อจำกัดเรื่องการใช้โทรศัพท์, ทีวี, หรือคอมพิวเตอร์. กฎเหล่านี้อาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในบ้าน แต่ครอบคลุมไปถึงความประพฤติของคุณที่โรงเรียนและการเลือกคบเพื่อนด้วย.
หนุ่มสาวหลายคนเคยฝ่าฝืนกฎของพ่อแม่. เกือบสองในสามของวัยรุ่นที่ถูกสัมภาษณ์ในงานวิจัยครั้งหนึ่งกล่าวว่า พวกเขาเคยถูกตีสอนเมื่อได้ฝ่าฝืนกฎของบ้าน ทำให้ความผิดนี้เป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดของการถูกลงโทษ.
แต่หนุ่มสาวส่วนใหญ่ยอมรับว่า จำเป็นต้องมีกฎข้อบังคับบ้างเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนวุ่นวาย. แต่ถ้ากฎในบ้านเป็นสิ่งจำเป็น ทำไมกฎบางข้อจึงทำให้รู้สึกข้องขัดใจเสียจริง? และถ้าคุณรู้สึกอึดอัดเพราะกฎของพ่อแม่ คุณจะทำอย่างไรได้เพื่อให้กฎเหล่านั้นเบาลงบ้าง?
“หนูไม่ใช่เด็กแล้วนะ”!
เอมิลีอายุ 15 ปีถามว่า “หนูจะทำอย่างไรเพื่อให้พ่อแม่รู้ว่าหนูไม่ใช่เด็กแล้ว และพ่อแม่ต้องปล่อยให้หนูมีอิสระแบบผู้ใหญ่บ้าง?” คุณเคยรู้สึกอย่างนั้นไหม? เหมือนกับเอมิลี คุณอาจรู้สึกเหลือทนกับกฎต่างๆเนื่องจากคุณรู้สึกว่าคุณได้รับการปฏิบัติเหมือนกับเป็นเด็กทารกที่ช่วยตัวเองไม่ได้. แน่นอน พ่อแม่ของคุณคงไม่ได้คิดแบบเดียวกับคุณ. ท่านคงจะรู้สึกว่ากฎที่ท่านตั้งขึ้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อ
ปกป้องและเตรียมคุณให้พร้อมสำหรับหน้าที่รับผิดชอบของผู้ใหญ่.แม้ว่าคุณมีเสรีภาพในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่คุณอาจรู้สึกว่ากฎในบ้านไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับวัยที่เพิ่มขึ้นของคุณ. เรื่องนี้จะน่าข้องขัดใจเป็นพิเศษถ้าพี่หรือน้องของคุณดูเหมือนถูกปล่อยตามใจมากกว่าคุณ. วัยรุ่นคนหนึ่งชื่อมาร์ซี กล่าวว่า “หนูอายุ 17 ปีแล้วและยังถูกกำหนดเวลาให้กลับบ้านไม่ดึกเกินไป. หนูถูกลงโทษไม่ให้ออกนอกบ้านถ้าทำอะไรผิด แต่ตอนที่พี่ชายของหนูมีอายุเท่านี้ พ่อแม่ไม่ได้กำหนดเวลากลับบ้านให้เขาและไม่เคยห้ามเขาออกนอกบ้านเลย.” เมื่อนึกย้อนไปถึงตอนที่เขายังเป็นวัยรุ่น แมททิวพูดถึงน้องสาวและลูกพี่ลูกน้องบางคนของเขาว่า “พวกเด็กผู้หญิงรอดตัวไปได้แม้จะทำผิดมหันต์!”
ถ้าไม่มีกฎล่ะ?
