กองเรือรบอาร์มาดาแห่งสเปน—การเดินทางที่จบลงด้วยความเศร้าสลด
กองเรือรบอาร์มาดาแห่งสเปน—การเดินทางที่จบลงด้วยความเศร้าสลด
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในสเปน
เมื่อกว่าสี่ศตวรรษที่แล้ว กองเรือรบสองกองได้สู้รบกันในช่องแคบอังกฤษ. การรบครั้งนั้นเป็นการห้ำหั่นกันระหว่างชาวโปรเตสแตนต์กับชาวคาทอลิก และเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 16 ระหว่างกองทัพของราชินีเอลิซาเบทที่ 1 แห่งอังกฤษซึ่งเป็นชาวโปรเตสแตนต์กับกองทัพของกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 แห่งสเปนซึ่งเป็นชาวโรมันคาทอลิก. หนังสือความพ่ายแพ้ของกองเรือรบอาร์มาดาแห่งสเปน (ภาษาอังกฤษ) อธิบายว่า “สำหรับคนสมัยนั้น การต่อสู้ระหว่างกองเรืออังกฤษและกองเรือสเปนในช่องแคบอังกฤษถือเป็นการรบขั้นแตกหักระหว่างกองกำลังแห่งความสว่างและกองกำลังแห่งความมืด.”
ชาวอังกฤษที่เห็นเหตุการณ์ในคราวนั้นพรรณนากองเรืออาร์มาดาของสเปน หรือกองเรือรบอันเกรียงไกร ไว้ว่าเป็น “กองกำลังทางทะเลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยเห็นในท้องทะเล.” แต่การเดินทางของกองเรือรบอาร์มาดากลับกลายเป็นความผิดพลาดอันน่าสลดใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหลายพันคนที่ต้องสูญเสียชีวิตไป. เป้าหมายของกองเรือรบนี้คืออะไร และเหตุใดจึงล้มเหลว?
เหตุใดสเปนพยายามรุกราน?
ในตอนนั้นโจรสลัดชาวอังกฤษปล้นเรือสินค้าของสเปนมาหลายปีแล้ว และราชินีเอลิซาเบทแห่งอังกฤษก็สนับสนุนฝ่ายกบฏชาวดัตช์อย่างเต็มที่ให้ต่อต้านการปกครองของสเปน. นอกจากนี้ กษัตริย์ฟิลิปที่ 2 ซึ่งเป็นชาวคาทอลิกรู้สึกว่าตนมีพันธะที่จะต้องช่วยชาวคาทอลิกในอังกฤษให้ขจัด “คนนอกศาสนา” ชาวโปรเตสแตนต์ที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นให้หมดไปจากประเทศ. เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นั้น กองเรือรบอาร์มาดาจึงนำบาทหลวงและที่ปรึกษาทางศาสนาราว ๆ 180 คนไปด้วย. แม้แต่ตอนที่ลูกเรือของกองเรือรบนี้มารวมพล ผู้ชายแต่ละคนต้องสารภาพบาปต่อบาทหลวงและรับศีลมหาสนิท.
บรรยากาศทางศาสนาของสเปนและความรู้สึกของกษัตริย์เองสามารถเห็นได้จาก
คำกล่าวของเปโดร เดอ ริบาเดเนรา สมาชิกคณะเยสุอิตที่มีชื่อเสียงชาวสเปน ซึ่งกล่าวว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ซึ่งเรากำลังทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์และปกป้องความเชื่ออันบริสุทธิ์ยิ่งในพระองค์นั้น จะนำหน้าเราไป และเนื่องจากเรามีจอมทัพเช่นนี้ เราจึงไม่ต้องเกรงกลัวสิ่งใด.” ส่วนฝ่ายอังกฤษก็หวังว่าชัยชนะอย่างเด็ดขาดจะช่วยปูทางให้แนวคิดแบบโปรเตสแตนต์แผ่ขยายไปทั่วยุโรป.แผนรุกรานของกษัตริย์สเปนดูเหมือนเป็นแผนที่ตรงไปตรงมา. กษัตริย์สั่งให้กองเรือรบอาร์มาดาเคลื่อนขึ้นไปทางช่องแคบอังกฤษและไปรวมพลกับดุ๊กแห่งปาร์มาและทหารชาญศึก 30,000 นายของเขาซึ่งประจำการอยู่ในแฟลนเดอส์. * จากนั้นกองกำลังผสมนี้จะข้ามช่องแคบอังกฤษ ขึ้นบกที่ชายหาดในแขวงเอสเซกซ์ แล้วยกทัพบุกลอนดอน. ฟิลิปคิดเอาเองว่าชาวคาทอลิกในอังกฤษคงจะทอดทิ้งราชินีชาวโปรเตสแตนต์ของตน และเข้ามาสมทบจนทำให้กองทัพของพระองค์ใหญ่ขึ้นอีก.
