มีผู้ออกแบบไหม?
หูที่น่าอัศจรรย์ของจิ้งหรีดพุ่มไม้
จิ้งหรีดพุ่มไม้อเมริกาใต้ (Copiphora gorgonensis ) มีหูที่ยาวไม่ถึงหนึ่งมิลลิเมตรแต่มีประสิทธิภาพพอ ๆ กับหูของมนุษย์. จิ้งหรีดชนิดนี้สามารถแยกแยะคลื่นความถี่ของเสียงระดับต่าง ๆ ได้แม้จะอยู่ในระยะไกล. ตัวอย่างเช่น มันสามารถแยกได้ว่าเสียงไหนเป็นเสียงของจิ้งหรีดตัวอื่นและเสียงไหนเป็นเสียงอัลตราซาวนด์ของค้างคาวที่กำลังล่าเหยื่อ.
ขอพิจารณา: จิ้งหรีดพุ่มไม้มีหูอยู่บนขาคู่หน้าของมัน. เช่นเดียวกับหูของมนุษย์ หูของจิ้งหรีดทำหน้าที่รับเสียง แปลงสัญญาณเสียง และวิเคราะห์คลื่นความถี่. แต่นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่าในหูของมันมีอวัยวะพิเศษชิ้นหนึ่งเหมือนกระเปาะที่อัดแน่นด้วยของเหลวดูคล้ายลูกโป่งทรงรี. อวัยวะนี้ที่พวกเขาเรียกว่ากระเปาะรับเสียงทำหน้าที่คล้ายคอเคลีย (อวัยวะรับเสียงรูปก้นหอย) ในหูของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแต่มีขนาดเล็กกว่ามาก. กระเปาะรับเสียงนี่แหละที่ทำให้จิ้งหรีดพุ่มไม้สามารถแยกแยะเสียงได้อย่างน่าอัศจรรย์.
ศาสตราจารย์แดเนียล โรเบิร์ต แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยบริสทอล ประเทศอังกฤษกล่าวว่า การค้นพบนี้จะช่วยให้วิศวกร “พัฒนาเครื่องรับเสียงเลียนแบบธรรมชาติซึ่งมีขนาดเล็กกว่าและแยกเสียงได้แม่นยำกว่า.” นักวิจัยยังเชื่อด้วยว่าการค้นพบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านวิศวะเทคโนโลยีเกี่ยวกับคลื่นเสียงอัลตราโซนิกในอนาคต รวมทั้งการพัฒนาระบบการสร้างภาพเพื่อใช้ในโรงพยาบาล.
คุณคิดอย่างไร? หูของจิ้งหรีดพุ่มไม้เกิดขึ้นโดยวิวัฒนาการหรือมีผู้ออกแบบ?