ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คนซักผ้าที่ขยันขันแข็งแห่งอาบิดจัน

คนซักผ้าที่ขยันขันแข็งแห่งอาบิดจัน

คน​ซัก​ผ้า​ที่​ขยัน​ขันแข็ง​แห่ง​อาบิดจัน

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​โกตดิวัวร์

เรา​กำลัง​เดิน​ทาง​ออก​จาก​เมือง​อาบิดจัน​ประเทศ​โกตดิวัวร์​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก และ​เพลิดเพลิน​กับ​สิ่ง​ที่​เห็น​และ​ได้​ยิน​ใน​เมือง​ที่​จอแจ​แห่ง​แอฟริกา​ตะวัน​ตก​นี้ แล้ว​ก็​มี​ภาพ​ที่​น่า​ประทับใจ​ภาพ​หนึ่ง​จับ​ความ​สนใจ​ของ​เรา. ใน​ทุ่ง​หญ้า​อัน​กว้าง​ใหญ่​แห่ง​หนึ่ง มี​เสื้อ​ผ้า​สี​สัน​สดใส​นับ​พัน​นับ​หมื่น​ชิ้น​ตาก​อยู่​เรียง​ราย. ทำไม​จึง​มี​ผ้า​สี​สัน​สดใส​มา​ตาก​อยู่​เช่น​นี้? เพื่อน​ชาว​โกตดิวัวร์​ของ​เรา​ยินดี​อธิบาย​ให้​เรา​เข้าใจ. นี่​คือ​ผล​งาน​ของ​เหล่า​ฟานีโก.

ฟานีโก คือ​คน​ซัก​ผ้า​ที่​ขยัน​ขันแข็ง​กลุ่ม​หนึ่ง. ตั้ง​แต่​รุ่ง​อรุณ​จน​กระทั่ง​ตะวัน​ยอ​แสง ผู้​ชาย​หลาย​ร้อย​คน​ซึ่ง​รวม​ทั้ง​ผู้​หญิง​บาง​คน​ที่​แข็งแรง ได้​หา​เลี้ยง​ชีพ​โดย​รับจ้าง​ซัก​ผ้า​ด้วย​มือ​ใน​แม่น้ำ​บังโก. ชื่อ​ของ​พวก​เขา​เป็น​การ​ผสม​คำ​ภาษา​ดิยูลา หรือ​ภาษา​จูลา สอง​คำ คือ​ฟานี ซึ่ง​แปล​ว่า “ผ้า” และ​โก ซึ่ง​แปล​ว่า “ซัก.” ดัง​นั้น คำ​ภาษา​ดิยูลา ที่​ว่า ฟานีโก จึง​หมาย​ถึง “คน​ซัก​ผ้า.”

งาน​ของ​คน​ซัก​ผ้า

เช้า​ตรู่​วัน​หนึ่ง เรา​ไป​เยี่ยม​เหล่า​ฟานีโก ถึง​ที่​ทำ​งาน​เพื่อ​จะ​เรียน​รู้​มาก​ขึ้น​เกี่ยว​กับ​วิธี​หา​เลี้ยง​ชีพ​ที่​น่า​สนใจ​ของ​พวก​เขา. ช่าง​มี​งาน​มาก​มาย​จริง ๆ! ตอน​นั้น​พวก​เขา​เริ่ม​งาน​ไป​สัก​พัก​หนึ่ง​แล้ว. น้ำ​ที่​ค่อนข้าง​ขุ่น​ของ​แม่น้ำ​บังโก​มี​ยาง​รถยนต์​ขนาด​ใหญ่​วาง​อยู่​เต็ม​ไป​หมด และ​มี​ก้อน​หิน​วาง​อยู่​ใน​ยาง​นั้น. ที่​ยาง​แต่​ละ​เส้น จะ​มี​คน​ซัก​ผ้า​ยืน​อยู่​หนึ่ง​คน​ใน​น้ำ​ที่​ลึก​ถึง​เอว และ​กำลัง​วุ่น​อยู่​กับ​การ​ตี​ฟอง, การ​ตี​ผ้า, และ​การ​แปรง​ผ้า.

ช่วง​หนึ่ง​ก่อน​ที่​ดวง​อาทิตย์​จะ​ขึ้น เหล่า​ฟานีโก จะ​ไป​ตาม​บ้าน​เพื่อ​เก็บ​ผ้า​ที่​เขา​จะ​ต้อง​ซัก​ใน​วัน​นั้น. ลูก​ค้า​บาง​ราย​อาศัย​อยู่​ไกล​ถึง 3 กิโลเมตร​จาก “ที่​ซัก​ผ้า.” เขา​จะ​เข็น​ผ้า​ทั้ง​หมด​มา​ด้วย​รถ​เข็น​ไม้​หรือ​ไม่​ก็​แบก​มา​บน​หัว​เป็น​มัด​ใหญ่ ๆ. แล้ว​ฟานีโก ก็​จะ​ไป​ที่​แม่น้ำ​บังโก. เมื่อ​มา​ถึง เขา​จะ​ได้​รับ​คำ​ทักทาย​จาก​หลาย​ภาษา เนื่อง​จาก​ฟานีโก ที่​ทำ​งาน​ที่​นี่​มา​จาก​หลาย​ดินแดน​ใน​แอฟริกา. บาง​คน​มา​อยู่​ใน​เขต​นี้​หลาย​สิบ​ปี​แล้ว เช่น คุณ​บรามา คน​ซัก​ผ้า​รูป​ร่าง​กำยำ​ใน​วัย 60 กว่า​ปี. งาน​ซัก​ผ้า​ที่​นี่​ดำเนิน​อยู่​ทุก​วัน​ตลอด​ปี โดย​หยุด​เพียง​สาม​วัน​เท่า​นั้น.

การ​ซัก​ผ้า​จริง ๆ นั้น​เป็น​งาน​ที่​หนัก​มาก. เรา​เฝ้า​ดู​ขณะ​ชาย​คน​หนึ่ง​เอา​มัด​ผ้า​ของ​เขา​วาง​ลง ซึ่ง​มี​ขนาด​ใหญ่​มาก​จน​ถ้า​แม่บ้าน​ทั่ว ๆ ไป​เห็น​ก็​คง​รู้สึก​อ่อน​อก​อ่อนใจ. เขา​แก้​มัด​ผ้า​แล้ว​เริ่ม​แช่​ผ้า​ใน​น้ำ​ที​ละ​ชิ้น. จาก​นั้น​เขา​เอา​สบู่​ก้อน​ใหญ่​มา​ตี​ให้​เป็น​ฟอง​และ​ตี​ผ้า​กับ​ก้อน​หิน​ที​ละ​ชิ้น. บาง​ครั้ง​เขา​ใช้​แปรง​เพื่อ​ขจัด​คราบ​ที่​ฝัง​แน่น. การ​จ้าง​ซัก​ผ้า​ต้อง​เสีย​ค่า​ใช้​จ่าย​เท่า​ไร? เสื้อ​เชิ้ต​หนึ่ง​ตัว​จะ​คิด​เจ็ด​เซนต์ (ราว ๆ 2.50 บาท) และ​ถ้า​เป็น​ผ้า​ปู​ที่​นอน​ก็​ผืน​ละ 14 เซนต์ (ราว ๆ 5 บาท). นี่​คือ​สาเหตุ​ที่​ฟานีโก ต้อง​ซัก​ผ้า​มาก​ถึง​ขนาด​นั้น​เพื่อ​จะ​เลี้ยง​ชีพ​ได้.

เมื่อ​คุณ​เห็น​ผ้า​มัด​ใหญ่​ที่​พวก​เขา​ซัก คุณ​อาจ​สงสัย​ว่า ‘พวก​เขา​จะ​มี​ทาง​จำ​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​ผ้า​ชิ้น​ไหน​เป็น​ของ​ใคร?’ เรา​อยาก​รู้​ว่า​พวก​เขา​ใช้​ระบบ​คล้าย ๆ กับ​คน​ซัก​ผ้า​ใน​อินเดีย​ซึ่ง​ใช้​เครื่องหมาย​ที่​เป็น​รหัส​ลับ​หรือ​เปล่า. ระบบ​ที่​พวก​ฟานีโก ใช้​ต่าง​จาก​คน​ซัก​ผ้า​ใน​อินเดีย​มาก แต่​ก็​มี​ประสิทธิภาพ​พอ ๆ กัน.

มัคคุเทศก์​ผู้​รอบรู้​ของ​เรา​พยายาม​อธิบาย​วิธี​การ​ที่​พวก​ฟานีโก ใช้​ให้​เรา​ฟัง. ก่อน​อื่น เมื่อ​คน​ซัก​ผ้า​ไป​รับ​ผ้า เขา​จะ​สังเกต​ว่า​สมาชิก​แต่​ละ​คน​ใน​ครอบครัว​นั้น​มี​รูป​ร่าง​เล็ก​ใหญ่​ขนาด​ไหน เพื่อ​เขา​จะ​จำ​ได้​ว่า​ผ้า​ชิ้น​ไหน​เป็น​ของ​ใคร. ไม่​มี​การ​เขียน​หรือ​ติด​เครื่องหมาย​ใด ๆ. จาก​นั้น​เขา​จะ​เอา​ผ้า​แต่​ละ​ชิ้น​ที่​มา​จาก​ครอบครัว​เดียว​กัน​มา​มัด​ที่​ส่วน​เดียว​กัน​ของ​ผ้า​ให้​เป็น​ปม ตัว​อย่าง​เช่น ผ้า​ของ​ครอบครัว​หนึ่ง​จะ​มัด​ที่​แขน​เสื้อ​ด้าน​ซ้าย, ส่วน​ครอบครัว​อื่น ๆ ที่​แขน​เสื้อ​ด้าน​ขวา, ที่​คอ​เสื้อ, หรือ​ที่​ส่วน​เอว. เมื่อ​เขา​ซัก​ผ้า​เหล่า​นั้น เขา​จะ​ระมัดระวัง​ให้​ผ้า​จาก​ครอบครัว​เดียว​กัน​อยู่​ด้วย​กัน. แต่​สำหรับ​เรา​แล้ว มัน​ก็​ยัง​คง​เป็น​การ​จด​จำ​ที่​ยาก​มาก. เรา​จึง​ถาม​ฟานีโก คน​หนึ่ง​ว่า​เขา​เคย​ทำ​ผ้า​หาย​หรือ​ปน​กัน​บ้าง​หรือ​ไม่. เขา​มอง​เรา​ด้วย​ความ​ตกตะลึง ซึ่ง​สื่อ​ความ​หมาย​ให้​เรา​เข้าใจ​ว่า ‘ไม่​เคย. ฟานีโก ไม่​เคย​ทำ​ผ้า​หาย​หรอก!’

ใคร ๆ จะ​มา​ที่​แม่น้ำ​บังโก​และ​เริ่ม​ซัก​ผ้า​ได้​ไหม? ไม่​ได้​แน่ ๆ! เรื่อง​นี้​มี​กฎ​ระเบียบ​ที่​เคร่งครัด. คน​ที่​อยาก​จะ​เป็น​ฟานีโก จะ​มี​ช่วง​เวลา​ทดลอง​งาน​สาม​เดือน ซึ่ง​ใน​ระหว่าง​นั้น​เขา​จะ​ได้​รับ​การ​ฝึก​อบรม​โดย​ผู้​ชำนาญ​งาน. ช่วง​นี้​เอง​เขา​เรียน​รู้​วิธี​การ​ฝึก​ความ​จำ​ที่​พิเศษ​เฉพาะ. ถ้า​เขา​เรียน​รู้​เรื่อง​นี้​ไม่​ได้ เขา​จะ​ต้อง​ไป​หา​งาน​ทำ​ที่​อื่น. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ถ้า​ฟานีโก คน​ใหม่​มี​ความ​สามารถ​มาก​พอ เขา​จะ​ต้อง​จ่าย​ค่า​ธรรมเนียม​เล็ก​น้อย และ​จะ​ได้​รับ​มอบ​ที่​ซัก​ผ้า​ซึ่ง​เป็น​ยาง​รถยนต์​และ​ก้อน​หิน​ของ​เขา​เอง ซึ่ง​คน​อื่น​จะ​มา​ใช้​ไม่​ได้.

