เป๋าฮื้อนิวซีแลนด์—โอพอลแห่งท้องทะเล
เป๋าฮื้อนิวซีแลนด์—โอพอลแห่งท้องทะเล
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในนิวซีแลนด์
หอยขนาดใหญ่ตัวหนึ่งที่ค่อย ๆ คลานไปตามก้อน หินบนพื้นมหาสมุทร กำลังเล็มสาหร่ายที่พลิ้วไหวไปตามกระแสน้ำแถบชายฝั่งทะเล. เปลือกด้านนอกของมันที่มี สีหม่น ๆ แถมยังมีตะกอนหินปูนและสัตว์ทะเลตัวจิ๋วเกาะอยู่จน หนักอึ้งนั้น ได้ปิดซ่อนสีสันอันพราวพรายเหมือนสีรุ้งที่อยู่ด้านในเอาไว้ ซึ่งมีทั้งสีฟ้าอ่อนเย็นตา, สีเขียวน้ำทะเล, สีม่วงเข้มที่แซมด้วยสีเหลืองและสีชมพูอ่อน อีกทั้งสีทองและสีเงินที่เปล่งประกายวาววับ.
สัตว์ที่น่าทึ่งตัวนี้คือหอยเป๋าฮื้อชนิดหนึ่งซึ่งมีเฉพาะที่นิวซีแลนด์เท่านั้น. หอยเป๋าฮื้อนิวซีแลนด์และหอยเป๋าฮื้อชนิดอื่น ๆ อาศัยอยู่ใต้ท้องทะเลบริเวณแนวชายฝั่งที่เต็มไปด้วยโขดหิน. แม้ว่าสีรุ้งเลื่อมพรายที่อยู่ด้านในเปลือกหอยจะทำให้มันมีค่ามาก ซึ่งสามารถนำมาทำเครื่องประดับอันงดงามได้ แต่หลายคนกลับมองว่าเนื้อของมันเป็นอาหารรสเลิศ. นอกจากนี้ มันยังสามารถนำมาผลิตไข่มุกเลี้ยงที่มีประกายแวววาวได้.
หอยเป๋าฮื้อนิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในเป๋าฮื้อ 100 กว่าชนิดที่พบเห็นอยู่ทั่วโลก. แอฟริกาใต้และแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ต่างก็มีหอยเป๋าฮื้อชนิดที่มีเฉพาะในดินแดนของตนเอง. หอยเป๋าฮื้อในญี่ปุ่นเรียกว่าอาวาบิ, ในออสเตรเลียเรียกว่ามัตตันฟิช, และบนเกาะเกอร์นซีย์ในช่องแคบอังกฤษเรียกว่าออร์เมอร์. อย่างไรก็ตาม มีแต่ในน่านน้ำที่หนาวเย็นทางใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกใต้เท่านั้นที่จะพบหอยเป๋าฮื้อของนิวซีแลนด์ (Haliotis iris) ที่มีสีสันพราวพรายได้.
ความน่าพิศวงทางชีววิทยา
ภายในเปลือกหอยชนิดนี้ โปรตีนและแคลเซียมที่สลับกันเป็นชั้น ๆ ทำให้แสงที่สะท้อนออกมามีสีเหลือบเหมือนสีรุ้งคล้ายกับโอพอล. ด้วยเหตุนี้ หอยเป๋าฮื้อนิวซีแลนด์จึงได้รับฉายาว่าโอพอลแห่งท้องทะเล. การลดลงของอุณหภูมิในท้องทะเลเป็นสาเหตุที่ทำให้หอยเป๋าฮื้อ “จำศีล” หรือนอนหลับ และกว่าชั้นของเปลือกหอยจะเพิ่มขึ้นได้ก็ต้องใช้เวลานานมาก. ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหอยเป๋าฮื้อนิวซีแลนด์คนหนึ่งเชื่อว่าสีสันอันหลากหลายอาจเกิดจากสารอาหารที่อยู่ในน้ำทะเล รวมทั้งสีของสาหร่ายชนิดต่าง ๆ ที่หอยกินเข้าไป.
หอยเป๋าฮื้อนิวซีแลนด์เลือกเฟ้นอาหารที่มันกินและพิถีพิถันในการเลือกเพื่อนบ้านของมัน. พวกมันจะไม่ยอมอยู่ใกล้ ๆ เม่นทะเล หรือกินา ที่มีขนเป็นหนามแหลม เพราะเม่นทะเลชอบกินสาหร่ายชนิดเดียวกับมัน. นอกจากนี้ ปลาดาวยังเป็นศัตรูตัวร้ายของมันด้วย. ปลาดาวเพียงไม่กี่ตัวก็สามารถฆ่าพวกมันได้คราวละมาก ๆ. ปลาดาวเจ้าเล่ห์จะวางแขนอันหนึ่งพาดตามแนวที่เป็นรูหายใจของหอยเป๋าฮื้อ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มันหายใจไม่ออก. เมื่อหอยเป๋าฮื้อร่วงลงมาจากหินที่มันเกาะอยู่ ปลาดาวก็จะจับหอยเป๋าฮื้อกินได้อย่างง่ายดาย.
ประโยชน์นานาประการจากหอยเป๋าฮื้อนิวซีแลนด์
แม้ว่าเปลือกสีดำด้านนอกของมันจะดูไม่สวย แต่เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วที่ชาวเมารีซึ่งเป็นชน
พื้นเมืองของนิวซีแลนด์ถือว่าหอยเป๋าฮื้อเป็นอาหารที่มีคุณค่า. ส่วนที่กินได้ของหอยชนิดนี้ก็คือกล้ามเนื้อมัดใหญ่ หรือตีนที่มันใช้คลานไปในท้องทะเลที่เต็มไปด้วยโขดหิน. ชาวเมารียังใช้เปลือกของมันทำเหยื่อตกปลาและเครื่องประดับต่าง ๆ รวมทั้งทำเป็นดวงตาใส่ในรูปแกะสลักของเขา.ปัจจุบันนี้หอยเป๋าฮื้อนิวซีแลนด์ได้รับความนิยมยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา. การเดินทางไปนิวซีแลนด์อาจจะถือว่าไปไม่ถึงจริง ๆ ถ้าไม่ได้ไปแวะซื้อเครื่องประดับบางอย่างที่ทำจากหอยเป๋าฮื้อนิวซีแลนด์.
ทุกวันนี้ นักดำน้ำที่ไม่ได้ใส่เครื่องช่วยหายใจใต้ทะเลใด ๆ ได้พากันไปเก็บหอย. การเก็บหอยกลายเป็นธุรกิจส่งออกที่ทำเงินหลายล้านดอลลาร์. เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีหอยเป๋าฮื้อเหลือรอดอยู่ในนิวซีแลนด์ รัฐบาลจึงมีการจัดระบบโควตาขึ้น. เนื้อหอยส่วนใหญ่จะถูกนำไปบรรจุกระป๋องส่งไปยังตลาดในเอเชีย และบางส่วนก็แช่แข็งส่งไปยังสิงคโปร์และฮ่องกง ซึ่งหอยเป๋าฮื้อกลายเป็นอาหารเลิศหรูที่ใคร ๆ ก็ชื่นชอบ. หอยเป๋าฮื้อมักจะเสิร์ฟแบบดิบและหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ แบบเดียวกับซูชิ. ทั้ง ๆ ที่มีหอยเป๋าฮื้อมากมายในน่านน้ำของตน แต่ชาวนิวซีแลนด์หลายคนก็ไม่เคยได้ลิ้มรสของมันเลย เพราะส่วนใหญ่แล้วมันจะถูกส่งออกนอกประเทศ.
เพื่อหอยเป๋าฮื้อนิวซีแลนด์จะมีพอสำหรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของนานาประเทศ เวลานี้ผู้จัดจำหน่ายได้ใช้วิธีการอันทันสมัยเพื่อเพาะเลี้ยงพวกมัน. วิธีการผลิตที่มนุษย์คิดทำขึ้นนี้ยังใช้กับหอยเป๋าฮื้อชนิดอื่น ๆ ที่อยู่ในออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, และสหรัฐได้ด้วย. วิธีการแบบใหม่นี้ทำให้สามารถเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อนิวซีแลนด์ในแท็งก์น้ำที่มีการควบคุมอุณหภูมิอย่างเหมาะสม ซึ่งอยู่ห่างไกลมากจากถิ่นอาศัยตามธรรมชาติในท้องทะเล.
หอยเป๋าฮื้อนิวซีแลนด์ที่ถูกนำมาเพาะเลี้ยงก็ตะกละตะกลามเช่นเดียวกับพวกญาติ ๆ ของมันที่อาศัยอยู่ในทะเล. ในแต่ละสัปดาห์ พวกมันกินอาหารได้มากถึงครึ่งหนึ่งของน้ำหนักตัว. น่าแปลกที่หอยพวกนี้มีความคล่องตัวราวกับนักกีฬา. ถ้ามีใครไปจับมันหงายท้อง มันจะพลิกตัวกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว. หอยเป๋าฮื้อที่ถูกนำมาเพาะเลี้ยงดูแลง่ายมาก. ผู้เชี่ยวชาญในการเพาะเลี้ยงหอยบอกว่า “หอยเป๋าฮื้อนิวซีแลนด์เป็นสัตว์ที่น่ารักเมื่อเลี้ยงมัน เพราะพวกมันเชื่องและประพฤติตัวดีมาก และพวกมันก็ไม่เคยเถียงกลับ!”
ไข่มุกจากหอยเป๋าฮื้อนิวซีแลนด์
นอกจากจะเป็นแหล่งแห่งเครื่องประดับที่ทำจากเปลือกหอยและเป็นอาหารอันโอชะ หอยเป๋าฮื้อนิวซีแลนด์ยังสามารถผลิตไข่มุกที่แวววาวได้ด้วย. ไข่มุกธรรมชาติจากหอยเป๋าฮื้อนิวซีแลนด์ที่อาศัยอยู่ในทะเลนั้นหาได้ยากมาก. แต่หอยเหล่านี้นำมาเพาะเลี้ยงมุกได้โดยใช้วิธีการที่หลุยส์ บูตัง นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้คิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกในทศวรรษ 1890. ผลที่ได้ก็คือ มีไข่มุกรูปครึ่งวงกลมที่มีสีสันตระการตาเช่นเดียวกับเปลือกของหอยนั้น. วิธีการดังกล่าวเป็นเช่นไร?
