สาเหตุที่ความยุติธรรมขาดหายไป
สาเหตุที่ความยุติธรรมขาดหายไป
เกือบสองพันปีที่แล้ว คัมภีร์ไบเบิลได้พรรณนาลักษณะนิสัยของผู้คนในสังคมสมัยนี้ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ในสมัยสุดท้ายจะเกิดวิกฤตกาลซึ่งยากจะรับมือได้. เพราะว่าคนจะรักตัวเอง รักเงิน . . . อกตัญญู ไม่ภักดี ไม่มีความรักใคร่ตามธรรมชาติ ไม่ยอมประนีประนอม . . . ไม่รักความดี เป็นคนทรยศ หัวดื้อ ทะนงตัว เป็นคนรักการสนุกสนานแทนที่จะรักพระเจ้า.”—2 ติโมเธียว 3:1-4
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าลักษณะนิสัยที่ไม่ดีเหล่านี้มีมากขึ้นในสมัยของเรา. ลักษณะนิสัยเหล่านี้แสดงออกในหลายทาง เช่น ความโลภ อคติ การต่อต้านสังคม การทุจริตคอร์รัปชัน และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างมาก. ขอให้เราพิจารณาทีละจุด.
ความโลภ. บางคนอาจเคยพูดว่า “ความโลภมีประโยชน์” หรือ “ความโลกเป็นสิ่งที่ดี.” แต่นั่นไม่จริงเลย. ความโลภก่อความเจ็บปวดรวดร้าวให้กับหลายคน! ตัวอย่างเช่น การฉ้อฉลทางบัญชี แชร์ลูกโซ่ การขูดรีดดอกเบี้ยเงินกู้ และการกู้ยืมโดยไม่สนใจจะคืนเงินล้วนเกิดจากความโลภ. ผลที่ตามมา เช่น วิกฤตการณ์ทางการเงิน ได้สร้างความทุกข์ใจให้แก่คนจำนวนมาก. จริงอยู่ ผู้ตกเป็นเหยื่อบางคนก็โลภด้วย. แต่ผู้ได้รับผลเสียหายหลายคนเป็นคนธรรมดาที่หาเงินด้วยความยากลำบาก บางคนต้องสูญเสียบ้านและเงินบำนาญของตนไป.
อคติ. คนที่มีอคติมักจะตัดสินผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม และถึงกับรังเกียจผู้อื่นเนื่องจากเชื้อชาติ สีผิว เพศ ฐานะทางสังคม หรือศาสนา. ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการของสหประชาชาติได้ทราบข่าวว่าในประเทศแถบอเมริกาใต้ มีหญิงตั้งครรภ์คนหนึ่งเสียชีวิตในโรงพยาบาลเนื่องจากก่อนหน้านั้นเธอไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมในสถานพยาบาลอีกแห่งหนึ่งเพราะเชื้อชาติและฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจของเธอ. ในกรณีที่รุนแรงที่สุด อคติอาจนำไปสู่การฆ่าล้างชาติพันธุ์ด้วยซ้ำ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไร้ความยุติธรรมอย่างยิ่ง.
การต่อต้านสังคม. บทคัดย่อของคู่มือเกี่ยวกับพฤติกรรมต่อต้านสังคม (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “แต่ละปี ครอบครัวจำนวนมากแตกแยกกัน ชีวิตของหลายแสนคนพังทลาย และทรัพย์สินมูลค่าหลายล้านดอลลาร์เสียหายเพราะพฤติกรรมต่อต้านสังคม. ความรุนแรงและความก้าวร้าวมีแพร่หลายในสังคมของเรามากเสียจนนักประวัติศาสตร์ในวันข้างหน้าคงไม่ได้จัดให้ช่วงปลายศตวรรษที่ยี่สิบเป็น ‘ยุคอวกาศ’ หรือ ‘ยุคข้อมูลข่าวสาร’ เท่านั้น แต่เป็น ‘ยุคแห่งการต่อต้านสังคม’ ด้วย คือเป็นยุคสมัยที่สังคมทำสงครามกับตัวเอง.” นับตั้งแต่มีการพิมพ์หนังสือเล่มนั้นในปี 1997 เจตคติและพฤติกรรมของผู้คนไม่ได้ดีขึ้นเลย.