อย่างไรก็ตาม แผนการของฟิลิปมีจุดอ่อนที่ร้ายแรงมาก. ขณะที่กษัตริย์ทึกทักเอาว่าพระเจ้าจะทรงสนับสนุน แต่พระองค์มองข้ามอุปสรรคสำคัญสองอย่าง นั่นคือความเข้มแข็งของกองทัพเรืออังกฤษและความยากลำบากในการไปรวมพลกับกองทัพของดุ๊กแห่งปาร์มาเนื่องจากไม่มีท่าเรือน้ำลึกที่เหมาะสมซึ่งทั้งสองฝ่ายจะพบกันได้.
กองทัพเรือที่ใหญ่แต่ควบคุมได้ยาก
ฟิลิปแต่งตั้งดุ๊กแห่งเมดินา-ซิโดเนีย ให้บังคับบัญชากองเรือรบอาร์มาดา. แม้ว่าดุ๊กผู้นี้มีประสบการณ์ในการเดินเรือน้อย แต่เขาเป็นนักบริหารที่มีประสิทธิภาพ และภายในเวลาไม่นานเขาก็ได้รับความร่วมมือจากเหล่ากัปตันในกองเรือที่มีประสบการณ์. พวกเขาร่วมกันสร้างกองกำลังและจัดหาอาหารและน้ำสำหรับกองเรืออันใหญ่โตอย่างเต็มความสามารถของตนเอง. พวกเขากำหนดสัญญาณการสื่อสารต่าง ๆ ด้วยความละเอียดรอบคอบ รวมทั้งลำดับและตำแหน่งในขบวนเรือ ซึ่งจะรวมกองกำลังที่มีหลายชาติหลายภาษาของตนเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.
ในที่สุด เรือ 130 ลำ, ทหารเกือบ 20,000 นาย, และลูกเรืออีก 8,000 คนที่รวมกันเป็นกองเรือรบอาร์มาดาก็ออกเดินทางจากท่าเรือกรุงลิสบอนในวันที่ 29 พฤษภาคม 1588. แต่ลมและพายุที่โหมกระหน่ำอย่างหนักทำให้พวกเขาต้องแวะที่เมืองลาคอรุนญา ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสเปน เพื่อซ่อมแซมและรับเสบียงและน้ำเพิ่ม. เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับอาหารและน้ำที่มีไม่พอเพียง และความเจ็บป่วยของเหล่าทหารและลูกเรือ ดุ๊กแห่งเมดินา-ซิโดเนียจึงเขียนไปยังกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับความกังวลของเขาในภารกิจทั้งหมดนี้. แต่ฟิลิปยืนกรานกับผู้บัญชาการของ
พระองค์ให้ทำตามแผนเดิม. ดังนั้น กองเรือที่ใหญ่แต่ควบคุมได้ยากนี้จึงเดินทางต่อและในที่สุดก็ไปถึงช่องแคบอังกฤษหลังจากออกเดินทางจากลิสบอนมาสองเดือน.การรบในช่องแคบอังกฤษ
เมื่อกองเรือรบสเปนมาถึงนอกชายฝั่งเมืองพลีมัท ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ กองทัพเรืออังกฤษก็รออยู่แล้ว. ทั้งสองฝ่ายมีเรือจำนวนพอ ๆ กัน แต่รูปแบบของเรือไม่เหมือนกัน. เรือสเปนลอยสูงจากระดับน้ำ และดาดฟ้าเรือมีปืนใหญ่ระยะใกล้อยู่หลายกระบอก. เนื่องจากมีหอขนาดใหญ่อยู่ที่หัวเรือและท้ายเรือ มันจึงดูเหมือนป้อมปืนลอยน้ำ. ยุทธวิธีของกองทัพเรือสเปนคือให้ทหารบุกขึ้นเรือข้าศึกและพิชิตศัตรู. เรืออังกฤษลอยอยู่ต่ำกว่าและแล่นได้เร็วกว่า แถมมีปืนใหญ่ที่ยิงได้ระยะไกลจำนวนมากกว่า. กัปตันของฝ่ายอังกฤษวางแผนที่จะไม่ประชิดเรือข้าศึก แต่จะยิงถล่มเรือสเปนจากระยะไกล.
