ทำไมไม่จบชีวิตไปเสียเลย?
หนุ่มสาวถามว่า
ทำไมไม่จบชีวิตไปเสียเลย?
แต่ละปี หนุ่มสาวนับล้านคนพยายามจะปลิดชีวิตของตนเอง. หลายพันคนทำได้ตามที่คิด. เพราะมีวัยรุ่นจำนวนมากได้ฆ่าตัวตาย ผู้พิมพ์วารสาร “ตื่นเถิด!” จึงเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะพิจารณาประเด็นนี้.
“ขอพระองค์ทรงเอาชีวิตของข้าพเจ้าไปเสียเถอะ, เพราะว่าข้าพเจ้าจะตายเสียก็ดีกว่าที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป.” ใครพูดข้อความเหล่านี้? เป็นคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าหรือ? เป็นคนที่ละทิ้งพระเจ้าหรือเปล่า? เป็นคนที่พระเจ้าทอดทิ้งไหม? ไม่ใช่เลย. คนพูดคือโยนาผู้เลื่อมใสในพระเจ้าแต่มีความกังวลอย่างหนัก. * (โยนา 4:3) พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่าโยนากำลังจะปลิดชีวิตตัวเอง. อย่างไรก็ตาม คำวิงวอนอย่างสิ้นหวังของท่านแสดงให้เห็นข้อเท็จจริงสำคัญประการหนึ่ง นั่นคือแม้แต่ผู้รับใช้ของพระเจ้าสามารถได้รับผลกระทบจากความรู้สึกหดหู่ได้ในบางโอกาส.—บทเพลงสรรเสริญ 34:19.
หนุ่มสาวบางคนรู้สึกสิ้นหวังมากจนพวกเขาไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่ออะไร. พวกเขาอาจรู้สึกเหมือนลอรา * วัย 16 ปี ที่บอกว่า “เป็นเวลาหลายปีที่ดิฉันรู้สึกซึมเศร้าบ่อยครั้ง. ดิฉันคิดถึงการฆ่าตัวตายบ่อย ๆ.” ถ้าคุณรู้จักบางคนที่เคยบอกว่าเขาต้องการฆ่าตัวตาย หรือถ้าคุณเองเคยคิดเรื่องนี้ คุณจะทำอย่างไร? ประการแรก ขอให้เราตรวจสอบอย่างละเอียดว่าทำไมจึงอาจเกิดความคิดดังกล่าวขึ้นได้.
เบื้องหลังความสิ้นหวัง
ทำไมบางคนจึงคิดจะปลิดชีวิตตนเอง? อาจมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายประการ. ประการหนึ่ง เรามีชีวิตอยู่ท่ามกลาง “วิกฤตกาลซึ่งยากจะรับมือได้” และหนุ่มสาวหลายคนรู้สึกถึงความกดดันในชีวิตที่หนักอึ้งยิ่งขึ้น. (2 ติโมเธียว 3:1) นอกจากนั้น ความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์อาจ เป็นเหตุให้บางคนหมกมุ่นกับความคิดในแง่ลบอย่างมากเกี่ยวกับตัวเองและสภาพการณ์ต่าง ๆ รอบตัว. (โรม 7:22-24) บางครั้งอาจเป็นเพราะพวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างเลวร้าย. ในกรณีอื่น ๆ อาจเป็นเพราะปัญหาสุขภาพ. สิ่งที่พึงสังเกตคือข้อเท็จจริงที่ว่าในประเทศหนึ่งประมาณกันว่าร้อยละ 90 ของคนที่ปลิดชีวิตตนเองเป็นผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตบางอย่าง. *
แน่นอน ไม่มีใครที่ไม่ต้องประสบกับความยากลำบากเลย. ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “สิ่งทรงสร้างทั้งปวงล้วนคร่ำครวญด้วยกันและเจ็บปวดด้วยกัน.” (โรม 8:22) นั่นหมายรวมเอาคนหนุ่มสาวด้วย. ที่จริง เยาวชนสามารถได้รับผลกระทบอย่างมากจากเหตุการณ์เลวร้ายต่าง ๆ เช่น
▪ ความตายของญาติ, เพื่อน, หรือสัตว์เลี้ยง
▪ ความขัดแย้งในครอบครัว
▪ ความผิดหวังด้านการเรียน
▪ ความผิดหวังในเรื่องความรัก
▪ การถูกทำร้าย (ทั้งทางร่างกายและทางเพศ)
เป็นความจริงว่า ไม่ช้าก็เร็ว เยาวชนแทบทุกคนต้องเผชิญกับสถานการณ์ข้างต้นหนึ่งอย่างหรือมากกว่านั้น. ทำไมบางคนจึงสามารถรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ได้ดีกว่าคนอื่น? ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเยาวชนที่คิดจะฆ่าตัวตายเป็นคนที่รู้สึกว่าไม่มีใครช่วยพวกเขาได้และไม่มีทางแก้ใด ๆ สำหรับปัญหาของเขา. พูดอีกอย่างหนึ่ง เยาวชนเหล่านี้เชื่อว่าไม่มีทางใดที่จะทำได้เพื่อแก้สถานการณ์และมองไม่เห็นทางออกใด ๆ. ดร. แคทลีน แมกคอย บอกกับตื่นเถิด! ว่า “บ่อยครั้ง เยาวชนเหล่านี้ไม่ต้องการที่จะตายจริง ๆ. พวกเขาเพียงแต่ต้องการยุติความเจ็บปวด.”
ไม่มีทางออกหรือ?
คุณอาจรู้จักบางคนที่ ‘ต้องการยุติความเจ็บปวด’ มากถึงขนาดที่เขาหรือเธออยากปลิดชีวิตตนเอง. ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณจะทำอะไรได้?
ถ้าเพื่อนหดหู่จนถึงขั้นอยากตาย จงโน้มน้าวเขาให้หาความช่วยเหลือ. หลังจากนั้น ไม่ว่าเขาหรือเธอจะรู้สึกอย่างไร ให้แจ้งเรื่องนี้กับผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง. อย่ากังวลว่ามิตรภาพของคุณจะถูกทำลาย. โดยการรายงานเรื่องดังกล่าว คุณแสดงว่าคุณเองเป็น “มิตรแท้” เป็นบุคคลที่ “เกิดมาเพื่อยามที่มีความทุกข์ยาก.” (สุภาษิต 17:17, ล.ม.) การที่คุณทำเช่นนั้นอาจช่วยชีวิตคนนั้นไว้ได้!
แต่จะว่าอย่างไรถ้าคุณเองมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย? ดร. แมกคอย เน้นดังนี้ “จงแสวงหาความช่วยเหลือ. บอกใครสักคนว่าคุณรู้สึกอย่างไรไม่ว่าจะเป็นพ่อหรือแม่, ญาติพี่น้อง, เพื่อน, ครู, หรือผู้สอนศาสนา ใครสักคนที่ห่วงใยซึ่งจะตั้งอกตั้งใจรับฟังคุณและช่วยให้คนอื่น ๆ ที่สำคัญกับชีวิตของคุณได้รู้สิ่งที่คุณต้องการที่จะบอก.”
คุณไม่มีสิ่งใดที่จะต้องสูญเสีย แต่คุณจะช่วยตัวเองได้อย่างแน่นอนโดยเปิดอกพูดถึงปัญหาของคุณ. จงพิจารณาตัวอย่างหนึ่งจากพระคัมภีร์. ณ จุดหนึ่งของชีวิต โยบชายผู้ชอบธรรมกล่าวว่า “ดวงจิตของข้าฯ เบื่อหน่ายต่อชีวิตของข้าฯ.” แต่ท่านได้พูดต่อว่า “ข้าฯ จะปล่อยตัวของข้าฯ ให้บ่นไปตามเรื่อง; ข้าฯ จะพูดด้วยความขมขื่นแห่งดวงจิตของข้าฯ.” (โยบ 10:1) โยบรู้สึกสิ้นหวัง และท่านจำเป็นที่จะต้องพูดเกี่ยวกับความปวดร้าวของท่าน. คุณก็อาจรู้สึกสบายใจขึ้นโดยพูดกับเพื่อนที่อาวุโส.
คริสเตียนที่รู้สึกหดหู่ยังมีความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกแหล่งหนึ่ง คือ ผู้ปกครองในประชาคม. (ยาโกโบ 5:14, 15) แน่นอนว่าการพูดเกี่ยวกับปัญหาของคุณไม่ได้ทำให้ปัญหาหายไป. แต่อาจช่วยคุณให้มองปัญหาในทางที่สมดุล และความช่วยเหลือจากคนที่คุณไว้วางใจอาจเป็นสิ่งที่คุณต้องการเพื่อหาทางแก้ปัญหาที่ได้ผลจริง.
สถานการณ์เปลี่ยนแปลง
เมื่อเผชิญกับปัญหาหนัก จงจำไว้ว่า ไม่ว่าสถานการณ์อาจดูเหมือนว่าสิ้นหวังแค่ไหน ในเวลาอันควรสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไป. ดาวิดผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญ ซึ่งได้เคยประสบความทุกข์ยากหลายประการ ได้กล่าวในคำอธิษฐานว่า “ข้าพเจ้าร้องครวญครางจนอ่อนอกอ่อนใจ; ข้าพเจ้ากระทำให้เตียงนอนของข้าพเจ้าเปียกโชกไปบทเพลงสรรเสริญ 6:6) อย่างไรก็ตาม ในบทเพลงอีกบทหนึ่งท่านเขียนว่า “พระองค์ทรงโปรดบันดาลให้การร้องไห้ร่ำไรของข้าพเจ้ากลับกลายเป็นการเต้นรำแล้ว.”—บทเพลงสรรเสริญ 30:11.
ตลอดคืน; ที่นอนของข้าพเจ้าชุ่มอาบไปด้วยน้ำตา.” (ดาวิดทราบจากประสบการณ์ว่าปัญหาของชีวิตจะเข้ามาแล้วก็ผ่านไป. ถูกแล้ว ปัญหาบางอย่างอาจดูเหมือนว่ามากเกินที่จะรับได้ อย่างน้อยในขณะนี้. แต่ขอให้อดทน. เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ บ่อยครั้งเป็นไปในทางที่ดีขึ้น. ในบางกรณี ปัญหาอาจลดน้อยลงในแบบที่คุณไม่คาดคิด. ในกรณีอื่น ๆ คุณอาจพบวิธีที่รับมือได้แบบที่คุณไม่ได้คิดมาก่อน. ประเด็นคือ ปัญหาที่ทำให้ท้อแท้จะไม่ เป็นแบบนั้นตลอดกาล.—2 โครินท์ 4:17.
คุณค่าแห่งคำอธิษฐาน
รูปแบบการสื่อความที่สำคัญที่สุดที่คุณมีคือการอธิษฐาน. คุณสามารถอธิษฐานได้เช่นเดียวกับดาวิดว่า “ข้าแต่พระเจ้า, ขอทรงตรวจดู, และทรงทราบในใจของข้าพเจ้า: ขอทรงลองข้าพเจ้า, และทรงทราบความคิดของข้าพเจ้า, ขอทรงพิจารณาดูว่ามีทางชั่วอันใดในตัวข้าพเจ้าหรือ, และขอพระองค์ทรงนำข้าพเจ้าไปตามทางซึ่งจะดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์.”—บทเพลงสรรเสริญ 139:23, 24.
การอธิษฐานไม่ใช่เพียงแค่เป็นวิธีรับมือกับปัญหา. การอธิษฐานเป็นการสนทนาจริง ๆ กับพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของคุณ ซึ่งต้องการให้คุณ “ระบายความในใจ” ของคุณกับพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 62:8, ฉบับแปลใหม่) จงพิจารณาความจริงพื้นฐานต่อไปนี้เกี่ยวกับพระเจ้า:
▪ พระองค์ทรงทราบเป็นอย่างดีเกี่ยวกับสภาพการณ์ที่ทำให้คุณหดหู่.—บทเพลงสรรเสริญ 103:14.
▪ พระองค์รู้จักคุณดีกว่าที่คุณรู้จักตัวเอง.—1 โยฮัน 3:20.
▪ “พระองค์ทรงใฝ่พระทัย” คุณ.—1 เปโตร 5:7.
▪ ในโลกใหม่ของพระเจ้า พระองค์จะ “ทรงเช็ดน้ำตาทุกหยด” จากตาของคุณ.—วิวรณ์ 21:4.
