เรากำลังจะขาดแคลนน้ำหรือ?
เรากำลังจะขาดแคลนน้ำหรือ?
ภาษิตของชาวอุซเบกกล่าวไว้ว่า “เมื่อน้ำหมด ชีวิตก็จบสิ้น.” ผู้เชี่ยวชาญบางคนคงจะบอกว่าถ้อยคำดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นการทำนายถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้มากกว่าเป็นภาษิต. มีประชาชนประมาณสองล้านคนเสียชีวิตทุกปีเนื่องจากขาดสุขอนามัยและใช้น้ำที่ปนเปื้อน และ 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เสียชีวิตก็คือเด็ก.
คุณได้น้ำมาอย่างไร? คุณเพียงแต่เปิดก๊อกแล้วน้ำก็ไหลออกมาไหม? หรือเหมือนกับในบางดินแดน คุณต้องเดินเป็นระยะทางไกล, ยืนเข้าคิว, แล้วก็แบกถังที่หนักอึ้งซึ่งมีน้ำอันแสนล้ำค่ากลับไปยังบ้านของคุณไหม? คุณต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวันเพียงเพื่อจะได้น้ำมากพอสำหรับการทำอาหารและการซักล้างไหม? ในหลายดินแดน น้ำเป็นสิ่งที่ขาดแคลนและหาได้ยากมาก! ไดแอน เรนส์ วอร์ด กล่าวไว้ในหนังสือของเธอที่ชื่อสงครามน้ำ—ความแห้งแล้ง, อุทกภัย, ความโง่เขลา, และนโยบายแห่งความกระหาย (ภาษาอังกฤษ) ว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกออกไป “ตักน้ำจากบ่อ, แม่น้ำ, สระ, หรือแอ่งน้ำที่อยู่นอกบ้าน.” ในบางประเทศ ผู้หญิงบางคนอาจต้องใช้เวลามากถึงหกชั่วโมงเพื่อไปตักน้ำให้คนในครอบครัวใช้ โดยหิ้วถังหรือภาชนะต่าง ๆ ซึ่งเมื่อใส่น้ำเต็มแล้วจะมีน้ำหนักมากกว่า 20 กิโลกรัม.
ความจริงคือว่า มากกว่าหนึ่งในสามของประชากรโลกประสบปัญหาอย่างหนักจากการที่ไม่สามารถหาน้ำดื่มที่สะอาดและกำจัดของเสียแบบที่ปลอดภัยได้. ปัญหาดังกล่าวรุนแรงมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกา ซึ่งประชากรที่นั่น 6 ใน 10 คนไม่มีแม้แต่ห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะ และตามที่องค์การอนามัยโลกรายงาน ปัญหานี้เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีส่วนทำให้ “แบคทีเรีย, ไวรัส, และปรสิตที่อยู่ในอุจจาระมนุษย์แพร่กระจายไปทั่วซึ่ง . . . ปนเปื้อนในน้ำ, ดิน, และอาหาร.” รายงานนั้นกล่าวว่า การปนเปื้อนเช่นนั้น “เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วง ซึ่งเป็นตัวการใหญ่
อันดับสองที่คร่าชีวิตเด็ก ๆ ในประเทศกำลังพัฒนา และทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ที่เป็นโรคสำคัญ ๆ เช่น อหิวาตกโรค, โรคพยาธิใบไม้, และโรคริดสีดวงตา.”มีการเรียกน้ำว่าทองคำเหลว น้ำมันแห่งศตวรรษที่ 21. ใช่แล้ว ชาติต่าง ๆ กำลังล้างผลาญสิ่งที่มีค่ามากนี้ถึงขนาดที่แม่น้ำสายสำคัญ ๆ ก็ยังแทบไม่มีอะไรเหลือให้ไหลลงสู่ทะเล. เมื่อได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการชลประทานและการระเหย แม่น้ำสายสำคัญ ๆ ก็แห้งลงเรื่อย ๆ รวมทั้งแม่น้ำโคโลราโดที่อยู่ทางตะวันตกของสหรัฐ, แม่น้ำแยงซีในจีน, แม่น้ำสินธุในปากีสถาน, แม่น้ำคงคาในอินเดีย, และแม่น้ำไนล์ในอียิปต์. มีการดำเนินการอะไรไปบ้างเพื่อแก้วิกฤตินี้? ทางแก้ที่ดีที่สุดคืออะไร?
[กรอบ/ภาพหน้า 3]
น้ำถูกคุกคาม
▪ “ทะเลอารัลในเอเชียกลางเป็นทะเลสาบใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลกในปี 1960. พอถึงปี 2007 ทะเลสาบนี้หดตัวลงเหลือ 10 เปอร์เซ็นต์จากขนาดเดิมของมัน.” —วารสารไซเยนติฟิก อเมริกัน.
▪ ทะเลสาบเกรตเลกส์ทั้งห้าแห่งของสหรัฐและแคนาดา คือ อีรี, ฮูรอน, มิชิแกน, ออนแทรีโอ, และซูพีเรียกำลังหดตัวลง “อย่างน่าตกใจ.”—หนังสือพิมพ์เดอะ โกลบ แอนด์ เมล์.
▪ ครั้งหนึ่ง โรงสีข้าวในเมืองเดนิลิควินของออสเตรเลียเคยผลิตข้าวได้พอสำหรับความต้องการของประชากร 20 ล้านคน. แต่ปัจจุบันผลผลิตข้าวได้ลดลง 98 เปอร์เซ็นต์ และโรงสีข้าวก็ปิดทำการไปในเดือนธันวาคม 2007. อะไรเป็นสาเหตุหรือ? “ความแห้งแล้งที่ยาวนานถึงหกปี.”—หนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์.
[รูปภาพ]
เรือถูกทิ้งให้อยู่บนพื้นดินที่แห้งแล้งในทะเลอารัล
[ที่มาของภาพ]
© Marcus Rose/Insight/Panos Pictures
[กรอบ/แผนที่หน้า 4]
‘นำน้ำจากแม่น้ำลำธารไปใช้จนแห้งขอด’
“เมื่อก่อนทะเลสาบชาดของแอฟริกาเคยเป็นจุดที่นักบินอวกาศซึ่งโคจรรอบโลกมองเห็นได้อย่างชัดเจน แต่ปัจจุบันเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขาที่จะหาตำแหน่งของทะเลสาบนี้. ทะเลสาบที่มีประเทศ [แคเมอรูน,] ชาด, ไนเจอร์, และไนจีเรียอยู่ล้อมรอบ . . . ได้หดตัวลง 95 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ทศวรรษ 1960. ความต้องการน้ำจากการชลประทานที่เพิ่มทวีขึ้นเรื่อย ๆ ในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้มีการนำน้ำจากแม่น้ำลำธารต่าง ๆ ที่เป็นแหล่งน้ำของทะเลสาบนี้ไปใช้จนแห้งขอด. ผลก็คือ ไม่ช้าทะเลสาบชาดก็อาจจะหายไปทั้งหมด ที่ตั้งของทะเลสาบแห่งนี้จะกลายเป็นเรื่องลึกลับสำหรับผู้คนในรุ่นต่อไป.”—แผน บี 2.0—แผนปฏิบัติการกอบกู้โลกและอารยธรรมจากมหันตภัยด้านสิ่งแวดล้อม (ภาษาอังกฤษ) โดยเลสเตอร์ อาร์. บราวน์.
[แผนที่]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
■ น้ำ
☒ พืชพรรณ
□ แผ่นดิน
1963
ไนเจอร์
ชาด
ทะเลสาบชาด
ไนจีเรีย
แคเมอรูน
2007
ไนเจอร์
ชาด
ทะเลสาบชาด
ไนจีเรีย
แคเมอรูน
[ที่มาของภาพ]
NASA/U.S. Geological Survey