สบู่​น้ำมัน​ปาล์ม

สบู่​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ใน​งาน​ของ​คน​ซัก​ผ้า. คน​ฝึก​งาน​ก็​ต้อง​ได้​รับ​การ​ฝึก​อบรม​วิธี​ใช้​สบู่​น้ำมัน​ปาล์ม​อย่าง​ถูก​วิธี​ด้วย. มี​การ​ใช้​สบู่​สาม​ประเภท ซึ่ง​แยก​ได้​ด้วย​สี. สบู่​สี​ขาว​และ​สี​เหลือง​ใช้​สำหรับ​ผ้า​ที่​สกปรก​เล็ก​น้อย ส่วน​สบู่​สี​ดำ​ใช้​สำหรับ​ผ้า​ที่​สกปรก​มาก. สี​ของ​สบู่​นี้​เป็น​สี​เข้ม​เนื่อง​จาก​มี​น้ำมัน​ปาล์ม​เป็น​ส่วน​ผสม​หลัก. เนื่อง​จาก​ฟานีโก แต่​ละ​คน​ใช้​สบู่​อย่าง​น้อย​สิบ​ก้อน​ทุก​วัน คน​ทำ​สบู่​ที่​อยู่​ใกล้​เคียง​จะ​คอย​จัด​ส่ง​สบู่​ให้​พวก​เขา​อย่าง​สม่ำเสมอ.

เรา​ไป​เยี่ยม​ชม​โรง​งาน​ทำ​สบู่​เล็ก ๆ แห่ง​หนึ่ง​ที่​เชิง​เขา​ใกล้ ๆ กับ “ที่​ซัก​ผ้า.” กิจกรรม​การ​ทำ​สบู่​ที่​จริงจัง​เริ่ม​ตั้ง⁠แต่​หก​โมง​เช้า. คน​งาน​ซื้อ​วัตถุ​ดิบ​มา​จาก​ตลาด​ใน​ท้องถิ่น​เรียบร้อย​แล้ว ซึ่ง​ประกอบ​ด้วย​น้ำมัน​ปาล์ม​ที่​แข็งตัว​เป็น​ไข, โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์, เกลือ, น้ำ​จาก​ต้น​ทุเรียน​เทศ, น้ำมัน​มะพร้าว, และ​น้ำมัน​โกโก้ ซึ่ง​ทั้ง​หมด​นี้​ย่อย​สลาย​ได้​ตาม​ธรรมชาติ. พวก​เขา​ต้ม​ส่วน​ผสม​เหล่า​นี้​เข้า​ด้วย​กัน​ใน​ถัง​เหล็ก​ใบ​ใหญ่​โดย​ใช้​ฟืน. หลัง​จาก​ต้ม​สบู่​ประมาณ​หก​ชั่วโมง พวก​เขา​ก็​เท​ส่วน​ผสม​ลง​ใน​พิมพ์​ที่​เป็น​ถาด​และ​ชาม แล้ว​รอ​ให้​แข็งตัว. พอ​หลาย​ชั่วโมง​ผ่าน​ไป พวก​เขา​ก็​ตัด​สบู่​ให้​เป็น​ก้อน​ใหญ่ ๆ.

