วัยรุ่นจะพบความช่วยเหลือได้อย่างไร?
วัยรุ่นจะพบความช่วยเหลือได้อย่างไร?
ในโลกแห่งอุดมคติ พ่อแม่ทุกคนควรจะให้การชี้นำและการอบรมลูกอย่างสม่ำเสมอและเปี่ยมด้วยความรัก. พ่อแม่จะพูดคุยกับลูก, อ่านหนังสือกับลูก, กินอาหารกับลูก, และเข้าใจลูก. อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ก็มีข้อบกพร่อง. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า “ทุกคนได้ทำบาปและไม่ได้แสดงคุณลักษณะอันยอดเยี่ยมของพระเจ้าอย่างที่ควรจะแสดง.”—โรม 3:23
ถ้าคุณเป็นวัยรุ่น คุณอาจรู้สึกว่าชีวิตในบ้านไม่ได้เป็นไปตามอุดมคติ และก็อาจเป็นเช่นนั้นจริง. กระนั้นก็ตาม มีอะไรหลายอย่างที่คุณจะทำได้เพื่อลดความกังวลและเพิ่มความสุขในชีวิต. ขอสังเกตว่าการใช้หลักการในคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยคุณได้อย่างไร.
ข้อแนะประการที่ 1
คบหากับผู้อื่นแทนการแยกตัวอยู่โดดเดี่ยว
“คนที่ปลีกตัวออกไปจากผู้อื่นจงใจจะทำตามตนเอง, และค้านคติแห่งปัญญาอันถูกต้องทั้งหลาย.” (สุภาษิต 18:1) วัยรุ่นบางคนรู้สึกเก้อเขินเมื่ออยู่ในหมู่คนและจะรู้สึกสบายใจมากกว่าเมื่อได้ดูทีวีหรือเล่นวิดีโอเกม. ส่วนบางคนขี้อายเกินไป จึงแยกตัวไม่สุงสิงกับใคร. เอลิซาเบทเป็นเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งซึ่งบอกว่าตัวเอง “ขี้อายเป็นประจำ.” เธอกล่าวว่า “ความขี้อายของดิฉันเป็นเหมือนความกลัว. ดิฉันรู้สึกลำบากใจที่จะเข้าไปหาผู้คนและคุยกับเขา.”
เอลิซาเบทจัดการกับความขี้อายของเธออย่างไร? เธอเป็นพยานพระยะโฮวา และการเข้าร่วมประชุมคริสเตียนเป็นส่วนหนึ่งของการนมัสการ. เอลิซาเบทบอกว่า “ทั้ง ๆ ที่ดิฉันขี้อายมาก ดิฉันตั้งเป้าจะพูดกับใครสักคนที่การประชุมทุกครั้ง. ถ้าดิฉันทำไม่ได้อย่างที่ตั้งใจ ดิฉันก็ไม่ท้อ. แทนที่จะท้อ ดิฉันจดจ่ออยู่ที่ความสำเร็จ. ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองได้รับประโยชน์มากจริง ๆ โดยการทำความรู้จักกับคนอื่น.”
ดีไหมถ้าคุณจะเขียนชื่อสองสามคนที่คุณอยากรู้จักมากขึ้น? ตั้งเป้าว่าในราว ๆ สัปดาห์หน้าคุณจะเรียนรู้บางอย่างเกี่ยวกับคนเหล่านั้นสักคนหนึ่ง. แล้วเขียนสิ่งดี ๆ ที่คุณสามารถทำได้เพื่อแต่ละคนในเดือนถัดไป และลงมือทำตามนั้น.—กิจการ 20:35
ถ้าคุณหนีปัญหาและหลีกเลี่ยงผู้คน คุณคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นคนคิดถึงตัวเองมากเกินควร. ในทางตรงกันข้าม คัมภีร์ไบเบิลแนะนำให้เรา “ไม่ห่วงแต่เรื่องของตัวเองเท่านั้น แต่ห่วงเรื่องของคนอื่นด้วย.” (ฟิลิปปอย 2:4) ถ้าคุณนำหลักการนี้ไปใช้เมื่อติดต่อเกี่ยวข้องกับคนในครอบครัวและคนอื่น ๆ คุณจะมองปัญหาของตัวเองอย่างสุขุม และสามารถจัดการปัญหาได้ดีขึ้น.
ข้อแนะประการที่ 2
หลีกหนีจากการผิดประเวณี
“จงหลีกหนีจากการผิดประเวณี. การบาปอื่น ๆ ที่มนุษย์อาจทำนั้นอยู่นอกกาย แต่คนที่มักทำผิดประเวณีก็ทำบาปต่อกายตนเอง.” (1 โครินท์ 6:18) คุณจะหลีกเลี่ยงเพื่อจะไม่ถูกกดดันให้ทำผิดประเวณีได้อย่างไร ในเมื่อเรื่องนี้มีแพร่หลายมากในหมู่วัยรุ่น?