เพื่อตอบโต้ความคล่องตัวและวิถีการยิงของกองเรืออังกฤษ ผู้บัญชาการสเปนจึงคิดขบวนแถวการรบแบบตั้งรับซึ่งเป็นรูปจันทร์เสี้ยว. เรือที่แข็งแกร่งที่สุดซึ่งยิงปืนได้ไกลสุดจะอยู่ที่ปลายขบวนทั้งสองด้าน. ไม่ว่าข้าศึกจะเข้ามาจากทิศทางไหน กองเรือรบอาร์มาดาก็จะหันหน้าประจันกันกับข้าศึกเหมือนควายป่าหันเขาของมันให้กับสิงโตที่พยายามจะเข้ามาใกล้.
กองเรือรบทั้งสองยิงตอบโต้กันประปรายตลอดช่องแคบอังกฤษและรบกันครั้งย่อม ๆ สองครั้ง. การตั้งขบวนเรือแบบตั้งรับของสเปนดูเหมือนได้ผล และการยิงปืนระยะไกลของอังกฤษไม่สามารถทำให้เรือสเปนจมลงได้แม้แต่ลำเดียว. เหล่ากัปตันชาวอังกฤษจึงลงความเห็นว่า พวกเขาต้องทำลายขบวนเรือสเปนโดยวิธีใดวิธีหนึ่งและพยายามเข้าไปให้ใกล้มากขึ้น. โอกาสของพวกเขามาถึงในวันที่ 7 สิงหาคม.
ดุ๊กแห่งเมดินา-ซิโดเนียทำตามคำสั่งที่เขาได้รับมาและนำกองเรือรบอาร์มาดาไปยังจุดนัดพบกับดุ๊กแห่งปาร์มาและกองทัพของเขา. ขณะที่รอฟังข่าวจากดุ๊กแห่งปาร์มาอยู่นั้น ดุ๊กแห่งเมดินา-ซิโดเนียสั่งให้กองเรือของเขาทอดสมออยู่นอกเมืองกาเลส์ ซึ่งอยู่บนชายฝั่งของฝรั่งเศส. ในขณะที่กองเรือสเปนจอดทอดสมอและอยู่ในสภาพที่ถูกโจมตีได้ง่ายนั้น พวกอังกฤษส่งเรือแปดลำ ซึ่งบรรทุกสารไวไฟอยู่เต็มลำและจุดไฟบนเรือนั้น แล้วปล่อยให้ลอยไปหาพวกสเปน. ด้วยความตื่นตระหนก กัปตันเรือสเปนส่วนใหญ่รีบนำเรือของตนหนีออกไปกลางทะเลให้พ้นจากอันตราย. จากนั้นลมที่พัดแรงและกระแสน้ำก็พัดเรือของพวกเขาขึ้นไปทางเหนือ.
ตอนรุ่งสางวันต่อมา การรบครั้งสุดท้ายก็เกิดขึ้น. กองเรืออังกฤษยิงปืนใหญ่เข้าใส่เรือสเปนในระยะใกล้ ทำให้เรืออย่างน้อยสามลำจมลงและทำความเสียหายแก่เรืออีกหลายลำ. เนื่องจากพวกสเปนมีกระสุนปืนใหญ่อยู่น้อย พวกเขาจึงต้องเผชิญกับการโจมตีอย่างหนักโดยที่ช่วยตัวเองไม่ได้.
พายุที่รุนแรงทำให้พวกอังกฤษต้องพักการโจมตีจนกระทั่งวันถัดมา. เช้าวันนั้น กองเรือรบอาร์มาดาจัดขบวนเรือเป็นรูปจันทร์เสี้ยวอีกครั้งหนึ่งแล้วหันหน้าไปทางข้าศึกและเตรียมตัวจะสู้ทั้ง ๆ ที่มีกระสุนปืนใหญ่เหลืออยู่เพียงน้อยนิด. แต่ก่อนที่พวกอังกฤษจะเปิดฉากยิง เรือสเปนกลับถูกลมและกระแสน้ำที่พัดไม่หยุดหย่อนพาลอยเฉไปทางชายฝั่ง และ
จวนจะถึงความหายนะที่ดอนทรายใต้น้ำซีแลนด์ บริเวณชายฝั่งเนเธอร์แลนด์.ในตอนที่ดูเหมือนจะสิ้นหวังแล้วนั้น ลมก็เปลี่ยนทิศและพัดกองเรือรบอาร์มาดาขึ้นไปทางเหนือจนอยู่ในระยะที่ปลอดภัยในทะเล. แต่เส้นทางกลับไปเมืองกาเลส์ถูกกองเรืออังกฤษขวางไว้ และกระแสลมก็ยังคงพัดพาเรือสเปนที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักขึ้นไปทางเหนือเรื่อย ๆ. ดุ๊กแห่งเมดินา-ซิโดเนียตัดสินใจว่าเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะยกเลิกปฏิบัติการและรักษาเรือกับกำลังคนไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้. เขาตัดสินใจกลับสเปนโดยอ้อมไปทางสกอตแลนด์และไอร์แลนด์.
พายุและเรืออับปาง
เรือที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักของกองเรือรบอาร์มาดาต้องเดินทางกลับสเปนอย่างยากลำบาก. อาหารจวนจะหมด และเนื่องจากถังน้ำรั่ว น้ำจึงเหลือน้อย. การโจมตีของพวกอังกฤษทำให้เรือหลายลำได้รับความเสียหายอย่างหนัก และมีเรือไม่กี่ลำอยู่ในสภาพที่ปลอดภัยแก่การเดินเรือ. ครั้นมาถึงนอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของไอร์แลนด์ กองเรือรบอาร์มาดาก็ถูกพายุที่รุนแรงโหมกระหน่ำเป็นเวลาถึงสองสัปดาห์. เรือบางลำสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย! ส่วนเรือบางลำก็อับปางอยู่แถว ๆ ชายฝั่งของไอร์แลนด์.
ในที่สุด เรือลำแรกของกองเรือรบอาร์มาดาที่เดินทางอย่างทุลักทุเลก็ไปถึงเมืองซานตานเดอร์ ทางเหนือของสเปน เมื่อวันที่ 23 กันยายน. เรือราว ๆ 60 ลำและกำลังคนเพียงครึ่งหนึ่งที่ออกจากลิสบอนสามารถกลับมาได้. หลายพันคนจมน้ำตาย. อีกหลายคนตายเพราะบาดเจ็บจากการสู้รบหรือเพราะโรคร้ายระหว่างการเดินทางกลับ. แม้แต่ในเหล่าผู้รอดชีวิตที่กลับมาถึงชายฝั่งสเปน ความลำบากก็ยังไม่ยุติ.
หนังสือความพ่ายแพ้ของกองเรือรบอาร์มาดาแห่งสเปน กล่าวว่า “[ทหารและลูกเรือ] ในเรือบางลำไม่มีอาหารเหลือเลยและค่อย ๆ เสียชีวิตไปเนื่องจากการขาดอาหารอย่างหนัก” แม้ว่าพวกเขาจะจอดอยู่ในท่าเรือของสเปนก็ตาม. หนังสือนั้นกล่าวว่าในท่าเรือลาเรโดของสเปน เรือลำหนึ่งเกยตื้น “เนื่องจากไม่มีกำลังคนเหลือพอที่จะลดใบเรือและทอดสมอได้.”
