ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเพ่งดูโลก

การเพ่งดูโลก

การ​เพ่ง​ดู​โลก

▪ “ปริมาณ​ของ​น้ำ​แข็ง [แถบ​ขั้ว​โลก​เหนือ] ที่​สูญ​เสีย​ไป​ใน​ปี​นี้ [2007] ทำ​ให้​เรา​ตะลึง​ไป​เลย เนื่อง​จาก​มัน​ไม่​เพียง​แต่​ทุบ​สถิติ​ที่​เคย​มี​อยู่​ก่อน​หน้า​นั้น​ทั้ง​หมด แต่​มัน​ยัง​ทำลาย​สถิติ​เหล่า​นั้น​อย่าง​ราบ​คาบ​ด้วย.”—มาร์ก เซอเร, ศูนย์​ข้อมูล​หิมะ​และ​น้ำ​แข็ง​แห่ง​ชาติ, สหรัฐ​อเมริกา.

▪ สถาบัน​วิจัย​ด้าน​เศรษฐกิจ​ใหม่​ประเมิน​ว่า “ถ้า​ทุก​คน​ใน​โลก​ใช้​ทรัพยากร​อัตรา​เดียว​กับ​ที่​ผู้​คน​ใน​สหรัฐ​ใช้ คง​ต้อง​มี​โลก 5.3 ใบ​เพื่อ​รอง​รับ​พวก​เขา . . . ส่วน​ฝรั่งเศส​และ​บริเตน​ตัว​เลข​จะ​อยู่​ที่ 3.1, สเปน 3.0, เยอรมนี 2.5 และ​ญี่ปุ่น 2.4.”—สำนัก​ข่าว​รอยเตอร์, บริเตน.

“ก่อ​ผล​เสียหาย​มาก​กว่า​ผล​ดี” หรือ?

รายงาน​หนึ่ง​จาก​ศูนย์​การ​แพทย์ มหาวิทยาลัย​ดุ๊ก ใน​เมือง​เดอร์แฮม รัฐ​นอร์ทแคโรไลนา สหรัฐ​อเมริกา กล่าว​ว่า “การ​นำ​เลือด​มนุษย์​ที่​เก็บ​ไว้​ใน​ธนาคาร​มา​ถ่าย​ให้​ผู้​ป่วย​อาจ​ก่อ​ผล​เสียหาย​ต่อ​ผู้​ป่วย​ส่วน​ใหญ่​มาก​กว่า​ที่​จะ​ก่อ​ผล​ดี.” การ​ศึกษา​ต่าง ๆ พบ​ว่า คนไข้​ที่​รับ​การ​ถ่าย​เลือด​มี “โอกาส​สูง​กว่า​ที่​จะ​หัวใจ​วาย, หัวใจ​ล้มเหลว, เป็น​โรค​เส้น​เลือด​สมอง, และ​ถึง​กับ​เสีย​ชีวิต” เมื่อ​เทียบ​กับ​คน​ที่​ไม่​ได้​รับ​การ​ถ่าย​เลือด. เพราะ​เหตุ​ใด? “สาร​ไนทริก​ออกไซด์​ใน​เซลล์​เม็ด​เลือด​แดง​เริ่ม​สลาย​ตัว​แทบ​จะ​ทันที​หลัง​จาก​ที่​เซลล์​เม็ด​เลือด​แดง​ออก​จาก​ร่าง​กาย.” ไนทริก​ออกไซด์​เป็น​สาร​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง​ที่​ช่วย​รักษา​หลอด​เลือด​แดง​ไม่​ให้​ตีบ และ​ด้วย​เหตุ​นี้​เซลล์​เม็ด​เลือด​แดง​จึง​สามารถ​ลำเลียง​ออกซิเจน​ไป​ยัง​เนื้อ​เยื่อ​ต่าง ๆ ใน​ร่าง​กาย​ได้. รายงาน​นั้น​กล่าว​ว่า “ดู​เหมือน​ว่า คนไข้​หลาย​ล้าน​คน​กำลัง​ได้​รับ​การ​ถ่าย​เลือด​ที่​มี​ความ​สามารถ​ใน​การ​ลำเลียง​ออกซิเจน​ต่ำ.”

