ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ความรุนแรงต่อผู้หญิงปัญหาระดับโลก

ความรุนแรงต่อผู้หญิงปัญหาระดับโลก

ความ​รุนแรง​ต่อ​ผู้​หญิง​ปัญหา​ระดับ​โลก

วัน​ที่ 25 พฤศจิกายน​ของ​ทุก​ปี​เป็น​วัน​ยุติ​ความ​รุนแรง​ต่อ​ผู้​หญิง​สากล. สมัชชา​ใหญ่​แห่ง​สหประชาชาติ​ยอม​รับ​วัน​นี้​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ใน​ปี 1999 โดย​มี​เป้าหมาย​ที่​จะ​ให้​ประชาชน​ทั่ว​ไป​ตระหนัก​ถึง​เรื่อง​การ​ละเมิด​สิทธิ​สตรี. ทำไม​จำเป็น​ต้อง​จัด​ให้​มี​วัน​นี้​ขึ้น?

ใน​หลาย​วัฒนธรรม ผู้​หญิง​ถูก​มอง​และ​ได้​รับ​การ​ปฏิบัติ​ราว​กับ​เป็น​ประชาชน​ชั้น​สอง​หรือ​อยู่​ใน​ฐานะ​ที่​ด้อย​กว่า. อคติ​ต่อ​ผู้​หญิง​เป็น​สิ่ง​ที่​ฝัง​ราก​ลึก. ความ​รุนแรง​ต่อ​เพศ​หญิง​ใน​ทุก​รูป​แบบ​เป็น​ปัญหา​ที่​มี​มา​นาน​แล้ว แม้​แต่​ใน​ประเทศ​ที่​พัฒนา​แล้ว. ตาม​ที่​นาย​โคฟี อันนัน อดีต​เลขาธิการ​ใหญ่​องค์การ​สหประชาชาติ ได้​กล่าว “ความ​รุนแรง​ต่อ​ผู้​หญิง​เป็น​ปัญหา​ระดับ​โลก และ​มี​อยู่​ใน​ทุก​สังคม​และ​ทุก​วัฒนธรรม. ความ​รุนแรง​ดัง​กล่าว​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​ผู้​หญิง​ไม่​ว่า​พวก​เธอ​จะ​มา​จาก​เผ่า​พันธุ์, เชื้อชาติ, ฐานะ​ทาง​สังคม, วงศ์​ตระกูล​ใด ๆ หรือ​อาจ​มี​สถานะ​อื่น​ใด​ก็​ตาม.”

รัดดีกา คูมาราสวามี อดีต​ผู้​เสนอ​รายงาน​การ​ประชุม​พิเศษ​ของ​คณะ​กรรมาธิการ​ว่า​ด้วย​สิทธิ​มนุษยชน​ของ​สหประชาชาติ​ใน​เรื่อง​ความ​รุนแรง​ต่อ​ผู้​หญิง กล่าว​ว่า สำหรับ​ผู้​หญิง​ส่วน​ใหญ่ ความ​รุนแรง​ต่อ​ผู้​หญิง​เป็น “เรื่อง​ที่​ไม่​ควร​พูด​ถึง, เป็น​สิ่ง​ที่​ต้อง​ปก​ปิด​ไม่​ให้​สังคม​ได้​รับ​รู้, และ​เป็น​ความ​จริง​ของ​ชีวิต​ที่​น่า​อับอาย. สถิติ​ที่​จัด​ทำ​ขึ้น​ใน​ประเทศ​ฮอลแลนด์​โดย​สถาบัน​หนึ่ง​ซึ่ง​ศึกษา​เกี่ยว​กับ​ผู้​ที่​ตก​เป็น​เหยื่อ​ของ​ความ​รุนแรง​บ่ง​ชี้​ว่า 23 เปอร์เซ็นต์​ของ​ผู้​หญิง​ใน​ประเทศ​หนึ่ง​ทาง​อเมริกา​ใต้ หรือ​ประมาณ 1 ใน 4 คน​ต้อง​ประสบ​กับ​ความ​รุนแรง​ภาย​ใน​ครอบครัว​บาง​รูป​แบบ. ใน​ทำนอง​เดียว​กัน สภา​ยุโรป​กะ​ประมาณ​ว่า ผู้​หญิง​ชาว​ยุโรป 1 ใน 4 คน​ต้อง​ประสบ​กับ​ความ​รุนแรง​ภาย​ใน​ครอบครัว​ระหว่าง​ช่วง​ชีวิต​ของ​เธอ. ตาม​ที่​กระทรวง​มหาดไทย​ของ​อังกฤษ​รายงาน ใน​ช่วง​หนึ่ง​ปี​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้ ใน​อังกฤษ​และ​เวลส์​เฉลี่ย​แล้ว​มี​ผู้​หญิง​ถูก​ฆ่า​สัปดาห์​ละ​สอง​คน​โดย​ผู้​ที่​มี​ความ​สัมพันธ์​อัน​ลึกซึ้ง​กับ​เธอ​ไม่​ว่า​จะ​เป็น​คน​ที่​เธอ​คบ​อยู่​ใน​ปัจจุบัน​หรือ​เป็น​คน​ที่​เลิก​ลา​กัน​ไป​แล้ว​ตาม. วารสาร​อินเดีย ทูเดย์ อินเตอร์​แนชันแนล รายงาน​ว่า “สำหรับ​ผู้​หญิง​ทั่ว​ทั้ง​ประเทศ​อินเดีย ความ​กลัว​เป็น​เหมือน​คน​ที่​คอย​ติด​ตาม​พวก​เธอ​ตลอด​เวลา และ​การ​ข่มขืน​ก็​เหมือน​กับ​คน​แปลก​หน้า​ที่​น่า​กลัว​ซึ่ง​พวก​เธอ​อาจ​พบ​เจอ​ได้​ทุก​ซอก​ทุก​มุม, ไม่​ว่า​จะ​ถนน​สาย​ใด, ใน​ที่​สาธารณะ​แห่ง​ใด หรือ​เวลา​ใด​ก็​ตาม.” องค์การ​นิรโทษกรรม​ระหว่าง​ประเทศ​พรรณนา​ถึง​ความ​รุนแรง​ต่อ​ผู้​หญิง​และ​เด็ก​ผู้​หญิง​ว่า​เป็น “ปัญหา​สิทธิ​มนุษยชน​ที่​แพร่​หลาย​ที่​สุด” ใน​เวลา​นี้.

สถิติ​ที่​กล่าว​ถึง​ข้าง​ต้น​นี้​สะท้อน​ถึง​ทัศนะ​ที่​พระเจ้า​ทรง​มี​ต่อ​ผู้​หญิง​ไหม? บทความ​ถัด​ไป​จะ​พิจารณา​คำ​ถาม​นี้.