นัยสำคัญของการพ่ายแพ้ครั้งนี้
ความพ่ายแพ้ของกองเรือรบอาร์มาดาทำให้ชาวโปรเตสแตนต์แห่งยุโรปเหนือเกิดความมั่นใจ แม้ว่าสงครามศาสนายังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่ละลด. ข้อที่ว่าชาวโปรเตสแตนต์เชื่อว่าชัยชนะของตนเป็นข้อพิสูจน์ของความพอพระทัยจากพระเจ้าเห็นได้จากเหรียญของอังกฤษที่ทำขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์นี้. คำจารึกในเหรียญนั้นเขียนว่า Flavit יהוה et dissipati sunt 1588 ซึ่งแปลว่า “พระยะโฮวาทรงเป่าและพวกเขาก็กระจัดกระจายไป ปี 1588.”
ต่อมา บริเตนใหญ่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลก ดังที่หนังสือยุโรปยุคใหม่จนกระทั่งปี 1870 (ภาษาอังกฤษ) กล่าวไว้ว่า “ในปี 1763 บริเตนใหญ่ผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านการค้าและด้านอาณานิคมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก.” ที่จริง “ในปี 1763 จักรวรรดิอังกฤษครอบครองโลกราวกับโรมที่ถูกฟื้นฟูและขยายใหญ่ขึ้น” หนังสือกองทัพเรือและจักรวรรดิ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวไว้. หลังจากนั้น บริเตนใหญ่ก็ร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของตนแล้วรวมตัวกันเป็นมหาอำนาจโลกแองโกล-อเมริกัน.
นักศึกษาพระคัมภีร์พบว่าการรุ่งเรืองและการล่มสลายของมหาอำนาจโลกเป็นเรื่องน่าทึ่งมาก. เรื่องนี้เป็นเพราะพระคัมภีร์บริสุทธิ์มีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับรัฐบาลโลกที่สืบทอดอำนาจต่อกันมา ซึ่งก็คืออียิปต์, อัสซีเรีย, บาบิโลน, มิโด-เปอร์เซีย, กรีซ, โรม, และสุดท้าย มหาอำนาจโลกแองโกล-อเมริกัน. ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าไว้นานแล้วเรื่องการรุ่งเรืองและการล่มสลายของมหาอำนาจเหล่านี้หลายชาติ.—ดานิเอล 8:3-8, 20-22; วิวรณ์ 17:1-6, 9-11.
เมื่อมองย้อนไป เห็นได้ชัดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฤดูร้อนปี 1588 ในคราวที่กองเรือรบอาร์มาดาพยายามพิชิตอังกฤษแต่ไม่สำเร็จนั้นเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญมาก. เกือบ 200 ปีภายหลังจากความพ่ายแพ้ของกองเรือรบอาร์มาดา บริเตนใหญ่ก็ขึ้นมาโดดเด่นในโลก และในที่สุดก็มีบทบาทสำคัญในการทำให้คำพยากรณ์ของคัมภีร์ไบเบิลสำเร็จเป็นจริง.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 8 ตอนนั้นแฟลนเดอส์เป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์แห่งสเปน ซึ่งสเปนยึดครองอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 16. เขตนี้ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งของฝรั่งเศส, เบลเยียม, และฮอลแลนด์.
[แผนภูมิ/แผนที่หน้า 26]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
การเดินทางของกองเรือรบอาร์มาดา
——เส้นทางการรบ
––เส้นทางกลับ
X การสู้รบ
สเปน
ลิสบอน
ลาคอรุนญา
ซานตานเดอร์
แฟลนเดอส์
กาเลส์
เนเธอร์แลนด์แห่งสเปน
ยูไนเต็ด เนเธอร์แลนด์
อังกฤษ
พลีมัท
ลอนดอน
ไอร์แลนด์
[ภาพหน้า 24]
กษัตริย์ฟิลิปที่ 2
[ที่มาของภาพ]
Biblioteca Nacional, Madrid
[ภาพหน้า 24]
ราชินีเอลิซาเบทที่ 1
[ภาพหน้า 24, 25]
ดุ๊กแห่งเมดินา-ซิโดเนียเป็นผู้บัญชาการของกองเรือรบอาร์มาดา
[ที่มาของภาพ]
Cortesía de Fundación Casa de Medina Sidonia
[ที่มาของภาพหน้า 25]
Museo Naval, Madrid