การ​ติด​ทีวี​ใน​ภูฏาน

เป็น​เวลา​หลาย​ทศวรรษ​มา​แล้ว​ที่​ภูฏาน​อาณาจักร​เล็ก ๆ แห่ง​เทือก​เขา​หิมาลัย​ได้​ต้านทาน​อิทธิพล​ของ​สื่อ​ยุค​ใหม่. แต่​หลัง​จาก​ที่​ประชาชน​จำนวน​มาก​พา​กัน​บ่น​เรื่อง​ที่​พวก​เขา​ไม่​สามารถ​ชม​การ​แข่งขัน​ฟุตบอล​โลก​ปี 1998 รัฐบาล​จึง​อนุญาต​ให้​มี​โทรทัศน์​ได้​ใน​ปี 1999. รายงาน​หนึ่ง​จาก​ภูฏาน​กล่าว​ว่า เวลา​นี้​ผู้​คน​ดู​ทีวี​ได้ 40 ช่อง แถม​ยัง​ติด​ภาพยนตร์​ฮอลลีวูด​และ​ละคร​อินเดีย​แล้ว​ด้วย. แทน​ที่​พวก​เขา​จะ​นั่ง​พูด​คุย​กัน ร้อง​เพลง​ด้วย​กัน​เหมือน​แต่​ก่อน ครอบครัว​กลับ​นั่ง​ดู​ทีวี​กัน. ผู้​หญิง​คน​หนึ่ง​บ่น​ว่า​เธอ​แทบ​จะ​ไม่​มี​เวลา​ทำ​อะไร​เลย รวม​ทั้ง​เวลา​ที่​จะ​สวด​มนต์​ด้วย. เธอ​บอก​ว่า “แม้​แต่​ตอน​ที่​ฉัน​หมุน​ธรรม​จักร​อธิษฐาน จิตใจ​ของ​ดิฉัน​ก็​ยัง​วน​เวียน​อยู่​กับ​ทีวี​ตลอด​เวลา” หนังสือ​พิมพ์​ราย​วัน​เดอะ เพนินซุลา แห่ง​กาตาร์ รายงาน. “แต่​สิ่ง​ที่​หลาย​คน​กลัว​ก็​คือ ชาว​ภูฏาน​เริ่ม​จะ​กลาย​เป็น​คน​ที่​คลั่งไคล้​ใน​การ​จับจ่าย​ซื้อ​ของ​เช่น​เดียว​กับ​คน​ใน​ประเทศ​อื่น ๆ. ‘โทรทัศน์​และ​การ​โฆษณา​ทำ​ให้​ผู้​คน​อยาก​ได้​สิ่ง​ของ​ต่าง ๆ ที่​เกิน​กำลัง​ทรัพย์​ของ​เขา.’”

พนักงาน​ที่​ถูก​รบกวน

วารสาร​นิว ไซเยนติสต์ กล่าว​ว่า “บาง​ครั้ง​ชีวิต​ใน​ที่​ทำ​งาน​อาจ​ดู​เหมือน​มี​แต่​การ​รับ​โทรศัพท์​แถม​ยัง​ถูก​รบกวน​ด้วย​เหตุ​ต่าง ๆ อยู่​ตลอด​เวลา.” พวก​นัก​วิจัย​พบ​ว่า โดย​เฉลี่ย​แล้ว พนักงาน​บริการ​ด้าน​ข้อมูล​ที่​เป็น​กลุ่ม​ตัว​อย่าง​กลุ่ม​หนึ่ง​จะ​ทำ​งาน​ได้​แค่​สาม​นาที​ก่อน​ที่​จะ​ถูก​ขัด​จังหวะ. เนื่อง​จาก​การ​ถูก​ขัด​จังหวะ​อาจ​ทำ​ให้​ต้อง​เสีย​เวลา​ทำ​งาน​ถึง​วัน​ละ​สอง​ชั่วโมง พนักงาน​บริษัท​บาง​คน​ที่​มี​งาน​ล้น​มือ​จึง​ใช้​คอมพิวเตอร์​เพื่อ​ช่วย​วิเคราะห์​ว่า​การ​ขัด​จังหวะ​ครั้ง​ใด​ด่วน​หรือ​ไม่​ด่วน. ข้อ​แนะ​ต่าง ๆ ที่​ทุก​คน​อาจ​นำ​ไป​ใช้​ได้​ก็​คือ “จง​พูด​ตรง ๆ กับ​ผู้​คน . . . ถ้า​คุณ​ไม่​มี​เวลา ก็​บอก​พวก​เขา​เลย​ว่า​คุณ​ไม่​มี​เวลา​ที่​จะ​คุย​กับ​เขา​จริง ๆ” และ​ต้อง​กล้า “ปิด​อีเมล โทรศัพท์​มือ​ถือ​และ​ข้อมูล​ด่วน​จน​กว่า​คุณ​จะ​ทำ​งาน​เสร็จ.”