ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
เราควรทูลอธิษฐานต่อพระเจ้าอย่างไร?
การได้ทูลพระผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่งและบอกเล่าความคิดส่วนลึกในใจของเราแก่พระองค์ถือเป็นสิทธิพิเศษอันล้ำค่า. แต่หลายคนไม่แน่ใจว่าควรอธิษฐานอย่างไร และอีกหลายคนต้องการปรับปรุงคำอธิษฐานให้ดีขึ้น. ดูเหมือนสาวกรุ่นแรกบางคนของพระเยซูคริสต์เป็นห่วงเกี่ยวกับคุณภาพคำอธิษฐานของตน. สาวกคนหนึ่งทูลพระองค์ว่า “พระองค์เจ้าข้า ขอทรงสอนพวกข้าพเจ้าให้อธิษฐาน.” (ลูกา 11:1) พระเยซูทรงตอบสาวกโดยวางแบบอย่างในการอธิษฐาน. คำอธิษฐานของพระเยซูเป็นคำอธิษฐานที่ไพเราะแต่เรียบง่าย ซึ่งไม่เพียงช่วยเราให้ทูลพระเจ้าอย่างที่พระองค์พอพระทัย แต่ยังให้ความกระจ่างเกี่ยวกับสาระสำคัญในคัมภีร์ไบเบิลด้วย.
คำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซู
พระเยซูตรัสว่า “ฉะนั้น เจ้าทั้งหลายจงอธิษฐานอย่างนี้ ‘ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มาเถิด. ขอให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลกเช่นเดียวกับในสวรรค์. ขอทรงประทานอาหารแก่พวกข้าพเจ้าสำหรับวันนี้ และขอทรงยกหนี้ความผิดให้พวกข้าพเจ้าอย่างที่พวกข้าพเจ้าได้ยกหนี้ความผิดให้ผู้ที่ทำผิดต่อพวกข้าพเจ้า. และขออย่าให้พวกข้าพเจ้าพ่ายแพ้การล่อใจ แต่ขอทรงช่วยพวกข้าพเจ้าให้รอดพ้นจากตัวชั่วร้าย.’ ”—มัดธาย 6:9-13
ขอสังเกตคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “ฉะนั้น เจ้าทั้งหลายจงอธิษฐานอย่างนี้.” พระองค์ไม่ต้องการให้สาวกท่องจำคำตรัสของพระองค์ทุกคำ. ที่จริง พระองค์เพิ่งบอกพวกเขาไม่ให้ทำเช่นนั้น. (มัดธาย 6:7) แทนที่จะทำอย่างนั้น คำอธิษฐานของพระองค์สอนให้เรารู้ว่าสิ่งใดสำคัญเป็นอันดับแรกตามทัศนะของพระเจ้า ไม่ใช่ทัศนะของเราเท่านั้น. เพื่อจะรู้ว่าลำดับความสำคัญเหล่านั้นเป็นเช่นไร เราต้องเข้าใจความหมายของคำตรัสของพระเยซูก่อน. ดังนั้น ให้เราพิจารณาคำตรัสของพระองค์ทีละจุด.
อธิบายความหมายของคำอธิษฐานแบบอย่าง
“ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.” เหมาะสมแล้วที่พระเยซูเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดา” เพราะพระเจ้าทรงเปี่ยมด้วยความรักและทรงคุ้มครองป้องกันผู้รับใช้ของพระองค์เช่นเดียวกับพ่อที่ดี. พระองค์มีพระนามด้วย นั่นคือยะโฮวา ซึ่งไม่เหมือนคำระบุตำแหน่งมากมายของพระองค์ เช่น ผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่ง พระเจ้า และองค์พระผู้เป็นเจ้า. * (บทเพลงสรรเสริญ 83:18) แต่ทำไมพระนามของพระเจ้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับชื่อเสียงของพระองค์ จึงต้องถูกทำให้เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์? เพราะมีผู้ดูหมิ่นและทำให้พระนามนั้นเสื่อมเสีย.
บางคนโทษพระเจ้าที่พวกเขาประสบความยากลำบาก แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงอาจเกิดมาจากมนุษย์หรือเกิดจากการอยู่ผิดที่ผิดเวลา. (สุภาษิต 19:3; ท่านผู้ประกาศ 9:11) ส่วนบางคนกล่าวหาพระเจ้าว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดภัยธรรมชาติ. แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ไม่มีใครลองใจพระเจ้าด้วยสิ่งชั่วได้และพระองค์ไม่ทรงลองใจผู้ใดด้วยสิ่งชั่วเลย.” (ยาโกโบ 1:13) และหลายศาสนาสอนว่าพระเจ้าลงโทษคนชั่วโดยทรมานพวกเขาในไฟนรก ซึ่งเป็นคำสอนที่ทำให้พระเจ้าแห่งความรักไม่พอพระทัยแน่ ๆ. (ยิระมะยา 19:5; 1 โยฮัน 4:8) โรม 6:23 กล่าวว่า “ค่าจ้างที่บาปจ่ายคือความตาย” ไม่ใช่การทรมานตลอดกาล! *
“ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มาเถิด.” ราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นรัฐบาลที่ปกครองโดยพระมหากษัตริย์เยซูคริสต์. อีกไม่นาน พระองค์จะควบคุมโลกทั้งสิ้น. ดานิเอล 7:14 กล่าวว่า “ผู้นั้นได้รับมอบรัช, และเกียรติยศและอาณาจักร.” ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะ “มา” โดยเข้ามาจัดการกิจธุระของมนุษย์ และทำลายการปกครองที่ต่อต้านทั้งหมด อีกทั้งควบคุมโลกทั้งสิ้น.—ดานิเอล 2:44
“ขอให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลกเช่นเดียวกับในสวรรค์.” ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักร มนุษยชาติจะอ่อนน้อมต่อพระประสงค์ของพระเจ้า. ผลก็คือ จะมีสันติภาพแท้ และมนุษย์ทุกคนจะนมัสการพระเจ้าประสานกับความจริง. การเมืองที่ทำให้แตกแยกและศาสนาเท็จจะไม่มีอีกต่อไป. วิวรณ์ 21:3, 4 กล่าวโดยนัยว่า “พลับพลาของพระเจ้า” จะอยู่ “กับมนุษย์และ . . . พระองค์จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาพวกเขา ความตายจะไม่มีอีกเลย ความโศกเศร้าหรือเสียงร้องไห้เสียใจหรือความเจ็บปวดจะไม่มีอีกเลย. สิ่งที่เคยมีอยู่นั้นผ่านพ้นไปแล้ว.”
