อาหารของคุณปลอดภัยไหม?
อาหารของคุณปลอดภัยไหม?
“เยอรมนีปิดโรงเรียนหลังพบการติดเชื้ออีโคไล.”—สำนักข่าวรอยเตอร์ เยอรมนี
“พบว่าถั่วงอกเป็นตัวการทำให้แซลโมเนลลาระบาดในห้ารัฐ.”—ยูเอสเอ ทูเดย์
“เนื้อของโค 6 ตัวที่กินฟางปนเปื้อนกัมมันตรังสีถูกส่งไป 9 จังหวัด.”—หนังสือพิมพ์ไมนิชิ เดลี นิวส์ ญี่ปุ่น
พาดหัวข่าวข้างต้นปรากฏขึ้นเมื่อปีที่แล้วภายในเวลาเพียงสองสัปดาห์. นักวิจัยกะประมาณว่าในแต่ละปี ผู้คนประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ในประเทศที่พัฒนาแล้วป่วยเนื่องจากอาหาร.
คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นข่าวทำนองนี้? ฮอย พ่อคนหนึ่งในฮ่องกงยอมรับว่า “ผมกังวลมาก และบางครั้งถึงกับโมโห. ผมมีลูกสองคน และผมเป็นห่วงว่าอาหารที่ลูก ๆ กินนั้นผลิตขึ้นอย่างไรและมาจากที่ไหน.”
ในประเทศที่ยากจน โรคที่เกิดจากอาหารและน้ำทำให้คนตายนับล้านคนทุกปี โดยส่วนใหญ่เป็นเด็ก. โบลา ซึ่งอยู่ที่ไนจีเรียบอกว่า “อาหารที่ขายในตลาดที่นี่มีแมลงวันตอม และโดนฝน ลมและฝุ่น. เมื่อได้ข่าวเรื่องโรคที่มากับอาหาร ดิฉันกลัวมาก. ดิฉันอยากปกป้องครอบครัว.”
เป็นไปได้ไหมที่จะปกป้องครอบครัวของคุณจากอาหารที่ไม่ปลอดภัย? องค์กรตรวจสอบอาหารแห่งแคนาดากล่าวว่า “ถ้าอาหารที่ไม่ปลอดภัยมีวางขายอยู่ในร้านของชำ เรื่องนั้นจะกลายเป็นข่าวพาดหัว ซึ่งก็มีเหตุผล. แต่อาหารที่ไม่ปลอดภัยอาจเกิดจากสิ่งที่เราทำหรือไม่ทำในห้องครัวของเราด้วย และนั่นก็ทำให้ป่วยได้เช่นกัน.”
คุณจะทำอะไรได้เพื่อปกป้องครอบครัวไม่ให้ป่วยเพราะอาหาร? เราจะพิจารณาวิธีทำให้อาหารปลอดภัยมากขึ้นสี่วิธี.
[กรอบภาพหน้า 3]
กลุ่มเสี่ยง
คนบางกลุ่มป่วยเพราะอาหารได้ง่ายเป็นพิเศษ เช่น:
● เด็กที่อายุต่ำกว่าห้าขวบ
● หญิงมีครรภ์
● ผู้ที่อายุ 70 ปีขึ้นไป
● ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
ถ้าคุณหรือคนที่กินอาหารด้วยกันอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งข้างต้น คุณควรระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อทำอาหาร เสิร์ฟ และกิน.
[ที่มาของภาพ]
ที่มา: องค์กรอาหารแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย