โตเลโด—การผสมผสานทางวัฒนธรรมในยุคกลางที่น่าประทับใจ
โตเลโด—การผสมผสานทางวัฒนธรรมในยุคกลางที่น่าประทับใจ
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในสเปน
ในใจกลางคาบสมุทรไอบีเรีย มีเนินเขาหินแกรนิตลูกหนึ่งทอดตัวอยู่ ซึ่งมีแม่น้ำตากุสโอบล้อมทั้งสามด้าน. ตลอดหลายศตวรรษ แม่น้ำสายนี้ได้กัดเซาะลงไปจนกลายเป็นหน้าผาสูงที่ป้องกันเนินเขาทั้งสามด้านนั้นไว้. บนเนินเขาที่มีข้อได้เปรียบทางยุทธศาสตร์นี้เองที่เป็นที่ตั้งของโตเลโด เมืองที่หมายถึงสเปนและวัฒนธรรมสเปน.
ปัจจุบัน ถนนแคบ ๆ ที่คดเคี้ยวในบริเวณเมืองเก่าของเมืองโตเลโดนั้นนำนักท่องเที่ยวย้อนกลับไปสู่ยุคกลาง. ทั้งประตูเมือง, ปราสาท, และสะพานต่าง ๆ ล้วนยังคงรักษาบรรยากาศแบบยุคกลาง และป่าวประกาศโดยไร้ถ้อยคำว่าในยุคนั้นโตเลโดเป็นหนึ่งในเมืองที่สำคัญที่สุดของยุโรป.
อย่างไรก็ตาม โตเลโดไม่เหมือนเมืองทั่ว ๆ ไปในยุโรป. แม้แต่สถานีรถไฟก็มีกลิ่นอายแบบตะวันออก. การพิจารณาดูโบราณสถานและรูปสลักต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนเผยให้เห็นว่า เมืองนี้ได้รับเอาศิลปะและวิทยาการของอารยธรรมอันหลากหลายซึ่งเจริญรุ่งเรืองในเมืองนี้มาตลอดหลายศตวรรษ. เมื่อประมาณ 700 ปีมาแล้ว ซึ่งถือเป็นยุคทองของโตเลโด เมืองนี้ได้กลายเป็นแหล่งหลอมรวมวัฒนธรรมต่าง ๆ ของยุคกลางอย่างแท้จริง.
นานาวัฒนธรรม
ก่อนที่ชาวโรมันจะเข้ามาในสเปน ชาวเคลต์และชาวไอบีเรียได้สร้างเมืองหนึ่งไว้แล้วบนชัยภูมิที่มีข้อได้เปรียบ
ทางยุทธศาสตร์นี้. ชาวโรมันตั้งชื่อเมืองนี้ใหม่ว่าโตเลตุม (มาจากคำโตลลีตุม ซึ่งหมายถึง “ยกขึ้นสูง”) และสถาปนาเมืองนี้เป็นนครหลวงประจำแคว้นหนึ่งของโรม. ลีวี นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันได้พรรณนาว่า โตเลโดเป็น “เมืองเล็กก็จริงแต่ได้เปรียบในเรื่องชัยภูมิ.” เมื่อพวกวิสิกอทพิชิตสเปนหลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน พวกเขาก็เลือกเมืองโตเลโดเป็นเมืองหลวง. ช่วงศตวรรษที่หก ในเมืองนี้เองที่กษัตริย์เรคคาเรดไม่ยอมรับนิกายอาริอุส ซึ่งถือเป็นก้าวหนึ่งที่ปูทางให้สเปนกลายเป็นศูนย์กลาง ของคริสตจักรคาทอลิกแบบดั้งเดิม และอาร์ชบิชอปที่มีตำแหน่งสำคัญที่สุดของคริสตจักรก็อยู่ที่เมืองโตเลโด.สถานการณ์ทางศาสนาเปลี่ยนไปเมื่อโตเลโดกลายเป็นส่วนที่อยู่ในการปกครองดูแลของมุสลิม. ถนนสายแคบ ๆ ในเมืองเก่ามีอายุย้อนไปจนถึงยุคนั้น ซึ่งอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 8 จนถึงศตวรรษที่ 11. ชาวมุสลิมในโตเลโดยอมให้มีการอยู่ร่วมกันในสังคมแบบพหุวัฒนธรรมระหว่างคริสเตียน, ยิว, และมัวร์. ในที่สุดเมื่อถึงปี 1085 กษัตริย์อัลฟองโซที่ 6 (กษัตริย์ชาวคาทอลิก) ได้พิชิตเมืองนี้. แม้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครอง แต่วัฒนธรรมเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ด้วยกันต่อไปอีกหลายศตวรรษ.
โบราณสถานที่น่าประทับใจที่สุดหลายแห่งนั้นมีอายุย้อนหลังไปจนถึงยุคกลาง. ผู้ปกครองชาวคาทอลิกได้ตั้งเมืองนี้เป็นเมืองหลวงของตน ส่วนพลเมืองที่เป็นชาวยิวได้แสดงฝีมือในงานแกะสลักและการค้า และช่างฝีมือชาวมุสลิมก็ใช้ความสามารถของตนในงานด้านสถาปัตย์. ผู้คงแก่เรียนของทั้งสามศาสนาที่ต่างกันนี้ทำงานร่วมกันในกลุ่มผู้แปล. ช่วงศตวรรษที่ 12 และ 13 พวกเขาแปลงานเขียนเก่าแก่มากมายเป็นภาษาละตินและสเปน. ชาวตะวันตกสามารถได้รับประโยชน์จากความรู้มากมายด้านวิทยาศาสตร์ที่เป็นภาษาอาหรับก็เนื่องจากผลงานของผู้แปลเหล่านี้.
การเปิดกว้างทางศาสนามาถึงจุดสิ้นสุดในช่วงศตวรรษที่ 14 เมื่อพลเมืองชาวยิวหลายพันคนเสียชีวิตในการสังหารหมู่ด้วยเหตุผลทางศาสนา. ตอนที่โคลัมบัสค้นพบอเมริกา ศาลศาสนาของสเปนได้ตั้งห้องพิจารณาคดีในเมืองโตเลโด และทั้งชาวยิวกับชาวมุสลิมก็ต้องเลือกระหว่างการถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนากับการถูกเนรเทศ.
อนุสรณ์แห่งความรุ่งเรืองในอดีต
ทุกวันนี้ ใจกลางเมืองโตเลโดมีโบราณสถานมากกว่าหนึ่งร้อยแห่ง. เนื่องจากมีโบราณสถานอยู่มากมาย องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติจึงประกาศให้เมืองนี้เป็นเมืองมรดกโลก. โบราณสถานยุคกลางที่น่าประทับใจที่สุดสองแห่งคือ สะพานข้ามแม่น้ำตากุส สะพานหนึ่งข้ามมาจากฝั่งตะวันออก และส่วนอีกสะพานหนึ่งข้ามมาจากฝั่งตะวันตก. และคงไม่มีนักท่องเที่ยวคนใดมองไม่เห็นประตูเมืองขนาดใหญ่ที่ชื่อ ปวยร์ตา นวยวา เด บีซากรา ซึ่งช่วยป้องกันการบุกทะลวงเข้าไปในเมืองเก่าที่มีกำแพงล้อมรอบ.
เมื่อมองจากระยะไกล เราจะเห็นโบราณสถานสองแห่งที่โดดเด่น ณ ขอบฟ้าเมืองโตเลโด. ป้อมปราการทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่เรียกว่า อัลคาซา ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออก. ตลอดหลายศตวรรษ ป้อมแห่งนี้เคยเป็นแพรทอรีอุมของโรม (จวนผู้ว่าราชการ), พระราชวังของราชวงศ์วิสิกอท, ป้อมปราการของชาวอาหรับ, และพระตำหนักของกษัตริย์สเปน. ปัจจุบัน ป้อมนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ทหารและเป็นห้องสมุดขนาดใหญ่. แต่เนื่องจากโตเลโดเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางศาสนา มหาวิหารแบบกอทิกที่ใหญ่โตโอ่อ่าจึงตั้งอยู่ใจกลางเมือง.—ดูกรอบในหน้า 17.