“ขอทรงประทานอาหารแก่พวกข้าพเจ้าสำหรับวันนี้.” หลังจากกล่าวถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องพระนามของพระเจ้าและราชอาณาจักรแล้ว พระเยซูก็หันมาใส่ใจความจำเป็นของเรา. คำตรัสของพระองค์แสดงว่าเราต้องหลีกเลี่ยงการแสวงหาสิ่งที่เกินความจำเป็น “สำหรับวันนี้.” แทนที่จะทำอย่างนั้น เราต้องเชื่อฟังคำแนะนำที่สุภาษิต 30:8 ที่ว่า “ขออย่าให้ข้าพเจ้ายากจนหรือมั่งมี: โปรดเลี้ยงข้าพเจ้าด้วยอาหารพอดีกับความต้องการของข้าพเจ้า.”
“ขอทรงยกหนี้ความผิดให้พวกข้าพเจ้าอย่างที่พวกข้าพเจ้าได้ยกหนี้ความผิดให้ผู้ที่ทำผิดต่อพวกข้าพเจ้า.” ในที่นี้ คำว่า “หนี้ความผิด” หมายถึง “บาป.” * เราทุกคนเป็นหนี้การเชื่อฟังพระเจ้า. ดังนั้น เมื่อเราไม่เชื่อฟังพระองค์หรือทำบาปต่อพระองค์ จึงเหมือนกับเราเป็นหนี้พระองค์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ. แต่พระยะโฮวาเต็มพระทัยจะให้อภัยความผิดนั้นถ้าเราให้อภัยคนอื่นที่ทำผิดต่อเราด้วยความกรุณา.—มัดธาย 18:21-35
“ขออย่าให้พวกข้าพเจ้าพ่ายแพ้การล่อใจ แต่ขอทรงช่วยพวกข้าพเจ้าให้รอดพ้นจากตัวชั่วร้าย.” “ตัวชั่วร้าย” คือซาตานพญามาร ซึ่งถูกเรียกด้วยว่า “ผู้ล่อลวง.” (มัดธาย 4:3) เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ทำให้ตัวเราอ่อนแอ เราจึงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อต้านทานซาตานและมนุษย์ที่เป็นตัวแทนของมันได้.—มาระโก 14:38
ขอให้คำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซูช่วยคุณปรับปรุงคำอธิษฐานให้ดีขึ้น อาจโดยจัดลำดับความสำคัญใหม่. แต่คำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซูให้ความกระจ่างเกี่ยวกับสาระสำคัญในคัมภีร์ไบเบิลได้อย่างไร? ใจความสำคัญของคัมภีร์ไบเบิลคือการทำให้พระนามของพระเจ้าบริสุทธิ์ การขจัดความชั่วทั้งสิ้น และการปกครองของราชอาณาจักรที่จะทำให้โลกมีสันติสุข ซึ่งตรงกับคำตรัสของพระเยซู. ใช่แล้ว พระเยซูได้บรรจุความรู้อันล้ำค่าไว้มากมายในคำอธิษฐานแบบอย่างของพระองค์!
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 8 ในภาษาเดิมที่ใช้เขียนคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาฮีบรูและกรีก พระนามของพระเจ้าปรากฏประมาณ 7,000 ครั้ง. น่าเศร้า คัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับใช้คำระบุตำแหน่งของพระเจ้าแทนที่จะใช้พระนามอันบริสุทธิ์ของพระองค์.
^ วรรค 9 คนตายไม่ดำรงอยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่ “หลับ” อยู่ หรือ “ไม่รับรู้อะไรเลย.” และคนตายรอคอยการกลับเป็นขึ้นจากตายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต.—โยฮัน 5:28, 29; 11:11-13; ท่านผู้ประกาศ 9:5, ล.ม.
คุณเคยสงสัยไหม?
● พระเยซูหมายถึงอะไรเมื่อตรัสว่า “ฉะนั้น เจ้าทั้งหลายจงอธิษฐานอย่างนี้”?—มัดธาย 6:9
● โดยทั่วไปแล้ว เรื่องใดควรเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในคำอธิษฐานของเรา?—มัดธาย 6:9, 10
● เหตุใดเราควรให้อภัยคนที่ทำผิดต่อเรา?—มัดธาย 6:12
[ภาพหน้า 13]
คำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซูช่วยให้คุณรู้ว่าสิ่งใดสำคัญเป็นอันดับแรกตามทัศนะของพระเจ้า ไม่ใช่ในทัศนะของคุณเท่านั้น