ประการแรก คุณต้องคิดเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วนก่อน ที่คุณจะถูกกดดันหรือถูกล่อใจ. สุภาษิตที่คมคายข้อหนึ่งบอกว่า “คนฉลาดย่อมมองดูทางเดินของเขาด้วยความระวัง.” (สุภาษิต 14:15) เอมบาลี เด็กสาวคนหนึ่งในแอฟริกาใต้กล่าวว่า “ที่โรงเรียนมัธยม มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งในชั้นเรียนได้รบเร้าดิฉันให้มีนัดกับเขา. พวกเด็กสาว ๆ ในชั้นก็กดดันดิฉันให้มีนัดกับเขาเพราะเขาเป็นหนุ่มรูปหล่อ—เป็นถึงนายแบบและเป็นนักฟุตบอลทีมโรงเรียน. ดิฉันคิดว่าหน้าตาเขาหล่อเหลาดี แต่ดิฉันตั้งใจไว้แล้วว่าจะไม่ยอมอะลุ่มอล่วยมาตรฐานทางศีลธรรม. เพื่อนนักเรียนของดิฉันคิดว่าเพศสัมพันธ์อย่างฉาบฉวยไม่ใช่เรื่องใหญ่. แต่ดิฉันรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด และตัดสินใจแล้วว่าจะทำอย่างไรก่อนเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้.”
ประการที่สอง จงอธิษฐานขอการช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อจะยึดมั่นในมาตรฐานศีลธรรมของพระองค์. แมกกี เด็กสาวคนหนึ่งในอังกฤษกล่าวว่า “การอธิษฐานเสริมกำลังที่จำเป็นแก่ดิฉันเมื่อต้องเผชิญความกดดันให้ทำผิดประเวณี. ดิฉันคิดว่าลำพังตัวเองคงต้านทานไม่ไหว. ดิฉันยังคุยเรื่องนี้กับพ่อแม่ด้วย และบางครั้งก็ได้ปรึกษาปัญหากับเพื่อนที่มีวุฒิภาวะ.”
ข้อแนะประการที่ 3
พยายามเห็นอกเห็นใจพ่อแม่
“ท่านทั้งหลายจงมีความคิดจิตใจอย่างเดียวกัน แสดงความเห็นอกเห็นใจกัน มีความรักใคร่ฉันพี่น้อง ความเอ็นดูสงสาร.” (1 เปโตร 3:8) คุณไม่สามารถควบคุมได้ว่าพ่อแม่จะแยกกันอยู่ หรือท่านทั้งสองจะต้องทำงานเต็มเวลาหรือไม่. แต่คุณสามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่งว่าคุณจะไม่ปล่อยให้เรื่องดังกล่าวทำลายสัมพันธภาพระหว่างคุณกับพวกท่าน. วิธีหนึ่งที่จะลดความกังวลและเพิ่มความสุขก็คือการพยายามเห็นอกเห็นใจพ่อแม่ โดยพยายามเข้าใจว่าท่านต้องเผชิญข้อท้าทายอะไรบ้าง.
หญิงสาวคนหนึ่งชื่อแอมเบอร์ได้นำคำแนะนำนี้ไปใช้. เธอยอมรับว่าบางครั้งความสัมพันธ์ของเธอกับแม่มีแต่ความตึงเครียด, ความไม่เข้าใจกัน, และความคับข้องใจ. กระนั้นก็ตาม เธอบอกว่า “แม่ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน. ท่านเลี้ยงดูลูกสี่คนโดยลำพัง. แม่มีบ้านให้เราอยู่, มีอาหารให้เรากิน, และมีเสื้อผ้าให้เราเสมอมา. ดิฉันชื่นชมความเข้มแข็งของแม่มาก และดิฉันหวังว่าจะแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจเช่นเดียวกันเมื่อเผชิญความยากลำบาก.”
ถ้าคุณพยายามจะเข้าใจและเห็นอกเห็นใจพ่อแม่ และร่วมความรู้สึกกับท่าน สิ่งนี้ก็จะช่วยให้คุณมองปัญหาของตัวเองอย่างสมดุล. การทำอย่างนั้นอาจช่วยคุณรับรู้และเลียนแบบคุณลักษณะที่ดีของพ่อแม่ด้วย.
