การคุมกำเนิดผิดศีลธรรมไหม?
ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
การคุมกำเนิดผิดศีลธรรมไหม?
คุณคิดอย่างไร? ผิดไหมหากคนที่สมรสแล้วจะคุมกำเนิด? คำตอบของคุณอาจขึ้นอยู่กับความเชื่อศรัทธาทางศาสนา. คริสตจักรคาทอลิกสอนว่า การกระทำใด ๆ ที่จะขัดขวางการให้กำเนิด “เป็นสิ่งชั่วร้ายอย่างแท้จริง.” หลักคำสอนของคาทอลิกส่งเสริมความคิดที่ว่า การร่วมเพศแต่ละครั้งระหว่างคู่สมรสต้องให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้. เมื่อเป็นเช่นนั้น คริสตจักรคาทอลิกจึงถือว่าการคุมกำเนิดเป็น “สิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในแง่ศีลธรรม.”
หลายคนรู้สึกว่ายากที่จะยอมรับทัศนะเช่นนี้. บทความหนึ่งในพิตส์เบิร์กโพสต์-กาเซตต์ ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ชาวคาทอลิกในสหรัฐมากกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าแสดงความเห็นว่าคริสตจักรน่าจะยอมให้คุมกำเนิดแบบที่ไม่ใช่วิธีธรรมชาติได้. . . . และทุก ๆ วันหลายล้านคนไม่สนใจคำสั่งห้ามดังกล่าว.” ลินดา หนึ่งในคนเหล่านั้นซึ่งเป็นมารดามีลูกสาวสามคน เธอยอมรับอย่างเปิดเผยว่าเธอได้ใช้วิธีคุมกำเนิด แต่บอกว่า “จากสติรู้สึกผิดชอบของตัวเอง จริง ๆ แล้วฉันไม่เชื่อว่าฉันกำลังทำบาป.”
พระคำของพระเจ้าสอนอย่างไรเกี่ยวกับประเด็นนี้?
ชีวิตมีค่า
พระเจ้าทรงถือว่าชีวิตเด็กมีค่า แม้แต่ในระยะที่เริ่มก่อตัว. กษัตริย์ดาวิดแห่งอิสราเอลได้รับการดลใจให้เขียนดังนี้: “พระองค์ทรงดูแลให้ข้าพเจ้าปิดคลุมไว้ในครรภ์มารดาของข้าพเจ้า. . . . พระเนตรของพระองค์เห็นกระทั่งตัวอ่อนของข้าพเจ้าด้วยซ้ำ และทุกส่วนของตัวอ่อนนั้นถูกเขียนลงในสมุดของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 139:13, 16, ล.ม.) ชีวิตใหม่เริ่มขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ และกฎหมายของโมเซระบุว่า ผู้ใดเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทารกในครรภ์ ผู้นั้นต้องรับผิดชอบ. อันที่จริง มีกล่าวเจาะจงที่เอ็กโซโด 21:22, 23 ว่าหากหญิงมีครรภ์หรือลูกในท้องมีเหตุถึงแก่ ชีวิต เนื่องจากการต่อสู้ระหว่างชายสองคน จึงต้องนำเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาของตุลาการที่รับการแต่งตั้ง. ตุลาการจะวินิจฉัยตามสภาพการณ์และขนาดแห่งเจตนา และโทษที่จะได้รับนั้นอาจหมายถึง “จิตวิญญาณแทนจิตวิญญาณ” หรือชีวิตแทนชีวิต.
หลักการเหล่านั้นตรงกับประเด็นการคุมกำเนิด ซึ่งบางวิธีดูเหมือนจะทำให้แท้ง. การคุมกำเนิดด้วยวิธีดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักการของคัมภีร์ไบเบิลที่ให้แสดงความนับถือต่อชีวิต. ถึงกระนั้น วิธีคุมกำเนิดส่วนใหญ่ไม่ใช่การทำให้แท้ง. จะว่าอย่างไรกับการคุมกำเนิดวิธีต่าง ๆ ที่ไม่ใช่การทำให้แท้ง?
ไม่มีข้อใดในคัมภีร์ไบเบิลสั่งคริสเตียนให้กำเนิดลูกหลาน. พระเจ้าตรัสสั่งมนุษย์คู่แรกและครอบครัวของโนฮาดังนี้: “จงบังเกิดบุตรและทวีขึ้นและบรรจุให้เต็มแผ่นดินโลก.” แต่ไม่ได้ตรัสซ้ำคำสั่งนี้กับคริสเตียน. (เยเนซิศ 1:28; 9:1, ล.ม.) ดังนั้น คู่สมรสอาจตกลงกันเองว่าเขาจะมีบุตรหรือไม่, ต้องการบุตรกี่คน, และจะมีบุตรเมื่อไร. ในทำนองเดียวกัน คัมภีร์ไบเบิลเองก็ไม่ตำหนิการคุมกำเนิด. จากทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล ไม่ว่าสามีและภรรยาจะเลือกวิธีคุมกำเนิดแบบใดก็ตามที่ไม่ได้เป็นการทำแท้ง จริง ๆ แล้วเป็นการตัดสินใจส่วนตัว. กระนั้น ทำไมคริสตจักรคาทอลิกจึงตำหนิการคุมกำเนิด?
