ฉันจะทำอย่างไรเพื่อเข้ากันได้กับพี่ ๆ น้อง ๆ?
หนุ่มสาวถามว่า
ฉันจะทำอย่างไรเพื่อเข้ากันได้กับพี่ ๆ น้อง ๆ?
คุณคิดว่าสัมพันธภาพระหว่างคุณกับพี่ ๆ น้อง ๆ แต่ละคนเป็นอย่างไร?
․․․․․ เป็นเพื่อนที่ดีที่สุด
․․․․․ ส่วนใหญ่พอเข้ากันได้
․․․․․ ต้องทนซึ่งกันและกัน
․․․․․ ทะเลาะกันเสมอ
พี่ ๆ น้อง ๆ บางคนสนิทสนมกันมาก. ยกตัวอย่าง เฟลิเซีย วัย 19 ปีพูดว่า “อีรีนา น้องสาวอายุ 16 ปี เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของฉัน.” * และคาร์ลี อายุ 17 ปีพูดถึงเอริก พี่ชายวัย 20 ปีดังนี้: “เราเข้ากันได้สุดยอด. เราไม่เคยทะเลาะกันเลย.”
ในทางกลับกัน สัมพันธภาพของพี่ ๆ น้อง ๆ หลายคนอาจคล้ายกับกรณีของลอเรนและมาร์ลา. ลอเรนพูดว่า “เราทะเลาะกันทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องนั้น ๆ ไร้สาระเพียงใด.” หรือบางทีคุณอาจรู้สึกอย่างที่แอลิสอายุ 12 ปีได้พูดถึงเดนนิสพี่ชายของเธอวัย 14 ปีว่า “เขาทำให้หนูโมโห! เขาเปิดประตูพรวดพราดเข้ามาในห้องหนูและหยิบของไปโดยไม่ขอ. เดนนิสไม่รู้จักโตสักที!”
คุณมีพี่หรือน้องซึ่งคอยกวนโมโหอยู่เรื่อยไหม? จริงอยู่ พ่อแม่ของคุณมีความรับผิดชอบที่จะรักษากฎระเบียบภายในครอบครัว. อย่างไรก็ตาม ไม่ช้าก็เร็ว คุณเองจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับผู้อื่น. คุณสามารถเรียนรู้เรื่องนี้ได้ตั้งแต่อยู่ที่บ้าน.
ลองนึกถึงเรื่องการขัดแย้งระหว่างคุณและพี่ ๆ น้อง ๆ. คุณทะเลาะโต้เถียงเรื่องอะไรมากที่สุด? ตรวจดูรายการต่อไปนี้และกาเครื่องหมาย ✔ ลงในช่องที่ตรงกับคุณหรือเขียนสภาพการณ์ซึ่งทำให้คุณโมโห!
▫ ข้าวของส่วนตัว. พี่หรือน้องของฉันหยิบของไปโดยไม่ขอ.
▫ บุคลิกภาพไม่ตรงกัน. พี่ ๆ น้อง ๆ ของฉันเห็นแก่ตัวหรือไม่เกรงใจ หรือเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ.
▫ ความเป็นส่วนตัว. พี่ ๆ น้อง ๆ เข้าห้องฉันโดยไม่เคาะประตู หรืออ่านอีเมลหรือข้อความโดยไม่ขออนุญาตจากฉันก่อน.
▫ เรื่องอื่น. ․․․․․
ถ้าพี่ ๆ น้อง ๆ ยังคงกวนใจคุณอยู่เรื่อย ๆ เช่น สั่งคุณทำโน่นทำนี่หรือรุกล้ำเข้าไปในห้องของคุณ ที่จะไม่ขุ่นเคืองเสียเลยก็อาจยาก. แต่สุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวดังนี้: “ด้วยว่าเมื่อกวนน้ำนมก็ได้เนย; เมื่อกวนจมูกก็ได้เลือดออกมา; เมื่อกวนโทโสก็ได้การทะเลาะวิวาท.” (สุภาษิต 30:33) ถ้าคุณยังถือโกรธ นั่นอาจยังผลให้คุณระเบิดอารมณ์เช่นเดียว กับการกวนจมูกก็ได้เลือด. แล้วปัญหาก็จะรุนแรงยิ่งขึ้น. (สุภาษิต 26:21) คุณสามารถป้องกันความขุ่นเคืองไม่ให้กลายเป็นการทะเลาะโต้เถียงกันได้โดยวิธีใด? ประการแรกคือรู้ประเด็นปัญหาที่แท้จริง.
เหตุการณ์ที่เกิดหรือสาเหตุของปัญหา
ปัญหาระหว่างพี่ ๆ น้อง ๆ เปรียบเหมือนสิวบนใบหน้า. สิวที่ปรากฏภายนอกอาจดูไม่สวย แต่สาเหตุคือการติดเชื้อที่อยู่ข้างใน. ในทำนองเดียวกัน การโต้เถียงกันอย่างเจ็บแค้นระหว่างพี่ ๆ น้อง ๆ มักจะบ่งบอกถึงปัญหาที่อยู่ลึกลงไป.
คุณอาจรักษาสิวด้วยการบีบหัวสิว. แต่ก็เป็นเพียงการจัดการกับอาการภายนอก และอาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นหรือกลายเป็นแผลติดเชื้อรุนแรง. การรักษาที่ดีกว่าคือรักษาอาการติดเชื้อและด้วยวิธีนี้ก็จะป้องกันการเกิดสิวมากขึ้น. การมีปัญหากับพี่ ๆ น้อง ๆ ก็เหมือนกัน. จงรู้จักที่จะระบุสาเหตุให้ชัดเจน แล้วคุณจะไม่มองแค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่จะเข้าถึงสาเหตุของปัญหานั้น ๆ. นอกจากนั้น คุณจะสามารถใช้คำแนะนำของกษัตริย์โซโลมอนผู้ชาญฉลาดซึ่งเขียนไว้ว่า “สติปัญญาย่อมทำให้คนไม่โกรธเร็ว.”—สุภาษิต 19:11
ตัวอย่างเช่น แอลิสที่กล่าวข้างต้นเคยพูดเกี่ยวกับเดนนิสพี่ชายของเธอว่า “เขาเปิดประตูพรวดพราดเข้ามาในห้องหนูและหยิบของไปโดยไม่ขอ.” นั่นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น. แต่ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร? เรื่องนี้คงจะเกี่ยวข้องกับการเคารพสิทธิของผู้อื่น. *
แอลิสอาจจะจัดการปัญหานี้โดยห้ามเดนนิสไม่ให้ เข้ามาในห้องของเธอหรือหยิบของไปใช้. แต่วิธีนี้เป็นเพียงการจัดการกับอาการภายนอกเท่านั้นและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งเพิ่มอีก. แต่ถ้าแอลิสทำให้เดนนิสเชื่อว่าเขาควรเคารพความเป็นส่วนตัวและทรัพย์สินของเธอ ความสัมพันธ์ของพวกเขาก็คงจะดีขึ้น.
เรียนรู้ที่จะแก้หรือหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง
จริงอยู่ การระบุสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่คุณมีกับพี่ ๆ น้อง ๆ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา. คุณอาจจะทำอะไรได้เพื่อแก้ปัญหาและหลีกเลี่ยงการทะเลาะครั้งถัดไป? ลองปฏิบัติตามหกขั้นตอนต่อไปนี้.
1. ตกลงกันตั้งกฎพื้นฐานบางประการ. กษัตริย์โซโลมอนเขียนไว้ดังนี้ “แผนการล้มเหลวเมื่อไม่มีการพูดคุยแบบไว้เนื้อเชื่อใจกัน.” (สุภาษิต 15:22, ล.ม.) เพื่อช่วยเลี่ยงการเผชิญหน้า ให้มองกลับไปยังสิ่งที่คุณได้ระบุว่าเป็นสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างคุณกับพี่ ๆ น้อง ๆ. แล้วให้คุณทั้งสองคนลองตกลงตั้งกฎพื้นฐานบางอย่างซึ่งแก้ไขสาเหตุความขัดแย้งนั้น. ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณทะเลาะกันเรื่องข้าวของส่วนตัว กฎข้อ 1 อาจเป็น: “ให้ขออนุญาตทุกครั้งก่อนจะเอาของของอีกคนหนึ่งไป.” กฎข้อ 2 อาจเป็น: “เคารพสิทธิของอีกฝ่ายหนึ่งเมื่อเขาพูดว่า ‘ไม่นะ เธอจะเอาของนั้นไปไม่ได้.’” เมื่อตั้งกฎเหล่านี้ ให้นึกถึงพระบัญชาของพระเยซูที่ว่า “ด้วยเหตุนั้น สารพัดสิ่งที่เจ้าทั้งหลายต้องการให้คนอื่นทำต่อเจ้า จงทำอย่างนั้นต่อเขา.” (มัดธาย 7:12) ด้วยวิธีนี้ คุณก็จะตั้งกฎที่คุณและพี่ ๆ น้อง ๆ สามารถจะปฏิบัติได้. ครั้นแล้ว ปรึกษาพ่อแม่เพื่อความแน่ใจว่าท่านเห็นพ้องกับข้อตกลงของคุณ.—เอเฟโซส์ 6:1
2. คุณเองก็ต้องปฏิบัติตามกฎ. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ถ้าเป็นเช่นนี้ ท่านผู้สอนคนอื่นไม่ได้สอนตนเองหรือ? ท่านผู้สอนว่า ‘อย่าขโมย’ ท่านเองขโมยหรือ?” (โรม 2:21) คุณจะนำหลักการข้อนี้ไปใช้อย่างไร? ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยากให้พี่ ๆ น้อง ๆ เคารพความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณเองก็ต้องเคาะประตูก่อนเข้าไปในห้องของเขา หรือขออนุญาตก่อนจะอ่านอีเมลหรือข้อความที่ส่งมาถึงเขา.
