ความรักชนะอคติ
ความรักชนะอคติ
“กลุ่มศาสนาใหม่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์: ไม่ใช่กลุ่มชนที่บูชาชาติ แต่เป็นกลุ่มที่สมัครใจ ซึ่งไม่ยอมให้ความแตกต่างด้านสังคม เชื้อชาติและสัญชาติกีดขวางพวกเขา: ชายและหญิงต่างมารวมตัวกันต่อพระพักตร์พระเจ้าของเขา.”—ประวัติศาสนาคริสเตียน (ภาษาอังกฤษ) โดยพอล จอห์นสัน
ขณะที่ศาสนาคริสเตียนแท้แผ่ไปทั่วจักรวรรดิโรมัน ผู้คนได้เห็นสิ่งที่น่าทึ่ง นั่นคือ กลุ่มคนจากทุกชาติที่มานมัสการพระเจ้าได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเป็นเอกภาพอย่างแท้จริง. เคล็ดลับที่ทำให้เกิดสันติสุขเช่นนี้คือความรักแท้ ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่บนอารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น แต่อยู่บนหลักการที่พระเจ้าทรงสอน.
พระเยซูคริสต์ทรงสอนหลักการเหล่านั้นด้วยคำพูดและการกระทำ พระองค์เองก็ถูกเกลียดชังและถูกปฏิบัติอย่างรุนแรงเนื่องด้วยความมีอคติ. (1 เปโตร 2:21-23) ประการหนึ่ง พระองค์มาจากแกลิลี ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและชาวประมงที่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามจากหัวหน้าศาสนาชาวยิวในกรุงเยรูซาเลม. (โยฮัน 7:45-52) นอกจากนั้น พระเยซูทรงเป็นครูที่ยอดเยี่ยมซึ่งสามัญชนทั่วไปรักและนับถือ. เพราะเหตุนี้พวกผู้นำศาสนาจึงอิจฉาพระองค์มากจนถึงกับใส่ร้ายและวางแผนจะฆ่าพระองค์ด้วยซ้ำ!—มาระโก 15:9, 10; โยฮัน 9:16, 22; 11:45-53
กระนั้น พระเยซูไม่ “ทำชั่วตอบแทนชั่ว.” (โรม 12:17) ยกตัวอย่าง เมื่อฟาริซายบางคน—สมาชิกนิกายศาสนายิวที่ต่อต้านพระเยซู—เข้ามาถามด้วยความจริงใจ พระองค์ก็ตอบพวกเขาด้วยความกรุณา. (โยฮัน 3:1-21) พระองค์รับประทานอาหารร่วมกับพวกฟาริซายด้วยซ้ำรวมทั้งกับคนหนึ่งที่แสดงอคติต่อพระเยซูอยู่บ้าง. เราทราบได้อย่างไร? ในสมัยนั้นเป็นธรรมเนียมที่จะล้างเท้าแขก แต่ฟาริซายคนนั้นไม่ได้ล้างเท้าพระเยซู. พระเยซูรู้สึกไม่พอใจไหม? เปล่าเลย พระองค์ทรงใช้โอกาสนั้นสอนบทเรียนอันยอดเยี่ยมในเรื่องความเมตตาและการให้อภัย.—ลูกา 7:36-50; 11:37
พระเยซูรักผู้ถูกเหยียดหยาม
อุปมาที่มีชื่อเสียงที่สุดเรื่องหนึ่งของพระเยซูคือเรื่องชาวซะมาเรียผู้ใจดี ซึ่งเป็นเรื่องของชายชาวซะมาเรียคนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือชาวยิวที่ถูกทำร้ายและถูกปล้นโดยที่เขาออกค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาให้. (ลูกา 10:30-37) ทำไมสิ่งที่ชาวซะมาเรียทำจึงน่ายกย่องมาก? เพราะในชีวิตจริง ชาวยิวกับชาวซะมาเรียเหยียดหยามกัน. ที่จริง คำว่า “ชาวซะมาเรีย” เป็นคำที่ชาวยิวใช้เพื่อดูถูกคนอื่น และแม้แต่พระเยซูเองก็ยังเคยถูกเรียกด้วยคำนี้. (โยฮัน 8:48) เมื่อคำนึงถึงภูมิหลังเช่นนั้น พระเยซูคงไม่อาจใช้อุปมา เรื่องใดที่มีพลังเท่ากับเรื่องนี้เพื่อแสดงถึงการรักเพื่อนบ้านอย่างไม่ลำเอียง.
พระเยซูทรงสนับสนุนคำสอนของพระองค์ด้วยการกระทำโดยรักษาชาวซะมาเรียคนหนึ่งที่เป็นโรคเรื้อน. (ลูกา 17:11-19) ยิ่งกว่านั้น พระองค์สอนชาวซะมาเรียที่หยั่งรู้ค่าบางคน ถึงกับริเริ่มการสนทนากับหญิงชาวซะมาเรียซึ่งเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก. (โยฮัน 4:7-30, 39-42) เพราะเหตุใด? รับบีชาวยิวที่เคร่งครัดจะไม่ยอมพูดกับผู้หญิงคนใด ในที่สาธารณะ แม้แต่ผู้หญิงที่เป็นญาติใกล้ชิด อย่าว่าแต่ผู้หญิงชาวซะมาเรียเลย!
กระนั้น พระเจ้าทรงมีทัศนะอย่างไรต่อคนที่มีอคติแต่กำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อขจัดอคติเหล่านั้นออกไปจากหัวใจ? อีกครั้งหนึ่ง คัมภีร์ไบเบิลให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ซึ่งให้กำลังใจเรา.
พระเจ้าทรงอดทนกับเรา
ในศตวรรษแรก คริสเตียนชาวยิวหลายคนในตอนแรกได้รับผลกระทบจากอคติที่มีมานานต่อคนที่ไม่ใช่ยิว ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยได้เข้ามาเป็นผู้เชื่อถือด้วย. พระยะโฮวาทรงจัดการอย่างไรกับปัญหาที่ก่อความแตกแยกนี้? พระองค์ทรงสอนประชาคมคริสเตียนด้วยความอดทน. (กิจการ 15:1-5) ความอดทนนั้นเกิดผลดี เพราะดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นของบทความนี้ พวกเขา “ไม่ยอมให้ความแตกต่างด้านสังคม เชื้อชาติและสัญชาติกีดขวางพวกเขา.” ผลก็คือ “ประชาคมต่าง ๆ จึงมีความเชื่อที่มั่นคงและมีผู้มาเชื่อถือเพิ่มขึ้นทุกวัน.”—กิจการ 16:5
บทเรียนคืออะไร? อย่ายอมแพ้ แต่จงหมายพึ่งพระเจ้าต่อ ๆ ไป แล้วพระองค์จะประทานสติปัญญาและความเข้มแข็งด้วยพระทัยกว้างแก่ผู้ที่ “ทูลขอต่อ ๆ ไปด้วยความเชื่อ.” (ยาโกโบ 1:5, 6) คุณจำเจนนิเฟอร์, ทิโมที, จอห์น และโอลกาที่กล่าวถึงในบทความแรกได้ไหม? เมื่อเจนนิเฟอร์เริ่มเข้าโรงเรียนมัธยมต้น เธอได้พัฒนาน้ำใจแบบคริสเตียนและได้เรียนรู้ที่จะมองข้ามคำพูดเหยียดผิวและการเยาะเย้ยเรื่องรูปร่างของเธอ. ไม่นานหลังจากนั้น เมื่อนักเรียนหญิงอีกคนหนึ่งตกเป็นเป้าของการดูหมิ่น เจนนิเฟอร์ก็ปกป้องและปลอบโยนเธอ.
อะไรช่วยทิโมทีให้ควบคุมอารมณ์ได้เมื่อเพื่อนนักเรียนล้อเลียนเขาด้วยคำพูดเหยียดผิว? เขากล่าวว่า “ผมเป็นห่วงว่าจะทำให้พระนามของพระยะโฮวาเสื่อมเสีย. นอกจากนั้น ผมจำไว้เสมอว่าเราต้อง ‘เอาชนะความชั่วด้วยความดีต่อ ๆ ไป’ และไม่ยอมให้ความชั่วชนะเรา.”—โรม 12:21
จอห์นเอาชนะอคติของตัวเองเกี่ยวกับเพื่อนนักเรียนเผ่าเฮาซา. เขาเล่าว่า “ตอนเป็นวัยรุ่น ผมพบนักเรียนเผ่าเฮาซาบางคนซึ่งได้มาเป็นเพื่อนผม. ผมกับนักเรียนคนหนึ่งได้ร่วมกันทำโครงงานบางอย่าง และเราเข้ากันได้ดีมาก. ตอนนี้ผมพยายามมองคนเป็นรายบุคคล ไม่ได้มองว่าเขามาจากเชื้อชาติใดหรือเผ่าพันธุ์ใด.”
โอลกากับเพื่อนมิชชันนารีของเธอไม่กลัวเมื่อถูกข่มเหงจากผู้ต่อต้านที่จงเกลียดจงชัง แต่พวกเขารักษาความมั่นคงไว้ โดยมั่นใจว่าบางคนจะเห็นคุณค่าข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิล. หลายคนเป็นเช่นนั้น. โอลกากล่าวว่า “ห้าสิบปีต่อมา ชายคนหนึ่งเข้ามาหาดิฉันและยื่นถุงย่ามที่สวยงามใบหนึ่งให้. ข้างในเป็นก้อนหินที่สลักคุณลักษณะต่าง ๆ ของคริสเตียน เช่น ความดี, ความกรุณา, ความรัก, และสันติสุข. แล้วเขาก็บอกดิฉันว่าเขาเป็นหนึ่งในเด็กกลุ่มนั้นที่เคยขว้างหินใส่ดิฉัน และตอนนี้เขาเป็นพี่น้องคริสเตียนแล้ว. นอกจากถุงย่ามที่ใส่ก้อนหินแล้ว เขากับภรรยายังให้กุหลาบสีขาว 24 ดอกแก่ดิฉันด้วย.”
