โลกที่ไม่มีการก่อการร้ายเป็นไปได้ไหม?
โลกที่ไม่มีการก่อการร้ายเป็นไปได้ไหม?
“เราต้องต่อสู้ . . . เพื่อชนะหัวใจและจิตใจ.” นั่นคือข้อสรุปหลังจากการทบทวนดูประวัติของผู้ที่ถูกเรียกว่าผู้ก่อการร้ายในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา.
แต่สำหรับคนเหล่านั้นซึ่งเอาแต่หมกมุ่นอยู่กับการก่อความรุนแรงและการแก้แค้น อะไรจะเปลี่ยนหัวใจและจิตใจของพวกเขาได้?
หนังสือที่สามารถเปลี่ยนแปลงหัวใจ
ในทศวรรษ 1990 ฮาเฟนีเริ่มตรวจสอบความเชื่อทางศาสนาของเขาและหาคัมภีร์ไบเบิลมาหนึ่งเล่ม. เขาบอกว่า “ผมเริ่มโดยการพิจารณาหนังสือกิตติคุณ [หนังสือมัดธาย, มาระโก, ลูกาและโยฮันในคัมภีร์ไบเบิล] ซึ่งมีชีวประวัติของพระเยซู. ขณะที่ผมอ่าน ผมรู้สึกประทับใจกับบุคลิกภาพของพระเยซูและวิธีที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อผู้คนอย่างกรุณาและไม่ลำเอียง. เรื่องราวนี้ทำให้ผมมีความสุขมาก.”
ฮาเฟนีกล่าวว่า เมื่อเขาอ่านมากขึ้น “ข้อความตอนหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลที่กิจการ 10:34, 35 ช่วยให้ผมเข้าใจว่าพระเจ้ารู้สึกอย่างไรจริง ๆ.” ข้อนั้นกล่าวว่า “พระเจ้าไม่ทรงลำเอียง แต่พระองค์ทรงชอบพระทัยคนที่ยำเกรงพระองค์และประพฤติชอบธรรมไม่ว่าจะเป็นคนชาติใด.”
ฮาเฟนีพูดว่า “ผมสรุปได้ว่า ผู้คนเป็นต้นเหตุของการถือเผ่า, ลัทธิชาตินิยมและความเดียดฉันท์ทางเชื้อชาติ. ผมได้มาตระหนักว่าข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลสามารถเปลี่ยนแนวคิดของผู้คนและสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือการมีฐานะที่ดีจำเพาะพระเจ้า. สิ่งนี้สำคัญยิ่งกว่าการต่อสู้เพื่อคนเผ่าหนึ่ง, เชื้อชาติหนึ่ง, หรือสีผิวหนึ่ง.”
โคเซบา ที่กล่าวถึงในบทความก่อนหน้านี้ เป็นหัวหน้าของหน่วยกล้าตายกลุ่มเล็ก ๆ ที่วางแผนจะวางระเบิดสถานีตำรวจ. แต่โคเซบาอธิบายว่า “ก่อนที่เราจะลงมือโจมตี ผมถูกจับและถูกจำคุกสองปี.” ต่อมาลูซี ภรรยาของเขาเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา. ในที่สุด โคเซบาก็ร่วมศึกษาด้วย.
โคเซบาเล่าว่า “เมื่อผมเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูมากขึ้น พระองค์ได้มาเป็นแบบอย่างของผม. คำตรัสหนึ่งของพระเยซูที่มีผลกระทบต่อผมมากคือ ‘ทุกคนที่ใช้ดาบจะพินาศด้วยดาบ.’ ผมรู้ว่านี่เป็นความจริง.” (มัดธาย 26:52) โคเซบายอมรับว่า “การลอบสังหารบางคนมีแต่จะทำให้สมาชิกในครอบครัวของคนนั้นเกลียดชังมากขึ้นและต้องการแก้แค้น. ความรุนแรงนำมาแต่ความเจ็บปวด ไม่ได้ทำให้โลกดีขึ้น.” โคเซบาได้เริ่มเปลี่ยนแปลงความคิด.