3. อย่าโกรธเร็ว. ทำไมข้อนี้เป็นคำแนะนำที่ดี? เพราะสุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ความโกรธมีประจำอยู่ในทรวงอกของคนโฉดเขลา.” (ท่านผู้ประกาศ 7:9) ถ้าคุณโกรธง่าย ชีวิตของคุณจะไม่มีความสุข. จริงอยู่ พี่ ๆ น้อง ๆ ของคุณจะพูดหรือทำบางอย่างให้คุณขัดเคือง. แต่ถามตัวเอง ‘ฉันล่ะเคยทำแบบเดียวกันนี้กับพี่หรือน้องไหม?’ (มัดธาย 7:1-5) เจนนีพูดว่า “ตอนอายุ 13 ปี ฉันคิดว่าความเห็นของตัวเองสำคัญที่สุดและต้อง มีคนฟัง. ตอนนี้น้องของฉันก็กำลังอยู่ในช่วงที่มีความคิดแบบเดียวกัน. ดังนั้น ฉันจึงพยายามจะไม่โมโหกับเรื่องที่เธอพูด.”
4. ให้อภัยแล้วลืมเสีย. ปัญหาร้ายแรงจำเป็นต้องมีการพูดคุยกันและจัดการแก้. แต่คุณจำเป็นต้องเรียกน้องมาชี้แจงข้อผิดพลาดทุกเรื่องที่เขาทำไปเช่นนั้นไหม? พระยะโฮวาพระเจ้าทรงพอพระทัยเมื่อคุณเต็มใจจะ “ไม่ถือโทษ.” สุภาษิต 19:11) แอลิสัน วัย 19 ปี กล่าวว่า “ฉันกับเรเชล น้องสาว มักจะแก้ไขความขัดแย้งระหว่างเราได้. เราทั้งสองคนพร้อมจะขอโทษและอธิบายสิ่งที่เราคิดว่าเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง. บางครั้งฉันจะนอนคิดเรื่องนั้นก่อนนำขึ้นมาพูด. บ่อยครั้ง เช้าวันถัดมาก็ง่ายขึ้นที่จะให้อภัยและลืมเรื่องนั้นไป และฉันไม่ต้องนำเรื่องนั้นขึ้นมาพูดด้วยซ้ำ.”
(5. ขอให้พ่อแม่เข้ามาไกล่เกลี่ย. ถ้าคุณและพี่ ๆ น้อง ๆ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญ พ่อแม่ของคุณก็ช่วยคุณสร้างสันติได้. (โรม 14:19) กระนั้น จำไว้ว่าความสามารถที่จะแก้ไขความขัดแย้งโดยไม่ต้องให้พ่อแม่มาไกล่เกลี่ยเปรียบเหมือนเครื่องวัดระยะทาง––แสดงว่าคุณเป็นผู้ใหญ่แล้ว.
6. เห็นค่าคุณลักษณะของพี่หรือน้อง. พี่หรือน้องของคุณคงจะมีคุณลักษณะดี ๆ หลายอย่างที่คุณชอบ. ให้เขียนคุณลักษณะที่คุณชอบหนึ่งอย่างของพี่หรือน้องแต่ละคน.
ชื่อ สิ่งที่ฉันชอบ
․․․․․ ․․․․․
แทนการนึกถึงแต่ข้อผิดพลาดของพี่ ๆ น้อง ๆ ทำไมไม่หาโอกาสบอกให้เขารู้ถึงสิ่งที่คุณนิยมชมชอบในตัวเขา?—บทเพลงสรรเสริญ 130:3; สุภาษิต 15:23
เรื่องจริงของชีวิต: เมื่อคุณออกจากบ้าน หลายครั้งคุณถูกห้อมล้อมโดยผู้คนที่สร้างความรำคาญใจ เช่นเพื่อนร่วมงานและคนอื่น ๆ ที่ไม่มีมารยาท, ไม่เกรงใจใคร, และเห็นแก่ตัว. บ้านเป็นแหล่งที่จะเรียนรู้วิธีจัดการอย่างสงบสุขกับข้อท้าทายเหล่านั้น. ถ้าคุณมีพี่หรือน้องที่เข้ากันไม่ค่อยได้ ก็จงมองเขาในแง่ดี. พี่หรือน้องคนนั้นกำลังช่วยคุณพัฒนาคุณลักษณะที่มีค่ามาก.
