รับมืออย่างไรเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน?
“จู่ ๆ ฉันก็รู้สึกเศร้าขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุหรือสัญญาณเตือน. ฉันร้องไห้และนึกสงสัยว่าฉันกำลังจะเป็นบ้าหรือเปล่า.”—รอนโดร * วัย 50 ปี
“คุณตื่นขึ้นมาในตอนเช้า แล้วก็เห็นว่าบ้านรกรุงรัง. คุณหาของใช้ส่วนตัวไม่เจอ. เรื่องที่คุณเคยทำได้อย่างสบาย ๆ ตอนนี้กลับกลายเป็นเรื่องยาก และคุณไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร.”—ฮันตา วัย 55 ปี
ผู้หญิงสองคนนี้ไม่ได้ป่วย. พวกเธอกำลังอยู่ในวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของผู้หญิงและเป็นการสิ้นสุดวัยเจริญพันธุ์. ถ้าคุณเป็นผู้หญิง คุณกำลังจะเข้าสู่วัยนี้หรือกำลังอยู่ในช่วงนี้พอดีไหม? ไม่ว่าคุณจะมาถึงวัยนี้แล้วหรือยัง สิ่งสำคัญคือ ยิ่งคุณและคนที่คุณรักเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยหมดประจำเดือนมากเท่าไร คุณก็จะรับมือกับปัญหาในช่วงวัยนี้ได้มากเท่านั้น.
ภาวะหมดประจำเดือน
ภาวะหมดประจำเดือนหรือที่เรียกกันว่าวัยทอง หมายถึงช่วงเวลาที่ใกล้หมดประจำเดือนไปจนถึงช่วงที่หมดประจำเดือนแล้ว. *
ผู้หญิงส่วนใหญ่เริ่มเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนเมื่ออายุประมาณ 40 ปี แต่บางคนอาจเริ่มหลังอายุ 60 ปีไปแล้ว. ในกรณีส่วนใหญ่ ประจำเดือนจะค่อย ๆ หยุดไปเอง. เนื่องจากความผิดปกติของฮอร์โมน ผู้หญิงบางคนอาจเริ่มมีอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เลือดออกกะปริบกะปรอย หรือประจำเดือนมามากกว่าปกติ. มีผู้หญิงส่วนน้อยที่ประจำเดือนหยุดไปแบบกะทันหัน เหมือนกับหมดประจำเดือนในชั่วข้ามคืน.
หนังสือคู่มือวัยหมดประจำเดือน (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ผู้หญิงแต่ละคนมีอาการแตกต่างกัน.” หนังสือเล่มนี้ยังบอกด้วยว่า “อาการที่พบบ่อยที่สุดของคนวัยหมดประจำเดือน คือ อาการร้อนวูบวาบ” ซึ่ง “อาจตามมาด้วยอาการหนาวสั่น.” อาการเหล่านี้ทำให้ตื่นบ่อย ๆ กลางดึกและอ่อนเพลีย. อาการวัย *
ทองจะเป็นอยู่นานแค่ไหน? หนังสือวัยทอง (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า “ผู้หญิงบางคนมีอาการร้อนวูบวาบอยู่ประมาณหนึ่งหรือสองปีในช่วงวัยหมดประจำเดือน. บางคนมีอาการนานหลายปี และมีไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่พบว่ามีอาการร้อนวูบวาบเป็นครั้งคราวตลอดชีวิต.”เนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้หญิงวัยทองจึงอาจเกิดอาการซึมเศร้าและมีอารมณ์แปรปรวน ทำให้ร้องไห้บ่อย ๆ ไม่มีสมาธิ และหลง ๆ ลืม ๆ. หนังสือวัยทอง กล่าวว่า “ปกติแล้ว แทบไม่มีผู้หญิงคนไหนเจอกับอาการทั้งหมดนี้.” ที่จริง บางคนผ่านช่วงวัยนี้ไปได้โดยไม่มีอาการหรือปัญหาอะไรมากนัก.
จะรับมืออย่างไร?
การปรับเปลี่ยนรูปแบบชีวิตแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจช่วยได้. ตัวอย่างเช่น คนที่สูบบุหรี่อาจมีอาการร้อนวูบวาบน้อยลงถ้าเลิกสูบบุหรี่. ผู้หญิงหลายคนพบว่าการปรับเปลี่ยนเรื่องอาหารการกินก็ช่วยได้ เช่น ลดหรืองดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และอาหารรสจัดจ้านหรือหวานจัด เพราะสิ่งเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดอาการร้อนวูบวาบได้. นอกจากนั้น นับว่าสำคัญที่จะมีนิสัยการกินที่ดี ซึ่งหมายถึงกินอาหารที่มีประโยชน์และกินให้ครบทุกหมู่.
การออกกำลังกายก็ช่วยลดอาการวัยทองได้เช่นกัน. ตัวอย่างเช่น การออกกำลังกายจะช่วยลดอาการนอนไม่หลับ ทำให้อารมณ์ดีขึ้น อีกทั้งทำให้กระดูกและสุขภาพร่างกายโดยรวมแข็งแรงขึ้น. *
บอกให้คนอื่นรู้
รอนโดรที่กล่าวถึงข้างต้นบอกว่า “คุณไม่จำเป็นต้องเก็บความทุกข์ไว้คนเดียว. ถ้าคุณเล่าให้คนที่คุณรักฟังว่าคุณรู้สึกอย่างไร พวกเขาก็จะไม่กังวลเกินไปเมื่อเห็นคุณมีอาการผิดปกติบางอย่าง.” ที่จริง พวกเขาจะอดทนและเข้าใจคุณมากขึ้น. ใน 1 โครินท์ 13:4 (พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน ) บอกว่า “ความรักนั้นก็อดทนนานและมีใจปรานี.”
นอกจากนี้ ผู้หญิงหลายคนพบว่าการอธิษฐานก็ช่วยได้มาก แม้แต่เมื่อพวกเธอรู้สึกทุกข์ใจเพราะหมดวัยสาว. คัมภีร์ไบเบิลรับรองกับเราว่า “[พระเจ้า] ทรงปลอบประโลมใจเราในความทุกข์ร้อนทั้งสิ้นของเรา.” (2 โครินท์ 1:4, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) นอกจากนี้ เรายังได้รับกำลังใจที่รู้ว่าอาการวัยทองจะมีอยู่เพียงชั่วคราว. เมื่อผ่านช่วงนี้ไปแล้ว ผู้หญิงที่ดูแลสุขภาพอย่างดีเสมออาจกลับมามีกำลังเรี่ยวแรงและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไปได้อีกนาน.
^ วรรค 2 ชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ.
^ วรรค 6 แพทย์ถือว่าผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือนจะต้องไม่มีรอบเดือนนานติดต่อกัน 12 เดือนขึ้นไป.
^ วรรค 8 คนที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคไทรอยด์ โรคติดเชื้อ หรือกำลังใช้ยารักษาโรคบางชนิดก็อาจมีอาการร้อนวูบวาบได้เช่นกัน. นับว่าดีที่จะพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ก่อนสรุปว่าอาการร้อนวูบวาบที่เกิดขึ้นเป็นเพราะอยู่ในวัยหมดประจำเดือน.
^ วรรค 12 เพื่อช่วยผู้หญิงวัยทองให้ผ่านช่วงเวลานี้ได้ง่ายขึ้น แพทย์จึงอาจแนะนำให้รับประทานฮอร์โมน อาหารเสริม และยาต้านอาการซึมเศร้า. ตื่นเถิด! ไม่ได้สนับสนุนวิธีรักษาหรือการใช้ยาอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ.