ยอมรับการสูญเสีย
ยอมรับการสูญเสีย
“พอดิฉันทราบว่าพ่อเสียชีวิต ดิฉันตกใจมากและท้อแท้. ดิฉันรู้สึกผิดมาก ๆ ที่ไม่ได้อยู่เคียงข้างพ่อตอนท่านสิ้นใจ. ไม่มีอะไรเทียบได้กับความปวดร้าวเมื่อคนที่เรารักเสียชีวิต. ดิฉันคิดถึงพ่อเหลือเกิน!”—ซารา
คนส่วนใหญ่ไม่สบายใจที่จะพูดเรื่องความตาย ไม่ว่าในวัฒนธรรมใดหรือศาสนาใด. ในบางภาษามีการใช้ถ้อยคำสละสลวยเมื่อพูดถึงความตาย เพื่อผู้คนจะไม่รู้สึกลำบากใจ. ในภาษาไทย แทนที่จะพูดว่ามีคน “ตาย” บางคนอาจพูดว่าคนนั้น “เสียไปแล้ว” “จากไปแล้ว” หรือ “ล่วงลับ.”
กระนั้น แม้แต่คำที่นุ่มนวลที่สุดก็ไม่อาจช่วยบรรเทาความเศร้าโศกอันสุดจะทนได้ของผู้ที่สูญเสียคนที่เขารัก. บางคนเศร้าเสียใจมากจนไม่อาจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้เลย.
ถ้าคนที่คุณรักเสียชีวิต คุณก็เช่นกันอาจรู้สึกยากที่จะยอมรับการสูญเสียนั้น. คุณอาจทำเหมือนกับว่าคุณสบายดี แต่คุณรู้ว่าความรู้สึกภายในไม่ได้เป็นอย่างนั้น. แน่นอน แต่ละคนแสดงความเศร้าโศกไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ถ้าคุณไม่ได้แสดงความโศกเศร้าให้คนอื่นเห็น ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณเก็บกดความรู้สึกของตัวเอง. * แต่ปัญหาอาจเกิดขึ้นได้ถ้าคุณคิดว่าคุณจำเป็นต้องแสดงอาการโศกเศร้าเพื่อคนอื่นจะได้เห็น เช่น สมาชิกครอบครัวของคุณซึ่งกำลังโศกเศร้าเช่นกัน.
“ผม ไม่มีเวลาเสียใจ”
ขอพิจารณากรณีของนาทาเนียล แม่ของเขาเสียชีวิตตอนที่เขาอายุ 24 ปี. เขาบอกว่า “ตอนแรก ผมสับสนไป
หมด. ผมรู้สึกว่าต้องช่วยพ่อและช่วยเพื่อน ๆ ของแม่ที่กำลังเศร้าโศกเสียใจมาก. ผม ไม่มีเวลาเสียใจเลย.”หลังจากหนึ่งปีผ่านไป นาทาเนียลยังไม่อาจยอมรับการสูญเสียของตนเองได้. เขาพูดว่า “บางครั้งพ่อยังคงโทรศัพท์มาเพื่อระบายความทุกข์โศก ซึ่งก็เป็นเรื่องดี. พ่อจำเป็น ต้องพูดออกมา และผมยินดีช่วย. เพียงแต่ว่าตอนที่ผมเอง ต้องการความช่วยเหลือ ผมรู้สึกเหมือนกับว่าไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร.”
ผู้ให้การดูแลรักษา เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์ซึ่งต้องเห็นการตายบ่อย ๆ ก็อาจคิดว่าตัวเขาเองต้องข่มห้ามความรู้สึกเช่นกัน. อย่างกรณีของอีลอยซาซึ่งเป็นแพทย์มากว่า 20 ปี. เธอทำงานในชุมชนที่ทุกคนรู้จักกันดีและรู้สึกผูกพันกับคนไข้ของเธอ. เธอพูดว่า “ดิฉันได้อยู่ใกล้คนที่จวนจะสิ้นใจหลายคน และบางคนเป็นเพื่อนที่ดิฉันรักมาก.”
อีลอยซารู้ว่าการหลั่งน้ำตาเป็นวิธีตามธรรมชาติซึ่งทำให้รู้สึกดีขึ้น. เธอกล่าวว่า “แต่ดิฉันรู้สึกว่ายากที่จะร้องไห้. ดิฉันพยายามจะเป็นคนเข้มแข็งเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้อื่น นั่นเป็นเหตุที่ดิฉันต้องเก็บความรู้สึกไว้. ดิฉันเชื่อว่าคนอื่นคาดหมายให้ดิฉันเป็นอย่างนั้น.”
“บ้านดูเงียบเหงาเมื่อไม่มีแม่”
ความเปล่าเปลี่ยวอาจเป็นข้อท้าทายที่หนักหน่วงอย่างหนึ่งสำหรับผู้ที่สูญเสียคนที่ตนรัก. ตัวอย่างเช่น แอชลีย์อายุ 19 ปีเมื่อแม่ของเธอตายด้วยโรคมะเร็ง. แอชลีย์พูดว่า “หลังจากแม่ตาย ดิฉันรู้สึกเคว้งคว้างและเหงามาก. แม่เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของดิฉัน. เราได้ใช้เวลาร่วมกันมามาก!”
เป็นที่เข้าใจได้ว่า แอชลีย์รู้สึกเศร้าใจทุกวันเมื่อกลับถึงบ้านแล้วรู้ว่าแม่ไม่อยู่ที่นั่น. เธอพูดว่า “บ้านดูเงียบเหงาเมื่อไม่มีแม่. หลายครั้งที่ดิฉันเดินตรงเข้าห้องนอนทันทีและร้องไห้ขณะที่ดูรูปแม่พลางคิดถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เราเคยทำร่วมกัน.”
ไม่ว่าคุณสูญเสียสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนรักไป จงมั่นใจเถอะว่าไม่ใช่คุณคนเดียวที่รู้สึกเศร้าโศกเช่นนี้. หลายคนได้พบวิธีรับมืออย่างได้ผล ดังที่เราจะเห็นต่อไป.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 5 เนื่องจากแต่ละคนแสดงความโศกเศร้าไม่เหมือนกัน จึงไม่เหมาะที่คนอื่นจะวิจารณ์คนที่ไม่ได้แสดงอาการโศกเศร้าให้เห็นหลังจากคนที่เขารักเสียชีวิต.
[คำโปรยหน้า 5]
“ดิฉันรู้สึกเคว้งคว้างและเหงามาก. แม่เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของดิฉัน”—แอชลีย์