ทั้งฮาเฟนีและโคเซบาเรียนจากประสบการณ์ว่าคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนอย่างทรงพลัง. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “พระคำของพระเจ้ามีชีวิต” และสามารถหยั่งรู้ “ความมุ่งหมายในใจ.” (ฮีบรู 4:12) พลังแห่งพระคำของพระเจ้าได้ช่วยหลายคนให้เปลี่ยนแปลงความคิดและการกระทำ. แต่มีหลักฐานไหมว่าเอกภาพทั่วโลกมีอยู่ท่ามกลางเหล่าคนที่นำคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้?
สังคมพี่น้องที่อาศัยความรัก
เมื่อฮาเฟนีเริ่มเข้าร่วมประชุมกับพยานพระยะโฮวา เขารู้สึกประทับใจความปรองดองของคนต่างผิวที่เขาได้เห็น.
เขากล่าวว่า “การนั่งติดกับคนผิวขาวเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก. ผมไม่เคยคิดว่าในชีวิตนี้จะได้มีโอกาสเรียกคนผิวขาวว่าพี่น้อง. เรื่องนี้ยิ่งทำให้ผมมั่นใจมากขึ้นว่าพยานฯ ต้องเป็นศาสนาแท้ เนื่องจากพวกเขามีเอกภาพที่ผมแสวงหา และรักซึ่งกันและกันแม้จะแตกต่างด้านเชื้อชาติ.”ตามคำตรัสของพระเยซู จะรู้ได้ว่าใครเป็นสาวกแท้ของพระองค์ก็ดูได้จากการที่พวกเขา “รักกัน.” (โยฮัน 13:34, 35) นอกจากนั้น พระองค์ยังไม่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งด้านการเมืองและตรัสแก่เหล่าสาวกของพระองค์ว่า “พวกเจ้าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลก.” (โยฮัน 6:15; 15:19; มัดธาย 22:15-22) ความรักและความเป็นกลางเป็นลักษณะเด่นของศาสนาคริสเตียนแท้ตั้งแต่สมัยนั้นจนถึงปัจจุบัน.
เป็นไปได้ที่จะปฏิบัติตามคำสอนของพระเยซู
แต่ความรักจะยังคงส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนได้อย่างไรในเมื่อโลกเต็มไปด้วยการก่อการร้ายซึ่งสร้างความแตกแยก? เมื่อประเด็นทางการเมืองทำให้เกิดความชิงชังอีกฝ่ายหนึ่ง ความภักดีต่อประเทศชาติหรือชาติพันธุ์ของตนก็มักเป็นเหตุให้คนสองคนทะเลาะกัน หรือทำให้เกิดสงครามระหว่างชาติด้วยซ้ำ.
ตัวอย่างเช่น ในปี 1914 ความหยิ่งด้านชาติพันธุ์ปลุกเร้ากาฟริโล ปรินซิพให้ลอบสังหารอาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินันด์ รัชทายาทแห่งออสเตรีย-ฮังการี. ปรินซิพเป็นสมาชิกขององค์กรที่เรียกว่ามือพระกาฬ ซึ่งในข้อบังคับได้กล่าวไว้ว่าองค์กรนี้เน้น “การต่อสู้เพื่อการปฏิวัติมากกว่า . . . ความพยายามด้านวัฒนธรรม” เพื่อจะบรรลุเป้าหมายของตน. การลอบสังหารครั้งนั้นเป็นชนวนให้เกิดสงครามระหว่างชาติที่เรียกตัวเองว่าคริสเตียน และนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 รวมทั้งการตายของทหารหลายล้านคนซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ติดตามพระเยซู “องค์สันติราช.”—ยะซายา 9:6
ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง นักเทศน์ที่มีชื่อเสียง แฮร์รี เอเมอร์สัน ฟอสดิกประณามผู้นำศาสนาที่อ้างว่าเป็นคริสเตียนเนื่องจากพวกเขาไม่ได้สอนสมาชิกให้ติดตามแบบอย่างของพระเยซู. เขาเขียนว่า “เราได้ผลิตผู้คนสำหรับสงคราม . . . เราได้ทำให้บรรดานักรบเป็นวีรบุรุษของเราและแม้แต่ในคริสตจักรของเรา เราได้ปักธงที่ใช้ในสงครามเสียด้วยซ้ำ.” ฟอสดิกลงท้ายว่า “ด้วยมุมปากข้างหนึ่งเราได้สรรเสริญองค์สันติราชและมุมปากอีกข้างหนึ่งเราได้สดุดีสงคราม.”
