ไบซันยุโรป—รอดจากการสูญพันธุ์
ไบซันยุโรป—รอดจากการสูญพันธุ์
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในโปแลนด์
นักลักลอบล่าสัตว์รู้สึกตื่นเต้น. พวกเขาพบรอยเท้าที่กำลังมองหาอยู่. เมื่อรีบรุดตามไป ในที่สุดพวกเขาก็ได้พบเห็นสิ่งที่เป็นเป้าหมายของตน. ขนของมันเป็นสีน้ำตาลเข้ม เคราของมันเกือบจะเป็นสีดำ. เขาที่อยู่สูงขึ้นไปบนหัวของมันโง้งเข้าหากัน. เนื้อและหนังของมันเป็นที่ต้องการมาก และนักลักลอบล่าสัตว์ก็สามารถขายได้ราคางาม.
กระสุนนัดแรกของนักลักลอบล่าสัตว์ทำให้เจ้าสัตว์ตัวนั้นบาดเจ็บ. มันวิ่งเข้าป่าเพื่อหาที่ซ่อนตัว แต่ก็ไร้ประโยชน์. กระสุนนัดที่สองได้ปลิดชีวิตของมัน แล้วร่างที่หนักถึงครึ่งตันของสัตว์ตัวนี้ก็ล้มลง. พวกนักลักลอบเหล่านี้ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่พวกเขาทำลงไปนั้นได้ถูกบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์. นั่นเป็นเดือนเมษายน ปี 1919 และพวกเขาก็เพิ่งฆ่าไบซันที่ลุ่มยุโรปตัวสุดท้ายที่อยู่ในป่าของโปแลนด์. นับว่าน่ายินดีที่ในตอนนั้นยังมีไบซันขังอยู่ตามสวนสัตว์และสถานเลี้ยงสัตว์ของเอกชน.
ไบซันยุโรป (Bison bonasus) หรือบางครั้งก็เรียกกันว่า วีเซนต์ เดิมทีอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในภูมิภาคส่วนใหญ่ของทวีปยุโรป. ไบซันตัวผู้ที่โตเต็มขนาดแล้วอาจมีน้ำหนักถึง 900 กิโลกรัมและสูงได้เกือบ 2 เมตรเมื่อวัดถึงบ่าของมัน. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมร่างใหญ่เหล่านี้เคยถูกเรียกว่า จักรพรรดิแห่งพงไพร.
ลักษณะที่โดดเด่นของไบซันก็คือขนาดที่ไม่ได้สัดส่วนกันของลำตัวส่วนหน้ากับส่วนหลัง. ช่วงบ่าด้านหน้าของมันที่ทั้งกว้างและหนักนั้นมีหนอกนูนขึ้นมาอย่างเด่นชัด ขณะที่ส่วนหลังของลำตัวค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกัน. ส่วนหลังนี้มีขนสั้น ๆ ปกคลุมอยู่ ขณะที่ส่วนหน้ามีขนยาวรุงรังแถมยังมีเคราด้วย.
เกือบสูญพันธุ์
มีการกะประมาณกันว่า ในทุกวันนี้มีไบซันยุโรปเหลืออยู่เพียงไม่กี่พันตัว. การทำเกษตรกรรมและการถางป่าทำให้ที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพวกมันสูญสิ้นไป และนักลักลอบล่าสัตว์ก็เข่นฆ่าพวกมันอย่างไม่ลดละ. พอถึงศตวรรษที่แปด ไบซันยุโรปในอาณาจักรโกล (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศฝรั่งเศสและเบลเยียม) ก็สูญสิ้นไป.