จาก​นั้น​คน​ทำ​สบู่​จะ​เอา​ก้อน​สบู่​ใส่​กะละมัง​จน​เต็ม​และ​เอา​เทิน​หัว เดิน​ลง​ไป​ตาม​เชิง​เขา​เพื่อ​ไป​หา​พวก​ฟานีโก. คน​ทำ​สบู่​จะ​เอา​สบู่​ไป​ส่ง​ให้​คน​ซัก​ผ้า​ได้​อย่าง​ไร​ใน​เมื่อ​คน​เหล่า​นั้น​กำลัง​ยุ่ง​อยู่​กับ​การ​ซัก​ผ้า​ใน​แม่น้ำ? เขา​ก็​เพียง​แต่​เดิน​ลง​ไป​ใน​น้ำ​ที่​ลึก​ถึง​เอว​โดย​มี​สบู่​อยู่​ใน​กะละมัง​พลาสติก และ​ให้​กะละมัง​นั้น​ลอย​อยู่​ใน​น้ำ แล้ว​เอา​สบู่​ไป​ส่ง​ให้​ใคร​ก็​ตาม​ที่​ต้องการ.

วัน​ทำ​งาน​สิ้น​สุด​ลง

เมื่อ​ฟานีโก ซัก​ผ้า​เสร็จ เขา​จะ​ไป​ที่​เนิน​เขา​ที่​อยู่​ไม่​ไกล​นัก และ​ตาก​ผ้า​ที่​ซัก​เสร็จ​แล้ว​เป็น​แถว​บน​หญ้า​หรือ​แขวน​ไว้​บน​ราว​ที่​ทำ​ขึ้น​เอง. แล้ว​บริเวณ​นั้น​ก็​จะ​มี​ทิวทัศน์​ที่​มี​สี​สัน​ละลาน​ตา​ซึ่ง​เป็น​ภาพ​ที่​ทำ​ให้​เรา​สนใจ​ใน​ตอน​แรก​นั่น​เอง. ตอน​นี้​เป็น​ช่วง​ที่​คน​ซัก​ผ้า​ผู้​ขยัน​ขันแข็ง​จะ​หยุด​พัก​สัก​เล็ก​น้อย​จาก​การ​งาน​ใน​วัน​นั้น. ตอน​บ่าย​แก่ ๆ เมื่อ​ผ้า​แห้ง​หมด​แล้ว เขา​จะ​บรรจง​พับ​ผ้า​ที​ละ​ชิ้น อาจ​จะ​รีด​ผ้า​บาง​ชิ้น​ด้วย​เตา​รีด​ถ่าน. เมื่อ​ถึง​ตอน​เย็น เขา​จะ​ห่อ​ผ้า​ที่​ซัก​สะอาด​และ​รีด​เรียบร้อย​แล้ว และ​นำ​ไป​ส่ง​ถึง​เจ้าของ.

ตอน​แรก​ที่​เรา​เห็น​ผ้า​ที่​ตาก​เรียง​ราย​เป็น​ทิว​แถว​นั้น เรา​ไม่​รู้​เลย​ว่า​มี​การ​ทำ​งาน​มาก​มาย​เพียง​ไร​อยู่​เบื้อง​หลัง. ดัง​นั้น เรา​จึง​ดีใจ​มาก​ที่​ได้​ไป​เยือน​เหล่า​ฟานีโก แห่ง​อาบิดจัน เพราะ​ตอน​นี้​เรา​เข้าใจ​และ​หยั่ง​รู้​ค่า​มาก​ขึ้น​สำหรับ​งาน​ของ​คน​ซัก​ผ้า​ทุก​คน​ตลอด​ทั่ว​โลก.

[รูปภาพ​หน้า 10]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

โกตดิวัวร์

[ภาพ​หน้า 12]

คน​ทำ​สบู่​กำลัง​ขาย​สบู่

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 10]

PhotriMicroStock™/C. Cecil