ถ้าปัญหาเกี่ยวข้องกับสุขภาพ
ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ความรู้สึกที่จะฆ่าตัวตายบ่อยครั้งเนื่องมาจากความเจ็บป่วยบางชนิด. ถ้านั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณ อย่าอายที่จะขอความช่วยเหลือ. พระเยซูตระหนักว่าคนป่วยต้องการหมอ. (มัดธาย 9:12) ข่าวดีคือว่าสภาพเจ็บป่วยหลาย ๆ อย่างสามารถรักษาได้. การบำบัดรักษาอาจช่วยคุณให้รู้สึกดีขึ้นได้มากทีเดียว!
คัมภีร์ไบเบิลสัญญาว่าในโลกใหม่ของพระเจ้า “จะไม่มีใครที่อาศัยอยู่ที่นั่นพูดว่า, ‘ข้าพเจ้าป่วยอยู่.’” (ยะซายา 33:24) ในเวลานี้ ขอคุณทำให้ดีที่สุดที่จะรับมือกับข้อท้าทายในชีวิต. ไฮดี ซึ่งอยู่ในเยอรมนี ได้ทำเช่นนั้น. เธอกล่าวว่า “บางครั้ง ความหดหู่ของดิฉันมากเหลือเกินจนถึงขั้นที่ดิฉันอยากตาย แต่ขณะนี้ดิฉันสามารถมีชีวิตได้ตามปกติ เป็นเพราะการที่ดิฉันได้อธิษฐานอย่างไม่ละลดและการรับการบำบัดรักษา.” เรื่องนี้สามารถเป็นจริงกับคุณด้วยเช่นกัน! *
ถ้าต้องการอ่านบทความชุด “หนุ่มสาวถามว่า” เพิ่มเติม ให้ดาวน์โหลดตื่นเถิด! ฉบับอื่น ๆ จากเว็บไซต์ www.dan124.com
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 ริบะคา, โมเซ, เอลียา, และโยบ ต่างก็พูดคล้าย ๆ กัน.—เยเนซิศ 25:22, ฉบับแปลใหม่; 27:46; อาฤธโม 11:15; 1 กษัตริย์ 19:4; โยบ 3:21; 14:13.
^ วรรค 5 ชื่อต่าง ๆ ในบทความเป็นนามสมมุติ.
^ วรรค 7 อย่างไรก็ตาม เป็นสิ่งสำคัญที่จะทราบว่าเยาวชนส่วนใหญ่ที่เจ็บป่วยทางจิตไม่ได้ฆ่าตัวตาย.
^ วรรค 33 สำหรับข้อมูลในการรับมือกับความรู้สึกซึมเศร้า โปรดดูบทความชุด “การช่วยเหลือวัยรุ่นที่ซึมเศร้า” ในตื่นเถิด! ฉบับ 8 กันยายน 2001 และบทความชุด “การเข้าใจความผิดปกติทางอารมณ์” ในฉบับ 8 มกราคม 2004.
ข้อชวนคิด
▪ พูดกันว่าการฆ่าตัวตายไม่ได้ยุติปัญหา แต่เป็นเพียงการส่งต่อปัญหาให้กับคนอื่น. เรื่องนี้เป็นจริงอย่างไร?
▪ คุณจะพูดกับใครได้บ้างถ้าคุณรู้สึกกังวลใจอย่างมาก?
[กรอบ/ภาพหน้า 29]
ถึงบิดามารดา
ในบางส่วนของโลก หนุ่มสาวจำนวนมากฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก. ยกตัวอย่าง ในสหรัฐอเมริกา การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายอันดับสามท่ามกลางหนุ่มสาวอายุระหว่าง 15 ถึง 25 ปี และในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการฆ่าตัวตายในกลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 10 และ 14 ปีได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า. พวกที่มีความเสี่ยงมากที่สุดได้แก่เยาวชนที่มีความผิดปกติทางสุขภาพจิต, เยาวชนที่สมาชิกครอบครัวหนึ่งคนหรือมากกว่าฆ่าตัวตาย, และเยาวชนซึ่งเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน. สัญญาณเตือนว่าเยาวชนอาจคิดเรื่องการฆ่าตัวตายมีดังต่อไปนี้:
▪ ปลีกตัวจากครอบครัวและเพื่อน
▪ ลักษณะการกินและการนอนเปลี่ยนไป
▪ ขาดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ
▪ บุคลิกเปลี่ยนแปลงจนสังเกตได้
▪ ใช้ยาหรือแอลกอฮอล์มากเกินไป
▪ ยกสิ่งของที่ตนรักและทะนุถนอมให้คนอื่น
▪ พูดถึงความตายหรือหมกมุ่นกับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความตาย
ดร. แคทลีน แมกคอย บอกกับตื่นเถิด! ว่าข้อผิดพลาดใหญ่ยิ่งที่สุดประการหนึ่งที่พ่อหรือแม่อาจทำก็คือการเพิกเฉยต่อสัญญาณเตือนต่าง ๆ ดังกล่าว. เธอกล่าวว่า “ไม่มีใครอยากจะคิดว่าลูกของตนมีอะไรที่ผิดปกติ ดังนั้นพ่อแม่บางคนจึงปฏิเสธที่จะยอมรับว่าลูกมีปัญหา. พวกเขาบอกตัวเองว่า ‘มันก็แค่ช่วงหนึ่ง’ หรือ ‘เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป’ หรือ ‘ลูกมักจะทำตัวเกินเหตุ.’ นี่เป็นเรื่องอันตราย. สัญญาณบอกเหตุทุกอย่างต้องได้รับการเอาใจใส่อย่างจริงจัง.”