ปัญญาของมนุษย์เทียบกับปัญญาของพระเจ้า
แหล่งข้อมูลของคาทอลิกอธิบายว่า ในตอนแรก ประมาณศตวรรษที่สอง พวกที่อ้างตัวเป็นคริสเตียนได้รับเอาหลักปรัชญาสโตอิก ซึ่งตามหลักปรัชญานั้น วัตถุประสงค์เพียงอย่างเดียวที่ชอบด้วยกฎหมายของการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงที่สมรสกันแล้วก็คือการให้กำเนิดบุตร. เหตุผลที่แฝงอยู่ในหลักการนี้เป็นไปตามหลักปรัชญา ไม่ใช่หลักการจากคัมภีร์ไบเบิล. หลักปรัชญานั้นไม่ได้อาศัยสติปัญญาของพระเจ้า แต่เป็นปัญญาของมนุษย์. ปรัชญาที่ว่านี้อยู่ยงตลอดหลายศตวรรษ และแพร่กระจายออกไปโดยนักเทววิทยาคาทอลิกคณะต่าง ๆ. * อย่างไรก็ตาม ผลสืบเนื่องจากคำสอนนี้ก็คือแนวคิดที่ว่าการมีเพศสัมพันธ์เพียงเพื่อจะมีความสุขทางเพศเท่านั้นถือว่าเป็นบาป และด้วยเหตุนั้น เพศสัมพันธ์ที่ไม่เป็นไปเพื่อให้กำเนิดลูกหลานจึงเป็นการผิดศีลธรรม. แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่พระคัมภีร์สอน.
โดยการใช้ภาษาเชิงกวี พระธรรมสุภาษิตพรรณนาความชื่นชมยินดีอันอาจเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์อย่างเหมาะสมระหว่างสามีภรรยาดังนี้: “จงดื่มน้ำจากถังเก็บน้ำของเจ้าเอง, และน้ำอันไหลซึมที่บ่อของเจ้าเอง. จงให้บ่อน้ำพุของเจ้านำความสุขสำราญมาสู่ตัวเจ้าเอง; และจงชื่นใจยินดีด้วยกันกับภรรยาซึ่งอยู่ด้วยกันมาแต่หนุ่มสาว. เหมือนอย่างนางเนื้อที่น่ารักและนางกวางที่น่าชม, จงให้ถันของภรรยาเจ้าเป็นที่หนำใจอยู่ทุกเวลา; จงรื่นเริงยินดีกับความรักของภรรยาเสมอ.”—สุภาษิต 5:15, 18, 19.
เพศสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาเป็นของประทานจากพระเจ้า. แต่การกำเนิดบุตรไม่ใช่จุดประสงค์เพียงอย่างเดียวของความสัมพันธ์ทางเพศ. การมีเพศสัมพันธ์ทำให้คู่สมรสมีโอกาสแสดงความรักใคร่อันอ่อนโยนต่อกันและกันด้วย. ฉะนั้น หากคู่สมรสตัดสินใจจะป้องกันการตั้งครรภ์ด้วยการคุมกำเนิดย่อมเป็นสิทธิของเขาที่จะเลือก และไม่ควรมีผู้ใดวิจารณ์เขาในเรื่องนี้.—โรม 14:4, 10-13.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 11 ในศตวรรษที่ 13 นี่เอง เกรกอรี ที่เก้า ได้ออกกฎซึ่งสารานุกรมคาทอลิกฉบับใหม่ เรียกว่า “บทบัญญัติสากลแรกเพื่อต่อต้านการคุมกำเนิดที่สันตะปาปาได้ตราขึ้น.”
คุณเคยสงสัยไหม?
▪ เพศสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยามีอะไรที่ถือว่าเป็นบาปไหม?—สุภาษิต 5:15, 18, 19.
▪ คริสเตียนควรคำนึงถึงสิ่งใดหากเขาจะคุมกำเนิด?—เอ็กโซโด 21:22, 23.
▪ คนอื่นควรมีทัศนะเช่นไรต่อคู่สมรสที่ทำการคุมกำเนิด?—โรม 14:4, 10-13.
[คำโปรยหน้า 11]
พระเจ้าตรัสสั่งมนุษย์คู่แรกและครอบครัวของโนฮาดังนี้: “จงบังเกิดบุตรและทวีขึ้นและบรรจุให้เต็มแผ่นดินโลก.” แต่ไม่ได้ตรัสซ้ำคำสั่งนี้กับคริสเตียน