เมื่ออคติและความลำเอียงจะไม่มีอีกต่อไป!
อีกไม่นาน อคติและความลำเอียงจะไม่มีอีกต่อไป. เป็นไปได้อย่างไร? แผ่นดินโลกจะมีผู้ครอบครององค์เดียวที่ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า “จะไม่วินิจฉัยตามที่ตาของท่านเห็น.” ผู้นั้นคือพระเยซูคริสต์. (ยะซายา 11:1-5) นอกจากนั้น ประชากรของพระเยซูบนแผ่นดินโลกในเวลานั้นจะสะท้อนเจตคติของพระองค์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะทุกคนจะได้รับการสอนจากพระองค์และพระบิดาของพระองค์ คือพระยะโฮวาพระเจ้า.—ยะซายา 11:9
การสอนโดยพระเจ้าและพระเยซูนี้กำลังดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการเตรียมประชาชนของพระเจ้าสำหรับชีวิตในยุคใหม่. ขอเชิญคุณใช้ประโยชน์จากโครงการสอนนี้โดยไม่ต้องเสียค่า ด้วยการตอบรับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นส่วนตัว. * ใช่แล้ว พระเจ้าไม่ลำเอียง พระองค์ประสงค์ให้คนทุกชนิด “รอดและได้รับความรู้ถ่องแท้เรื่องความจริง.”—1 ติโมเธียว 2:3, 4
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 18 หากคุณต้องการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลฟรีในเวลาและสถานที่ที่คุณสะดวก โปรดติดต่อประชาคมของพยานพระยะโฮวาในท้องถิ่น หรือสำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาตามที่อยู่ในหน้า 5. หรือติดต่อพยานพระยะโฮวาที่เว็บไซต์ www.watchtower.org.
[คำโปรยหน้า 8]
อีกไม่นาน อคติและความลำเอียงจะไม่มีอีกต่อไปท่ามกลางมนุษย์
[กรอบ/ภาพหน้า 8, 9]
หลักการของพระเจ้าที่ช่วยในการดำเนินชีวิต
▪ “อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย . . . จงเอาชนะความชั่วด้วยความดีต่อ ๆ ไป.” (โรม 12:17-21) จุดสำคัญคืออะไร? ถ้าคนอื่นทำไม่ดีต่อคุณ จงทำดีต่อเขา. พระเยซูตรัสว่า “พวกเขาเกลียดชังเราโดยไม่มีเหตุ.” กระนั้น พระองค์ไม่เกลียดตอบ.—โยฮัน 15:25
▪ “ขอให้เราอย่าถือดี . . . อย่าอิจฉากัน.” (กาลาเทีย 5:26) ความอิจฉาและความหยิ่งเป็นอันตรายต่อสัมพันธภาพของเรากับพระเจ้า และมักนำไปสู่ความเกลียดชังและอคติ.—มาระโก 7:20-23
▪ “ด้วยเหตุนั้น สารพัดสิ่งที่เจ้าทั้งหลายต้องการให้คนอื่นทำต่อเจ้า จงทำอย่างนั้นต่อเขา.” (มัดธาย 7:12) จงถามตัวเองว่า ‘ฉันต้องการให้คนอื่นปฏิบัติต่อฉันอย่างไร?’ จงทำอย่างเดียวกันนั้นต่อคนอื่น ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในวัยไหน, สีผิวอะไร, พูดภาษาอะไร, หรือมีวัฒนธรรมเช่นไร.
▪ “จงต้อนรับกันอย่างที่พระคริสต์ทรงต้อนรับเราด้วย.” (โรม 15:7) คุณพยายามทำความรู้จักกับผู้คนที่มีภูมิหลังและวัฒนธรรมต่างจากคุณไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพวกเขาเป็นเพื่อนผู้รับใช้พระเจ้า?—2 โครินท์ 6:11
▪ “เมื่อบิดามารดาละทิ้งข้าพเจ้าแล้ว, พระยะโฮวาจะทรงรับข้าพเจ้าไว้.” (บทเพลงสรรเสริญ 27:10) ไม่ว่าคนอื่นปฏิบัติต่อคุณอย่างไร พระเจ้าจะไม่มีวัน ทิ้งคุณเลย ตราบที่คุณรักษาความภักดีต่อพระองค์.
[ภาพหน้า 7]
ชาวซะมาเรียผู้ใจดีช่วยชาวยิวที่ถูกปล้น