การทุจริตคอร์รัปชัน. รายงานเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในแอฟริกาใต้กล่าวว่าในช่วงเวลาเจ็ดปี มากกว่า 81 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณมูลค่า 25.2 พันล้านแรนด์ (ในตอนนั้นเท่ากับ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งมีการมอบให้กับหน่วยงานในชนบทของกระทรวงสาธารณสุขถูกนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง. วารสารเดอะ พับลิก แมเนเจอร์ กล่าวว่า เงินที่ “ควรถูกนำไปใช้เพื่อซ่อมบำรุงโรงพยาบาล คลินิก และศูนย์สาธารณสุขในชนบท” ไม่ได้ถูกนำออกมาใช้จริง ๆ.
ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างมาก. รายงานในวารสารไทม์ กล่าวว่า เมื่อปี 2005 เกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ตลอดปีของคนทั้งประเทศบริเตน “ตกเป็นของคน 5% ซึ่งเป็นผู้มีเงินได้สูงสุด.” ส่วนอีกฝั่งหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติกนั้น วารสารไทม์ กล่าวว่า “มากกว่า 33% ของรายได้ของชาวอเมริกันตกเป็นของคน 5% ซึ่งมีเงินได้สูงสุด.” ทั่วโลก 1.4 พันล้านคนดำรงชีวิตอยู่ด้วยเงินไม่ถึงวันละ 39 บาท และเด็ก 25,000 คนเสียชีวิตทุกวันเนื่องจากความยากจน.
สภาพไร้ซึ่งความยุติธรรม—จะแก้ไขได้ไหม?
ในปี 1987 นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียในสมัยนั้นตั้งเป้าหมายว่าพอถึงปี 1990 จะต้องไม่มีเด็กชาวออสเตรเลียแม้แต่คนเดียวเป็นคนจน. เป้าหมายดังกล่าวไม่เคยเป็นจริงเลย. ที่จริง ในภายหลังนายกรัฐมนตรีรู้สึกเสียใจที่ได้ตั้งเป้าหมายอย่างนั้น.
จริงทีเดียว ไม่ว่าคนเราจะมีอำนาจ ร่ำรวย หรือมีอิทธิพลขนาดไหน เขาก็ยังเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งซึ่งไม่อาจสร้างความถูกต้องเที่ยงธรรมอย่างสมบูรณ์แบบได้. ที่จริง แม้แต่ผู้มีอำนาจก็ประสบเรื่องที่ไม่เป็นธรรม แก่ชรา และตายไปในที่สุด. ความเป็นจริงนี้ชวนให้นึกถึงข้อความในคัมภีร์ไบเบิลสองตอน:
“ไม่ใช่ที่มนุษย์ซึ่งดำเนินนั้นจะได้กำหนดก้าวของตัวได้.”—ยิระมะยา 10:23
“ท่านทั้งหลายอย่าวางใจในพวกเจ้านาย . . . ที่ช่วยให้รอดไม่ได้.”—บทเพลงสรรเสริญ 146:3
ถ้าเรายอมรับความจริงของข้อความดังกล่าว เราจะไม่รู้สึกผิดหวังเมื่อมนุษย์พยายามแก้ไขปัญหาแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ. ถ้าอย่างนั้น เราน่าจะเลิกหวังไหม? ไม่เลย! ดังที่เราจะได้เห็นในบทความสุดท้ายของชุดนี้ สังคมโลกที่มีความยุติธรรมใกล้จะเกิดขึ้นแล้ว. แต่ก่อนที่จะเป็นอย่างนั้น เราอาจทำบางอย่างได้. เราอาจพิจารณาดูตัวเอง. ขอให้ถามตัวเองว่า ‘ฉันจะแสดงความยุติธรรมกับคนอื่นให้มากขึ้นได้ไหม? มีบางแง่มุมที่ฉันอาจปรับปรุงได้ไหม?’ บทความถัดไปจะพิจารณาคำถามเหล่านี้.
[ภาพหน้า 4, 5]
ก. ตำรวจในจีนจับกุมชายคนหนึ่งซึ่งร่วมก่อความรุนแรงทางชาติพันธุ์
ข. การปล้นและการทำลายทรัพย์สินที่กรุงลอนดอน อังกฤษ
ค. ผู้คนที่ยากจนข้นแค้นในค่ายผู้ลี้ภัยที่รวันดา
[ที่มาของภาพ]
Top left: © Adam Dean/Panos Pictures; top center: © Matthew Aslett/Demotix/CORBIS; top right: © David Turnley/CORBIS