ในศตวรรษที่ 16 กษัตริย์ชาวโปแลนด์ได้ดำเนินการเพื่อพิทักษ์คุ้มครองสัตว์ป่าชนิดนี้. หนึ่งในกษัตริย์องค์แรก ๆ ที่ได้ให้การช่วยเหลือก็คือกษัตริย์ซิกิสมุนด์ที่สอง เอากุสตุส ซึ่งได้ออกพระราชกฤษฎีกาว่าการฆ่าไบซันยุโรปนั้นเป็นความผิดที่มีโทษถึงขั้นประหารชีวิต. เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ดร. ซบิกนีเยฟ คราซินสกี ประจำอุทยาน
แห่งชาติเบียวอฟเยชา กล่าวว่า “ความตั้งใจนั้นก็คือ เพื่อสงวนสัตว์เหล่านี้เอาไว้เป็นรางวัลให้พวกผู้ปกครองและเหล่าข้าราชบริพารได้ล่ากัน.” ทั้ง ๆ ที่มีบทลงโทษอย่างรุนแรง แต่กฎข้อบังคับดังกล่าวก็ไม่สามารถคุ้มครองเจ้าไบซันป่าได้ และพอถึงสิ้นศตวรรษที่ 18 ไบซันยุโรปก็มีเหลืออยู่เฉพาะที่ป่าเบียวอฟเยชาทางภาคตะวันออกของโปแลนด์ และในเทือกเขาคอเคซัสเท่านั้น.ในศตวรรษที่ 19 สถานการณ์ก็เริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น. หลังจากจักรวรรดิรัสเซียได้ยึดครองป่าเบียวอฟเยชา จักรพรรดิอะเล็กซานเดอร์ที่หนึ่งก็มีรับสั่งให้คุ้มครองไบซันยุโรป. ไม่นานก็เห็นผล. ประชากรไบซันเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ และพอถึงปี 1857 ไบซันยุโรปที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐบาลก็มีเกือบถึง 1,900 ตัว. ต่อมา มีการสร้างที่ให้อาหารสัตว์ขึ้นเพื่อให้ไบซันมากินอาหารได้ในช่วงฤดูหนาว. มีการวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อสร้างบ่อน้ำ และถางป่าเพื่อปลูกพืชเอาไว้เลี้ยงพวกมัน.
น่าเศร้า ช่วงเวลาที่น่ายินดีสำหรับไบซันเหล่านี้เป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ. ภายในเวลา 60 ปี จำนวนไบซันก็ลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง. จุดจบของไบซันป่าในโปแลนด์เกิดขึ้นตอนที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งระเบิดขึ้น. ทั้ง ๆ ที่เยอรมนีมีการออกพระราชกฤษฎีกาให้ “คุ้มครองไบซันไว้เพื่อชนรุ่นหลังฐานะเป็นอนุสรณ์ทางธรรมชาติที่ไม่มีใดเหมือน” แต่สัตว์เหล่านี้ก็ถูกฆ่าตายไปเป็นจำนวนมาก ทั้งโดยกองทหารฝ่ายเยอรมันที่ล่าถอย, พวกนักต่อสู้ชาวรัสเซียที่สู้รบกับฝ่ายเยอรมัน, และนักลักลอบล่าสัตว์ที่มีอยู่เสมอมา. ดังที่ได้อธิบายไว้ในตอนต้นของบทความนี้ ในปี 1919 ไบซันยุโรปที่อาศัยอยู่ในป่าตัวสุดท้ายของโปแลนด์ก็ถูกฆ่าตาย.
รอดจากการสูญสิ้น
ด้วยความพยายามที่จะอนุรักษ์สัตว์ชนิดนี้เอาไว้ จึงมีการก่อตั้งสมาคมระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองไบซันยุโรปขึ้นในปี 1923. เป้าหมายแรกของสมาคมนี้ก็คือ เพื่อนับจำนวนไบซันพันธุ์แท้ที่ถูกขังไว้ตามที่ต่าง ๆ. * ปรากฏว่ามีไบซันที่ลุ่มยุโรปซึ่งเป็นพันธุ์แท้หลงเหลืออยู่ตามสวนสัตว์ต่าง ๆ ทั่วโลก 54 ตัว. อย่างไรก็ตาม ในจำนวนทั้งหมดนี้ใช่ว่าทุกตัวสมบูรณ์พอที่จะผสมพันธุ์ได้. บางตัวก็แก่เกินไป ส่วนบางตัวก็เป็นโรคร้ายแรง. ในที่สุด ไบซัน 12 ตัวก็ถูกคัดมาเพื่อช่วยเพิ่มจำนวนสัตว์ป่าชนิดนี้. เป็นที่ทราบกันดีว่า ไบซันที่ลุ่มยุโรปทั้งหมดที่มีอยู่ในตอนนี้เป็นลูกหลานของไบซันเพียงห้าตัวจากจำนวนดังกล่าว..
ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1929 ก็มีเหตุการณ์ที่น่ายินดีมากเกิดขึ้น เมื่อมีการปล่อยไบซันที่ลุ่มยุโรปสองตัวคืนสู่ป่า. พวกมันถูกนำไปปล่อยในเขตสงวนที่จัดเตรียมไว้เป็นพิเศษในป่าเบียวอฟเยชา. หลังจากสิบปีผ่านไป พวกมันก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 16 ตัว.
รอดจากการสูญพันธุ์หรือ?
ในตอนต้นศตวรรษที่ 21 มีไบซันยุโรปอยู่ประมาณ 2,900 ตัวทั่วโลก. ในจำนวนนี้มีประมาณ 700 ตัวอยู่ในโปแลนด์. ตลอดช่วงเวลาหลายปี มีการนำไบซันเหล่านี้ไปปล่อยที่เบลารุส, คีร์กิซสถาน, ลิทัวเนีย, รัสเซีย, และยูเครนด้วย.
แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าไบซันยุโรปจะรอดพ้นอันตราย. พวกหมัดและเห็บ, โรคภัย, การขาดแคลนอาหารและน้ำ, และผู้ลักลอบล่าสัตว์ก็ยังเป็นภัยคุกคามอยู่ร่ำไป. นอกจากนี้ ความบกพร่องทางพันธุกรรมก็ยังเป็นปัญหาร้ายแรงด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากการผสมพันธุ์กันในสัตว์จำนวนไม่กี่ตัว. เนื่องจากเหตุผลเหล่านี้ ไบซันยุโรปจึงยังอยู่ในบัญชีรายชื่อของสัตว์และพืชทั่วโลกที่ใกล้จะสูญพันธุ์.
ความตั้งใจแน่วแน่ของมนุษย์ที่จะอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ชนิดนี้เอาไว้ได้ช่วยให้มันมีชีวิตรอดมาจนถึงสมัยของเรา. อย่างไรก็ตาม ดร. คราซินสกี ที่กล่าวถึงในตอนต้น ได้เตือนเราว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นกับไบซันยุโรปเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าการจะล้างผลาญสัตว์ชนิดหนึ่งจนแทบจะสูญสิ้นไปนั้นสามารถทำได้ในพริบตา แต่ที่จะช่วยชีวิตพวกมันให้รอดได้ก็ต้องทุ่มเทความพยายามอย่างมาก.” อนาคตของสัตว์ชนิดนี้ รวมทั้งชนิดอื่น ๆ ก็ยังไม่มีอะไรแน่นอน. แต่สำหรับเวลานี้ “จักรพรรดิแห่งพงไพร” ก็ได้รับการช่วยเหลือให้รอดพ้นจากการสูญสิ้น.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 13 ไบซันยุโรปแบ่งเป็นชนิดย่อย ๆ ได้สองชนิดคือไบซันที่ลุ่มยุโรป และไบซันแห่งเทือกเขาคอเคซัส หรือไบซันภูเขา. ไบซันแห่งเทือกเขาคอเคซัสตัวสุดท้ายตายเมื่อปี 1927. อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้นไบซันตัวผู้ชนิดนั้นได้ผสมพันธุ์กับไบซันที่ลุ่มและเกิดลูกพันธุ์ผสมขึ้น. ไบซันพันธุ์ผสมเหล่านี้ยังคงมีอยู่อีกหลายตัว.
[ภาพหน้า 10]
ไบซันยุโรปในวนอุทยานแห่งชาติเบียวอฟเยชา
[ที่มาของภาพ]
All photos: Białowieski Park Narodowy