บริหารเงินของคุณอย่างสุขุมรอบคอบ
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “การรักเงินเป็นรากของสิ่งที่ก่อความเสียหายทุกชนิด.” (1 ติโมเธียว 6:10) ที่จริงบางคนได้กลายเป็นคนรักเงินและอุทิศชีวิตของตนเพื่อสะสมสมบัติวัตถุ. บางคนกลายเป็นทาสของเงินแล้วก็ได้เก็บเกี่ยวผลอันน่าเศร้า. แต่เมื่อบริหารเงินอย่างถูกวิธี เงินก็อาจกลายเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์. คัมภีร์ไบเบิลยอมรับว่า “เงินแก้ปัญหาได้หลายอย่าง.”—ท่านผู้ประกาศ 10:19, พระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับสำนวนอ่านง่าย (ภาษาอังกฤษ).
แม้คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้เป็นคู่มือด้านการเงิน แต่คัมภีร์ไบเบิลก็มีคำแนะนำที่จะช่วยคุณให้บริหารเงินของคุณได้อย่างฉลาด. โดยทั่วไปแล้ว ผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงินมักจะสนับสนุนให้ใช้ห้าวิธีดังต่อไปนี้ และวิธีเหล่านี้ก็สอดคล้องลงรอยกับหลักการที่เคยบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลนานมาแล้ว.
รู้ว่าคุณมีรายรับเท่าไร และใช้ให้น้อยกว่ารายรับของคุณ
เก็บออม. บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลแสดงว่าชาวอิสราเอลโบราณถูกสอนให้เห็นคุณค่าของการเก็บออม. มีการสั่งพวกเขาให้แยกพืชผลส่วนสิบชักหนึ่ง (หรือ 10 เปอร์เซ็นต์) ไว้ต่างหากทุกปี เพื่อใช้ในการเข้าร่วมฉลองเทศกาลต่าง ๆ ประจำชาติโดยเฉพาะ. (พระบัญญัติ 14:22-27) ในทำนองเดียวกัน อัครสาวกเปาโลก็ได้สนับสนุนคริสเตียนรุ่นแรก ๆ ให้กันเงินไว้ต่างหากทุกสัปดาห์ เพื่อพวกเขาจะบริจาคสิ่งของบางอย่างได้ในภายหลังเพื่อช่วยเพื่อนร่วมความเชื่อที่ขัดสน. (1 โครินท์ 16:1, 2) นักวางแผนด้านการเงินส่วนใหญ่สนับสนุนให้เก็บออม. การเก็บออมต้องมาเป็นอันดับแรก. ทันทีที่คุณได้เงินมา ให้ฝากเงินจำนวนที่คุณต้องการเก็บไว้ในธนาคารหรือแหล่งฝากเงินที่อื่น ๆ. การฝากเงินจะช่วยคุณต้านทานการล่อใจใด ๆ ที่ทำให้อยากใช้เงินเหล่านั้น.
ตั้งงบประมาณ. นี่เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลวิธีเดียวเท่านั้นที่จะตรวจดู, ควบคุม, หรือลดการใช้จ่ายของคุณ. การตั้งงบประมาณที่ดีจะช่วยให้คุณรู้ว่าเงินไปที่ไหน และสามารถช่วยคุณให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิน. คุณควรรู้ว่าคุณมีรายรับเท่าไร และใช้ให้น้อยกว่ารายรับของคุณ. เรียนรู้ที่จะแยกออกว่าอะไรคือความจำเป็น และอะไรคือความต้องการ. เกี่ยวกับเรื่องนี้ ด้วยความสุขุมรอบคอบพระเยซูทรงกระตุ้นเตือนบรรดาผู้ฟังพระองค์ให้ “คำนวณค่าใช้จ่ายก่อน” ที่จะเริ่มทำโครงการใด ๆ. (ลูกา 14:28) คัมภีร์ไบเบิลแนะนำเราให้หลีกเลี่ยงการเป็นหนี้โดยไม่จำเป็น.—สุภาษิต 22:7.
วางแผน. พิจารณาเรื่องที่จำเป็นสำหรับอนาคตอย่างถี่ถ้วน. ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณวางแผนจะซื้อบ้านหรืออพาร์ตเมนต์ การกู้เงินเพื่อซื้อบ้านในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมอาจเป็นการตัดสินใจที่ดีก็ได้. ในทำนองเดียวกัน ผู้ชายที่รักสุภาษิต 21:5 (ฉบับ R73) เตือนสติเราว่า “แผนงานของคนขยันขันแข็งนำสู่ความอุดมแน่นอน.”
ครอบครัวอาจรู้สึกว่าจำเป็นต้องทำประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ, ประกันความทุพพลภาพ, หรือการประกันแบบอื่น ๆ เพื่อคุ้มครองคนที่เขารัก. นอกจากนี้ การพิจารณาเรื่องที่จำเป็นสำหรับอนาคตของคุณยังรวมถึงการวางแผนสำหรับการปลดเกษียณ.เรียนรู้ที่จะแยกออกว่าอะไรคือความจำเป็น และอะไรคือความต้องการ
เรียนรู้. ลงทุนให้ตัวคุณเองโดยพยายามฝึกฝนทักษะต่าง ๆ และดูแลรักษาสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ. การลงทุนเช่นนั้นจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าแก่คุณ. จงสร้างนิสัยที่รักการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต. คัมภีร์ไบเบิลถือว่า “สติปัญญาที่ใช้ได้จริงและความสามารถในการคิด” เป็นสิ่งที่มีค่าสูง และคัมภีร์ไบเบิลยังเตือนเราให้พัฒนาความรู้และความสามารถของเราต่อ ๆ ไป.—สุภาษิต 3:21, 22; ท่านผู้ประกาศ 10:10.
สมดุล. จัดให้เงินอยู่ในลำดับที่เหมาะสม. การสำรวจครั้งแล้วครั้งเล่าแสดงให้เห็นว่าคนเหล่านั้นที่สนใจผู้อื่นมากกว่าเงิน เป็นคนที่มีความสุขมากกว่า. บางคนยอมให้ความโลภครอบงำชีวิตของตน. เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร? หลังจากที่มีสิ่งจำเป็นพื้นฐานมากพอแล้ว พวกเขาก็เริ่มที่จะพยายามไขว่คว้าหาความร่ำรวย. กระนั้น นอกจากอาหาร, เสื้อผ้า, และที่พักอาศัยแล้ว สิ่งจำเป็นจริง ๆ ในชีวิตของคนเราจะมีสักกี่อย่างกัน? ไม่แปลกที่ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลซึ่งได้ยกมากล่าวในตอนต้นของบทความนี้ยังเขียนด้วยว่า “เมื่อเรามีเครื่องอุปโภคบริโภคและที่อยู่อาศัย เราควรอิ่มใจกับสิ่งเหล่านี้.” (1 ติโมเธียว 6:8) การปลูกฝังความอิ่มใจพอใจจะป้องกันเราไว้จากการกลายเป็นคนรักเงิน และปัญหาสารพัดอย่างที่มาพร้อมกับการรักเงิน.
ที่จริง การรักเงินเป็นรากของสิ่งที่ก่อความเสียหายทุกชนิด. เงินอาจเป็นนายคุณ ถ้าคุณยอมให้มันเป็น. แต่ถ้าคุณจัดการกับเงินอย่างถูกวิธี เงินก็อาจช่วยคุณให้สามารถมุ่งติดตามสิ่งที่สำคัญกว่าในชีวิตได้อย่างเต็มที่ เช่น ความผูกพันใกล้ชิดกับคนในครอบครัว, เพื่อน ๆ, และพระเจ้า. กระนั้น ในโลกนี้ดูเหมือนว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะปลอดจากความกังวลใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องเงิน. เงินจะเป็นสาเหตุของความวิตกกังวลอยู่เสมอไหม? มีความหวังอะไรสำหรับการขจัดความยากจนให้หมดไปไหม? เรื่องสุดท้ายของบทความชุดนี้จะให้คำตอบสำหรับคำถามเหล่านั้น.
นอกจากอาหาร, เสื้อผ้า, และที่พักอาศัยแล้ว สิ่งจำเป็นจริง ๆ ในชีวิตของคนเราจะมีสักกี่อย่างกัน?