มหาวิหารและโบสถ์อื่น ๆ ในโตเลโดต่างก็ตั้งแสดงงานศิลปะของจิตรกรที่มีชื่อเสียงผู้หนึ่งซึ่งตั้งรกรากในโตเลโด. เขาเป็นที่รู้จักในชื่อ เอล เกรโก ซึ่งหมายถึง “คนกรีก.” ชื่อจริงของเขาคือโดเมนิกอส เทโอโตโกปูลอส. ในย่านที่พักอาศัยที่เขาเคยอยู่ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวยิว ปัจจุบันมีหอศิลป์เล็ก ๆ ที่เก็บภาพวาดของเขาไว้เป็นจำนวนมาก.
บางที โตเลโดอาจเป็นเมืองที่สง่างามที่สุดเมื่อมองทิวทัศน์เมืองนี้จากเนินเขาที่อยู่ทางทิศใต้. อย่างไรก็ตาม วิธีที่ดีที่สุดในการเที่ยวชมความงามของเมืองโตเลโดก็คือการเดินไปตามถนนแคบ ๆ ในเมือง. นักท่องเที่ยวอาจหลงทางสักพักหนึ่ง แต่ไม่นานเขาก็จะรู้สึกเพลิดเพลินกับช่องทางเดินที่มีบรรยากาศเก่า ๆ, อาคารแบบโบราณ, เฉลียงลอยที่ดูหรูหรา, และร้านขายของที่ระลึกที่น่าเข้าไปชม.
แม้เมืองโบราณแห่งนี้ดูเหมือนจะคงอยู่ตราบนานเท่านาน แต่ในที่สุดก็ถึงเวลาที่นักท่องเที่ยวต้องลาจากเมืองนี้ไป. จุดที่ดีที่สุดในการร่ำลาก็คือริมฝั่งแม่น้ำตากุสทางตอนใต้. ขณะที่วันแห่งการเยี่ยมชมอย่างใกล้ชิดจวนจะสิ้นสุดลง ดวงอาทิตย์ยามอัสดงฉายแสงอันอบอุ่นลงมาที่เมืองนี้ โบราณสถานต่าง ๆ อันงดงามก็ดูเหมือนจะสะท้อนให้เห็นถึงยุคสมัยอันรุ่งเรืองของเมืองนี้อีกครั้งหนึ่ง.
[กรอบ/ภาพหน้า 17]
สามวัฒนธรรมในโตเลโด
ในยุคกลาง โตเลโดถูกแบ่งออกเป็นส่วนต่าง ๆ สามส่วน ซึ่งทั้งคาทอลิก, ยิว, และมุสลิมต่างก็ดำเนินชีวิตตามกฎหมายและขนบธรรมเนียมของตนเอง. สถานนมัสการโบราณบางแห่งของพวกเขาตอนนี้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากเป็นพิเศษ.
➤ สุเหร่าสมัยศตวรรษที่สิบ ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันว่าคริสโต เด ลาลุซ เป็นตัวอย่างของงานก่ออิฐที่ช่างชาวมุสลิมมักจะทำกันในเวลานั้น. สุเหร่าแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตเมดินาซึ่งเหล่าเศรษฐีมุสลิมเคยอาศัยอยู่ที่นั่น.