คัมภีร์ไบเบิลยอมรับว่าพี่หรือน้องอาจไม่ใช่เพื่อนสนิทของคุณเสมอไป. (สุภาษิต 18:24) แต่คุณสามารถเสริมมิตรภาพกับพี่ ๆ น้อง ๆ ได้ถ้าคุณ “ทนกันและกันเรื่อยไป” แม้ว่าพวกเขาจะทำให้คุณ “มีเหตุจะบ่นว่า.” (โกโลซาย 3:13) ถ้าคุณทำอย่างนั้นพี่ ๆ น้อง ๆ ก็จะไม่ทำให้คุณเกิดโมโห. และคุณ ก็อาจไม่ทำให้พวกเขา โมโหเช่นกัน!
ถ้าต้องการอ่านบทความชุด “หนุ่มสาวถามว่า” เพิ่มเติม ให้ดาวน์โหลดตื่นเถิด! ฉบับอื่น ๆ จากเว็บไซต์ www.dan124.com
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 8 บางชื่อเป็นชื่อสมมุติ.
^ วรรค 20 ถ้าต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม โปรดดู กรอบข้างล่าง
ข้อชวนคิด
• ทำไมเป็นเรื่องสำคัญที่จะพิจารณาความแตกต่างระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสาเหตุของปัญหา?
• จากหกขั้นตอนข้างต้น ข้อไหนที่คุณจำเป็นต้องปรับปรุงมากที่สุด?
[กรอบหน้า 27]
ระบุสาเหตุที่แท้จริง
คุณต้องการฝึกฝนทักษะการระบุสาเหตุที่แท้จริงระหว่างพี่ ๆ น้อง ๆ ไหม? ถ้าต้องการ เชิญอ่านอุปมาโวหารของพระเยซูเรื่องบุตรที่ออกจากบ้านและผลาญทรัพย์มรดกของตน.—ลูกา 15:11-32
ลองพิจารณาให้ดีถึงคำพูดของพี่ชายเมื่อน้องชายกลับมาบ้าน. แล้วตอบคำถามต่อไปนี้.
อะไรเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งกระตุ้นพี่ชายให้พูดเช่นนั้น?
คุณคิดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริง?
บิดาพยายามแก้ปัญหานั้นอย่างไร?
พี่ชายต้องทำอะไรเพื่อแก้ปัญหา?
ตอนนี้คิดถึงความขัดแย้งที่คุณเพิ่งมีกับพี่หรือน้อง. แล้วเขียนคำตอบถัดจากคำถามต่อไปนี้
อะไรทำให้เกิดเหตุการณ์นั้น?
คุณคิดว่าอะไรอาจเป็นสาเหตุที่แท้จริง?
คุณทั้งสองฝ่ายอาจตกลงจะวางกฎอะไรได้บ้างเพื่อแก้ปัญหาและป้องกันการขัดแย้งครั้งต่อไป?
[กรอบ/ภาพหน้า 28, 29]
สิ่งที่คนรุ่นเดียวกับคุณพูด
“ดิฉันต้องการเป็นเพื่อนกับน้อง ๆ ตลอดชีวิต ดังนั้น ดิฉันน่าจะเริ่มเป็นเพื่อนกับพวกเธอเสียแต่ตอนนี้.”
“เราทำสิ่งต่าง ๆ ร่วมกันเป็นครอบครัว และการทำเช่นนั้นช่วยให้เราปรองดองกัน. ดูเหมือนเราไม่โต้เถียงกันอย่างที่เคย.”
“ในบางเรื่องเราต่างกันอย่างสิ้นเชิง. ถึงกระนั้น ไม่มีใครจะเหมือนน้องสาวของฉัน. ฉันรักเธอมาก!”
“ถ้าฉันไม่มีน้อง ๆ ก็คงจะไม่มีความทรงจำที่น่าชื่นใจเหลืออยู่เลย. สำหรับคนที่มีพี่หรือน้อง ฉันขอบอกว่า ‘จงเห็นค่าพวกเขา!’”
[ภาพ]
ทีอา
เบียงกา
ซาแมนทา
มาริลีน
[ภาพหน้า 27]
ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างพี่ ๆ น้อง ๆ เปรียบเหมือนสิว—ที่จะรักษาสิวคุณจำเป็นต้องรักษาที่สาเหตุ ไม่ใช่แค่อาการภายนอก