ในทางตรงกันข้าม การศึกษาด้านสังคมวิทยาซึ่งจัดพิมพ์เมื่อปี 1975 กล่าวว่า “พยานพระยะโฮวารักษาจุดยืนอย่างเสมอต้นเสมอปลายเรื่อง ‘ความเป็นกลางแบบคริสเตียน’ ที่ปราศจากความรุนแรงในสงครามโลกทั้งสองครั้งและการสู้รบอีกหลายครั้งหลังจากนั้นในยุค ‘สงครามเย็น.’ ” แม้ว่าพยานฯ ถูกทำร้ายและถูกจำคุก พวกเขาก็ “ไม่เคยตอบโต้
ด้วยความรุนแรง.” การศึกษาสรุปว่า “คำสอนของพยานพระยะโฮวาเกิดจากความเชื่อมั่นที่ว่าคัมภีร์ไบเบิลมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า.”คุณค่าของการปฏิบัติตามคำสอนของคัมภีร์ไบเบิล
อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งเบลเยียมได้รับหนังสือเกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูชื่อบุรุษผู้ใหญ่ยิ่งเท่าที่โลกเคยเห็น จากเพื่อนบ้านคนหนึ่ง. เมื่อได้อ่าน เขาประทับใจมาก. เขาเขียนจดหมายถึงเพื่อนบ้านคนนั้นว่า “เห็นได้ชัดว่าถ้าผู้คนใส่ใจข่าวสารในหนังสือกิตติคุณและนำหลักการของพระเยซูคริสต์ไปใช้มากขึ้น โลกทุกวันนี้คงจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง.”
เขาเขียนต่อว่า “เราคงไม่ต้องมีคณะมนตรีความมั่นคง ไม่มีการก่อการร้าย [และ] ความรุนแรงคงถูกห้าม.” แต่เขาสรุปว่า “ทั้งหมดนี้คงเป็นแค่ความฝัน.” แต่เป็นอย่างนั้นจริงไหม? แม้แต่ตอนนี้ ในโลกที่เต็มไปด้วยความรุนแรง คัมภีร์ไบเบิลได้ช่วยผู้คนที่มีภูมิหลังหลากหลายให้ปฏิเสธความรุนแรงและเอาชนะความโกรธแค้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อพวกเขาต้องอยู่ท่ามกลางการนองเลือดมานานหลายสิบปี.
ตามที่กล่าวในบทความแรก ออนเดรเกือบเสียชีวิตเนื่องจากระเบิดซึ่งสังหารเพื่อนของเขาบางคน. กลุ่มหัวรุนแรงได้วางระเบิดลูกนั้น. หลังจากนั้น เขาได้เรียนรู้และทำตามคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่าควร ‘ให้อภัยอย่างใจกว้าง.’ (โกโลซาย 3:13) ภายหลังการวางระเบิดหลายปี ฮาเฟนีได้เข้ามาเป็นสมาชิกของกลุ่มหัวรุนแรงนั้น. แต่ต่อมา เขาได้เรียนรู้ที่จะทำตามหลักการของคัมภีร์ไบเบิลและเลิกทำสิ่งที่รุนแรง. (บทเพลงสรรเสริญ 11:5) ปัจจุบัน ทั้งสองคนเป็นพยานพระยะโฮวาและทำงานร่วมกันที่สำนักงานแปลของพยานฯ ในประเทศหนึ่งทางแอฟริกา.