เป็นที่เข้าใจได้ คุณอาจใฝ่ฝันที่จะไม่ต้องอยู่ใต้อำนาจพ่อแม่ของคุณ. แต่จะดีกว่าสำหรับคุณไหมถ้าไม่มีข้อบังคับจากพ่อแม่? คุณคงจะรู้จักหนุ่มสาวรุ่นราวคราวเดียวกับคุณที่จะอยู่นอกบ้านจนดึกแค่ไหนก็ได้, จะใส่เสื้อผ้าแบบไหนก็ได้, และจะไปเที่ยวกับเพื่อนๆเมื่อไรและที่ไหนก็ได้. บางทีพ่อแม่ของพวกเขาอาจมีงานยุ่งเกินไปจนไม่สังเกตว่าลูกๆของตนกำลังทำอะไร. ถึงอย่างไร การเลี้ยงลูกแบบนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ประสบความสำเร็จ. (สุภาษิต 29:15) การขาดความรักที่คุณเห็นอยู่ในโลกนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการที่มีคนเห็นแก่ตัวมากมาย ซึ่งหลายคนถูกเลี้ยงดูมาในบ้านที่ไม่มีการตั้งกฎเกณฑ์ใดๆ.—2 ติโมเธียว 3:1-5.
สักวันหนึ่งคุณอาจเปลี่ยนความคิดในเรื่องบ้านที่ไม่มีกฎข้อบังคับ. ลองพิจารณาการวิจัยเกี่ยวกับหญิงสาวที่เติบโตขึ้นในบ้านที่ไม่ค่อยมีข้อบังคับและแทบไม่มีการควบคุมดูแลจากพ่อแม่. เมื่อมองย้อนไป ไม่มีใครเลย ในบรรดาหญิงสาวเหล่านั้นที่มองว่าการขาดการตีสอนเป็นสิ่งดี. แต่พวกเธอกลับมองว่านั่นเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าพ่อแม่ไม่ห่วงใยหรือขาดความสามารถ.
แทนที่จะอิจฉาพวกคนหนุ่มสาวที่ทำอะไรก็ได้ตามใจตัวเอง จงพยายามมองกฎของพ่อแม่ว่าเป็นหลักฐานที่แสดงว่าพวกท่านรักและห่วงใยคุณ. โดยการตั้งข้อจำกัดที่มีเหตุผล พวกเขาก็เลียนแบบพระยะโฮวาพระเจ้าซึ่งตรัสต่อประชาชนของพระองค์ว่า “เราจะทำให้เจ้ามีความหยั่งเห็นเข้าใจ และสั่งสอนเจ้าในทางที่เจ้าควรดำเนิน. เราจะให้คำแนะนำพร้อมกับเฝ้าดูเจ้า.”—บทเพลงสรรเสริญ 32:8, ล.ม.
แต่ตอนนี้ กฎต่างๆอาจดูเข้มงวดเกินกว่าที่คุณจะทนได้. ถ้าเป็นอย่างนั้น ขอพิจารณาขั้นตอนที่ใช้ได้จริงบางอย่างที่คุณจะทำได้เพื่อให้ชีวิตในบ้านน่าเพลิดเพลินยิ่งขึ้น.
การสื่อความที่ได้ผล
ไม่ว่าคุณต้องการมีอิสระมากขึ้นหรือเพียงแค่อยากรู้สึกข้องขัดใจน้อยลงกับเสรีภาพที่คุณมีในตอนนี้ เคล็ดลับก็คือการสื่อความที่ดี. บางคนอาจบอกว่า ‘แต่ฉันพยายาม พูดกับพ่อแม่แล้ว และมันไม่ได้ผลเลย!’ ถ้าคุณรู้สึกอย่างนั้น จงถามตัวเองว่า ‘ฉันจะปรับปรุงความสามารถในการสื่อความให้ดีขึ้นได้ไหม?’ การสื่อความเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยคุณให้ (1) ได้สิ่งที่คุณต้องการ หรือไม่ก็ (2) เข้าใจได้ดีขึ้นว่าทำไมพ่อแม่จึงไม่อนุญาตให้คุณได้สิ่งที่คุณต้องการ. จริงๆแล้ว ถ้าคุณต้องการได้รับสิทธิต่างๆของผู้ใหญ่ ก็มีเหตุผลที่คุณจะพัฒนาความสามารถในการสื่อความแบบผู้ใหญ่ด้วย.
เรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “คนโฉดเขลาปล่อยอารมณ์ออกมาหมด แต่ผู้ที่ฉลาดจะระงับอารมณ์จนถึงที่สุด.” (สุภาษิต 29:11) การสื่อความที่ดีไม่ใช่การเอาแต่บ่น. ถ้าคุณทำอย่างนั้น ก็รังแต่จะได้รับคำดุว่ามากขึ้น! ดังนั้น พยายามอย่าออดอ้อน, กระเง้ากระงอด, และร้องโวยวายแบบเด็กๆ. ไม่ว่าคุณจะอยากกระแทกประตูแรงๆ หรืออยากจะเดินกระทืบเท้าไปรอบๆบ้านสักเท่าไรเมื่อพ่อแม่สั่งห้ามคุณบางอย่าง พฤติกรรมเช่นนั้นก็รังแต่จะทำให้พ่อแม่ตั้งกฎมากขึ้น ไม่ใช่ให้เสรีภาพมากขึ้น.
พยายามมองแบบที่พ่อแม่มอง. เทรซี คริสเตียนวัยสาวซึ่งยังอาศัยอยู่กับมารดาไร้คู่ของเธอพบว่าเรื่องนี้มีประโยชน์. เธอบอกว่า “ดิฉันถามตัวเองว่า ‘แม่ของดิฉันพยายามจะทำอะไรจึงได้ตั้งกฎขึ้นมา?’ แม่พยายามจะช่วยดิฉันให้เป็นคนที่ดีขึ้น.” (สุภาษิต 3:1, 2) การเอาใจเขามาใส่ใจเราเช่นนี้อาจช่วยคุณให้อธิบายความคิดเห็นของคุณให้พ่อแม่ฟังได้ง่ายขึ้น. ตัวอย่างเช่น สมมุติพ่อแม่ไม่อยากให้คุณไปในงานสังสรรค์ที่หนึ่ง. แทนที่จะโต้เถียงพวกท่าน คุณอาจถามท่านว่า “สมมุติว่ามีเพื่อนที่ไว้ใจได้และมีความเป็นผู้ใหญ่ไปกับหนูด้วยล่ะคะ?” พ่อแม่อาจไม่ได้อนุญาตตามที่คุณขอทุกครั้ง; แต่ถ้าคุณเข้าใจความเป็นห่วงของพวกท่าน คุณก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะเสนอทางเลือกที่ดีกว่าซึ่งยอมรับได้.
ทำให้พ่อแม่ไว้วางใจในตัวคุณมากขึ้น. การได้รับความไว้วางใจจากพ่อแม่เป็นเหมือนการสะสมเงินในบัญชีธนาคาร. คุณอาจเบิกเงินเฉพาะเท่าที่คุณฝากไว้เท่านั้น. การเบิกเงินเกินบัญชีอาจทำให้ถูกปรับและการเบิกเงินเกินบัญชีหลายๆครั้งอาจทำให้บัญชีของคุณถูกปิด. การได้รับสิทธิ์บางอย่างก็เป็นเหมือนการเบิกเงิน; คุณจะได้สิทธิ์นั้นก็ต่อเมื่อคุณได้สร้างประวัติแห่งความประพฤติที่แสดงว่าคุณน่าไว้วางใจ.
คาดหมายตามความเป็นจริง. พ่อแม่มีความรับผิดชอบต้องควบคุมความประพฤติของคุณในระดับหนึ่ง. ด้วยเหตุนี้ คัมภีร์ไบเบิลจึงพูดถึง “บัญญัติแห่งบิดาของเจ้า” และ “โอวาทแห่งมารดาของเจ้า.” (สุภาษิต 6:20) อย่างไรก็ตาม คุณไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่ากฎในบ้านทำลายชีวิตของคุณ. ตรงกันข้าม ถ้าคุณยอมอยู่ใต้อำนาจของพ่อแม่ พระยะโฮวาทรงสัญญาว่าในระยะยาว คุณ “จะได้อยู่เย็นเป็นสุข”!—เอเฟโซ 6:1-3.
สิ่งที่พึงใคร่ครวญ
-
กฎเรื่องอะไรที่คุณคิดว่าเชื่อฟังยากที่สุด?
-
จุดใดในบทความนี้จะช่วยคุณรับมือกับกฎของพ่อแม่?
-
คุณจะได้ความไว้วางใจจากพ่อแม่มากขึ้นได้อย่างไร?