อย่าอายที่จะขอความช่วยเหลือสำหรับลูกชายหรือลูกสาว ถ้าเขาหรือเธอประสบความซึมเศร้ารุนแรงหรือมีความผิดปกติทางอารมณ์. และถ้าคุณสงสัยว่าลูกวัยรุ่นของคุณกำลังคิดถึงการจบชีวิตตัวเอง จงถามเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้. ความเชื่อที่ว่าการพูดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายจะส่งเสริมการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด. เยาวชนหลายคนรู้สึกสบายใจขึ้นเมื่อพ่อแม่หยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุย. ดังนั้น ถ้าลูกวัยรุ่นของคุณยอมรับว่ามีความคิดเรื่องการฆ่าตัวตาย จงหาคำตอบให้ได้ว่าเขาหรือเธอมีแผนการสำหรับเรื่องนี้หรือไม่ และถ้ามีแผนจริง รายละเอียดเป็นอย่างไร. ยิ่งแผนการละเอียดมากเท่าไร คุณก็ยิ่งจำต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วนมากขึ้นเท่านั้น. *
อย่าทึกทักว่าความรู้สึกซึมเศร้าจะหายไปเอง. และถ้าความซึมเศร้าดูเหมือนว่าหายไปจริง ก็อย่าคิดว่าปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว. ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่านี่คือจุดอันตรายที่สุด. เพราะเหตุใด? ดร. แมกคอยบอกว่า “วัยรุ่นซึ่งซึมเศร้าอย่างหนักอาจไม่มีเรี่ยวแรงที่จะฆ่าตัวตาย. เมื่อความซึมเศร้าหายไป เขาจึงอาจมีกำลังพอที่จะฆ่าตัวตาย.”
เป็นเรื่องที่น่าเศร้าจริง ๆ ที่ว่าเนื่องจากความสิ้นหวัง หนุ่มสาวบางคนตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง. โดยการเป็นคนตื่นตัวตอบสนองต่อสัญญาณเตือน บิดามารดาและผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ที่ให้การดูแลอาจ “พูดปลอบโยนคนทุกข์ใจ” และเป็นเหมือนที่หลบภัยสำหรับเยาวชน.—1 เทสซาโลนิเก 5:14.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 54 พวกผู้เชี่ยวชาญยังได้เตือนว่าครอบครัวที่มียาที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากใช้ในปริมาณมากหรือมีอาวุธปืนที่บรรจุกระสุนและหยิบฉวยได้ง่ายอยู่ในภาวะเสี่ยง. เกี่ยวกับอาวุธปืน มูลนิธิป้องกันอัตวินิบาตกรรมอเมริกันชี้แจงว่า “แม้ว่าเจ้าของปืนส่วนใหญ่แจ้งว่าพวกเขามีปืนไว้ในบ้านเพื่อ ‘คุ้มครอง’ หรือ ‘ป้องกันตัว’ ร้อยละ 83 ของการตายที่เกี่ยวข้องกับปืนในบ้านเป็นผลมาจากการฆ่าตัวตาย บ่อยครั้งโดยคนที่ไม่ใช่เจ้าของปืน.”
[ภาพหน้า 28]
รูปแบบการสื่อความที่สำคัญที่สุดคือการอธิษฐาน