➤ แม้จะถูกเปลี่ยนเป็นโบสถ์คาทอลิกในภายหลัง แต่ธรรมศาลาสองหลังจากยุคกลางเป็นหลักฐานยืนยันถึงชุมชนชาวยิวขนาดใหญ่ในโตเลโด ซึ่งครั้งหนึ่งมีจำนวนประชากรถึงหนึ่งในสาม. ซานตา มาเรีย ลา บลังกา เป็นธรรมศาลาที่เก่าแก่ที่สุด และภายในซึ่งดูเหมือนสุเหร่าที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ก็มีเสาหินที่ตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม. ธรรมศาลาอีกหลังหนึ่งที่ใหญ่กว่านั้นคือ เอล ทรานซิโต (ขวา) ปัจจุบันนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ของพวกเซฟาร์ดิที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมยิว.
➤ การก่อสร้างมหาวิหารแบบกอทิกที่ใหญ่ที่สุดในสเปนเริ่มต้นในศตวรรษที่ 13 และต้องใช้เวลาสร้างกว่า 200 ปีจึงจะแล้วเสร็จ.
[กรอบ/ภาพหน้า 18]
ดาบคุณภาพเยี่ยม และมาร์ซิแพนรสเลิศ
เป็นเวลากว่าสองพันปีแล้วที่ช่างตีเหล็กเมืองโตเลโดได้ทำดาบขึ้น และชื่อโตเลโดก็หมายถึงเหล็กกล้าคุณภาพเยี่ยม. ทั้งกองทัพของฮันนิบาลรวมถึงกองทหารโรมันต่างก็ใช้ดาบเหล่านี้ซึ่งถูกทำขึ้นที่โตเลโด. ศตวรรษต่อ ๆ มา ช่างฝีมือชาวมุสลิมได้เริ่มนำวิธีแกะสลักแบบที่ใช้คร่ำเงินคร่ำทองฝังเป็นลวดลายต่าง ๆ บนดาบและชุดเกราะโตเลโดของตน. ภาพดาบโตเลโดจำลองซ้ายมือนี้เป็นตัวอย่างของดาบดังกล่าว. (ดูบทความ “ลวดลายทองคำบนเหล็ก” ในตื่นเถิด! ฉบับ 22 มกราคม 2005, ภาษาอังกฤษ) ทุกวันนี้ ร้านขายของที่ระลึกส่วนใหญ่ในเมืองนี้จะมีดาบชุดใหญ่ไว้ให้ลูกค้าเลือกรวมถึงชุดเกราะ. นอกจากดาบเหล่านี้จะเป็นของที่ระลึกสำหรับนักสะสมแล้ว ดาบเหล่านี้ยังอาจพบเห็นในภาพยนตร์ไม่ใช่ในสนามรบ.
อีกสิ่งหนึ่งที่สืบทอดกันมานานในโตเลโดคือการทำขนมมาร์ซิแพน ซึ่งแหล่งที่มาของขนมชนิดนี้ย้อนไปถึงสมัยที่ชาวอาหรับยึดครองเมืองนี้. สเปนมีทุ่งอัลมอนด์มากมายอยู่แล้วตอนที่มุสลิมมาถึง แต่น้ำตาลซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญอีกอย่างหนึ่งกำลังขาดแคลน. ในช่วง 50 ปีที่มุสลิมยึดครอง มีการทำสวนอ้อยทางตอนใต้ของสเปน. พอถึงศตวรรษที่ 11 มาร์ซิแพนก็กลายเป็นขนมหวานชนิดพิเศษของโตเลโดและเป็นที่ชื่นชอบของนักชิมนับแต่นั้นมา. ปัจจุบันนี้ มีร้านค้าหลายแห่งในโตเลโดที่ทั้งร้านจะขายแต่มาร์ซิแพนเท่านั้น ซึ่งมักจะทำเป็นรูปปั้นเล็ก ๆ. ถ้าคุณยังไม่ได้ชิมของหวานรสเลิศชนิดนี้ก็ถือว่าคุณมาไม่ถึงเมืองโตเลโด.
[ที่มาของภาพ]
Agustín Sancho
[แผนที่หน้า 16]
(ดูรายละเอียดจากวารสาร)
โปรตุเกส
สเปน
มาดริด
โตเลโด
[ภาพหน้า 18]
สะพานซาน มาร์ติน