แหล่งคำแนะนำที่ไว้ใจได้
ข้อแนะข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างของสติปัญญาในภาคปฏิบัติที่พบได้ในคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้า. ยิ่งคุณเรียนคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้น คุณก็ยิ่งจะรู้ค่าคำแนะนำของพระคัมภีร์ที่เชื่อถือได้. *
วิธีหนึ่งที่คุณจะเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลก็โดยการคบหาและศึกษาพระคัมภีร์กับพยานพระยะโฮวา. คุณจะพบเพื่อนแท้ในหมู่พวกเขาซึ่งจะช่วยคุณให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยุ่งยากและจะช่วยคุณให้นำคำแนะนำที่สุขุมของคัมภีร์ไบเบิลไปใช้ในชีวิต. แน่นอน การดำเนินตามมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิลนั้นไม่ง่าย. แต่ถ้าคุณเลือกแนวทางชีวิตอย่างนี้ คุณจะได้รับประโยชน์ชั่วกาลนาน.—ยะซายา 48:17, 18
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 21 หนังสือคำถามที่หนุ่มสาวถาม—คำตอบที่ได้ผล เล่ม 2 (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา มีคำแนะนำที่ดีเยี่ยมซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักเกี่ยวกับวิธีที่หนุ่มสาวจะรับมือกับความกดดัน. จะพบข้อมูลทำนองเดียวกันเป็นภาษาอังกฤษในอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ www.watchtower.org/ype.
[กรอบ/ภาพหน้า 8, 9]
สิ่งที่วัยรุ่นต้องได้รับจากพ่อแม่
การใช้เวลาอยู่ด้วยกัน: พระยะโฮวาพระเจ้าบอกพ่อแม่ในอิสราเอลว่าพวกเขาควรพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ—“เมื่อเจ้าทั้งหลายจะนั่งอยู่ในเรือน หรือเดินในหนทาง.” (พระบัญญัติ 6:6, 7) ทั้งนี้ พ่อแม่จำเป็นต้องใช้เวลาอยู่กับลูกของตน. เห็นได้ชัดว่า พระเยซูรู้สึกว่าเด็ก ๆ สมควรได้ใกล้ชิดพระองค์บ้าง. ตัวอย่างเช่น เมื่อ “ผู้คนพาเด็กเล็ก ๆ มาให้พระองค์จับต้อง” พระเยซูทำอย่างไร? “พระองค์ทรงโอบเด็ก ๆ ไว้ แล้วทรงวางพระหัตถ์บนพวกเด็ก ๆ และอวยพรพวกเขา.” (มาระโก 10:13, 16) พระเยซูเป็นตัวอย่างที่ดีจริง ๆ สำหรับพ่อแม่!
การสื่อความอย่างเปิดเผยและจริงใจ: “แผนการล้มเหลวเมื่อไม่มีการพูดคุยแบบไว้เนื้อเชื่อใจกัน แต่เมื่อมีที่ปรึกษาจำนวนมากก็มีความสำเร็จ.” (สุภาษิต 15:22, ล.ม.) การพูดคุยแบบไว้เนื้อเชื่อใจกันกับลูกเป็นสิ่งจำเป็นขณะที่ลูกยังเป็นเด็ก. เรื่องนี้สำคัญเป็นพิเศษในช่วงวัยรุ่น เมื่อลูกมักจะใช้เวลาที่บ้านน้อยลงและใช้เวลามากขึ้นกับเพื่อนนักเรียนและเพื่อนคนอื่น ๆ. ถ้าไม่มีการพูดคุยแบบไว้เนื้อเชื่อใจกัน ไม่มีการสื่อความอย่างเปิดเผยและจริงใจระหว่างลูกกับพ่อแม่ วัยรุ่นอาจกลายเป็นคนแปลกหน้าในบ้าน.
การตีสอนอย่างเหมาะสม: การตีสอนเกี่ยวข้องกับการว่ากล่าวแก้ไขและการฝึกสอน แม้ว่าอาจจำเป็นต้องลงโทษด้วย. สุภาษิต 15:5 กล่าวว่า “คนโฉดเขลามักประมาทคำสั่งสอนของบิดาตน; แต่ผู้ที่นับถือคำเตือนสอนเป็นผู้มีสติ.” วัยรุ่นไม่อาจ “นับถือคำเตือนสอน” ถ้าไม่ให้การเตือนสอนแก่เขา. แน่นอน เมื่อตีสอนลูกวัยรุ่น พ่อแม่ต้องมีความสมดุล. พ่อแม่ควรเลี่ยงการเข้มงวดมากเกินไปจนลูกรู้สึกคับข้องใจ หรือถึงกับทำให้ลูกขาดความมั่นใจในตัวเอง. (โกโลซาย 3:21) กระนั้น พ่อแม่ก็ไม่ต้องการตามใจลูกมากเกินไปและไม่ได้ให้การฝึกสอนที่สำคัญแก่เขา. การตามใจลูกเกินไปอาจเกิดความเสียหายขึ้นได้. *
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 29 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดูบท 5 และ 6 ของหนังสือเคล็ดลับสำหรับความสุขในครอบครัว จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.