มีการใส่วัสดุชิ้นเล็ก ๆ เข้าไปในหอยที่ถูกนำมาเพาะเลี้ยง ซึ่งปกติจะใส่ไว้สามที่คือ ด้านข้างสองและด้านหลังหนึ่ง. หอยจะค่อย ๆ เคลือบสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นเป็นชั้น ๆ ด้วยเนเคอร์หรือสารมุก ซึ่งประกอบด้วยแคลเซียมคาร์บอเนตและสารโปรตีนคอนคีโอลีน. หลังจาก 18 เดือนเป็นอย่างน้อย ชั้นมุกที่ซ้อนทับกันเป็นพัน ๆ ชั้นก็จะกลายเป็นไข่มุกเม็ดเล็ก ๆ. (ดูกรอบข้างล่างนี้.) เพื่อจะได้ไข่มุกเม็ดใหญ่ต้องใช้เวลาถึงหกปี. ในหอยเป๋าฮื้อนิวซีแลนด์ 50 ตัวจะมีหนึ่งตัวที่ผลิตไข่มุกได้เกือบสมบูรณ์แบบ. นี่เป็นอัญมณีที่มีผิวเรียบ, มีสีเหลือบเหมือนสีรุ้ง, และมีประกายแวววับอย่างน่าอัศจรรย์.
นักวิจัยยังไม่สามารถผลิตไข่มุกทรงกลมจากหอยเป๋าฮื้อนิวซีแลนด์ได้. นั่นเป็นเพราะมันไม่เหมือนกับหอยนางรม. หอยเป๋าฮื้อมีกล้ามเนื้อมัดหนึ่งในท้องของมันซึ่งจะคอยขจัดสิ่งแปลกปลอมใด ๆ ก็ตามที่ถูกนำไปใส่ไว้ในระบบย่อยอาหารของมัน. บางทีสักวันหนึ่งอาจมีใครบางคนค้นพบวิธีผลิตไข่มุกทรงกลมที่ผู้คนใฝ่ฝันอยากจะได้ไว้ครอบครอง.
ในระหว่างนี้ เราก็สามารถชื่นชมกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากหอยที่ใช้ทำประโยชน์ได้สารพัด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับที่ส่องประกายแวววาว, อาหารที่น่าลิ้มลอง, และเปลือกหอยที่มีสีสันพราวพราย. เรารู้สึกขอบพระคุณพระเจ้ามิใช่หรือที่ทรงให้ของประทานอันน่ายินดีนี้?—ยาโกโบ 1:17.
[กรอบ/ภาพหน้า 24, 25]
บ้านที่แข็งแรงทนทาน
ส่วนประกอบหลักของเปลือกหอยเป๋าฮื้อนิวซีแลนด์คือแคลเซียมคาร์บอเนต. วัสดุนี้เป็นวัสดุชนิดเดียวกับที่ใช้ทำชอล์กแท่ง. อย่างไรก็ตาม เปลือกหอยเป๋าฮื้อนิวซีแลนด์แข็งแรงกว่าชอล์กอย่างน้อย 30 เท่า!
หอยเป๋าฮื้อนิวซีแลนด์สกัดแคลเซียมคาร์บอเนตจากน้ำทะเลเพื่อสร้างสารมุก ซึ่งเป็นแผ่นบาง ๆ ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ. แผ่นมุกเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้เปลือกหอยแข็งแรงมาก แต่ยังทำให้มีสีสันเป็นประกายแวววาวด้วย. กาวของโปรตีนและน้ำตาลที่เรียกว่าคอนคีโอลีนจะยึดแผ่นมุกให้เกาะติดกัน. กาวที่ทรงพลังนี้ยังช่วยเคลือบเปลือกหอยให้ดูแวววาวคล้ายกระจกอีกด้วย.
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถผลิตกาวหรือสร้างเปลือกหอยแบบเดียวกับหอยเป๋าฮื้อได้. เปลือกหอยสามารถซ่อมแซมรอยร้าวต่าง ๆ และมีอย่างน้อยห้าวิธีที่จะทำให้เปลือกหอยทนทานไม่แตกง่าย. ที่จริง หอยเป๋าฮื้อนิวซีแลนด์เป็นผลงานทางด้านวิศวกรรมและการออกแบบที่น่าพิศวงของพระเจ้า.
[ที่มาของภาพ]
© Humann/gt photo
[ที่มาของภาพหน้า 23]
Top left: © K.L. Gowlett-Holmes; top right: Marcus Byrne/Photographers Direct
[ที่มาของภาพหน้า 25]
Silverdale Marine Hatchery, New Zealand