เชื่อมั่นในอนาคตที่มั่นคง
หลายล้านคนทั่วโลกพบว่าการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลทำให้พวกเขามีความเชื่อมั่นในอนาคตที่มั่นคง. ตัวอย่างเช่น วันหนึ่งออนเดรได้เปิดคัมภีร์ไบเบิลให้เพื่อนบ้านของเขาดูคำสัญญาเรื่องโลกใหม่ที่ชอบธรรม. (ยะซายา 2:4; 11:6-9; 65:17, 21-25; 2 เปโตร 3:13) ทันใดนั้น ทหารพร้อมปืนอัตโนมัติได้ล้อมบ้านและสั่งให้ออนเดรออกมาเพื่อสอบสวนเขา. หลังจากรู้ว่าออนเดรเป็นผู้สอนคัมภีร์ไบเบิลที่เพื่อนบ้านของเขาชื่นชมมาก ทหารก็จากไป.
ออนเดรเพิ่งอธิบายว่าพระเจ้าจะจัดการกิจการของมนุษย์เหมือนอย่างสมัยของโนอาห์เมื่อ ‘แผ่นดินเต็มไปด้วยการชั่วร้าย.’ (เยเนซิศ 6:11) พระเจ้าทำลายโลกในสมัยนั้นโดยบันดาลให้น้ำท่วมโลกและช่วยโนอาห์ผู้รักสันติและครอบครัวของท่านให้รอดชีวิต. พระเยซูตรัสว่า “สมัยของโนอาห์เป็นอย่างไร เมื่อบุตรมนุษย์มาประทับก็จะเป็นอย่างนั้น.”—มัดธาย 24:37-39
พระเยซู “บุตรมนุษย์” เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกให้ปกครองรัฐบาลทางภาคสวรรค์ซึ่งถูกเรียกว่า ราชอาณาจักรของพระเจ้า และพระองค์จะนำกองกำลังฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้ามากำจัดความรุนแรงให้หมดไปจากโลกในไม่ช้า. (ลูกา 4:43) ในฐานะกษัตริย์ทางภาคสวรรค์ พระเยซูจะ ‘ทรงยุติธรรมกับทุกคน และจะมีสันติสุข.’ พระองค์จะปกป้องราษฎรของพระองค์ “จากความโหดร้ายและการตายเนื่องจากความรุนแรง.”—บทเพลงสรรเสริญ 72:7, 14, ฉบับคอนเทมโพรารี อิงลิช
หลังจากนั้น ทุกคนที่รักสิ่งที่ถูกต้องและได้มาเป็นราษฎรของกษัตริย์ทางภาคสวรรค์จะเห็นโลกเปลี่ยนแปลงเป็นอุทยานที่สงบสุข. (ลูกา 23:42, 43) คัมภีร์ไบเบิลสัญญาว่า “ภูเขาจะนำความสงบสุขมายังพลไพร่, เนินเขาจะนำความยุติธรรมมา.”—บทเพลงสรรเสริญ 72:1-3
คุณคงจะชอบอยู่ในโลกที่มีกษัตริย์เช่นนี้ปกครองไม่ใช่หรือ? แน่นอน โลกในเวลานั้นจะไม่มีการก่อการร้ายเลย.
[คำโปรยหน้า 7]
ทั้งฮาเฟนีและโคเซบาเรียนจากประสบการณ์ว่าคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนอย่างทรงพลัง
[คำโปรยหน้า 9]
‘ถ้าผู้คนนำหลักการของพระเยซูคริสต์ไปใช้ โลกทุกวันนี้คงจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง. เราคงไม่ต้องมีคณะมนตรีความมั่นคง ไม่มีการก่อการร้าย และความรุนแรงคงถูกห้าม.’—อดีตนายกรัฐมนตรีเบลเยียม
[ภาพหน้า 8]
การปฏิบัติตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิลช่วยฮาเฟนีและออนเดรมีความรักแท้ต่อกัน